Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ : ชื่อบทความเดิม "เราต้องโฆษณาว่า "ไม่รับการลงประชามติ" ไม่ใช่ "ไม่รับรัฐธรรมนูญ" และไปทำบัตรเสีย ไม่ใช่ไปลงประชามติว่า "ไม่รับ" "


 


 


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


 


ในการสัมมนาที่ธรรมศาสตร์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เสนอว่า ถ้าเราเพียงเรียกร้องให้ประชาชนไปลงมติ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญของ คมช. จะมีปัญหาที่ตามมาหลายอย่าง


 


อย่างแรกสุดคือ ในทางทฤษฎี การไปลงประชามติ เท่ากับเราผูกมัด (commit) ตัวเองหรือยอมรับ (ในทางทฤษฎี) กับกระบวนการลงประชามตินั้น และกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญทั้งหมด (การรัฐประหาร, การล้มรัฐธรรมนูญเก่า แล้วตั้ง สสร.ภายใต้การปกครองของทหารมาร่างรัฐธรรมนุญใหม่ ฯลฯ) ถึงแม้เราจะ "ไม่รับ" ตัวร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็ตาม


 


ปัญหาที่ตามมาคือ นอกจากเป็นการสร้างหรือยอมรับความชอบธรรมให้กับกระบวนการดังกล่าวแล้ว หากผลที่ออกมา เสียงที่ลงส่วนใหญ่ "รับ" ร่างรัฐธรรมนูญนั้น ในทางทฤษฎีเราก็ต้องยอมรับผลนั้นด้วย


 


ผมเสนอในที่สัมมนานั้นว่า ถ้าจะปฏิเสธกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญทั้งหมด คือปฏิเสธการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยการรัฐประหาร หรือปฏิเสธการรัฐประหาร วิธีที่ดีที่สุด เราต้องไป "ฉีกบัตร" (หรือ "เผา" ผมคิดว่า "เผา" จะ Original กว่า ไชยันต์ ไชยพร ได้ทำให้การ "ฉีกบัตร" กลายเป็นเรื่องน่าละอายไป แทนที่จะเป็นรูปแบบการประท้วงที่มีเกียรติ) มากกว่าไปลงมติว่า "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น


 


แต่ผมก็กล่าวว่า ผมไม่ต้องการเสนอให้เราไป "ฉีก" (หรือ "เผา") บัตรลงประชามติ เพราะมีโอกาสจะถูกจับ ถูกดำเนินคดี และติดคุกได้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ "ตุลาการ" มีแนวโน้มการใช้อำนาจแบบในปัจจุบัน) ทำให้ยุ่งยากเสียเวลาโดยไม่จำเป็น


 


ในที่สัมมนานั้น ผมได้ลองเสนอไอเดียว่า แทนที่จะรณรงค์ให้ไปลงมติว่า "ไม่รับ" รัฐธรรมนูญ เราควรรณรงค์ให้คนไม่ไปลงประชามติเสียเลย เป็นการประท้วงการลงประชามติและกระบวนการได้มาซึ่งร่างรัฐธรรมนูญนี้ทั้งกระบวนการ


 


แต่หลังจากได้คิดทบทวนอย่างหนักแล้ว ผมมีข้อเสนอใหม่ ซึ่งขอสรุปเป็นข้อๆ เพื่อสะดวกแก่การช่วยกันคิด-อภิปรายต่อไป ดังนี้


 


(1) ผมคิดว่า "อ๊อปชั่น" หรือทางเลือก เรื่อง "ฉีก" หรือ "เผา" บัตรลงมติ ยังไม่ควรมองข้ามหรือละทิ้งเสียทีเดียว ผมเปลี่ยนใจมาเห็นว่า การ "ฉีก/เผา" บัตรลงประชามติจำนวนหนึ่ง น่าจะมีประโยชน์อย่างมากในการแสดงให้เห็นอย่างมีพลังถึงการประท้วงกระบวนการนี้ โดยเฉพาะถ้าทำโดย "บุคคลผู้มีชื่อเสียง" ที่ได้รับการยอมรับทั่วไป นี่จะเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ดีมากให้แก่รูปแบบหลักของการประท้วงที่จะเสนอในข้อ (2)


 


(2) รูปแบบหลักของการประท้วงคว่ำรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ควรเป็นรูปแบบของการไปทำบัตรเสีย


ด้วยวิธีขีด กากบาทคร่อมทั้งบัตร แล้วเขียนว่า "คมช.ออกไป"


 


