สัมภาษณ์ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ : พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์...มันจำเป็นและออกมาก็ไม่ขี้ริ้ว

ถ้ายังจำกันได้ กฎหมายที่ถูกดันเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นฉบับแรกของรัฐบาลรัฐประหาร ก็คือ "ร่างพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ...."

 

จนบัดนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นของการผลักดันโดยนายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นผู้เสนอเข้าครม. จนผ่านเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และได้ออกกฎหมายฉบับสมบูรณ์มา ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.50 ซึ่งจะทำให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ภายใน 30 วัน นั่นคือ พร้อมบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 50 ที่จะถึงนี้

 

"ประชาไท" สัมภาษณ์ "ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์" นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการที่เข้าไปคลุกคลีกับศูนย์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (Nectec) ซึ่งมีความพยายามปลุกปั้นกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์หลายต่อหลายฉบับ สำหรับในพ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับนี้ "ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์" ได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่พิจารณากฎหมายดังกล่าวด้วย

 

 

000

 

 

เดิมทีกฎหมายนี้ใช้ชื่อว่า กฎหมายอาชญากรรมที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ทวีเกียรติ -  แต่เดิมเรามองว่า ถ้าใช้ชื่อว่ากฎหมายอาชญากรรมที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ คนจะไปปนกันว่าเป็นการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อประกอบอาชญากรรม ซึ่งจริงๆ ใช้กฎหมายอาญาปกติได้อยู่แล้ว เช่น เราหลอกลวงคนโดยผ่านคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ก็เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงคน หรือเราหมิ่นประมาทคนผ่านอินเตอร์เน็ต ก็เท่ากับใช้คอมพิวเตอร์ในการโฆษณาให้เขาเสียชื่อเสียง มันใช้กฎหมายปกติได้อยู่แล้ว

 

คนก็บอกว่าถ้างั้นมันก็ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอาญา ดังน้น ในส่วนนี้ก็ตัดออกไปได้ เป็นเครื่องมือเท่านั้นเอง เราต้องการจำกัดจริงๆ เฉพาะความผิดที่ทำกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งมันมีอยู่ 4 กรอบด้วยกัน

 

กรอบแรกในความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ คือ ขั้น Input คือ ใส่ไวรัส ใส่ข้อมูล อะไรลงไป หรือUnauthorized Access คือเข้าไปโดยมิชอบ นี่คือความผิดที่ตรงเลยเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

 

ขั้นตอนที่สอง คือ การทำให้คอมพิวเตอร์รวน เช่น ไวรัสคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่การเอาไม้ไปทุบคอมพิวเตอร์ เพราะถ้าแบบนั้นก็เป็นการทำให้เสียทรัพย์ธรรมดา ถือเป็นความผิดทางอาญา ไม่ใช่ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การทุบคอมพิวเตอร์หรือแม้แต่เอากุญแจมาไขล็อกคอมพิวเตอร์ ก็ไม่ใช่การ Unauthorized Access ในความหมายของคอมพิวเตอร์

 

ขั้นตอนที่สาม เป็นเรื่องเกี่ยวกับการดัก เรียกว่าช่วง Transition ระหว่างคอมพิวเตอร์ที่กำลังเดินทางอยู่ เช่นมีการดักฟัง และขั้นตอนที่สี่ Output คือไปเปิดข้อมูล เอารหัส ฯลฯ ออกมาใช้

 

เหล่านี้ เป็นเรื่องเฉพาะเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ไม่เกี่ยวกับความผิดอื่นๆ ที่เป็น Common Crime อยู่แล้ว

 

 

ถ้าเช่นนั้น การโพสตามเว็บบอร์ด ที่มีข้อความหมิ่นประมาท ก็ถือว่าผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีอยู่เดิม

มันใช้ประมวลกฎหมายอาญาได้ แต่ในขณะเดียวกัน ในกฎหมายการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เราก็ใส่เป็นความผิดในขั้นของการ Input ข้อมูลเข้าไป

 

 

นั่นคือ ความผิดเข้าข่ายทั้งสองกฎหมาย

มันจะได้ทั้งสองอันเลย .. มันเฉพาะจริงๆ ว่ามันได้ทั้งสองอัน เพราะเขา (คณะร่างกฎหมาย) อยากได้ตรงนี้ แต่มันจะซ่อนอยู่ในขั้น Input ถ้าผลออกมา ใครเอาไปใช้ มีความผิดทางคอมพิวเตอร์ และเมื่อมีการ output ออกไป มันก็มีผลทางอาญาในขณะเดียวกัน

