Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บรรดาเครื่องมือในการต่อสู้ของประชาชน ไม่มีอะไรมีอำนาจ ทรงพลัง ศักดิ์สิทธิ์ และงดงามเท่ากับพลังของมวลชนอันไพศาล เป็นเครื่องมือที่เอาชนะได้แม้กระทั่งแสนยานุภาพของกองทัพอันเกรียงไกร


 


พลังของมวลชนที่แสดงขึ้นด้วยการชุมนุม ยังเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งย้ำเตือนถึงความเป็นเจ้าของประเทศได้อย่างตรงไปตรงมา


 


การชุมนุมจึงเป็นสิทธิเสรีภาพที่ไม่ว่าใครหน้าไหนสถานการณ์ใด ใกล้เลือกตั้งหรือไม่ อ้างด้วยนามของความสมานฉันท์ หรือจะอ้างเพื่อความมั่นคง หรือสร้างฉากให้กลัวความรุนแรงเพื่อกีดกั้นการชุมนุมก็ไม่ได้


 


ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ในครั้งการชุมนุมขับไล่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร กระนั้นเรายังพึงยกย่องการชุมนุม ตราบเท่าที่การชุมนุมนั้นเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ร่วมชุมนุมทั้งหลายที่รู้เท่าทันการเคลื่อนตัวไปของการชุมนุม


 


กระนั้นประวัติศาสตร์จะบันทึกเองว่า การชุมนุมในแต่ละครั้งนั้น ครั้งไหนที่การชุมนุม "ใช้มวลชนเป็นเครื่องมือ" และครั้งไหนที่ "การชุมนุมเป็นเครื่องมือ" ของมวลชน


 


เป็นความจริงอย่างยากที่จะปฏิเสธได้ว่า ความขัดแย้งที่แตกออกเป็นหลายความความคิดความเชื่อ สะสม และผ่านกระบวนการจัดการที่ล้มเหลวมาแต่อดีตร่วมกันของสังคมการเมืองไทย กระทั่งถูกเก็บถูกกดหนักข้อจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก่อให้เกิดอารมณ์เคียดแค้นรุนแรง ภาวะของการเคียดแค้นรุนแรงของผู้คนบางกลุ่มจึงมิได้เพิ่งเกิดขึ้นดังที่ปรากฏในการชุมนุมของ "แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (ปราบกบฏ)" หรือ นปก. ในเวลานี้เท่านั้น


 


เวทีอภิปรายหลายเวทีตลอดปีที่ผ่านมา เป็นสัญญาณที่บ่งบอกออกมาชัดแจ้งอยู่แล้ว ยิ่งหลังการรัฐประหาร กระบวนการประนีประนอมทางการเมืองอย่างที่เคยเป็นเคยเกิดในสังคมไทย ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอีก การเดินหน้าตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ไม่เป็นกลางมาพิจารณาคดีของผู้เป็นเสมือนศัตรูทางการเมือง ไม่เพียงแต่ไม่ยุติปัญหา กลับทำให้การสะสมความชิงชังเคียดแค้นทวีคูณขึ้นอีก


 


หากมองอีกด้านของเหรียญ เหตุแห่งความชิงชังเคียดแค้น และการแสดงออกถึงความรุนแรงที่เราเห็นอยู่ในเวลานี้มีพื้นฐานมาจากการรักความเป็นธรรม ซึ่งเป็นต้นทุนอันสำคัญของสังคมที่ดี ปัญหาคือเราจัดการกับความต้องการความเป็นธรรมนี้อย่างไร กดเก็บมันไว้ หรือทำให้ข้อขัดแย้งยุติด้วยวิธีที่แม้แต่ศัตรูหรือผู้เห็นต่างก็ต้องยอมรับ หรือมุ่งกวาดล้าง "พวกมัน" ให้สิ้นซาก


 


จะผิดไปไหมหากจะชี้ว่า รัฐบาล และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ผู้กระทำการรัฐประหาร และสร้างเครือข่ายทางทหารให้ฟื้นตื่นขึ้นมาอีกครั้งในเวลานี้ เลือกวิธีหลัง และทำให้ความเคียดแค้นชิงชังปะทุขึ้น


 


เมื่อเป็นดังนี้ ความรุนแรงที่เห็นได้จากการแสดงออกของบางบุคคลในการชุมนุมของ นปก. จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลและ คมช. ปัดความรับผิดชอบไม่ได้ และจะต้องไม่แก้ปัญหาด้วยการใช้เป็นข้ออ้างในการกระทำรุนแรงตอบซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้นอีก ดังกรณีของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


อย่าลืมด้วยว่า ข้อห้ามของของทหารที่ว่า "อย่าดึงฟ้าต่ำ อย่าทำหินแตก อย่าแยกแผ่นดิน" นั้น คมช. ล้วนแต่เข้าองค์ประกอบแล้วทั้งสิ้น


 


อย่างไรก็ตาม แม้การชุมนุมจะเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐต้องปกป้องดูแลและส่งเสริม และแม้จะเป็นความจริงที่ว่า ไม่เคยมีความรุนแรงใดเกิดขึ้นหากไม่ใช่รัฐเป็นฝ่ายใช้ความรุนแรงเองไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม แต่หน้าที่โดยตรงของการป้องกันความรุนแรงยังคงเป็นของผู้ดำเนินการให้มีการชุมนุมอย่างยากที่จะปฏิเสธได้


 


เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รัฐ และผู้ชุมนุม นปก. คิดถึงอนาคตที่สังคมไทยจะต้องอยู่ร่วมกันต่อไป ไม่ว่าฝ่ายไหนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารก็ตาม เรามีหน้าที่ร่วมกันในการทำให้ "การต่อสู้ +อย่างสันติ" เกิดขึ้นให้จงได้


 


โปรดอ่านอีกครั้ง นี่มิใช่คำเรียกร้องต่อการชุมนุมของ นปก.เท่านั้น แต่เป็นการเรียกร้องที่รวมถึงพลพรรคเดิมของพันธมิตรฯ ที่รุนแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน กับการคุกคามทำร้ายแม้กระทั่งในงานอันเป็นวาระปลงอนิจจัง คืองานศพของสุวิทย์ วัดหนู แกนนำพันธมิตรฯคนหนึ่ง


 


และเป็นข้อเรียกร้องต่อแกนนำคณะรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐทั้งหมด รวมถึงผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลาย โปรดอย่าชี้นำให้เกิดความรุนแรง แม้จะในรูปของการเตือนว่าอาจจะมีการลอบสังหารก็ตาม เพราะเมื่อใครก็ตามหยิบอาวุธลอบสังหารขึ้นมาใช้ นั่นก็หมายความว่า ไม่ใครก็ใคร ฝ่ายไหน แม้แต่ผู้อาวุโสทรงคุณธรรม ผู้ทรงศีล เบื้องสูงสู่เบื้องล่าง ล้วนแต่ถูกลอบสังหารได้ด้วยกันทั้งนั้น ยากจะจบ


 

อย่าให้มันออกอาละวาดไปตราบถึงอนาคตจนชั่วลูกชั่วหลาน เพียงเพราะ "ความกลัว" ใครบางคนเกินเหตุของคนรุ่นนี้เลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net