เศรษฐศาสตร์เพื่อคนจน : "ลำพูน" พื้นที่ล่าสุดของค้าปลีกรายใหญ่!

วิทยากร บุญเรือง


 

หมายเหตุ : รายงานชุดเศรษฐศาสตร์เพื่อคนจนเป็นความพยายามที่จะนำศาสตร์ทางธุรกิจมาอธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับแรงงาน-ผู้บริโภคและผู้ประกอบกิจการรายย่อย ในการรู้เท่าทันศาสตร์ของนายทุน รวมถึงการนำเสนอธุรกิจของคนเล็กคนน้อยในสังคมว่าพวกเขาทำอะไร ดิ้นรนอย่างไร ในโลกธุรกิจที่ทุนใหญ่ได้เปรียบอย่างมหาศาลในปัจจุบัน ...

 

..........................

 

 

ห้าง Big - C ลำพูน สาขาล่าสุดของประเทศไทย

 

... ปรากฏการณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งในหลายๆ ปรากฏการณ์ที่น่าสังเกตหลังจากวิกฤตฟองสบู่แตกเมื่อ 10 ปีก่อนนั่นก็คือ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ในสังคมไทย หลายร้อยแห่งในทุกหัวระแหงทั่วประเทศ

 

นั่นเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังการบริโภคของคนไทย ว่ามีอย่างเหลือเฟือและไม่ค่อยที่จะพอเพียงเท่าใดนัก เนื่องจากว่าเราอยู่ในระบบทุนนิยมที่ต้องยอมรับว่าการบริโภคคือปัจจัยอันดับหนึ่งที่จะช่วยค้ำยันให้ระบบนี้อยู่ได้ (ดังนั้น วาทกรรมพอเพียงจึงไม่เหมาะสมในสังคมทุนนิยม ควรนำไปใช้ในระบบสังคมนิยม และทุกคนที่เรียกร้องถึงความพอเพียงนี้ควรตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ระบบสังคมนิยมอย่างเร็วพลัน เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงใจต่อสิ่งที่ได้พูดออกไป)

 

นักต่อต้านโลกาภิวัตน์, นักชาตินิยม รวมถึงนักพอเพียงนิยม ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันถึงอันตรายของค้าปลีกยักษ์ใหญ่ที่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันล้วนแล้วแต่มีทุนข้ามชาติเป็นเบื้องหลังทั้งสิ้น แต่กลับไม่ค่อยพูดถึงหัวอกของแรงงาน-ผู้บริโภครายได้ต่ำถึงปานกลาง ที่ได้รับประโยชน์ทางตรงจากยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ... แต่มักถูกนักต่อต้านโลกาภิวัตน์, นักชาตินิยม รวมถึงนักพอเพียงนิยม (ที่มีรายได้สูง) วิจารณ์ว่าเป็นแมลงเม่าที่หลงไปกับกระแสบริโภคอย่างไม่ลืมหูลืมตา

 

นอกจากจะ "ก่นด่าและต้านทาน" แล้ว (ซึ่งแน่นอนล่ะ! ว่ามันต้องทำ) การหาทางออกให้กับแรงงาน-ผู้บริโภครายได้ต่ำถึงปานกลางจึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ต้องเสนอควบคู่กันไปด้วย

 

เพราะ "สินค้าราคาถูก" คือสิ่งสำคัญที่ทำให้ชนชั้นล่างของสังคม กระเสือกกระสนดิ้นรนมีชีวิตไปอีกวันต่อวัน

 

0 0 0

 

วอล-มาร์ท (Wal-Mart) กรณีศึกษาสุดคลาสสิคสำหรับเรื่อง "ห้างใหญ่ฆ่ารายย่อย"

 

 

แซม วอลตัน และห้าง "วอล-มาร์ท" ของเขา ที่คนอเมริกัน "ทั้งรักทั้งชัง"

 

ถ้าเราจะพูดถึงกรณีปลาใหญ่กินปลาเล็กในธุรกิจค้าปลีกแล้วถ้าไม่เอ่ยถึง แซม วอลตัน (Sam Walton) และห้าง "วอล-มาร์ท" (Wal-Mart) ของเขาก็คงจะไม่เห็นพัฒนาการและกลยุทธ์ในอุตสาหกรรมนี้ ..

