Skip to main content
sharethis


ภาพประกอบจาก gotoknow.org


 


  


ประชาไท - 4 ก.ค.50 ที่ห้องสุโขทัย สำนักงานบริการวิชาการนานาชาติ (IC) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการประชุมเรื่อง "เตรียมการจัดงานวันชนเผ่าพื้นเมืองในประทศไทย" โดยมีเครือข่ายชาติพันธุ์ร่วมกันเสวนาและหาข้อสรุปและเตรียมพร้อมในการจัดงานดังกล่าว ในวันที่ 9 ส.ค.นี้


 


นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กองเลขาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) กล่าวว่า ก่อนหน้านั้น ทางเครือข่ายชาติพันธ์ ได้มีการพูดคุยกันมานานแล้ว ถึงเรื่องการประกาศวันชนพื้นเมืองในประเทศไทย ซึ่งได้มีการเสนอกันหลายประเด็น ซึ่งมีการเสนอเอาวันเสียชีวิตของนายปุนุ ดอกจีมู ผู้อาวุโสชาวปวาเก่อญอ ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายโดยกระโดดลงไปในคลองเปรมประชากร ข้างทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 40เพื่อประท้วงที่หน่วยงานรัฐประกาศให้มีการอพยพชาวบ้านออกจากป่า และมีหลายคนเสนอความเห็นให้เลือกเอา วันที่พี่น้องชนเผ่าร่วมกันชุมนุมครั้งใหญ่ที่ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ ระหว่างเดือนมี.ค.-พ.ค.2541 แต่ในที่สุด ก็ได้ลงความเห็นกัน โดยเลือกเอาวันที่ 9 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองสากล ของสหประชาชาติ เป็น "วันชนพื้นเมืองในประเทศไทย"


 


"ดังนั้น การประกาศสถาปนาวันชนพื้นเมืองในประเทศไทย ในส่วนหนึ่งก็เพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมือง โดยเน้นในเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือสิทธิในการจัดการทรัพยากรที่ชนเผ่าหรือชนพื้นเมืองนั้นได้อาศัยอยู่กันมานานแล้ว"


 


ดร.ชูพินิจ เกษมณี ประธานคณะกรรมการประสานเครือข่ายชนเผ่าเพื่อรัฐธรรมนูญ (คชธ.) กล่าวว่า เมื่อพูดถึงความเป็นชนเผ่า ชนพื้นเมือง หรือชุมชนท้องถิ่น อยากจะพูดถึง "การกำหนดตนเอง" ซึ่งในหลักการพวกเขาจะต้องมีสิทธิ มีอำนาจที่จะกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ซึ่งถ้าเทียบดูตัวอย่างในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ ซึ่งอาจจัดได้ว่าเป็นประเทศก้าวหน้าที่สุดก็ว่าได้ในเรื่องนี้ จะเห็นว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญของชนพื้นเมือง โดยได้มีการออกกฎหมายในเรื่องสิทธิของชนเผ่า เป็นกฎหมายระดับชาติ ซึ่งมีการรับรองสิทธิไปถึงพื้นที่ของบรรพบุรุษที่อยู่อาศัยกันมานาน และมีการกันเขตให้กับพื้นที่บรรพบุรุษได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวได้อย่างชอบธรรม


 


"...กฎหมายฉบับนี้ ยังให้อำนาจสิทธิชุมชนแก่ชนพื้นเมือง แม้แต่โครงการของรัฐจะเข้าไป ก็จะต้องเห็นความเห็นชอบของพวกเขา โดยได้รับการบอกแจ้งก่อนที่โครงการจะเข้าไป หรือถ้าไม่เห็นชอบก็ไม่ต้องให้เข้าไปในพื้นที่ เพราะฉะนั้น จะเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ ชนพื้นเมืองท้องถิ่นสามารถใช้สิทธิชุมชนท้องถิ่นที่จะตอบรับหรือปฏิเสธโครงการจากรัฐได้ ซึ่งของไทยเรายังไม่มีกฎหมายแบบนี้เลย"


 


ดร.ชูพินิจ ยังยกตัวอย่างอีกกรณีหนึ่ง ในประเทศไต้หวัน ว่า ชนพื้นเมืองในประเทศไต้หวัน ได้พยายามดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้รัฐยอมรับในความเป็นชนพื้นเมือง กระทั่งรัฐบาลไต้หวันได้หันมาให้ความสำคัญกับชนพื้นเมือง โดยได้เข้าทำการช่วยเหลือในด้านสวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าด้านการศึกษา การสาธารณสุข อย่างเต็มที่ ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีกฎหมาย หรือนโยบายที่ชัดเจนเลย จะมีก็แต่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง หลังจากที่มองชนเผ่าหรือชนพื้นเมืองไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือการตัดไม้ทำลายป่า โดยมีพี่ใหญ่ คือ อเมริกา เข้ามาสั่ง ชี้นำให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพียงเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้มีการเข้าไปช่วยเหลือหรือยกประเด็นความเป็นชนเผ่าแต่อย่างใด


 


"หากสำรวจดูในประเทศไทยตอนนี้ ยังมีชนเผ่าหรือชนพื้นเมืองอีกประมาณ 2-3 แสนคนที่ยังตกสำรวจและไม่ได้รับบริการด้านสวัสดิการต่างๆ เหล่านี้อยู่ ทั้งที่ที่ผ่านมา ทศวรรษแห่งชนเผ่าพื้นเมืองโลก โดยความเห็นชอบของสมัชชาใหญ่ สหประชาชาติ ซึ่งมีผู้แทนทางการของแต่ละประเทศได้เรียกร้องให้รัฐบาลในแต่ละประเทศที่มีชนเผ่า ชนพื้นเมือง ให้ดูแลสิทธิในเรื่องความเป็นชนเผ่า ที่ดิน วัฒนธรรม และสวัสดิการต่างๆ แต่รัฐบาลไทยเราไม่เคยมีมิติ หรือเข้าไปดูแลเรื่องเหล่านี้เลย"


 


นายประยงค์ ดอกลำใย กองเลขาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) กล่าว ว่า ความเป็นชนเผ่าทุกวันนี้ พวกเขามองว่าตนเองเป็นปมด้อย ทุกคนจึงมุ่งที่จะต้องได้บัตรประชาชน เพื่อจะเป็นคนไทย และไม่อยากจำแล้วว่าตนเป็นชนเผ่า เพราะถูกกระทำจากรัฐมาตลอดเวลา ดังนั้น ทำอย่างไรจึงจะให้ชนเผ่าในเมืองไทยลดภาพความเป็นปมด้อยเหล่านี้ และหันมาสร้างความภาคภูมิใจของชนเผ่า เหมือนกับที่ประเทศเม็กซิโก ซึ่งถูกกระทำเหมือนๆ กับชนเผ่าบ้านเรา ที่ถูกรัฐออกกฎหมายประกาศทับที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ จนเกิดขบวนการซาปาติสต้า และได้เปลี่ยนจาก "ผู้บุกรุก" มาเป็น "ผู้ถูกรุกราน"และลุกขึ้นสู้กับรัฐ เพื่อเรียกร้องสิทธิความชอบธรรมนั้นได้


 


"นอกจากการประกาศความเป็นชนเผ่า ชนพื้นเมืองของไทยแล้ว  ยังอยากให้มีการมองถึงปัญหาไปถึงพี่น้องชนเผ่าที่เคลื่อนย้ายลงมาในเมืองด้วย เพราะในอนาคต ถือว่าปัญหานี้จะเป็นปัญหากระบวนการเคลื่อนย้ายชุมชนสูงมาก และในวันชนพื้นเมืองในประเทศไทย ตนอยากให้ฉายภาพปัญหาข้อเท็จจริงให้สังคมรับรู้ด้วยว่า ที่รัฐบาลกำลังเตรียมประกาศแผนพัฒนาสังคมฯ ฉบับที่ 10 โดยเน้น "ความอยู่เย็น เป็นสุข" นั้น แท้จริงแล้ว พี่น้องชนเผ่านั้น "อยู่ร้อน นอนทุกข์" เนื่องจากทุกวันนี้ ยังคงถูกกระทำกดขี่ข่มเหงจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่า การอพยพชาวบ้านบ้านนาอ่อน อ.เวียงแหง, การปิดล้อมจับกุมชาวบ้านปางแดง อ.เชียงดาว, บ้านห้วยโก๋น อ.พร้าว เป็นต้น"


 


นายเกิด พนากำเนิด ตัวแทนชนเผ่าม้ง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ชนเผ่าถูกกล่าวหามาโดยตลอด ฝนตกก็ชาวเขา น้ำท่วมก็ชาวเขา แดดออกก็ชาวเขา แต่พอคนข้างล่างเอาเสื้อผ้าของชนเผ่าไปเป็นสินค้า สร้างรายได้ให้กับประเทศมากมายกลับไม่มีการพูดถึง


 


"เพราะฉะนั้น ทำอย่างไร เราถึงจะมีสิทธิดูแลจัดการกันเองได้ เราต้องการสิทธิเสรีภาพ ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องปรับตัวเองด้วย"


 


นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) กล่าวหลังจากมีการประชุมเสวนาถึงการเตรียมวันชนพื้นเมืองในประเทศไทย ว่า ได้ข้อสรุปว่า 1.เพื่อเป็นการเรียกร้องสิทธิชนเผ่า ชนพื้นเมืองซึ่งหมายรวมถึงชนพื้นเมืองต่างๆ ในประเทศไทย ที่ถูกละเมิดสิทธิ  2.เพื่อแสดงอัตลักษณ์ของความเป็นชนเผ่า ชนพื้นเมือง 3.เพื่อนำเสนอภูมิปัญญา วิถีชีวิต จารีตวัฒนธรรมของชนเผ่า ชนพื้นเมืองในไทย และ 4.เพื่อรวบรวมปัญหาข้อเท็จจริงเสนอต่อรัฐบาลให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชนเผ่า ชนพื้นเมืองในไทยอย่างเป็นรูปธรรม


 


ทั้งนี้ ทางคณะทำงานฯ จะได้มีการประชุมหารือกันในเรื่องกำหนดการ รายละเอียดของการจัดงาน "วันชนพื้นเมืองในประเทศไทย" ที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 ส.ค.นี้ อีกครั้งหนึ่ง โดยในเบื้องต้น ได้เลือกใช้พื้นที่ จ.เชียงใหม่ เป็นสถานที่ในการจัดงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net