Skip to main content
sharethis

ณรรธราวุธ เมืองสุข


สำนักข่าวชาวบ้าน


 


 


มองเผินๆ พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักรที่ คมช.กำลังผลักดันอยู่ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชาวบ้านตัวเล็กๆ จากปากมูนที่ออกมาต่อสู้เพื่อปากท้องของตนเอง ชาวบ้านผู้ห่างไกลไม่รู้ว่าสงครามก่อการร้ายคืออะไร เข้าใจท่องแท้ว่า ถ้า พ.ร.บ.นี้ผ่าน การต่อสู้จะยากลำบากกว่านี้หลายเท่า "อนาคต พี่น้องในอีสานจะเป็นเหมือนพี่น้องภาคใต้หรือเปล่าไม่รู้" พ่อสมเกียรติ พ้นภัย นักต่อสู้เพื่อวิถีชีวิตจากริมฝั่งน้ำมูลบอกด้วยสายตาหวาดหวั่น


 


ในขณะที่การต่อสู้เพื่อให้เปิดเขื่อนครั้งล่าสุด ยังต้องรับท่าทีเงียบเฉยจากฝั่งรัฐบาลต่อไป และแล้วกระแสเรื่อง พ.ร.บ.ก็ถูกจุดขึ้นมาให้พี่น้องจากเขื่อนปากมูนที่เดินทางเข้ากรุงเทพด้วยระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรต้องได้รับทราบข้อมูลที่บั่นทอนกำลังใจอีก ในเมื่อสิ่งที่พวกเธอและเขากำลังต่อสู้ คือเรื่องปากท้อง ที่ฝ่ายรัฐนำไปโยงกับเรื่องความมั่นคงเสียอย่างนั้น


 


กลับไปมองร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ที่นักวิชาการบอกว่าแทบทุกมาตราในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนแทบทั้งสิ้น ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังพยายามผลักดันกันอยู่จะไร้ค่าหมดความหมายไปในทันที จะเพราะความพยายามที่จะนำกฏหมายด้านความมั่นคงมาใช้เพื่อต่อต้านสงครามก่อการร้าย หรือเพื่อเหตุผลอื่นใด นักวิชาการจากเวทีสัมมนา "ชำแหละร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร" ที่สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มิถุยายนที่ผ่านมาก็ตั้งข้อสงสัยว่า สุดท้ายแล้ว เพื่อการคงโครงสร้างของ กอ.รมน. หน่วยงานด้านความมั่นคงเก่าแก่ที่มีบทบาทสมัยปราบคอมมิวนิสต์และถูกใช้ปราบปราบผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดในสมัย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตรให้ดำรงอยู่ในยุคโลกาภิวัฒน์นี้ต่อไปหรือไม่ พูดง่ายๆ คือ เพื่อให้ คมช.สืบทอดทายาทแห่งอำนาจต่อไป


 


ในยุคของเผด็จการทหาร และอำนาจที่ล้นฟ้า แทบไม่มีใครรู้เรื่องราวว่า ชาวบ้านปากมูนต้องเผชิญกับท่าทีจากฟากทหารอย่างไรก่อนการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อขอให้ทางรัฐบาลทบทวนมติคณะรัฐมนตรีในการออกคำสั่งปิดเขื่อนครั้งนี้


 


ดร.นฤมล ทับจุมพล จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยเป็นผู้เปิดประเด็นนี้ว่า "เมื่อช่วงกลางเดือน ฝ่ายปกครอง(โดยการนำของทหาร) ก็เข้าไปคุยกับชาวบ้านโดยออกคำสั่งไม่ให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ชาวบ้านซึ่งจะเดินทางโดยรถยนต์เข้ามา คนขับรถก็ถูกจับ จนต้องแยกกันเดินทางโดยรถไฟ ถึงเข้ากรุงเทพฯ มาได้"


 


เธอบอกว่า "นี่ขนาดยังไม่ได้ออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ เจ้าหน้าที่ยังแสดงท่าทีกับชาวบ้านขนาดนี้"


 


มาตราที่น่าหวาดหวั่น-น่าเป็นห่วงว่ากระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างที่สุดใน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว นอกจาก "ความมั่นคง" ทีเกิดจากการตีความตามดุลยพินิจ (อย่างอิสระ) ของ ผอ.กอ.รมน.ซึ่งเป็นตำแหน่งอัตโนมัติของ ผบ.ทบ.แล้ว มาตราที่ 25 ที่ระบุถึงข้อกำหนด 8 ข้อ(โดยอำนาจ)เพื่อ "ให้ภัยความมั่นคงยุติลงได้" รวมทั้งมาตราที่ 26 ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการจับกุม ตรวจค้น ยึดหรืออายัดทรัพย์สินได้ตามสะดวก หาก ผอ.กอ.รมน.เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง


 


และที่น่าหวาดหวั่นอย่างที่สุด หาก พ.ร.บ.ความมั่นคงฉบับนี้ผ่าน นั่นเท่ากับอำนาจตุลาการจะถูกแทรกแซง ผอ.กอ.รมน.จะใช้อำนาจวินิจฉัยแทนศาล กระบวนการยุติธรรมถึงคราพบจุดบอด


 


ที่น่าสนใจ ชาวบ้านจากปากมูนบอกว่า ตนเองจะต่อสู้ยากลำบากมากกว่านี้หลายเท่า...


 


ปากมูน -การต่อสู้เพื่อปากท้องครั้งประวัติศาสตร์ เฉกเช่นที่ยายไฮ ขันจันทาเคยต่อสู้ ถูกยืนยันโดยปากชาวบ้านว่า กระบวนการที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาแล้วเดินทางเข้ากรุงเทพฯ คือหนทางสุดท้ายของการต่อสู้


 


สมภาร คืนดี ผู้ประสานงานชาวบ้านปากมูนบอกว่าการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ของชาวบ้านคือหนทางสุดท้าย ผ่านการพูดคุย เรียนรู้ และอดทนให้รัฐเข้าไปให้ความสนใจข้อเรียกร้องของ แต่ก็ว่างเปล่า จึงต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ แต่ไม่ได้มาประท้วงใช้ความรุนแรง ต้องการแค่ให้เขาทบทวนมติ ค.ร.ม. อยากให้ นายกฯ กลับมตินั้น แต่มันก็ไม่ได้รับความสนใจ


 


"เราเคยถูกกล่าวหาว่าจะไปร่วมชุมนุมที่สนามหลวงกับกลุ่มไล่ คมช. เราบอกว่าเราไม่ไปหรอก เรามาต่อสู้เพื่อปากท้องของเรา เพื่อวิถีชีวิต ไม่ได้ต้องการไปยุ่งเรื่องการเมือง" เธอบอก


 


ธรรมชาติของ "ชาวบ้าน" ผู้รอรับนโยบายของรัฐไปปฏิบัติอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนมาแต่ไหนแต่ไร น้อยคน น้อยกลุ่มคน และน้อยพื้นที่นักที่จะลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่อคำสั่งของ "นายเมือง"   เพราะจะรัฐบาลไหนหรืออำนาจอยู่ในมือใคร ชาวบ้านผู้ใช้ชีวิตในวิถีแห่งชนบทจำนวนมาก ไม่ได้สนใจเท่ากับรวงข้าว จำนวนปลา ท้องฟ้า สายน้ำ และวิถีอันสงบเช่นเดิมที่สืบทอดต่อกันมาชั่วนาตาปี หน้าที่ของพวกเขาคือ ผลิต ผลิต ผลิต และบริโภคแต่พองาม


 


การลุกฮือของชาวบ้านแห่งปากมูน จึงเป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้โดยสันติวิธีของประชาชนตัวเล็กๆ ในพื้นที่อันห่างไกลของประเทศ


 


ยังมีรายละเอียดอีกมาก ที่กระแสแห่งอำนาจไปกระทบกับวิถีแห่งปากมูน และยิ่งกว่านั้น หาก พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฉบับนี้ผ่าน ภาพการต่อสู้ของชาวบ้านจากริมฝั่งแม่น้ำจากอีสานกลุ่มนี้จะปรากฏออกมาอย่างไร


 


"อนาคต พี่น้องในอีสานจะเป็นเหมือนพี่น้องภาคใต้หรือเปล่าไม่รู้" พ่อสมเกียรติ พ้นภัย นักต่อสู้เพื่อวิถีชีวิตจากริมฝั่งน้ำมูลบอกด้วยสายตาหวาดหวั่น


 


พลางถอนใจ...


  


 


 






อ่านประกอบ จดหมายของพ่อสมเกียรติ พ้นภัย ที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์จุลานนท์


 


 


เรื่อง การแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล


เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี


 


ตามที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาเมื่อคราวประชุมวันที่ 12 มิถุนายน 2550 เห็นชอบตามข้อเสนอของ กอ.รมน. ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรักษาระดับน้ำในแม่มูลไว้ที่ระดับ 106-108 ม.รทก. เพื่อให้ราษฎรเหนือเขื่อนทำการเกษตรนั้น


 


คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูน (ชชช.) ใคร่ขอชี้แจงข้อมูล เพื่อให้ท่านได้พิจารณา ดังนี้


 


1.กรณีเขื่อนปากมูล เมื่อปี 2544 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจัดทำโครงการศึกษาวิจัยแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศ วิถีชีวิและชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล การศึกษาดังกล่าวได้เสนอให้เปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลตลอดปี เนื่องจากข้อพิจารณาที่ว่า ปัญหาของการผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนฯ สามารถมีทางออกทางเทคนิคได้หลายทาง แต่ส่วนปัญหาเศรษฐกิจชุมชนไม่สู้มีทางออกและมิสามารถแก้ได้ด้วยเทคนิค เขื่อนปากมูลส่งผลด้านลบต่อความยากจนและต่อความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางธรรมชาติอย่างมิสามารถปฏิเสธได้ การแก้ไขปัญหาให้ครัวเรือนถึง 8,000 กว่าครัวเรือน (ตัวเลขประมาณการของคณะวิจัย ซึ่งต่างจากจำนวน 6,176 ที่อยู่ในข่ายได้รับค่าชดเชยของ กฟผ.) นั้นต้องอาศัยทรัพยากร ความร่วมมือและเวลาของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และเขื่อนก็ยังมิได้มีบทบาททางชลทานอย่างเต็มศักยภาพ สมควรมุ่งประโยชน์ของลำน้ำมูนเพื่อเศรษฐกิจพื้นฐานชุมชย ด้วยการพักใช้เขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ก่อน


 


1.ในด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของเขื่อนปากมูล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้ศึกษาถึงประสิทธิภาพของเขื่อนปากมูล เมื่อปี 2543 ในนามของคณะกรรมการเขื่อนโลก สรุปว่า เขื่อนปากมูลไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ไม่แน่ว่าเขื่อนปากมูลจะได้สร้างหรือไม่ถ้าหากนำผลประโยชน์ที่แท้จริงไปใช้ในการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ นอกจากนั้น ยังระบุว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด รวมถึงเจ้าของโครงการเป็นผู้เสียผลประโยชน์


 


3.ด้านการชลประทาน จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในโครงการเดียวกันระบุว่า การใช้ประโยชน์ทางการชลประทานจากเครื่องสูบน้ำเดิมได้คาดการณ์ว่าสถานีสูบน้ำ 29 สถานีในแม่น้ำมูน เขตจังหวัดอุบลราชธานี ในระยะแรกจะมีศักยภาพหล่อเลี้ยงพื้นที่สูงถึง 45,000 ไร่ และในระยะต่อไปจะสามารถขยายได้เต็มพื้นที่โครงการถึง 160,000 ไร่ แต่ในความเป็นจริงที่ผ่านมายังถูกจำกัดอยู่มาก สถานีสูบน้ำให้บริการครอบคลุมพื้นที่โครงการไม่ได้ ในส่วนเฉพาะพื้นที่ที่ทำการศึกษาจากสถานีสูบน้ำที่มีอยู่จำนวน 9 สถานี ในพื้นที่อำเภอพิบูลมังสาหาร (6 สถานี) อำเภอสิรินธร (3 สถานี) นั้น กรมพัฒนาส่งเสริมพลังงานคาดว่าจะสามารถส่งน้ำได้ 14,757 ไร่ ในปัจจุบันได้มีเกษตรกรขอใช้น้ำเพียงประมาณ 2,526 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 17 ของพื้นที่ที่คาดการณ์ไว้ในช่วงก่อนการเปิดประตู (2541-2542) ส่วนในช่วงที่เปิดประตูน้ำ (2544-2545) นั้น พื้นที่ขอใช้น้ำลดลงเหลือประมาณ 2,052 ไร่ หรือร้อยละ 14 เท่านั้น ปัญหาหนี้สืบเนื่องมาจากราคาค่าใช้น้ำ 80 บาทต่อชั่วโมง นับว่าเป็นต้นทุนที่สูงมากสำหรับราคาพืชผลผลิตหลักทางการเกษตร


 


ดังนั้น แม้ว่าจะมีการสร้างระบบชลประทานขึ้นมาใหม่ก็ไม่แน่ว่าชาวบ้านจะใช้น้ำในการทำการเกษตรหรือไม่เพียงใด เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการทำเกษตรอยู่ที่ต้นทุนและราคาผลผลิตเป็นสำคัญ การอ้างรายชื่อเกษตรกรที่ต้องการน้ำกว่า 23,000 ราย โดยไม่ได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงจึงเป็นการตัดสินใจที่มีความสุ่มเสี่ยง โดยการรวบรวมรายชื่อผู้ต้องการน้ำ ยังเป็นข้อกังขาในพื้นที่ว่า รายชื่อดังกล่าว แท้ที่จริงแล้วมีความประสงค์ที่จะได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น เช่น การจัดที่ดิน หรือกองทุนต่างๆ แต่ถูกบิดเบือนมาเป็นความต้องการให้รักษาระดับน้ำหรือไม่


 


4.จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2547 ให้เปลี่ยนช่วงเวลาการเปิดประตูน้ำจากเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนตุลาคม เป็นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุนายนเป็นต้นไปเป็นระยะเวลา 4 เดือน ก็เพื่อให้สอดคล้องกับการอพยพของปลาจากแม่น้ำโขง โดยในมติคณะรัฐมนตรีระบุชัดเจนว่า ช่วงเวลาการเปิดประตูน้ำจะต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่การประกอบอาชีพประมง โดยเฉพาะการทำประมง ต่อมาคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 เห็นชอบให้เปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลสุดบานประตูในวันที่ 17 มิถุนายน 2550 ระบุว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย แต่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2550 ที่ระบุให้รักษาระดับน้ำที่ 106-108 ม.รทก. ซึ่งเป็นการปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลถาวรนั้น นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์กับพวกเราแล้ว ยังทำให้พวกเราไม่สามารถประกอบอาชีพประมงได้ การลงทุนในเครื่องมือประมงจึงสูญเปล่า เป็นสาเหตุแห่งหนี้สินที่เพิ่มพูนขึ้น ก็เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้


 


เหตุผลดังกล่าวข้างต้น พวกเราจึงมีความต้องการให้ท่านได้ทบทวนการตัดสินใจรักษาระดับน้ำในระดับน้ำในระดับ 106-108 ม.รทก. เพราะนั่นคือปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร และล้มเลิกมติคณะรัฐมนตรีเดิมที่ให้เปิดประตูน้ำ 4 เดือนสุดบานประตูไปโดยปริยาย เพราะระดับน้ำ 108 ม.รทก. คือระดับเก็บน้ำปรกติของเขื่อนปากมูล และเมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตปั่นไฟปรกติแล้วระดับน้ำก็จะอยู่ที่ประมาณ 106 ม.รทก. โดยไม่จำเป็นต้องเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูล


 


ที่สำคัญ การเปิดประตูน้ำที่พวกเราเรียกร้องคือการเปิดประตูเขื่อนทั้ง 8 บานสุดบานประตู เพื่อให้ปลาจากแม่น้ำโขงอพยพเข้าสู่แม่น้ำมูล ตามวัฏจักรของธรรมชาติ และที่ผ่านมาการเปิดประตูน้ำ 4 เดือนที่พวกเรายอมรับเป็นเพียงการจำยอมภายใต้อำนาจของรัฐบาลเก่า ความต้องการที่แท้จริงของพวกเราคือการเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลอย่างถาวรตามข้อเสนอของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านคืนสู่สภาวะปรกติ สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป


 


จึงกราบเรียนมายังท่าน เพื่อโปรดพิจารณาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพวกเราให้ได้รับความเป็นธรรมต่อไป


 


    ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง


 


        นายสมเกียรติ พ้นภัย


 


คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูน (ชชช.)


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 






 


อ่านประกอบ มาตรา 25, มาตรา 26 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ...


 


มาตรา 25 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อให้การกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายแรงมากขึ้น ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในมีอำนาจออกข้อกำหนดดังต่อไปนี้


 


(1)    ห้ามบุคคลใดนำอาวุธที่กำหนดในกฏกระทรวงออกนอกเคหสถาน


(2)    ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ


(3)    ห้ามมิให้การชุมนุม หรือมั่วสุมกัน ห้ามการแสดงมหรสพ ห้ามการโฆษณา เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นการชักชวนหรือยั่วยุให้มีการกรำความผิดกฏหมาย


(4)    ห้ามให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หรือบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น


(5)    ให้บุคคลใดนำอาวุธที่กำหนดในกฏกระทรวงมามอบไว้เป็นชั่วคราวตามความจำเป็นโดยการส่งมอบ การรับมอบ และการดูแลรักษาอาวุธดังกล่าวให้กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานที่เห็นสมควร


(6)    ให้เจ้าของกิจการ หรือผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในกิจการ หรือการทุจริต ซึ่งมีพนักงานหรือลูกจ้าง หรือบุคคลอื่นที่มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการ หรือการจัดการธุรกิจ จัดเก็บ และเก็บประวัติและแจ้งการย้ายเข้าและการย้ายออก การเลิกจ้าง และแจ้งพฤติการณ์ของบุคคลดังกล่าวให้เจ้าพนักงานทราบ


(7)    ออกคำสั่งให้การซื้อขายใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธ สินค้า เวชภัณฑ์เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งอาจใช้กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรต้องรายงาน หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกำหนด


(8)    ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรงหรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน ทั้งนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ของทหารให้มีอำนาจเช่นเดียวกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัตินี้ โดยการใช้อำนาจหน้าที่ของทหารจะกระทำได้เพียงใดให้เป็นไปตามเงื่อนไข และเงื่อนเวลาที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกำหนด แต่ต้องไม่เกินกว่ากรณีที่มีการใช้กฏอัยการศึก


      


            ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติของเจ้าพนักงาน หรือมอบหมายให้เจ้าพนักงานกำหนดพื้นที่ และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้


 


            เมื่อการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรยุติลง ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประกาศยกเลิกข้อกำหนดตามมาตรานี้โดยเร็ว


 


มาตรา 26 เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้มีประสิทธิภาพ ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในออกประกาศให้เจ้าพนักงานมีอำนาจดังต่อไปนี้


 


(1)    จับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นภัยความมั่นคงในราชอาณาจักร ทั้งนี้ เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลนั้นกระทำการหรือร่วมมือกระทำการใดๆ อันจะทำให้เกิดการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับการกระทำเช่นว่านั้น


(2)    ดำเนินการปราบปรามบุคคล กลุ่มบุคคล หรือกลุ่มองค์กรที่ก่อให้เกิดการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร


(3)    ออกหนังสือสอบถาม หรืออกคำสั่งเรียกบุคคลใดมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงาน หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งมอบเอกสาร หรือหลักฐานใด เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร


(4)    ตรวจค้นบุคคล ยานพาหนะ เคหสถาน สิ่งปลูกสร้าง หรือสถานที่ใดๆ ตามความจำเป็นเมื่อมีเหตุสงสัยตามสมควรว่ามีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาจากการกระทำความผิด หรือได้ใช้ หรือจะใช้ในการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร


(5)    เข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้น เมื่อมีเหตุสงสัยว่ามีบุคคลที่ต้องสงสัยว่าจะก่อให้เกิดการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรหลบซ่อนตัวอยู่ หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาจากการกระทำความผิด หรือได้ใช้ หรือจะใช้ในการกระทำเช่นว่านั้น หรืออาจใช้เป็นพยานหลักฐานลงโทษผู้กระทำความผิดได้ เมื่อมีเหตุอันเชื่อได้ว่าหากไม่รีบดำเนินการบุคคลนั้นจะหลบหนี หรือทรัพย์สินจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม


(6)    ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เอกสาร หรือพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net