Skip to main content
sharethis





การเมือง


มช.พ้นเก้าอี้ไปพร้อม"ขิงแก่"-สนช.ทำหน้าที่แทนวุฒิสภา


ผู้จัดการรายวัน - สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ถก รธน.299 มาตรา รอบสองเสร็จ ยอมให้ประชาชน 5 หมื่นคนเข้าชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วน คมช.ต้องพันจากตำแหน่งพร้อม ครม.หลังได้รัฐบาลชุดใหม่ พร้อมเห็นชอบในบทเฉพาะกาลให้ สนช.ทำหน้าที่แทนวุฒิสภา ในการประชุมรัฐสภาครั้งแรก


 


ซัด ส.ส.ร.เลอะ!จับการเลือกตั้งเป็นตัวประกัน


ผู้จัดการรายวัน - เครือข่ายจุฬาเชิดชูคุณธรรมนำประชาธิปไตย นำโดย นายไชยยันต์ ไชยพร นายตระกูล มีชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายจงรัก กิตติวรากร อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงข่าวกรณีหนังสือพิมพ์บางฉบับลงโฆษณาที่มีเนื้อหา เชิญชวนให้ประชาชนลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ มิเช่นนั้นจะไม่มีการเลือกตั้ง โดยผู้ให้ลงโฆษณา คือกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)


 


โดยนายตระกูล กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ ไม่สบายใจที่มีการลงโฆษณาเพื่อให้ประชาชนลงประชามติ เห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่ในขณะนี้ เพราะการโฆษณา จะต้องไม่ใช่การจูงประชาชนให้เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ เพราะประชาชนนั้นมีสิทธิแสดงออกในความคิดเห็น ขอให้ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง


นอกจากนี้ สิ่งที่เครือข่ายฯ วิตกคือการใช้งบประมาณของคณะกรรมาธิการฯ หรือฝ่ายใดเพื่อจูงประชาชนให้ออกเสียงประชามติเห็นชอบรัฐธรรมนูญ โดยไม่บอกเหตุผล แต่ให้ลงประชามติแบบมีนัยยะว่าไม่รับรัฐธรรมนูญจะไม่มีการเลือกตั้งใช่หรือไม่ ไม่มีการบอกที่มาของร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งไม่ใช่วิธีการประชาธิปไตย เพราะการแสดงประชามติควรจะเปิดกว้างไม่ใช่ว่า เมื่อไม่รับก็จะเกิดความวุ่นวายรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะทำให้เกิดทางตันแบบนั้น แต่รัฐธรรมนูญควรจะอยู่ที่เนื้อหามากกว่า


 


ขณะที่ นายไชยันต์ กล่าวว่า ในช่วงก่อนการแปรญัตติคณะกรรมาธิการชุดนี้ ได้ประชาสัมพันธ์ "ร่วมคิด ร่วมร่าง ร่วมสร้างรัฐธรรมนูญ" ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่เมื่ออยู่ในช่วงแปรญัตติกลับให้ดาราออกมาโฆษณาให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่ไม่สมควรหากเป็นแบบนี้ ก็อาจจะประสานกับกลุ่มนักวิชาการไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แน่นอน


 


 






คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม


วิจัยชี้ภาพพจน์สหรัฐร่วง โลกร้อนอันตรายกว่านุก


เว็บไซต์ไทยโพสต์ - สำนักวิจัยพิว เปิดเผยผลสำรวจความเห็นประชาชนใน 47  ประเทศทั่วโลก  ระบุว่า  ภาพลักษณ์ของสหรัฐลดต่ำลงอย่างหนัก เมื่อเทียบกับที่เคยทำการสำรวจไว้เมื่อปีที่แล้ว โดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่ภาพลักษณ์ของสหรัฐติดลบมากที่สุด



ในตุรกีมีเพียง 9% ที่มีมุมมองในแง่บวกต่อสหรัฐ ขณะที่ดินแดนปาเลสไตน์มีเพียง 13% เท่านั้น  อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของสหรัฐในเลบานอนดูดีขึ้น  โดยมีมุมมองในแง่บวกอยู่ที่  47%  เช่นเดียวกับในอังกฤษและแคนาดายังคงมีมุมมองในแง่ดี แต่ในเยอรมนีภาพลักษณ์ของสหรัฐลดต่ำลงจาก 42% เหลือเพียง  30%  เท่านั้น



ขณะที่ในภาพรวม ประชาชนส่วนใหญ่จาก 25 ประเทศจากทั้งหมด 47 ประเทศมีมุมมองในแง่บวกต่อสหรัฐ นอกจากนี้  คนส่วนใหญ่ยังมองปัญหาภาวะโลกร้อนว่าอันตรายกว่าปัญหานิวเคลียร์  เอดส์  หรือภัยคุกคามอื่นๆ



 






ภาคใต้


นายกรัฐมนตรีหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียเรื่องความร่วมมือด้านการศึกษาและเศรษฐกิจในภาคใต้


ศูนย์ข่าวแปซิฟิค - ภายหลังการเดินทางเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์  นายกรัฐมนตรี ของ  ดาโต๊ะสรี ไซเอ็ด ฮามิด อัลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย  ร้อยเอก นายแพทย์ ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่าทั้งสองฝ่าย  ได้หารือร่วมกันถึงความร่วมมือใน 3 เรื่องหลัก  ประกอบด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา  ด้านการจ้างงานและการดำเนินธุรกิจในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยไม่มีการหารือและลงลึกในรายละเอียดของปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ของไทย  รวมถึงความร่วมมือในการติดตามตัวแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบที่อาจหลบหนีไปยังมาเลยเซีย ซึ่งคาดว่าจะมีการหารือร่วมกันในการประชุมร่วมประจำปีของนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศที่ประเทศมาเลเซียระหว่างวันที่ 21-23 สิงหาคมนี้


         


"นายกรัฐมนตรีก็เรียนไปถึงนายกรัฐมนตรีมาเลเซียว่าท่านก็เห็นพ้องกับนายกรัฐมนตรีว่าปัญหาภาคใต้ไม่ได้เป็นปัญหาของไทยเท่านั้น  แต่ว่าเป็นปัญหาของมาเลเซียด้วย ซึ่งทั้งไทยและมาเลเซียก็จะร่วมกันแก้ไขปัญหา"


         






ต่างประเทศ


ประธานาธิบดีอิสราเอลรับสารภาพข่มขืนอดีตผู้ช่วยสาว


ผู้จัดการออนไลน์ - ประธานาธิบดีคัตซาฟของอิสราเอลรับสารภาพว่าได้ข่มขืนอดีตผู้ช่วยสาว หลังยอมไกล่เกลี่ยกับกรมอัยการเพื่อที่จะไม่ต้องรับโทษจำคุก


         


เมนาเช็ม มาซูส อธิบดีกรมอัยการอิสราเอล กล่าวว่า ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว กรมอัยการจะจะไม่ส่งฟ้องประธานาธิบดีโมเช คัตซาฟในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราต่อศาล แต่ผู้นำอิสราเอลซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนหน้า จะต้องลาออกจากตำแหน่ง และเรื่องอดสูที่เกิดขึ้นจะยังคงติดตัวเขาตลอดไป


 


"จากตำแหน่งพลเมืองอันดับหนึ่งของอิสราเอล เขาได้กลายมาเป็นผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดในข้อหาข่มขืน" มาซูสกล่าว พร้อมย้ำว่ากรมอัยการไม่ได้ให้อภิสิทธิ์พิเศษกับประธานาธิบดีผู้นี้แต่อย่างใด


 


ด้านทนายความคนหนึ่งที่ว่าความให้กับเหยื่อสาวแสดงความไม่พอใจกับการไกล่เกลี่ยดังกล่าว ขณะที่ทนายความด้านสิทธิสตรี ระบุว่า กรณีดังกล่าวจะทำให้ผู้หญิงไม่อยากเข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด


 


รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวหลายคน


ศูนย์ข่าวแปซิฟิค - รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวหลายคน หลังจับกุมไปเมื่อเดือนที่แล้ว ฐานร่วมสวดมนต์เพื่อให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้านเรียกร้องประชาธิปไตย


         


สำหรับนักเคลื่อนไหวที่ได้รับการปล่อยตัวในครั้งนี้อยู่ในกลุ่มนักเคลื่อนไหวกว่า 40 คน ที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์เมื่อเดือน พ.ค. ฐานเดินขบวนไปยังวัดเพื่อสวดมนต์อ้อนวอนให้มีการปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี นักเคลื่อนไหวคนหนึ่งซึ่งขอสงวนนาม เนื่องจากเกรงจะถูกตามรังควาญจากรัฐบาลทหารพม่ากล่าวยืนยันการปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวอย่างน้อย 6 คน และเชื่อว่า นักเคลื่อนไหวทั้งหมดจะได้รับอิสรภาพในคืนวันนี้


 


ก่อนหน้านี้ มีนักเคลื่อนไหวจำนวนหนึ่งได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว และเมื่อต้นเดือนนี้ มีได้รับการปล่อยตัวไป 1 คน ด้วยเหตุผลทางการแพทย์        

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net