 

 

พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน

มันก็จำเป็น เราคิดกันหนักเหมือนกัน ว่าคอมพิวเตอร์ในแง่หนึ่งมันก็มีประโยชน์เยอะ ถ้าเราไปบล็อค (Block) ไปควบคุมอะไรมากมันก็ขาดการพัฒนา ดีไม่ดีมันกลายเป็นเครื่องมือของพวกผลิตซอฟท์แวร์ด้วยซ้ำ เช่นเราไปลงโทษคนทำไวรัสเข้าเครื่องทั้งหมด มันก็กลายเป็นว่า เราออกกฎหมายแล้วบริษัทซอฟท์แวร์ก็ไม่ต้องทำอะไรมาก ไม่ต้องมาคิดวิธีดักซอฟทฺแวร์ ก็ไล่จับอย่างเดียว ก็ไม่เกิดประโยชน์

 

ในทางกฎหมายพยายามเน้นว่า คอมพิวเตอร์นั้น ถ้านำไปใช้ในทางที่ดี มันก็คุ้มครอง ใครเอาไปใช้ในทางที่ไม่ถูกก็ดูแลระมัดระวัง คือเป็นเครื่องมือที่ใช้ดูแลระมัดระวัง

 

ในแง่หนึ่ง เราก็มีกฎหมายเผื่อนิดหนึ่ง ถ้าเราเห็นว่ามันชักจะมากไปแล้วนะ เราก็ตักเตือน ไปบล็อค ไปทำอะไรตามขั้นตอน เพราะไม่งั้นถ้าเกิดไปบล็อคเลยโดยพลการ คนก็จะอ้างเอาได้ว่า คุณเอาอำนาจอะไรมาบล็อค

 

 

หลังจากกฎหมายนี้ประกาศใช้แล้ว "ผู้ใช้" อินเตอร์เน็ตจะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

ถ้าใช้โดยสุจริต ไม่มีปัญหาเลย ข้อกฎหมายจะไม่ยุ่งเกี่ยว นอกจากคนที่มีเจตนามุ่งร้าย เช่น ส่ง Spam Mail ไปรบกวนมากๆ หรือแม้แต่การกระทำโดยประมาทเลินเล่อเผลอไผล ก็ไม่เป็นไร เพราะบางทีเราเล่นเน็ต เราส่งเมล์ไป เอ๊ะ มันไปหรือยัง มันไม่มีอะไรบอก ก็กดส่งๆๆๆ อย่างนี้ได้ โดยทางกฎหมาย การส่งสแปมเป็นความผิด แต่นั่นหมายความว่าต้องมีเจตนา

 

 

แล้วความผิดเรื่องการปลอมแปลงข้อมูล รวมไปถึงการปลอมไอพีด้วยหรือไม่

ต้องเข้าใจว่า "ปลอม" กับการใช้ "นามแฝง" คนละอันกัน การปลอมหมายความว่าเราทำให้เข้าใจว่ามันเป็นของคนอื่น นั่นคือปลอม แต่ถ้าเราใช้เวบบอร์ดนี้ แล้วเราต้องการจะใช้ชื่อนี้ เพื่อเขาจะได้ไม่มายุ่งในชีวิตส่วนตัวของเรา อย่างนั้นไม่ใช่ ไม่มีปัญหา

 

ส่วนการปลอม เช่น "คุณ" ทำเป็นว่า เป็นเจ้าของเวบบอร์ดนี้ แต่ที่จริงแล้วเป็น "ผม" อย่างนี้ถึงจะเป็น

 

 

หากไม่ใช่การจงใจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็น "คนอื่น" เพียงแต่ทำให้ไม่รู้ว่า "ฉัน" เป็นใคร?

ไม่เป็นไร แต่เอาเข้าจริง มันก็ปกปิดลำบาก เพราะคอมพิวเตอร์มีไอพีอัตโนมัติอยู่แล้ว หรือบางคนอาจจะไปใช้อินเตอร์เน็ตคาเฟ่ อันนั้นก็ไม่ถือว่าปลอมอยู่แล้ว

 

 

หมายถึงกรณีการใช้โปรแกรมเพื่อปลอมแปลงไอพี กฎหมายนี้พิจารณายังไง

ตรงนั้นก็เป็นขั้นตอนหนึ่ง แต่ถ้าเกิดเอาไปทำให้เสียหาย ก็อีกขั้นตอนหนึ่ง

 

 

แล้วถ้ามีการปิดกั้นเว็บแล้ว มีคนพยายามเข้าไป ผิดกฎหมายไหม

พยายามเข้าไปในที่ที่เขา Block แล้ว พยายามเจาะเข้าไป คือ การบล็อคเป็นการบล็อคของทางการ เมื่อเจาะเข้าไปแล้ว ก็ถือเป็น Unauthorized Access

 

 

ในกฎหมายฉบับนี้ พูดเรื่องความผิดจากการทำให้ "ตื่นตระหนก" ความผิดจากการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคง ดูจะเป็นการกินความที่ค่อนข้างกว้างขวาง แล้วมีมาตรฐานอะไร

คือมาตรานี้มันก็จำเป็นอยู่ แต่ไอ้ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงนี้ มันก็เป็นมาตราหนึ่งในกฎหมายอาญา ตอนร่างก็กลัวอยู่เหมือนกัน พูดถึงมาตรานี้ก็จำเป็น เพราะเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงในตอนนี้ก็มาได้ในหลายรูปแบบ

 

เพียงแต่ว่า คนที่วินิจฉัยความผิดเรื่องนี้ เราไปมุ่งที่คนวินิจฉัยความผิดว่า ไม่ใช่ตำรวจทั่วๆ ไป ต้องเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ทีได้รับการฝึกฝนเรื่องนี้ ต้องอยู่ภายใต้ความร่วมมือของเนคเทค ต้องมีการอบรมเทคนิเชียน ตำรวจทั่วๆ ไปจะไปจับไม่ได้ นอกจากเขาไปตั้งเป็นความผิดอาญา แต่ถ้าเป็นความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ต้องเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งได้รับแต่งตั้ง และต้องได้รับการอบรมในทางเทคนิค

 

แต่ดี ที่เราตัดข้อความอันหนึ่งออกไป เดิมมีข้อความที่ว่า "ซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อย" อันนี้ ที่ยังตัดออกไปได้

 

 

คำว่า "ผู้ให้บริการ" มันครอบคลุมอะไรบ้าง อย่าง ISP เป็นผู้ให้บริการแน่ๆ แต่ถัดจากนั้น เจ้าของเวบไซต์ บล็อกเกอร์ ฯลฯ คือผู้ให้บริการหรือไม่

รวมหมด หมายถึง ประชาชนเข้าไปในเว็บของเขาได้ อย่างนี้เป็นผู้ให้บริการ แต่การเอาผิด เดิมเขาก็เป็นห่วงกันนะ แต่เราก็พยายามจำกัดเอาไว้เหมือนกัน คือเราแยกว่า เป็นการเปิดเวบบอร์ดเอาไว้ แล้วก็มีคนมาโพสต์ในเวบบอร์ด ซึ่งผิดกฎหมาย เจ้าของเวบควรจะรับผิดชอบหรือไม่ เราก็พยายามจำกัดให้เห็นว่า มันเฉพาะกรณีที่ตัวเจ้าของเวบบอร์ดเองก็รู้อยู่ แล้วก็ยังจงใจให้มันคาอยู่ ไม่คิดจะบล็อคเลย แต่ถ้าโดยสภาพที่ไม่อาจจะรู้ได้ อันนั้นก็คงไม่เป็นปัญหาทางกฎหมาย เพราะมันเคยมีเหมือนกันว่า คือ ถ้ากฎหมายนี้ออกมามันก็จะเหวี่ยงแหไปได้

 

อย่างกรณีการโฆษณายาในเวบบอร์ด องค์การอาหารและยาก็จะเล่นงานเวบบอร์ดนั้นให้ได้ ซึ่งถ้าจะสู้คดีกันจริงๆ ผมก็เชื่อว่าหลุด แต่มันก็ไม่มีหลักที่อ้างอิงแน่นอน

 

ตอนนี้มันเหมือนกับเราเป็นเจ้าของตลาด แล้วคนมาขายของผิดกฎหมายในตลาดของเรา จะบอกเจ้าของตลาดต้องไปติดคุก มันก็ไม่ถูก เพียงแต่เราก็เขียนเงื่อนไขว่า ถ้าคุณรู้ หรือยับยั้งได้ แต่คุณไม่ทำ อันนี้ต่างหาก

 

 

ถ้าเช่นนั้น "ผู้ให้บริการ" ก็จะมีมากมายหลายชั้นไปหมด ตั้งแต่ ISP เจ้าของพื้นที่ เจ้าของเวบไซต์ และถ้าเวบไซต์นั้นมีพื้นที่ให้บริการบล็อกอีก ก็มีผู้ให้บริการมากมายไปหมด  

ก็ไล่เบี้ยไปเรื่อย คือหลักอยู่ที่ว่า ถ้าใครสามารถบล็อคได้หรือใครสามารถรู้แล้วว่าคนจะเสียหาย ประเด็นอยู่ที่คุณรู้ไหมว่าคนจะเสียหาย แล้วเมื่อได้รับแจ้งแล้วหรือควรจะทราบได้ แต่ไม่ทำ ประเด็นอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่อยู่เฉยๆ แล้วจะมาถูกจับเลย

 

ถ้าเกิดบอกว่ามันมีข้อความเข้ามาตั้งเยอะ ไม่สามารถดูได้ตลอด 24 ชม. คุณเผลอไปแว่บหนึ่ง 2-3 ชม.แล้วข้อความโผล่เข้ามา อย่างนี้ทีแรกไม่ใช่จับเลย เจ้าหน้าที่ต้องบอกก่อน หลุดแล้วนะ จัดการเร็ว แล้วก็ใช้คำว่า "โดยไม่ชักช้า" ซึ่งทำให้เห็นว่า มันไม่ใช่โดยทันทีทันใด ก็เป็นกระบวนการกันไป แต่ถ้ายังปล่อยให้โผล่อยู่ บอกแล้วยังไม่เฝ้าระวัง อย่างนี้ก็จะโดน

 

 

แสดงว่าในการทำงาน ฝ่ายพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องมีส่วนในการช่วยดูด้วย แล้วจะแจ้งไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องให้จัดการเนื้อหา ถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องไม่จัดการเนื้อหาแล้ว เจ้าหน้าที่จะมีอำนาจในทางใด สามารถบล็อคได้?

ก็สามารถดำเนินคดีได้เลย บล็อกได้ แต่ต้องให้ชัดเจนว่าได้มีการบอกไว้ก่อน

 

การบล็อค อาจใช้ผ่านมาตรา 13 หรือมาตรา 15 ที่สามารถเข้าไปบล็อคเว็บไซต์พวกนี้ แต่ก่อนการบล็อคนจะมีปัญหา จะมาฟ้องร้อง โวยวาย แต่ตอนนี้กฎหมายรับรอง ทำได้

 

 

มีความพยายามเบรกอำนาจของเจ้าพนักงาน โดยให้ไปผ่านกระบวนการศาล

เอาเข้าจริงๆ แล้ว ศาลก็ไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นมันก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง แต่ก็อย่างว่า หลักการเชื่อศาล ก็ศาล แต่ศาลก็ไม่รู้เรื่องหรอก ออกหมายไป ซ้ำกลับจะทำให้เจ้าพนักงานพ้นความผิด และไม่รับผิดชอบด้วย

 

เราคิดว่าดี แต่จริงๆ แล้วไม่ดี เพิ่มขั้นตอนศาลเพราะหวังให้ศาลกลั่นกรองว่าหลักฐานที่มีอยู่นั้นพอสมควรไหม แต่ในความเป็นจริง ยิ่งเพิ่มเข้าไปมันยิ่งแย่ เพราะหากไม่มีข้อมูลอะไรที่พอจะจับได้ ก็อ้างได้ว่าศาลออกหมาย เจ้าพนักงานไม่ผิด จากแต่เดิมที่เจ้าพนักงานไปทำเอง ถ้าหลักฐานไม่พอก็สามารถฟ้องศาลได้ว่าเจ้าพนักงานใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ แต่ตอนนี้ยิ่งไมได้เลย เพราะพอไปผ่านศาลแล้ว ก็ไม่เกี่ยวกับเจ้าพนักงานแล้ว ศาลก็อาจจะบอกว่า ก็เสนอมาแบบนี้ก็ออกไปแบบนี้ มันไปในนามของศาลแล้ว เจ้าหน้าที่หลุดหมด

 

ทีนี้ เรามองในอีกทางหนึ่งว่า มีกระบวนการศาลเข้ามา อย่างน้อยก็จะทำให้เกิดความรอบคอบหน่อย อย่างน้อยก็มีอีกขั้นตอนหนึ่งเข้ามา ก็อาจจะมองอย่างนั้นได้ ก็ลองดู

 

 

กฎหมายฉบับนี้ ถูกแปรญัตติให้เป็นเรื่องความผิดที่ยอมความไม่ได้

ก็เป็นเรื่องมีถูกแก้ จากคดีที่ยอมความได้ (ต่อมาถูกแก้เป็น "ยอมความไม่ได้) คือถ้ายอมความได้นั้น เป็นคดีส่วนตัว ต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน ไม่งั้นจะหมดอายุความ ถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น เจาะเข้าสู่เล็กๆ น้อยๆ เราไม่เอาความก็ได้

 

ทีนี้ ทางกรรมาธิการที่ตัดออก เขามองถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น เจาะเข้าระบบกระทรวงกลาโหม แล้วกว่าจะรู้ก็เกิน 3 เดือนแล้ว หรือเกี่ยวกันไปมาไม่มีใครไปร้องทุกข์ ก็จบไปเลย เขามองแบบนั้น ไอ้เรามองว่า เกิดไปดำเนินคดีแล้ว อยากจะยุติคดีกลับทำไมได้ทั้งที่เป็นเรื่องเล็กน้อยเท่านั้นเอง เรื่องมันก็จะรกศาล อย่างนี้ แค่ไปกดเอทีเอ็มให้เพื่อนก็ผิดแล้ว ไปไกลแล้ว มันยอมความไม่ได้ ต้องดำเนินคดี แต่เขาไมได้มองเรื่องนี้ จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มขึ้น

 

ในอีกแง่ ก็มองกันว่าไม่เป็นไรหรอก ถ้าไม่เอาเรื่องจริงๆ ก็ไม่ไปเป็นพยาน ไมไปศาล ศาลก็ยกฟ้องเอง ไปมองในรูปแบบนั้น มันก็มองได้ทั้งดีและเสีย เพราะใครๆ ก็อยากให้ยอมความได้แต่มันไปผูกกับเรื่อง 3 เดือนเท่านั้นเอง

 

เรื่องที่ห่วงในกฎหมายฉบับนี้ ก็คือการหาพยานหลักฐาน มันยาก ต้องเป็นนักเทคนิคระดับสูง

 

 

ในที่ประชุมใหญ่สนช. ที่พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ในวาระสองและสาม มีการพูดกันเรื่องเขตแดนอำนาจ ที่สุดท้ายแล้ว ในที่ประชุมได้เพิ่มอีกมาตราหนึ่งขึ้นมา ทั้งที่หลักการเรื่องนี้ก็มีในกฎหมายอาญาอยู่แล้ว

กฎหมายอาญามันมีอยู่แล้ว ทีนี้หลักกฎหมายอาญามันก็ต้องมีจุดเกาะเกี่ยวสักอย่างหนึ่งอย่างที่ผมพยายามอธิบายในวันนั้น แต่ผู้ที่เสนอยังมองสับสน คิดว่าการไปทำความผิดนอกประเทศ ทำไมลงโทษไม่ได้ เช่นเขาไปต่างประเทศ ถูกหมิ่นประมาทที่ต่างประเทศ โดยหลักคือเมื่อถูกหมิ่นประมาทที่ต่างประเทศก็ฟ้องที่นั่นสิ มันเป็นที่เกิดเหตุ

 

แต่ถ้าเกิดเรื่องเข้ามาในประเทศแล้ว ยังมีความเสียหายต่อ มีผลเกิดขึ้นในประเทศไทย กฎหมายอาญาครอบคลุมอยู่แล้ว

 

สมมติมีคนทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ในต่างประเทศ แล้วคนต่างประเทศเสียหาย โดยหลัก ถามว่า ไม่มีจุดเกาะเกี่ยวอะไรกับบ้านเราเลย ไม่เสียหายอะไรกับบ้านเราเลย แล้วศาลไทยจะไปพิจารณาได้อย่างไร

 

จริงๆ แล้ว ตามตัวอย่างที่อ้างถึง (ในที่ประชุมสนช.) มันก็มีจุดเกาะเกี่ยวทั้งนั้น เพียงแต่เขามองว่า ถ้าไม่มีจุดเกาะเกี่ยวมันก็ลงโทษไม่ได้ ที่จริงมันคลุมไปหมดเลย แต่อาศัยหลักที่มันเกี่ยวพันกับเรา โดยหลักของสถานที่ ส่งจากเมืองนอกเข้ามาในบ้านเรา ก็ได้ ส่งจากบ้านเราไปต่างประเทศ ก็ได้ หรือทำในต่างประเทศ แต่คนไทยเราเสียหาย เราก็เข้ามาฟ้องได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่มันจะคลุมอยู่แล้ว

 

แต่มันก็มีประเด็นเหมือนกัน อย่างที่ท่านประธานมีชัย (ฤชุพันธ์) ยกขึ้นมา มันก็มีปัญหาว่า ถ้าหากรัฐบาลไทยเสียหาย แต่มันเกิดนอกประเทศทั้งหมด คนไทยเสียหาย แล้วมันเป็นความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ด้วย ซึ่งมันไม่ได้เขียนอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา อย่างนี้ มันเกิดปัญหาจริงๆ เพราะมันเกิดช่องว่างนิดหนึ่ง ว่ามันไม่ได้ แต่มันมีจุดเกาะเกี่ยวตรงที่ว่า มันมีความเสียหาย คนไทยหรือรัฐบาลไทยเป็นผู้เสียหายก็แล้วแต่ ตรงนี้ไม่ได้เขียนไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ว่าความผิดเหล่านี้ รวมถึงคอมพิวเตอร์ด้วย กรรมาธิการก็เลยเสนอว่า ถ้าเอากฎหมายอาญาในมาตราที่เกี่ยวข้อง มาเขียนในพรบ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เสีย ว่าถ้าคนไทยเป็นผู้เสียหาย มาร้องขอให้ลงโทษ ก็ทำได้ ก็จบ

 

ทีนี้ คนที่เขาไม่รู้กฎหมายอาญา เขาก็มองไม่ออกว่า ทำไมถึงลงโทษไม่ได้ เพราะมันไม่มีอะไรที่ทำให้เราเสียหาย เช่น เอ ปล้น บี ที่เยอรมัน ถามว่าจะมาฟ้องที่ศาลไทยได้ไหม สมมติเอปล้นฆ่าบี แล้วหนีมาอยู่เมืองไทย ตำรวจไทยรู้ ศาลไทยรู้ ถามว่าเราจะดำเนินคดีนี้ได้ไหม ดำเนินคดีไปเพื่ออะไร ในเมื่อเขาไม่ได้มาฆ่าใครในเมืองไทย คนไทยไม่ได้ตาย

 

หรือว่าแมงดาญี่ปุ่น คุมซ่องญี่ปุ่น แล้วมาเที่ยวเมืองไทยที่หาดใหญ่ ถามว่าคุณจะไปจับเขาทำไม โดยวิธีนี้ เขาหลบหนีมา เราไม่ต้องดำเนินคดี เพราะเราไม่เกี่ยวข้อง ถ้าญี่ปุ่นเขาขอตัวมาก็ส่งให้ อย่างนั้นก็เป็นไปได้ ทำให้รกศาลไทยทำไม

 

ความผิดที่ผมห่วงและพยายามอภิปราย อย่างแค่ Unauthorized access ก็ผิดแล้ว แล้วถามว่าอย่างนี้จะให้ไปปิดต่างประเทศเหรอ เด็กอเมริกัน address เข้าไปทีนึง อย่างนี้ก็ผิดแล้ว มาเมืองไทยจะถูกฟ้องเมืองไทยได้ ผมว่ามันยังไงๆ มันกว้างเกิน มันต้องมีจุดเกาะเกี่ยวสักนิดหนึ่ง

 

หรือแม้ตัวอย่างที่ว่า ไปต่างประเทศ มีคนไปด่า แล้วเข้ามา แบบนี้ คือถ้าเข้ามาแล้วในเมืองไทยไม่มีใครรู้เลย มันก็ไม่เสียชื่อเสียง แต่ถ้าเกิดว่า มีคนพูดกันในต่างประเทศ แต่ในหมู่คนไทยซึ่งกลับเข้ามาแล้วเอามาเล่าต่อในเมืองไทยได้ อย่างนี้ก็เข้ากฎหมายอาญาคลุมได้อยู่แล้ว

 

 

นั่นคือ ยังไงกฎหมายอาญาก็ครอบคลุมอยู่แล้ว

ครอบคลุมอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งว่า ถ้าเขาส่งมา เสร็จแล้วโดนบล็อค ก็เข้า เพราะกฎหมายบอกว่ามีการพยายาม ก็เข้าอยู่แล้ว

 

 

สุดท้าย ในกฎหมายก็เพิ่มมาตรานี้เข้าไป

แต่เพิ่มเข้ามามันก็โอเคนะ มันก็ทำให้ครบถ้วนขึ้น เพราะมันก็เกิดช่องอยู่บางอย่างเหมือนกัน เพราะในกรณีที่รัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหาย กฎหมายอาญาไประบุไว้ว่าเฉพาะความผิดร้ายแรงบางอย่าง ซึ่งขณะนั้นไม่มีกฎหมายคอมพิวเตอร์อยู่ มันจึงหลุดออกไป

 

อย่างในกรณีที่ เอ ฆ่า บี ในเยอรมัน ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเอฆ่าคนไทย แล้วเอหนีมาเมืองไทย ปกติมันเกิดในต่างประเทศ ไม่มีผลอะไรเกิดในประเทศไทยเลย เราลงโทษไม่ได้

 

แต่ถ้าอาศัยกฎหมายตัวนี้ ถ้าบอกว่า คนไทยเสียหาย แล้วเป็นความผิดเกี่ยวกับฆ่าคน อย่างนี้เข้า แต่ถ้าเป็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ เช่นคนในต่างประเทศขับรถโดยประมาทชนคนไทย หรือทำผิดลหุโทษ เช่น ตบหน้าคนไทย มันไม่ร้ายแรง เพราะฉะนั้นไปว่ากันที่นั่นแล้วกัน ถ้ากลับมา ศาลไทยก็ไม่ลงโทษเรื่องเล็กน้อยแบบนี้ แต่ถ้าเป็นฉ้อโกง ฆ่าคน ลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ที่ไปทำที่ต่างประเทศ เข้ามาศาลไทยได้

 

หรือในทางกลับกัน คนไทยไปฆ่าเขาตายแล้วหนีกลับมาเมืองไทย แบบนี้เขาตามมาฟ้องได้ เพราะถือว่าคนไทยเราเป็นคนไปกระทำความผิด และเป็นความผิดร้ายแรง ถ้าเกิดคนไทยเพียงแค่ตบหน้าเขาเฉยๆ หรือขับรถชนคนโดยประมาท อันนี้เราก็ไม่ดำเนินคดีให้เหมือนกัน

 

 

ในหมวดที่ว่าด้วยเรื่องโทษ ในขั้นของการแปรญัติติ มีการแก้ไข ให้ยกเลิกการกำหนดโทษขั้นต่ำ โดยให้เป็นเรื่องการวินิจฉัยของศาล เรื่องนี้เป็นข้อดีข้อเสียยังไง

อันนั้นถูกแล้ว เพราะการมีโทษขั้นต่ำเอาไว้ ทำให้การลงโทษอาจจะไม่เหมาะสมกับความผิด เพราะเรื่องเหล่านี้มันดูที่ผลเสียหาย สังเกตในขั้นตอนในการร่าง ความผิดมันตั้งแต่ Unauthorized access คือ เจาะเข้าไปก่อน พอเจาะเข้าไปปุ๊บ ก็มีความผิดฐานเข้าไปดู ไปเห็นข้อมูลเค้า แล้วก็มีความผิดฐานเอาข้อมูลเขาออกมา เสร็จแล้วก็มีความผิดฐานเอาข้อมูลเขาไปเผยแพร่ เป็นขั้นๆ

 

บางคน ถ้าเขาร้อนวิชา ก็เจาะเข้าไปดูเฉยๆ กูเก่ง กูเจาะได้ จบ อันนั้นก็เสียหายในระดับหนึ่ง แต่เขาไม่ได้บอกใคร แต่บางคนเจาะเข้าไปเสร็จ แล้วบอกรหัสต่อ นี่เสียหายอีกระดับหนึ่ง เอาข้อมูลออกมา พอเอาออกมาเสร็จ เอามาเก็บเอาไว้ ยังไม่ให้ใคร ก็ยังระดับหนึ่ง แต่เริ่มเสี่ยง  พอเอาไปขายหรือไปให้ต่อ นี่เสียหายอีกระดับหนึ่ง พอต่อแล้ว คนคนนี้เอาไปใช้ต่อ นี่เสียหายใหญ่โต

 

และเมื่อมีความผิดเข้าไปปุ๊บ ก็ต้องดูว่าคุณเจาะอะไร ถ้าเจาะเพื่อนกันเฉยๆ ก็ลงโทษ สิบวันเดือนหนึ่ง แต่ถ้าไปเจาะกระทรวงกลาโหม คุณอาจจะโดน 10 ปี

 

แต่ถ้าไปกำหนดขั้นต่ำไว้ว่าหนึ่งปีถึงสิบปี เจาะกับเพื่อนเฉยๆ โดนอย่างน้อย 1 ปี มันเกินไป เพราะฉะนั้น ศาลก็จะดูได้ว่า ก่อให้เกิดความเสียหายไหม หรือบางคนเผลอคลิกๆ เข้าไป เข้ากระทรวงกลาโหม แบบนี้โดนเข้าไป 20-30 ปีมันก็ไม่ไหว ปรับเป็นล้านมันก็ไม่ไหว แต่ถ้าเกิดไม่ได้ทำอะไร ก็อาจจะผิดแค่เดือนเดียว

 

 

แต่ร่างแรกสุดของกฎหมายฉบับนี้ก็มีโทษถึงขั้นประหารชีวิต

นั่นเป็นเพราะว่า เขาเอาไปปนกับความผิดที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ ยกตัวอย่างเรื่องใช้คอมพิวเตอร์ฆ่าคน การวางยาสั่งยาของหมอ ก็เลยคิดว่าถ้ามีผลให้คนตาย ก็ควรจะโทษถึงประหารได้ ดูที่ผล

 

 

มีการคุยกันเรื่องที่ว่า เสรีภาพของคนใช้อินเตอร์เน็ตจะลดลงหรือไม่

ผมว่าได้รับการคุ้มครองมากขึ้น เสรีภาพในทางที่ผิดก็จะถูกควบคุม อย่างแคมฟร็อก คิดว่านี่คือการใช้เสรีภาพหรือ ในขณะที่ต่างชาติเขาคุมกันเองได้ แต่พวกเราไม่คุมเลย หัวปักหัวปำเลย อย่างนี้ เมื่อคุมเองไม่ได้ ก็ต้องถูกคนอื่นเขาบังคับ เท่านั้นล่ะ

 

คนที่ใช้ ไม่มีปัญหา มันจะดีขึ้นในแง่ที่จะรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นว่า เวบไซต์นี้มันไม่หลอกนะ เพราะถ้ามันหลอก เราเล่นงานมันได้ แต่ถ้าไม่มีกฎหมาย มันหลอก เราไปเล่นงานมันไม่ได้ ไม่รู้จะไปหาใคร ไม่มีข้อกฎหมาย

 

 

อาจารย์มีความคิดเห็นยังไงกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้

ผมก็พอใจนะ คือหน้าตามันดีกว่าแต่เดิมเยอะ ขณะที่เราดูเราก็คิดว่ามันมีอยู่แล้ว แต่เท่าที่ผ่านมาผมก็พอใจในฐานะนักกฎหมายอาญา แต่เดิมผมก็คัดค้านนะ เพราะผมถือว่าการที่เรามีกฎหมายแบบนี้ บางครั้งก็เป็นเครื่องมือของต่างชาติเหมือนกัน ทีหลังเขามาทำอะไรในบ้านเราเขาก็จะใช้กฎหมายนี้จัดการเราได้ แต่พอออกมามันก็ค่อนข้างดี

 

แต่เดิมผมห่วงว่ากฎหมายนี้จะเขียนอะไรเคร่งครัดเกินไป ทำให้ไม่เกิดการพัฒนา และคนไม่อยากจะใช้ แต่ผมว่าตอนนี้มันจำเป็น แล้วกฎหมายก็ออกมาหน้าตาดี แล้วก็คุ้มครองเยอะขึ้นมาก อำนาจเจ้าหน้าที่ก็น้อยลง เดิมที่ผมห่วงมาก คือเจ้าหน้าที่มีอำนาจไปยึดไปอายัติเครื่อง ตอนนี้ก็จำกัดลง ต้องใช้อำนาจกลางและต้องฝึกอบรมเหมือนกัน

 

 

 

 

ข้อมูลประกอบ :

พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท