สู้กันแฟร์ๆ สักครั้งได้ไหม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ว่ากันว่า การลงประชามตินั้นคือการใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงของประชาชนอย่างตรงไปตรงมามากที่สุดแล้ว เหมือนกับการชุมนุมแสดงออกซึ่งท่าทีและข้อเรียกร้องทางการเมือง เพียงแต่การลงประชามตินั้นมีต้นทุนที่น้อยกว่าการลงทุนลงแรงออกมาเดินถนนซึ่งเชื่อกันว่าสุ่มเสี่ยงหรืออาจกลายเป็นเครื่องมือให้ใครหยิบฉวยไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองได้ง่าย


 

ยิ่งเมื่อการตรวจนับเป็นไปอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีและการจัดการอย่างเช่นปัจจุบัน ในประเทศที่พัฒนาประชาธิปไตยแล้ว การลงประชามติจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดสินชี้ทิศทางทางการเมืองที่ดูจะทวีบทบาทและความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

 

สำหรับประชาชนไทย 19 สิงหาคมนี้ จะเป็นครั้งแรกที่จะได้ใช้การลงประชามติตัดสินชี้ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับคณะรัฐประหาร โดยส่วนตัว การบังคับให้มี "ประชามติ" นี้อาจจะเป็นคุณูปการเดียวที่คณะรัฐประหารทำ ลองใช้ และอาจจะเป็นการ "พลาด" ซึ่งบังเอิญไปเป็นประโยชน์ให้กับประชาชนและประชาธิปไตยไทยในระยะยาว อย่างน้อยประชาชนก็มีเครื่องมือเพิ่มขึ้นมาอีกชิ้นในการตัดสินอนาคตบ้านเมืองของตนเองนอกเหนือจากการชุมนุมประท้วง

 

จริงอยู่ว่าการลงประชามติครั้งนี้ เกิดขึ้นด้วยการบังคับ กระนั้นเราก็แทบจะไม่มีทางเลือกอื่นใดเลยไม่ใช่หรือ จะให้ไปร่วมการชุมนุมก็ติดขัดโดนปิดกั้นเกือบจะทุกทาง ถ้าคุณไม่มีสตางค์พอและเป็นคนระดับล่าง คุณจะต้องนั่งรถเมล์แล้วเดินไกลกว่าปกติ

 

อาจมีทางเข้าถึงสนามหลวงที่ง่ายอยู่บ้าง ถ้าคุณนั่งรถแท็กซี่ นั่นหมายความว่า คุณอาจจะต้องเป็นคนระดับกลางที่ไปร่วมการชุมนุม ซึ่งคุณก็อาจจะอยู่ร่วมได้ไม่นาน เพราะหากฝนไม่ตก คุณก็ต้องอยู่กับจริตและรสนิยมของผู้ร่วมชุมนุมที่เป็นคนละแบบคนละชนิดกับคุณ เพราะก่อนที่คุณจะก้าวเท้าเข้าบริเวณรั้วเหล็กที่รายรอบที่ชุมนุม คุณอาจจะได้ยินเสียงบริภาษด่าการรัฐประหารด้วยความใสซื่อแต่หยาบคายของคนระดับล่างที่มายืนแจกใบปลิวแสดงความคิดของตนเอง คุณจะไม่มีเพลงเพื่อชีวิตจากปากศิลปินปัญญาชนให้ฟัง เพราะที่นั่นจะมีก็แต่เพลงลูกทุ่ง และคำสื่อสารแบบชาวบ้านๆ จากผู้ปราศรัยบนเวที

 

ใช่แน่นอน การชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเป็นการชุมนุมของชนชั้นล่าง แต่ย่อมไม่ใช่ "การต่อสู้ทางชนชั้น" ตามทฤษฎีสังคมนิยมใดๆ เพราะยังขาดองค์ประกอบของสิ่งที่เรียกว่า "สำนึกทางชนชั้น" และแน่นอนไม่มีใครพยายามที่จะยกระดับหรือเน้นย้ำเรื่องราวเหล่านี้อีกแล้วในสมัยที่การเมืองแบ่งเป็นสองขั้ว (ไม่ศักดินาก็ทุนนิยม) ชนชั้นล่างที่ร่วมชุมนุมจึงไม่มีอะไรมากในสายตาของนักทฤษฎีนอกเสียจาก "ทาสทุนนิยม-บริโภคนิยม-ประชานิยมที่ปล่อยไม่ไป"

 

เมื่อเป็นดังนี้ การลงประชามติ แม้จะบังคับให้มีขึ้นจากคณะรัฐประหาร แต่ก็เป็นเครื่องมือเดียวที่มีอยู่ที่มีต้นทุนเสี่ยงน้อยที่สุดในการทำให้คนเรา ไม่ว่าจะมีปืน มียศนำหน้า เป็นขุนนาง เป็นเอ็นจีโอ เป็นชนชั้นพันธมิตรฯ ได้กลับมาเท่ากัน เพื่อชี้วัดอนาคตความเป็นไปของบ้านเมืองแบบเป็นเจ้าของเท่าๆ กัน

 

อย่างที่ทราบกันอยู่ การขับไล่ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้น เป็นการต่อสู้ทางการเมืองที่ใช้เงินภาษีอากรทุกบาททุกสตางค์มาขับเคลื่อนรถถังที่ประชาชนซื้อ และปล้นเอาอำนาจของประชาชนไปจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เลวร้ายกว่าการคอรัปชั่นใดๆ ไม่เป็นธรรม ไม่ใช่วิถีของชายชาติทหาร และมนุษย์ปุถุชน

 

ขณะที่ความเลวร้ายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยังไม่เคยได้รับการพิสูจน์อย่างสิ้นสงสัย (แม้จะเชื่ออยู่ก็ตาม) และรอการพิสูจน์ต่อไป แต่การที่คณะรัฐประหารและเครือข่ายพยายามสร้างกระแสความเลวร้ายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งให้เกินจริงกลับได้รับการพิสูจน์ (หรืออย่างน้อยก็เชื่อ) เช่น กรณีคำสารภาพของต่อตระกูล ยมนาค กรรมการบริหารบริษัทท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยว่า มีการล็อบบี้ให้ใช้สุวรรณภูมิดิสเครดิต "ทักษิณ" ทว่า ก็แทบจะไม่มีสื่อใดรายงาน อาจจะเพราะสื่อถูกบังคับให้เลือกข้าง ถูกทำให้ยินยอมพร้อมใจในการบิดเบือนข่าวสาร ปิดหูปิดตาประชาชน เพราะความกลัว ครั้นพวกเดียวกันเองเปิดโปงเรื่องกองทัพขอเงินทีโอทีซื้อเครื่องดักฟังโทรศัพท์ 800 ล้าน ก็ถูกปิดปากในฐานะเป็นเรื่องของความมั่นคง และผู้ขอหรือมีส่วนในการขอเป็นคนดีเป็นวีรบุรุษ (ซึ่งไม่รู้ว่าเกี่ยวกับเงิน 800 ล้านอย่างไร)

 

ความไม่เป็นธรรม ไม่แฟร์ จึงเกิดขึ้นตั้งแต่เหตุผลในการรัฐประหาร วิธีการเอาชนะ วิธีการรักษาชัยชนะ และรวมถึงการสืบทอดอำนาจ

 

กล่าวอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ ไม่แฟร์ตั้งแต่การชุมนุมในนามของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยใช้เหตุผลและข้อเรียกร้องที่ไม่เป็นธรรม เช่นการอ้างเอาเรื่องการจาบจ้วง การหมิ่นฯ การขอพระราชทานมาตรา 7 มาจนถึงการเอาภาษีอากรมารัฐประหาร การอ้างเหตุผลในการรัฐประหาร การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำความผิด การฉีกรัฐธรรมนูญ การตั้งสภาร่าง การตั้งสภานิติบัญญัติ การตัดสินยุบพรรค เพิกถอนสิทธิการเมืองโดยใช้โทษย้อนหลัง หรือการอายัติทรัพย์ ฯลฯ

 

และแม้แต่ "การลงประชามติ" ที่ตัวเองเป็นผู้กำหนดกติกา ได้โปรดอ่านข้อความในโฆษณาที่ได้ใช้เงินภาษีอากรซื้อพื้นที่ตามสื่อสารมวลชนเถอะครับ

 

 

 

รวมพลังลงประชามติ

"เห็นชอบ"

รัฐธรรมนูญใหม่ ให้การเมืองไทยมีการ

"เลือกตั้ง"

 

 

นี่มันเข้าข่ายการจับการเลือกตั้ง (อันเป็นเงื่อนไขขั้นตอนภาคบังคับ เป็นพื้นฐานเป็นปฐมภูมิของประชาธิปไตย) ไว้เป็น "ตัวประกัน" ใช่หรือไม่

 

ที่สำคัญ นี่เป็นการโฆษณาโดยคณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (โทร 1743) หน่วยงานร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ของคณะรัฐประหารที่อาจจะมีปัญหาในการอ่านรัฐธรรมนูญไม่ค่อยเข้าใจ แม้แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ที่ทำให้ท่านๆ เหล่านี้เกิดและมีสภาพเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาได้

 

โปรดอ่านมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2549 ที่คณะรัฐประหารบังคับให้พวกเราใช้กันอีกครั้ง

 

"มาตรา 32 ในกรณีที่สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายใน

กำหนดเวลาตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง ก็ดี สภาร่างรัฐธรรมนูญไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ

ตามมาตรา 28 วรรคสอง ก็ดี หรือในการออกเสียงประชามติตามมาตรา 31 ประชาชนโดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบให้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ดี ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง และให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ได้เคยประกาศใช้บังคับมาแล้วฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบ และนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไป" (การเน้นและขีดเส้นเป็นของผู้เขียน)

 

นั่นหมายความว่าในการลงประชามติครั้งนี้ ต่อให้ประชาชนไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 คมช. ก็จำต้องหยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาประกาศใช้ภายในเวลา 30 วัน และนั่นหมายความว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกนำขึ้นมาใช้ใหม่อย่างแน่นอน

 

เว้นเสียแต่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่กำหนดห้ามให้มีการเลือกตั้งเท่านั้น จึงจะทำให้ คณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สภาร่างรัฐธรรมนูญเข้าใจไปว่า หากไม่เห็นชอบร่างฯที่นำมาประชามติแล้วจะทำให้ไม่มีการเลือกตั้ง

 

ไม่เข้าใจว่า ทำไมสภาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องบิดเบือนและโกหก หรือพยายามทำให้ประชาชนเข้าใจผิดจนหยดสุดท้าย โกหกแม้กระทั่งกติกาของตัวเอง

 

ที่ผ่านมา แม้จะโกหกมาตลอดเกือบปีที่ผ่านมาว่า เผด็จการที่เห็นและเป็นอยู่ทุกวันนี้คือประชาธิปไตย ซึ่งทำให้เกิดความเงียบ สื่อเงียบ แต่อย่าคิดว่าทุกคนจะเชื่อ จนหลงไปว่าจะหลอกได้อีกด้วยการเอาการเลือกตั้งเป็นตัวประกัน

 

ถอนโฆษณานี้ออกเถอะครับ มันทุเรศทุรัง และดูถูกประชาชนเหลือทน จะรณรงค์ว่าร่างรัฐธรรมนูญของท่านดี ก็ว่ากันมา ไม่มีปัญหา ทำได้ และควรทำ แต่อย่ามาหลอกกัน

 

หรือนี่คือจะพิสูจน์ว่า คนโกหกแล้วได้ผล ก็จะมีแต่การโกหกตามมาเสมอ

 

หัวหงอกกันหมดแล้ว เล่นกันแฟร์ๆ (สักครั้ง) บ้างไม่ได้หรือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท