Skip to main content
sharethis

อ.อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์ดินอะ (อับดุลสุโกดินอะ)


shukur2003@yahoo.co.uk        


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอขอความสันติจงมีแด่ศาสดามุฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่านสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน


เป็นที่ทราบกันดีว่าระหว่างวันที่ 23-30 มิถุนายน 2550 ศ.ดร.มูฮัมหมัด ซัยยิด ฏอนฏอวี (Dr.Muhammad Sayid Tantawy) ผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ หรือ Grand Imam of Al Azhar และ ศ.ดร.อับดุลลอ ฮ บิน มุห ชินอัตตุรกี (H.E. Dr.Abdullah bin Abdul Mohsin Al-Turki) เลขาธิการสันนิบาตมุสลิมโลก ได้มีโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันในด้านกิจการศาสนาอิสลาม ตลอดจนการขยายความร่วมมือด้านการศึกษาของเยาวชนไทยมุสลิม และเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา (interfaith dialogue) ตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้


000


ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามและฟังคำบรรยายของบรมครูของข้าพเจ้า (สมัยเรียนประเทศอียิปต์ปี 2534-2539) คือ ศ.ดร.มูฮัมหมัด ซัยยิด ฏอนฏอวี ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ สำนักคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา เมื่อ 26 มิถุนายน 2550 และ ดร.อับดุลลอ ฮ บิน มุห ชินอัตตุรกี ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี เมื่อ 28 มิถุนายน 2550


จากการรับฟังเนื้อหาสาระสำคัญของทั้งสองท่าน พบว่ามีประเด็นหลักที่เหมือนกันอยู่ 3 ประการใหญ่ ดังนี้


1. ทางสายกลางของหลักการศาสนาอิสลามและสามารถอยู่ร่วมกับต่างศาสนิกอย่างสันติ


ศ.ดร.มูฮัมหมัด ซัยยิด ฏอนฏอวี กล่าวว่า:


"อิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ ยึดมั่นตามหลักสายกลาง ปฏิเสธความสุดโต่ง ความคลั่งในชาติพันธ์...สิ่งที่เราสั่งสอนให้แก่ลูกหลานของเราในอัลอัซฮาร์ และอยากจะกล่าวในสิ่งเดียวกันแก่มนุษย์ทั้งมวล คือความเป็นภราดรภาพระหว่างมนุษยชาติ และความแตกต่างทางความคิดและความเชื่อทางศาสนา ไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางความร่วมมือระหว่างกัน


ความเชื่อทางศาสนาไม่อาจบังคับได้ เพราะพระเจ้าได้โองการความว่า ไม่มีการบังคับในการนับถือศาสนา...หากแต่มนุษย์ทุกคนมีอิสระในทางความคิด และความเชื่อในศาสนาของตน และเราควรให้ความเคารพแก่กันและกัน...ศาสนายอมรับความแตกต่างทางชาติพันธุ์ เพราะพระเจ้าได้โองการความว่า "โอ้ มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างเจ้าให้เป็นชาย หญิง เชื้อชาติ และเผ่าพันธ์ต่างๆ เพื่อที่จะทำความรู้จักซึ่งกันและกัน"


ข้าพเจ้าจึงขอฝากลูกหลานทุกคนในประเทศไทยว่า ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด จงเป็นพี่น้องที่มีความรักให้กันและกัน ไม่มีความแตกแยกระหว่างมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิม แต่ควรจะมุ่งปฏิบัติหน้าที่ของตนเองในการนำพาประเทศไทยสู่ความเจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้า


ทุกคนต้องทำงานด้วยใจอันสัตย์สื่อ ตั้งใจแน่วแน่ ใช้ความสามารถที่ตนมี ประชาชาติใดที่มีความร่วมมือในสังคมบนความหลากหลายของศาสนา ประชาชาตินั้นจะเปี่ยมไปด้วยความสุขความเจริญก้าวหน้า มั่งคั่ง และความสงบสุข"


การที่ ศ.ดร.มูฮัมหมัด ซัยยิด ฏอนฏอวี เสวนาธรรมกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ ผู้นำศาสนาพุทธเป็นเครื่องยืนยันในการยึดหลักการศาสนาสายกลาง ซึ่งท่านเองยอมรับว่าที่ประเทศอียิปต์ บ่อยครั้งท่านก็เสวนาธรรม "บาบาซานูซาฮฺ" ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาคริสตร์ในอียิปต์


สำหรับ ศ.ดร.อับดุลลอ ฮ บิน มุห ชินอัตตุรกี เลขาธิการสันนิบาตมุสลิมโลก ได้ให้ทัศนะต่อประเด็นนี้ว่า


"สันติบาตมุสลิมโลกมุ่งเน้นที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อศาสนาอิสลามที่มุ่งทางสายกลาง (ในภาษาอาหรับเรียกว่า Mutadil) ปฏิเสธความคิดที่จะนำศาสนาอิสลามมาใช้ในทางที่ผิด หรือเบี่ยงเบนไปในการก่อความรุนแรง และก่อการร้ายในประเทศไทยและประเทศอื่นๆในโลก...หากมุสลิมอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรม ต้องแสดงตัวตนของความเป็นมุสลิมที่ถูกต้องและดีงามออกมาให้มากที่สุด"


จากทัศนะข้างต้นของท่านทั้งสองจะพบว่าสอดคล้องกับหลักคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอาน วัจนศาสดาที่พูดถึงแนวคิดสายกลาง (แนวคิดสายกลางในที่นี้หมายถึงแนวคิดที่เข้าใจหลักการและเป้าหมายของศาสนาอิสลามอย่างถูกต้อง) โดยอัลลอฮได้ตรัสความในทำนองเดียวกันว่า


"เราได้ให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติสายกลาง เพื่อพวกเจ้าจะได้เป็นสักขีพยานแก่มนุษย์ทั้งหลาย และศาสดาก็จะเป็นสักขีพยานแก่พวกเจ้า"


(ซูเราะฮอัล บะกอเราะฮฺ 2:143)


"จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่าบรรดาผู้ได้รับคัมภีร์ทั้งหลาย จงอย่าปฏิบัติให้เกินขอบเขตในศาสนาของพวกท่าน โดยปราศจากความเป็นจริง และจงอย่าปฏิบัติตามความใคร่ใฝ่ต่ำของพวกหนึ่งพวกใดที่พวกเขาได้หลงผิดมาก่อนแล้ว และได้ทำให้ผู้คนมากมายหลงผิดด้วย และพวกเขาก็ได้หลงผิดไปจากทางอันเที่ยงตรง"


(ซูเราะฮอัล มาอิดะฮฺ 5:77)


"มุสลิมถูกเรียกว่า อุมมะตัน วะสะฏ็อน (ประชาชาติสายกลาง) นักอรรถาธิบายอัลกุรอานได้อธิบายคำว่า "วะสัฏ" (ในภาษาอาหรับแปลว่ากลาง) คือ "ความสมดุลที่เที่ยงตรง" "สิ่งที่ดีที่สุด" (คิยารฺ หรือ คอยรฺ) ท่านยูซุฟ อลี ได้กล่าวว่า "สารัตถะแห่งอิสลามคือการหลีกเลี่ยงจากความเลยเถิดไม่ว่าด้านใดก็ตาม อิสลามเป็นศาสนาที่เรียบง่ายและสามารถปฏิบัติได้จริง"


(เชิงอรรถที่ 143 ของอายะฮฺ : ซูเราะฮอัล บะกอเราะฮฺ 2:143)


อัลลอฮฺ ได้ทำให้อุมมะฮฺ (ประชาชาติ) นี้ให้เป็นอุมมะฮฺสายกลาง ดังนั้น มุสลิมต้องดำเนินตามทางสายกลาง ทางซึ่งไม่มีการสุดโต่งหรือความเลยเถิดใดๆ เป็นวิถีทางที่จะต้องมีการเข้ามาร่วมกันเป็นความสมดุลที่ประสานกลมกลืน


ท่านศาสดาได้เป็นแบบอย่างของการทำความดีต่อชนต่างศาสนิก ดั่งรายงานจากอบูอุบัยด์ ในหนังสือ al-Amwal หน้า 613 (quoted in al-Qardhawi,1994: 2/275 ว่า "ท่านนบีเคยบริจาคทานแก่ญาติผู้ตายชาวยิวในขณะที่ท่านเดินผ่าน" อีกสายรายงานหนึ่ง โดยมุฮัมหมัด บิน อัลหะซัน กล่าวไว้ในหนังสือ Sart al-Sair เล่ม 1 หน้า 144 quoted in al Qardhawi 1994, 2/274) ว่า "ท่านศาสดาเคยบริจาคทานแก่คนยากจนชาวมุชริกีนมักะฮ (ผู้บูชาเทวรูป)"


2. ความสำคัญของการศึกษา/ผู้รู้


ศ.ดร.มูฮัมหมัด ซัยยิด ฏอนฏอวี กล่าวว่า:


"...ความรู้ทั้งศาสนาและสามัญนั้นเป็นประโยชน์ และเราจำเป็นต้องเรียนรู้และนำมาใช้ประโยชน์เพื่อมนุษยชาติ ซึ่งที่ใดที่รู้จักใช้วิทยาการหรือเทคโนโลยีที่นั่นก็จะเจริญ แต่ความรู้ที่สมบูรณ์ตามหลักการอิสลามต้องคู่กับคุณธรรมและอยู่บนพื้นฐานที่ถูกต้องตามศาสนา แต่ในทางกลับกันความรู้ที่มุ่งสร้างความแตกแยกหรือความขัดแย้ง นั้นไม่ใช่หลักของอิสลาม ซึ่งความรู้แบบนี้ความโง่ เขายังประเสริฐกว่า ตามหลักการอิสลามจึงไม่อนุญาตให้ใช้ความรู้ไปในเรื่องไม่สร้างสรรค์ สร้างความขัดแย้งอคติ และบ่อนทำลายสังคม..."


สำหรับศ.ดร. อับดุลลอ ฮ บิน มุห ชินอัตตุรกี ได้ให้ทัศนะต่อการศึกษา/ผู้รู้ว่า


"ประเด็นการศึกษา ถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญ ถือว่าเป็นประเด็นพื้นฐานของสังคม....ปัจจุบันสังคมมุสลิมกำลังเผชิญปัญหาโถมใส่หลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมและการสร้างบรรทัดฐานในการรักษาดุลยภาพระหว่างการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของมุสลิมกับการใช้ชีวิตในสังคมต่างวัฒนธรรมภายใต้บรรยากาศแห่งความเข้าใจซึ่งกันและกัน ความเอื้ออาทร และความมั่นคงในชีวิต...


ผู้รู้และผู้เผยแพร่ต้องไม่ท้อถอย ในการเชื่อมโยงอัลกุรอ่านและประวัติศาสตร์มุสลิมให้รู้ว่าต้องยืนหยัดบนความถูกต้อง สำคัญที่สุดคือผู้รู้ต้องเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนา ขอยืนยันว่าภารกิจของความรู้ความเข้าใจศาสนาเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ผู้นำศาสนาถือเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณของประชาชน จงอย่านิ่งเฉย และคำสอนต้องไม่เบี่ยงเบนหลักศาสนา ให้ใช้ความเมตตาธรรมนำเผยแพร่ ไม่ใช่นำความรุนแรงเพื่อประหัตประหารจนล้มตาย นั้นไม่ใช้แนวทางศาสนาที่ถูกต้อง"


          การไม่มีความรู้เพียงพอหรือผู้รู้ที่พยายามตีความเพื่อประโยชน์ของตนหรือกลุ่มก็สามารถนำหายนะสู่สังคมดั่งคำกล่าวของท่านที่ว่า


"...สำหรับคนบางกลุ่มที่เป็นมุสลิมใช้ความรุนแรงนั้น เราอาจแบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก กลุ่มที่ไม่มีความรู้อย่างแท้จริงในด้านศาสนา กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่ได้รับการแนะนำสั่งสอนจากกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีต่อสังคมมุสลิมอย่างแท้จริง...เรื่องญิฮาดมีความเข้าใจผิดกันอยู่มาก ที่จริงแล้ว ญิฮาด ถูกกำหนดขึ้นในครั้งแรกเพื่อต่อต้านการรุกราน จากฝ่ายศัตรูที่ท่านศาสดามูฮัมหมัด ท่านได้อพยพ ในขณะที่ฝ่ายศัตรูก็ยังเข้ามารุกรานอยู่อีก จึงต้องมีการต่อต้านและป้องกัน จึงเรียกว่าการญิฮาด นอกจากนี้ยังมีการญิฮาด เพื่อที่จะปกป้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ ขจัดความอยุติธรรมต่างๆ มีการญิฮาดเพื่อขจัดกำแพงที่ทำให้บุคคลไม่สามารถเข้าถึงอิสลามได้ ก็เรียกว่าเป็นการญิฮาดได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม การญิฮาด "ไม่ใช่" การสร้างความหวาดกลัว หรือสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับสังคมแต่อย่างไร…"


3. การสานเสวนา หรือภาษาอาหรับเรียกว่า al- Hiwar


ศ.ดร. มูฮัมหมัด ซัยยิด ฏอนฏอวี มีทัศนะเรื่องการสานเสวนาว่า:


"การแก้ปัญหาความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการสานเสวนาหรือภาษาอาหรับเรียกว่า al-Hiwar เพราะอัลลอฮฺเจ้าได้โองการในคัมภีร์อัลกุรอานหลายครั้งเกี่ยวการสานเสวนา เช่นพระองค์ได้ตรัสไว้ ความว่าท่านทั้งหลายจงสานเสวนาด้วยวาจาที่สุภาพยิ่งด้วยเหตุและผล (โปรดดูอัลกุรอานซูเราะฮอัลอันนะห์ลุ .16: 125) และขณะเดียวกันพระเจ้าเองยังได้ทำแบบอย่างให้มนุษย์เห็นเกี่ยวกับการสานเสวนากับซาตานมารร้ายที่ทรยศต่อพระองค์ บรรดาศาสนฑูตเองก็ได้สานเสวนากับศัตรูหลายต่อหลายครั้ง...."


ในขณะที่ ศ.ดร.อับดุลลอ ฮ บิน มุห ชินอัตตุรกี ได้ให้ทัศนะอย่างหนักแน่นและชัดเจนว่า 


"ปัญหาทุกอย่างต้องแก้ไขด้วยการ Hiwar หรือสานเสวนาอย่างสันติ ด้วยเหตุผลนี้ผู้รู้ทางศาสนาควรร่วมมือกับทุกฝ่าย การพูดคุยอย่างสันติเพื่อหาวิธีการที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ความรุนแรงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ นอกจากนั้นมันยังเพิ่มปัญหา ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับรัฐบาลที่พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และดำเนินการด้วยสันติ...


สุดท้ายท่านทั้งสองไม่ลืมที่จะขอบคุณรัฐบาลไทยและพี่น้องประชาชนทุกคนที่ให้การต้อนรับและหวังว่าจะได้มีการร่วมมือกับรัฐบาลไทยต่อไป ในเรื่องการเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องการศึกษา การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความชำนาญด้านต่างๆ


000


จาก 3 ข้อหลักที่ทั้งสองได้แสดงทัศนะที่สอดคล้องดังกล่าวนั้นจะพบว่า 2 ข้อแรก เป็นการให้คำแนะนำหรือภาษาอาหรับเรียกว่า Nasihat โดยตรงต่อมุสลิมโดยเฉพาะผู้นำศาสนา ที่จะต้องกล้าแสดงจุดยืนด้านธรรมะและหลักการที่ถูกต้องตามหลักศาสนาโดยเฉพาะในเรื่องการก่อการร้ายที่ทำร้ายผู้บริสุทธิโดยใช้คำญิฮาดเป็นเครื่องมือ


สำหรับรัฐบาล ผู้นำประชาชน หรือแม้กระทั่งขบวนการทุกกลุ่ม จะต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการสันติวิธีโดยเฉพาะการสานเสวนา เพราะหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของสันติวิธีที่จะต้องรีบทำคือศาสนเสวนามุสลิม-พุทธ หรือไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู-กับมิใช่มลายู (ในประเทศไทยมีหลากหลายเชื้อชาติ) รัฐบาลกับผู้นำประชาชน หรือแม้กระทั่งขบวนการทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่รัฐหรือ ผบ.ทบ.มั่นใจ เพราะหากไม่รีบทำอาจจะนำไปสู่สงครามระหว่างศาสนา-เชื้อชาติได้


ศาสนเสวนาหรือสานเสวนา ต่างกับการสนทนาทั่วไปตรงที่ไม่มีการคุกคามอัตลักษณ์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพราะมุ่งให้ผู้ร่วมศาสนเสวนารับฟังและเรียนรู้จุดยืนซึ่งกันละกัน บนพื้นฐานการให้เกียรติความแตกต่างโดยปราศจากการครอบงำ บีบบังคับโน้มน้าว หรือบังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนแปลงความคิดความศรัทธาของตน หากแต่เป็นการเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกัน


อัลลอฮฺเจ้าได้โองการในคัมภีร์อัลกุรอานความว่า "ท่านทั้งหลายจงสานเสวนาด้วยวาจาที่สุภาพยิ่งด้วยเหตุและผล" (โปรดดูอัลกุรอานซูเราะฮอัลอันนะห์ลุ .16 : 125)


เป็นที่ทราบกันดี (โดยเฉพาะทัศนะของนพ.พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ) ว่าปัจจัยสาเหตุหลักของปัญหาภาคใต้ แบ่งเป็น 2 ปัจจัยหลัก คือ


1.ปัญหาทางประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างปัตตานีกับสยาม


2.ปัญหาที่เป็นผลกระทบจากกระบวนการฟื้นฟูอิสลามในระดับโลก ภูมิภาค และระดับท้องถิ่น


ส่วนปัจจัยเร่ง คือ


1.ปัญหาของการดำเนินนโยบายความมั่นคงของรัฐในพื้นที่ที่เป็นปัญหา ทั้งด้านแนวคิดและด้านการบริหารจัดการ


2.การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของฝ่ายขบวนการหลังปี 2535 เป็นต้นมา ที่ฝ่ายขบวนการเปลี่ยนสภาพ ทำให้มีการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของฝ่ายก่อการไม่ใช้แบบเดิม ยุทธศาสตร์ของฝ่ายก่อการใช้ยุทธศาสตร์ในการสร้างศรัทธาและความชอบธรรมในการต่อสู้ ด้วยงานการเมืองที่มีมิติในเชิงศาสนา เชิงประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์


ด้านการทหารฝ่ายก่อการใช้วิธีสร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ก่อเหตุการณ์ที่น่าสะพรึงกลัว ไม่เลือกเป้าหมาย ใช้ Soft Target (เป้าหมายที่อ่อนไหว) มุ่งตัดตอนความน่าเชื่อถือของอำนาจรัฐ ทำให้ประชาชนยิ่งไม่เชื่อถืออำนาจรัฐ ขณะเดียวกันก็หวาดกลัวฝ่ายก่อกา รซึ่งมุ่งทำทุกอย่างเพื่อแยกดินแดนด้วยอำนาจขององค์กรทางสากล ไม่ใช่เอาชนะด้วยการยึดพื้นที่จริง


การที่รัฐมุ่งใช้กำลังทหาร จัดทหารพรานเป็นจำนวนมากเข้าควบคุมพื้นที่และบีบรัดเขตอิทธิพลของฝ่ายก่อการลงเรื่อยๆ จะบีบเขตอิทธิพลให้ค่อยๆ แคบลงเรื่อย จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในที่สุด แต่มันไม่ได้จบแค่นี้ เพราะแม้จะยึดพื้นที่ได้ แต่ก็อาจยึดคนไม่ได้ หรือคุมคนได้ แต่ยึดความคิดคนไม่ได้


ดังนั้น สิ่งที่รัฐได้รับจากสองผู้นำคนสำคัญของมุสลิมโลกสายกลางเยือนไทยครั้งนี้ คือการปรับความเข้าใจในหลักศาสนาที่ถูกต้อง การประณามการใช้วิธีการอย่างสุดโต่งนามศาสนาเกี่ยวกับญิฮาดที่ทำร้ายสังคม และที่สำคัญ เวทีโลกและนานาชาติจะช่วยลดการเคลื่อนไหวต่อต้านประเทศไทยในโลกมุสลิมได้มาก  อันจะทำให้ผู้ก่อการต้องเปลี่ยนยุทธศาตร์การต่อสู้ในอนาคตอย่างแน่นอน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net