 

"แซม วอลตัน" และตำนาน "วอล-มาร์ท"

แซม วอลตัน (Sam Walton) เป็นชาวบ้านที่เติบโตในเมืองเล็กๆ เขาอาศัยอยู่ในเมืองเบนตันวิลล์ รัฐอาร์คันซอมาตั้งแต่เกิดจนอายุ 40 ปี ทุกวันเขาจะตื่นแต่เช้าตรู่ ทานอาหารเช้าร่วมกับชาวบ้านหน้าเดิมๆ ที่โรงแรมประจำท้องถิ่นและเขาจะไปทำงานทุกวันยกเว้นเฉพาะวันอาทิตย์วันเดียว

 

แซม วอลตัน ได้รับปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยมิสซูรี่ ในปี 1940 หลังจากเรียนจบเขาเข้าทำงานในร้าน เจ.ซี.เพนนีย์ ซึ่งเป็นร้านค้าปลีก ปี 1942 เขาสมรสกับเฮเลน ร็อบสัน ซึ่งเพิ่งจบจากมหาวิทยาลัย จากนั้นเขายืมเงินพ่อตาจำนวน 25,000 ดอลลาร์ เพื่อซื้อกิจการร้านค้าปลีก และได้ล้มลุกคลุกคลานกับธุรกิจนี้มาตลอด

 

2 กรกฎาคม 1962 เขาก็พร้อมจะทดลองแนวคิดเปิดร้านจำหน่ายสินค้าราคาต่ำกว่าท้องตลาดที่ชื่อว่า วอล-มาร์ท (Wal-Mart) ซึ่งใช้กลยุทธ์ที่สำคัญ ก็คือการเป็นห้างสรรพสินค้าราคาต่ำกว่า มีจุดมุ่งหมายทำรายได้จากการขายปริมาณมากเป็นสำคัญ, การกดราคาซัพพลายเออร์, รวมถึงการใช้เทคโนโลยีด้านการขนส่ง (logistic)

 

จากนั้นอีก 30 ปี ในปี ค.ศ. 1991 ยอดขายของวอล-มาร์ทพุ่งทะลุ 32.6 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ วอล-มาร์ท กลายเป็นยักษ์ใหญ่ธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา และขยายสาขาออกไปทั่วโลก

 

อีกหนึ่งปีต่อมา แซม วอลตันก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง --- แต่วอล-มาร์ท ยังคงเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ

 

การดำเนินธุรกิจของ วอล-มาร์ท

ลักษณะการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ดำเนินกิจการร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ทั้งในและนอกสหรัฐฯ และทำการค้าผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มีรายงานว่าในปี 2000 บริษัทฯ มียอดจำหน่ายปลีก สูงสุดติดอันดับหนึ่งของกลุ่มผู้ค้าปลีกในสหรัฐฯ คือ 193.3 พันล้านเหรียญฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 1999 ร้อยละ 15.9 จำนวนสาขาที่อยู่ในสหรัฐฯ 3,289 ร้าน แยกออกเป็น 4 ประเภทด้วยกันคือ

 

1.       Wal-Mart Stores เสนอขายสินค้าเกือบทุกชนิด

2.       Wal-Mart Supercenters เป็นร้านขนาดใหญ่ โดยมีแผนกของชำที่ครบวงจรเพิ่มขึ้นจากแผนกที่มีอยู่แล้วใน Wal-Mart Stores เพื่อขายอาหารทุกชนิดที่สามารถหาได้ตามตลาด supermarket ทั่วไป

3.       Wal-Mart Neighborhood Markets เป็นร้านสะดวกซื้อ ส่วนใหญ่อยู่ใน Wal-Mart Supercenters เพื่อกระจายสินค้าอาหารของบริษัทฯ

4.        SAM'S CLUB ดำเนินธุรกิจเสนอขายสินค้าในราคาส่งสำหรับใช้ในธุรกิจ และขายปลีกแก่ลูกค้าที่เป็นสมาชิก

 

ร้านค้าปลีกในระบบอี-คอมเมิร์ซเพิ่งจะเกิดขึ้นในปี 2000 โดยใช้ชื่อว่า http://walmart.com มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ซานฟรานซิสโก ส่วนร้านค้าปลีกประเภท Specialty stores คือ Tire & Lube Express Division (TLE), Wal-Mart Pharmacy และ Wal-Mart Vacations

 

นโยบายการบริหารจัดการของ วอล-มาร์ท เพื่อช่วงชิงความเป็นเจ้า โดยขายสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาด

ปัจจัยที่ทำ วอล-มาร์ท ขายสินค้าได้ต่ำกว่าราคาท้องตลาดโดยทั่วไปประกอบไปด้วย

1.       การใช้ระบบห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) และระบบโลจิสติก (logistic) ที่มีประสิทธิภาพ

2.       ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งมีระบบสื่อสารดาวเทียมเป็นของตนเอง สนับสนุนระบบห่วงโซ่อุปทาน และระบบโลจิสติก และการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค

3.       การกดดันผู้ผลิตสินค้าให้ตนเอง โดยใช้ วอล-มาร์ท เป็นตัวแทนจำหน่าย

 

นโยบายการบริหารจัดการของ วอล-มาร์ท เพื่อช่วงชิงความเป็นเจ้า โดยการปัดภาระค่าใช้จ่ายมาที่ Suppliers


  1. เก็บค่าแรกเข้า (Entrance fee) มีการเก็บค่าวางสินค้าแรกเข้า

  2. กำหนดอัตราแบ่งผลกำไรขั้นต่ำจากการขายสินค้า (Rebate) เครือข่ายยักษ์ค้าปลีกเหล่านี้มักเรียกเก็บในอัตรา ประมาณร้อยละ 0.5-3.0 ของยอดขายต่อปี โดยโรงงานผู้ส่งต้องประกันยอดอัตราผลกำไรจากการขายขั้นต่ำไว้ในสัญญาด้วย เช่น สัญญากำหนดอัตราผลกำไรจากการขายสินค้าไว้ที่ร้อยละ 2 ของยอดขาย โดยประกันว่าจะขายสินค้าได้ไม่น้อยกว่า 100,000 หน่วยต่อปี ถ้าสินค้านั้นขายได้น้อยกว่า 100,000 หน่วย ก็ต้องจ่ายอย่างน้อย ร้อยละ 2 ของจำนวน 100,000 หน่วย ถ้าขายได้มากกว่า ก็ต้องจ่ายเพิ่มในอัตรานั้นอีก

  3. ค่ากระจายสินค้า (Distribution fee) คือ ค่าใช้จ่ายในการบริหาร และขนส่งสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าไปยังสาขา เครือข่ายยักษ์ค้าปลีกจะเรียกเก็บค่ากระจายสินค้าจากโรงงานผู้ผลิตคิดเป็นร้อยละของยอดขาย

4.       ค่าลงโฆษณา ในแผ่นพับ ใบปลิว หรือ วารสารแนะนำสินค้า ที่วางแจก จ้างคนแจก ส่งไปตามไปรษณีย์ เพื่อดึงคนซื้อ หรือ เพิ่มยอดขายให้กับสินค้านั้นๆ

5.       ค่าการจัดรายการพิเศษ วอล-มาร์ท มักจะมีการจัดลดพิเศษสุดๆ ชนิดที่เห็นราคาแล้วไม่ซื้อก็เปรียบเสมือนการทำบาป ปีละ 4 ครั้ง โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่าย จากโรงงานที่เข้าร่วมรายการในอัตรา 250,000 บาทต่อ SKU ต่อปี อัตราค่าใช้จ่ายนี้ ได้รวมการลงโฆษณาในแผ่นพับที่ส่งทางไปรษณีย์ 2 ครั้ง และพื้นที่ในการจัดสินค้าหน้าแถว

 

นโยบายการบริหารจัดการของ Wal-Mart ภาพรวมการเจริญเติบโตของ Wal-Mart

 













ปี


ยอดขาย

(ล้านดอลลาร์)


กำไรสุทธิ

(ล้านดอลลาร์)


จำนวนสาขา

(แห่ง)


ร้อยละของ

กำไรต่อยอดขาย


1960


1.4


0.112


6


8.00


1970


31


1.2


32


3.87


1980


1,200


41


276


3.42


1990


2,6000


1,000


1,528


3.85


1995


93,627


2,740


2,945


2.92


1998


139,208


4,430


3,599


3.18


1999


166,809


5,377


3,989


3.22


2000


191,329


6,295


4,190


3.29

ตารางแสดง ยอดขาย กำไรสุทธิ จำนวนสาขา และร้อยละของอัตราต่อยอดขายของ Wal-Mart (ที่มา : "Sam Walton : made in America " - Sam Walton และ John Huey)

 