(3) แน่นอน หากมีประชาชนส่วนหนึ่งไปลงประชามติว่า "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญ เสียงที่ปฏิเสธรัฐธรรมนูญโดยรวม (คือทั้งส่วนที่ปฏิเสธด้วยเหตุผลประท้วงการรัฐประหารแบบที่กำลังเสนอนี้ กับปฏิเสธด้วยเหตุผลอื่นๆ เช่น อาจจะเพียงไม่ชอบใจเนื้อหาบางอย่างของร่างรัฐธรรมนูญ) ก็ย่อมเพิ่มมากขึ้นในสัดส่วนของเสียงทั้งหมด หมายความว่า การที่เราไปทำบัตรเสีย ไม่มีผลกระทบต่อเสียงรวมที่ปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญ (ข้อเสนอเดิมของผมที่ให้ไม่ไปลงประชามติเสียเลย มีจุดอ่อนในเรื่องนี้อยู่ว่า เนื่องจากรัฐบาลจะนับเฉพาะเสียงที่ไปลง เสียงที่ไม่ไปลง จะถูกทำให้กลายเป็นเสียงที่ "ไม่นับ" ไป)


 


ยกตัวอย่าง หากมีคนเห็นด้วยกับเรา คือไป "ทำบัตรเสีย" 30% มีคนไปลงมติ "ไม่รับ" รัฐธรรมนูญอีก 30% และมีคนไปลงมติ "รับ" 40% เสียงที่ "รับ" ก็ยังเป็นส่วนข้างน้อยของการลงประชามติอยู่นั่นเอง และรัฐธรรมนูญก็ควรถือว่า "ตกไป" นั่นคือ "บัตรเสีย" ที่เราและคนที่เห็นด้วยกับเราไปทำ ก็จะยังมีผลต่อคะแนนรวมอยู่นั่นเอง


 


(ในกรณีที่ฝ่ายรัฐบาล-คมช. "รู้ทัน" ยุทธวิธีที่กำลังเสนอนี้ และออกกฎหมายว่า ให้นับเฉพาะเสียงข้างมากของบัตรที่ดี คือ ไม่นับบัตรเสีย ผมคิดว่า เราก็ยังคงใช้ยุทธวิธีนี้ได้ เพราะหาก คมช.-รัฐบาลทำเช่นนั้น ก็จะเป็นการเปิดโปงให้เห็นลักษณะคดโกงของการลงประชามตินี้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะไม่มีการลงประชามติที่ไหน ที่นับเสียงข้างมากของเฉพาะบัตรที่ดี แต่ต้องนับเสียงข้างมากของบัตรที่ไปลงคะแนนทั้งหมด)


 


(4) เราต้องโฆษณาให้เห็นว่า เราไม่รับ และประชาชนทั่วไปก็ไม่ควรรับรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งกระบวนการ รวมทั้งการลงประชามติด้วย เราต้องชี้ให้เห็นว่า การลงประชามติกฎหมายใดๆ โดยเฉพาะกฎหมายสำคัญอย่างรัฐธรรมนูญ ต้องทำภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตยเท่านั้น นั่นคือต้องมีพรรคการเมือง มีเสรีภาพทางการเมือง ที่ทุกฝ่ายสามารถรณรงค์ทางการเมืองทุกเรื่องได้อย่างเสรี ไม่ใช่ทำประชามติ ภายใต้การเมืองแบบเผด็จการ ที่ปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองในทุกทาง ควบคุมกลไกสื่อมวลชนทุกทาง เช่นในปัจจุบัน


 


คำขวัญในการรณรงค์ ควรออกมาในลักษณะ


 


"ไม่เอารัฐธรรมนูญที่ร่างโดยการรัฐประหาร"


"ปฏิเสธรัฐธรรมนูญของรัฐประหาร ด้วยการทำบัตรเสีย"


"ปฏิเสธการรัฐประหาร ทำบัตรเสียลงมติรัฐธรรมนูญ"


"ประชามติภายใต้เผด็จการ เป็นประชามติจอมปลอม"


 


เป็นต้น


 


 


(5) หากผลที่ออกมา จากการลงประชามติครั้งนี้ เสียงที่ "รับ" ยังคงเป็น "เสียงข้างมาก" (เช่น บัตรเสีย 20%, ไม่รับ 20%, รับ 60%)  เราก็ยังสามารถดำเนินการต่อสู้ต่อไปได้ โดยให้เหตุผลว่า การลงประชามติทั้งหมด ไม่เป็นประชาธิปไตย เราสามารถกล่าวได้ว่า เราไม่เคยยอมรับการลงประชามติภายใต้เผด็จการตั้งแต่ต้น เราไม่เคยมีโอกาสรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงภายใต้การควบคุมของเผด็จการ รวมทั้งโอกาสที่เราจะโฆษณาให้ทำบัตรเสีย ก็ไม่มีโอกาสเต็มที่ (ผมเชื่อแน่ว่า กฎหมายที่กำลังจะออกมาต้องห้ามการรณรงค์คว่ำรัฐธรรมนูญ รวมทั้งห้ามแม้กระทั่งบทความอย่างที่กำลังเขียนอยู่นี้) และเราสามารถดำเนินการต่อสู้ ต่อต้านรัฐประหารต่อไปได้ ภายใต้คำขวัญประเภท


 


"รัฐธรรมนูญจากประชามติภายใต้เผด็จการ เป็นโมฆะ"


"เอารัฐธรรมนูญ 40 กลับคืนมา"


"ยกเลิกรัฐธรรมนูญรัฐประหาร"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net