แม้ในทศวรรษแรกของการดำเนินการจะเติบโตช้าๆ เพราะเน้นกลยุทธ์ในการใช้ผลกำไรหรือขายหุ้นสามัญเพื่อนำมาขยายกิจการมากกว่ากู้เงินจากสถาบันการเงิน แต่ด้วยยอดขายและกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทำให้ วอล-มาร์ท สามารถขยายกิจการได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 1978 เมื่อวอล-มาร์ทตัดสินใจลงทุนด้วยเงินจำนวนมหาศาลในการวางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อลดต้นทุนการดำเนินการด้านสินค้าคงคลังและระบบขนส่ง ได้ส่งผลให้วอล-มาร์ท สามารถขยายสาขาอย่างมากมาย จาก 32 แห่งในปี 1970 เป็น 276 และ 1,528 แห่ง ในปี 1980 และ 1990 ตามลำดับ และมียอดขายและกำไรสุทธิต่อปีเพิ่มขึ้นมากกว่าปีละ 200% และนับตั้งแต่ปี 1990 วอล-มาร์ท ก็สามารถทำยอดขายได้มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกิจการ วอล-มาร์ทมีแนวโน้มของอัตรากำไรต่อยอดขายในสัดส่วนลดลงมาโดยตลอด จนมาถึงจุดต่ำสุดที่ร้อยละ 2.92 ในปี 1995 หลังจากนั้นอัตรากำไรก็เริ่มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (3.18, 3.22, 3.29 ในปี 1998, 1999, 2000 ตามลำดับ) การปรับตัวขึ้นสูงขึ้นของอัตรากำไรต่อยอดขายนี้มีเหตุผลที่น่าตั้งเป็นข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นได้เพียง 3 ประการ คือ หนึ่ง สินค้าที่วอล-มาร์ทผลิตขึ้นเอง มียอดขายสูงขึ้นมากจนทำให้สัดส่วนกำไรต่อยอดขายของบริษัทสูงขึ้น สอง การทุ่มตลาดสามารถ "ฆ่า" คู่แข่งขันได้อย่างสำเร็จแล้ว เมื่อหมดคู่แข่งขันทางการตลาดก็สามารถกำหนดอัตรากำไรต่อยอดขายเพิ่มขึ้นได้ สาม ตลาดต่างประเทศที่วอล-มาร์ทเข้าไปลงทุนเปิดกิจการ บางประเทศสามารถสามารถกำหนดกำไรต่อยอดขายได้สูงกว่าสาขาในประเทศ การขยายสาขาในต่างประเทศมากขึ้นจึงช่วยทำให้สัดส่วนกำไรต่อยอดขายเพิ่มสูงขึ้นด้วย

 

ทั้งนี้ในด้านหนึ่ง วอล-มาร์ท ได้รับการยกย่องว่าเป็นการสร้างทางเลือกและวัฒธรรมการบริโภคสินค้าราคาถูกให้แก่ชาวอเมริกัน ส่วนในอีกด้านหนึ่งที่บ่อยครั้ง วอล-มาร์ท มักจะถูกคนอเมริกันและท้องถิ่นอื่นๆ ที่ห้างนี้ย่างกรายไปหา ต่อต้านและประณามก็คือ การโจมตีร้านค้ารายย่อยในท้องถิ่น, เข้าไปเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้นๆ, สวัสดิการแรงงานที่ไม่ค่อยดีนัก, ดูดความมั่งคั่งจากท้องถิ่นไปยังถิ่นอื่น, รวมถึงการพยายามผูกขาดการแข่งขันเสรีโดยการใช้วิธีการที่ไม่เป็นธรรม ... และนี่คือวิธีการหลักของยักษ์ใหญ่ค้าปลีกเกือบทุกเจ้า

 

0 0 0

 

... 2 เดือนผ่านไป กับสถานการณ์ที่ Big C ลำพูน

 

ปรากฏการณ์

... ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ห้างค้าปลีกรายใหญ่อย่าง บิ๊กซี (Big-C) ได้เปิดสาขาที่ 50 อย่างเป็นทางการ ด้วยพื้นที่ 6,119 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ขายประมาณ 3,183 ตารางเมตร ซึ่งเป็นสาขาแรกที่นำไซต์ระดับกลาง มานำเสนอเป็นรูปแบบ 2 ชั้น

 

ซึ่งโดยปกตินั้นไซต์ระดับกลางของบิ๊กซีจะมีเพียงชั้นเดียว โดยชั้นล่างเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่กว่าปกติ และชั้นสองเป็นซุปเปอร์สโตร์ ซึ่งมีร้านค้าครบครันและทันสมัย อาทิ ซุปเปอร์ยำ, ร้าน สุกี้ MK., KFC., S&P, เดรี่ควีน, มิสเตอร์โดนัส, สเว่นเซ็นส์, ร้านผื้งน้อยเบเกอรี่, กาแฟวาวี, ร้านแม่วังสื่อสาร, ธนาคารไทยพาณิชย์ ฯลฯ

โดยบิ๊กซีสาขาล่าสุดนี้ตั้งอยู่ ณ ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน และความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของบิ๊กซีสาขานี้ก็คือ เป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ที่มีหนุ่มสาวชาวนิคมฯ กว่าหมื่นคนเป็นลูกค้าเป้าหมาย --- ซึ่งบิ๊กซีสาขานี้ใช้เงินลงทุนกว่า 350 ล้านบาท

กลยุทธ์เบื้องต้น ที่บิ๊กซีนำมาใช้รับมือกับการ "ก่นด่าและต้านทาน" จากเหล่านักต่อต้านโลกาภิวัตน์, นักชาตินิยม รวมถึงนักพอเพียงนิยม นั่นก็คือนโยบายในการชำระภาษีคืนกลับสู่ชุมชนรูปแบบภาษีท้องถิ่น, สนับสนุนการจ้างงานในท้องถิ่น (แหะๆ แต่ตอนนี้บิ๊กซีลำพูนนี้มีพนักงานทั้งสิ้น 211 คนเอง ;-) และในช่วงเปิดสาขานี้ ได้จัดงาน "แอ่วกาดคนเหนือ" ระหว่าง 2 - 30 พ.ค.50 สนับสนุนสินค้า OTOP ของภาคเหนือ --- แต่เชื่อเหอะ แค่นี้ไม่พอหรอก!

 

ส่วนกลยุทธ์ที่นำมาใช้ในครั้งแรกเริ่ม ก็คือการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายพิเศษ เช่น ซื้อสินค้าที่บิ๊กซีครบทุก 400 บาท ลุ้นรับตั๋วเครื่องบินไป-กลับ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ทุกวันๆ ละ 2 รางวัล, ชำระเงินผ่านบัตรเครดิตบิ๊กซีหรือบัตรเครดิตซิตี้แบงก์รับคูปองเพิ่มอีก 1 ใบ รวมถึงสินค้าตัดราคาต่างๆ เป็นต้น

 

และในช่วงเดือนที่บิ๊กซีลำพูนเปิดใหม่นั้น ก็ได้รับการต้อนรับจากชาวลำพูนอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง!

 

เสียงจากรายย่อยรอบข้าง, พนักงานบิ๊กซี และผู้บริโภค

 

 

ถนนและร้านรวงในแถวสันป่าฝ้าย, ร้านค้าของลุงสังข์, ร้านมือถือของพี่หมวย และห้าง Big - C ลำพูน

 

วันที่ 19 มิ.ย. 50 ผู้เขียนได้ลงไปสำรวจพื้นที่ใกล้เคียงห้างบิ๊กซีลำพูน และข้างในห้าง ..

 

ตรงข้ามกับห้างบิ๊กซีลำพูน คือย่าน "สันป่าฝ้าย" ซึ่งเป็นย่านการค้าที่สำคัญ สำหรับชาวหนุ่มสาวนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ผู้เขียนได้ลองไปพูดคุยกับคนค้าขายในแถบนี้

 

พี่หมวยเจ้าของร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงเมื่อห้างบิ๊กซีเปิดใหม่และร้านมือถือข้างในห้างมีโปรโมชั่นตัดราคา แต่ตอนนี้ก็เข้าสู่สภาพปกติแล้ว สิ่งที่กลัวก็คือการตัดราคาแบบที่ห้างเปิดใหม่ๆ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นคงอยู่ไม่ได้แน่ๆ

 

"สอง สามวันแรก ร้านมือถือแถวนี้ (สันป่าฝ้าย) เงียบไปหมดเลย เพราะคนอยากไปดูของใหม่ๆ ถูกๆ ในห้าง" ---พี่หมวยกล่าว

 

ส่วนร้านก๋วยเตี๋ยวและร้านอาหารตามสั่ง จากการเข้าไปพูดคุยพบว่า ยอดขายโดยเฉพาะหนุ่ม-สาว นิคม นั้นลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด เพราะหนุ่มสาวนิคมหันไปบริโภคอาหารจานด่วนในห้าง

 

"พวกนิคม หายกันไปมาก เมื่อก่อนถ้าเลิกงานหรือพัก แถบนี้ก็แทบจะเต็มหมด เดี๋ยวนี้ลดลงไปมาก เขาเข้าห้างกัน" เจ้าของร้านอาหารตามสั่งท่านหนึ่งกล่าว

 

ทางด้านร้านโชห่วยต่างๆ ก็บอกถึงผลกระทบบ้าง ไม่กระทบบ้าง โดยลุงสังข์ ซึ่งเป็นเจ้าของร้านโชห่วยและผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 สันป่าฝ้าย กล่าวว่า "ลูกค้าก็ยังไม่หนีไปไหน เขาซื้อของชิ้นสองชิ้น คงไม่เสียเวลาเข้าไปที่ห้างกันหรอก"

 

แต่ลุงสังข์คงจะดูแคลนกลยุทธ์ทางการตลาดของห้างใหญ่ๆ เกินไป เพราะจากการเข้าไปสำรวจในห้าง บิ๊กซี และได้พูดคุยกับ พนักงานของร้านเบเกอรี่แห่งหนึ่ง พบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคกำลังเปลี่ยน โดยช่วงพักเที่ยง เสาร์-อาทิตย์ คนจะเยอะมากจากนิคมฯ เข้ามาใช้บริการตรงฟู้ดเซนเตอร์ ร้านฟาสฟู้ดต่างๆ

 

รวมถึงลูกค้าของห้างบิ๊กซีท่านหนึ่งที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรม บอกว่าเมื่อก่อนตอนสิ้นเดือนนั้นก็มักจะไปเที่ยวและซื้อของจากห้างบิ๊กซี หรือโลตัส ที่เชียงใหม่ โดยเป็นการซื้อของใช้ไว้เข้าห้องพัก ตอนนี้รู้สึกประหยัดเงินและเวลาที่ไม่ต้องไปไกล ส่วนร้านโชห่วยนั้น ก็จะเป็นการซื้อแบบฉุกละหุกไม่ได้วางแผนซื้อล่วงหน้า และไว้ซื้อของเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

 

"คงจะต้องเลือกซื้อของที่ถูกใจ ราคาถูก และมีคุณภาพ เพราะบางเดือนรายได้เราไม่ได้มีมากนัก" เธอกล่าวปิดท้าย

 

ทุนท้องถิ่นปะทะทุนภายนอก

ทางด้านนายทุนผู้ประกอบการค้าปลีกท้องถิ่นเมืองลำพูน ก็ได้ออกมาโอดครวญถึงยอดขายสินค้าตกฮวบลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

 

นางอัญเชิญ วงศ์มณีรุ่ง เจ้าของห้างสรรพสินค้าแจ่มฟ้าพลาซ่าจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า หลังจากบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เปิดบริการในพื้นที่ย่านนิคมอุตสาหกรรมลำพูน เมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ยอดการขายสินค้าของห้างลดลงกว่า 50% โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค บริโภค เสื้อผ้า และอาหารสด แม้ว่าที่ผ่านมาทางห้างจะพยายามจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างเต็มที่เพื่อแข่งขันกับโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ แต่ก็ไม่สามารถสู้ได้ เนื่องจากต้นทุนสินค้าสูงกว่ามาก

 

"ทุกวันนี้เราจัดรายการส่งเสริมการขายสู้โมเดิร์นเทรดเต็มที่ บ่อยครั้งถึงขนาด ซื้อ 1 แถม 1 แต่ก็ยังสู้กลยุทธ์ของโมเดิร์นเทรดไม่ได้ หากสถานการณ์ยังเป็นอยู่แบบนี้เชื่อว่า ระบบค้าปลีกของคนท้องถิ่นลำพูนคงหมดไปในอีกไม่นาน" นางอัญเชิญ กล่าว

 

ส่วนนายณรงค์ ธรรมจารี เลขาธิการ หอการค้าจังหวัดลำพูน กล่าวว่า ภายหลังที่มีโมเดิร์นเทรดเปิดบริการในพื้นที่ลำพูน ส่งผลกระทบกับค้าปลีกในท้องถิ่นอย่างเห็นได้ชัด โดยร้านค้าที่ได้รับผลกระทบชัดเจน อาทิเช่น ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าย่านนิคมอุตสาหกรรมเมืองลำพูน พบว่า มียอดขายลดลงเฉลี่ยร้อยละ 30-40 และผู้ประกอบการในตลาดสดทั่วไปขายสินค้าได้น้อยลงร้อยละ 20-30

 

"โมเดิร์นเทรด มีความได้เปรียบผู้ประกอบการท้องถิ่นทุกด้าน โดยเฉพาะกลยุทธ์การดึงดูดผู้ซื้อ ดังนั้นแม้ผู้ค้ารายย่อยจะพยายามส่งเสริมการขายก็สู้ไม่ได้ ดังนั้นจะเห็นผู้ประกอบการตามอาคารพาณิชย์ต่างๆ ค่อยๆ หายไปในอนาคตอันใกล้นี้" (ที่มา : ค้าปลีกลำพูนร้อง"บิ๊กซี"ทำยอดขายตก )

 

... ปัญหาโลกแตกอีกอย่างของการวิจารณ์ร้านค้าปลีกรายใหญ่ก็คือ ถ้าไม่สนับสนุนทุนข้ามชาติแล้ว ตัวเลือกที่เหลือก็คือนายทุนไทย นายทุนท้องถิ่น และยี่ปั๊ว ต่างๆ ... แล้วมันจะมีประโยชน์หรือมีค่ามากน้อยกว่าทุนข้ามชาติแค่ไหน เพราะบางทีนายทุนไทย นายทุนท้องถิ่น ยังอาจล้าหลังและไม่ได้คืนอะไรให้กับสังคมเรามากกว่าทุนข้ามชาติเหล่านั้นเสียอีก !

 

0 0 0

 





 

>>บทสรุปสำหรับแรงงาน-ผู้บริโภค และผู้ค้ารายย่อย

 


  • ค้าปลีกทุนใหญ่อาศัยกำลังเงินที่มากกว่าจึงได้เปรียบกว่าร้านเล็กๆ

  • ร้านโชห่วยในพื้นที่คือคู่แข่งโดยตรง ในระยะแรกยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ในระยะยาวจะไม่สามารถแข่งขันกับค้าปลีกทุนใหญ่ได้

  • วิธีการสำคัญของค้าปลีกทุนใหญ่ก็คือ การตัดราคา และกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการบริโภคในท้องถิ่นเสียใหม่เสียใหม่ ให้เอื้อประโยชน์แก่ตน

  • ทางเลือกของแรงงาน-ผู้บริโภคระดับล่างไม่ค่อยมีให้เลือกมากนัก เนื่องจากระดับเงินเดือนและระดับการใช้จ่ายค่าครองชีพใกล้เคียงกัน การซื้อสินค้าที่ถูกที่สุดโดยไม่ให้ความใส่ใจแก่ประเด็นเรื่องอุตสาหกรรมค้าปลีกที่ส่งผลต่อสังคมนั้น เป็นเรื่องที่อธิบายได้ว่า "มันหมดทางเลือกที่ดีกว่านี้ไปหมดแล้ว"

  • การผลักดันให้เกิดระบบสหกรณ์การค้าสินค้าอุปโภคบริโภคระดับชาติและมีเครือข่ายยิบย่อยในท้องถิ่นต่างๆ บริหารจัดการในแนวทางการจัดการแบบรัฐวิสาหกิจที่รัฐและประชาชนเป็นเจ้าของ ลงไปแข่งขันในอุตสาหกรรมค้าปลีก ซึ่งรัฐวิสาหกิจนี้สามารถขาดทุนได้แต่ต้องเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด กลับเป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครพูดถึง

 

 

 

 

………………………………….

ข้อมูลประกอบการเขียน

 

ลงพื้นที่สำรวจบริเวณห้างบิ๊กซี สาขาลำพูน 19 มิถุนายน 2550

บิ๊กซีทุ่ม 350ล.มัดใจชาวลำพูน (ฐานเศรษฐกิจ 6 พฤษภาคม 2550)

ยักษ์ค้าปลีกข้ามชาติกับการฆ่าผู้ค้าปลีกรายย่อย" (เศรษฐศาสตร์การเมืองฉบับจากทุนผูกขาดสู่วินาศกรรม)

"FORBES Greatest Business Stories of All Time" - Daniel Gross

 ค้าปลีกลำพูนร้อง"บิ๊กซี"ทำยอดขายตก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท