Skip to main content
sharethis









 


อุเชนทร์ เชียงเสน


 


 






กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : แม้การประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 หรือ "ฉบับ คมช." ในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ จะเป็นการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ "ครั้งแรก" ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่อาจจะถูกบันทึกไว้ในอนาคตว่า "จอมปลอม" ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจาก


 


ประการแรก เป็นประชามติ ที่ไม่ยุติธรรม เอาเปรียบ ต่อผู้มีสิทธิออกเสียง เพราะที่ไม่มีทางเลือกอื่นมากกว่ารับๆ ไปก่อนมากนัก กล่าวคือ ไม่ทราบผลล่วงหน้าว่า หากตัดสินใจไม่รับร่างแล้วจะได้รับรัฐธรรมนูญฉบับใดและมีเนื้อหาอย่างไร เนื่องจากรัฐธรรมนูญการปกครองชั่วคราว มาตรา 32 บัญญัติไว้ว่า หากไม่ผ่านประชามติ คมช. และรัฐบาล สามารถที่จะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาแก้ไขและประกาศใช้ได้ก็ได้


 


และแน่นอน คมช. คงไม่ประกาศว่า จะนำรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งพวกเขาได้ฉีกไปกลับมาใช้ใหม่ เพราะการคงไว้ซึ่งลักษณะความคลุมเครือ และ "มัดมือชก" นี้ เปิดช่องให้การข่มขู่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยรับร่างรัฐธรรมนูญของตนเอง เป็นไปได้ง่ายขึ้น เช่น หากไม่รับจะได้ฉบับที่เลวร้ายกว่า หรือเอาการเลือกตั้งเป็นตัวประกัน เช่น ให้ "เห็นชอบ" เพื่อให้มีการเลือกตั้ง ทั้งที่ไม่เกี่ยวกัน เพราะ คมช. ต้องประกาศใช้รัฐธรรมนูญดังที่กล่าวมาแล้ว และการเลือกตั้งจะมีขึ้นหรือล่าช้าออกไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ คมช. เองว่า ต้องการให้มีการเลือกตั้ง หรือสืบทอดอำนาจทางใดทางหนึ่งหรือไม่


 


ประการที่สอง การประชามติ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในระบอบประชาธิปไตยนั้น การถกเถียงโต้แย้งกันของทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านอย่างรอบด้าน กว้างขวาง เป็นขั้นตอนสำคัญที่ขาดเสียมิได้ เพื่อให้ประชาชนทราบถึงข้อถกเถียงโต้แย้งต่างๆ และข้อมูลที่สมบูรณ์เพียงพอ ในการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ซึ่งเป็นไปได้ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น


 


แต่ประชามติที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ในการแสดงออกทางการเมือง การแสดงความคิดเห็น หรือรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนถูกปิดกั้น ซึ่งคนในวงการสื่อมวลชนย่อมตระหนักในปัญหานี้ดี เพราะสื่อมวลชนถูกขอ "ความร่วมมือ" และยินดีให้ "ความร่วมมือ" เสมอมา, กฎอัยการศึกยังประกาศใช้อยู่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ, พรรคการเมืองถูกจำกัดไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมือง เป็นต้น


 


นี่ยังไม่นับ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่อาจจะห้ามแสดงความเห็นและรณรงค์ชักชวนให้ประชาชนออกเสียงไปทางใดทางหนึ่ง


 


 


มีประชามติที่ใดโลกที่เป็นประชาธิปไตย ที่มีกติกาและลักษณะดังที่กล่าวมานี้?


ดังนั้น การที่กลุ่มคนที่ยืนยันว่า การรัฐประหารไม่มีความชอบธรรม ออกมารณรงค์ ให้ประชาชนโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ภายใต้กติกาที่ฉ้อฉลนั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ถ้ามองในแง่ดี เท่ากับว่ายอมต่อสู้ในกติกาที่ คมช. ตั้งขึ้นในระดับหนึ่งที่แน่นอน ถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องฉีก เผา ทำลายบัตร หรือล้มกระบวนการประชามติ เป็นต้น


 


ซึ่งในอนาคตนั้น คมช. สภาร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาล และส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆ จะต้องพยายามทำทุกวิถีทางให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกชนิด โดยอาศัยภาษีของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ


 


ในฐานะคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีสิทธิที่จะรณรงค์บ้างหรือ? แล้วทำไมเหตุผลเรื่องที่มาของร่างรัฐธรรมนูญ คือ การรัฐประหารจะไม่สามารถเป็นเหตุผลในการตัดสินใจเรื่องนี้ได้?


 


ถ้ามีสิทธิ ปัญหาจึงไม่ใช่การรณรงค์ให้ประชาชนตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของกระบวนการ กติกาที่ไม่ยุติธรรม, โกหกหลอกลวง เช่น "เห็นชอบ" เพื่อให้มีการเลือกตั้ง หรือเพื่อ "ถวายความจงรักภักดี" เป็นต้น, ไม่มีการถกเถียงโต้แย้งระหว่างฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านอย่างเท่าเทียม


 


ทั้งนักวิชาการหรือกลุ่มต่างๆ ที่ออกมารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมีความเห็น มีข้อเสนอที่ชัดเจนของตนเองมาตั้งแต่ต้น รวมทั้งต่อเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ขั้นยกร่าง แต่ไม่ถูกเผยแพร่ไปสู่สาธารณะมากนัก ดังนั้น จึงต้องดิ้นรณรงค์หาช่องทางต่างๆ ในการสื่อสารความเห็นของตนเอง ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด


 


โดยโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวเท่านั้น และคู่มือประชาชนโหวตล้มรัฐธรรมนูญคณะรัฐประหารนั้น เป็นความพยายามหนึ่งของ "เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร" เพื่อตอบคำถามที่สำคัญเกี่ยวกับการลงประชามติ และคำโกหกหลอกลวงต่างๆ ให้ประชาชนรับร่าง เช่น โหวตล้มรัฐธรรมนูญผิดกฎหมายหรือไม่, จะได้อะไร, ร่วมกับใคร, ทำให้การเลือกตั้งช้าหรือไม่, อาจจะได้รัฐธรรมนูญที่ถอยหลังกว่า? (ดูรายละเอียดใน http://www.wevoteno.net) รวมทั้งข้อเสนอไปพร้อมกันด้วย หาได้เป็นการบังคับข่มขู่ไม่ เช่น ข้อเสนอของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ว่า


 


 


โหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญจะได้อะไร ?
1)
ทำให้การปฏิรูปการเมืองบนฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนดำเนินต่อไปได้ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมพลังที่จะกดดันให้ คมช. ต้องเลือกรัฐธรรมนูญ ปี 2540 กลับมาใช้ใหม่ โดยเปิดให้มีการแก้ไขจากสภาที่ได้รับจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง


 


2) ยับยั้งการนำประเทศกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ


 


3) ให้บทเรียนแก่สังคมโดยรวมว่า การรัฐประหารไม่มีทางแก้ปัญหาของประชาธิปไตยได้เป็นอันขาด แก้ไม่ได้ในเมืองไทย และแก้ไม่ได้ทั้งโลก


 


ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้เขียน และทุกคน ล้วนมีความคิดความเชื่อและผลประโยชน์ของตนเอง สื่อมวลชน ก็มี "สังกัด" เป็นกลุ่มผลประโยชน์เช่นกัน แต่ในฐานะสื่อมวลชน ไม่ว่าจะมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร ควรที่จะทำหน้าที่ของตนเองในการเป็นเวทีให้ฝ่ายต่างๆ เข้ามาร่วมถกเถียงกันอย่างกว้างขวางถึงที่สุด ไม่ใช่รับค่าโฆษณาที่มาจากภาษีของประชาชนเพียงอย่างเดียว


 


ภายใต้กระบวนการประชามติที่ยุติธรรมนั้นแล้ว ท้ายที่สุด ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเป็นคนตัดสินใจด้วยตนเอง และผลของการตัดสินใจนั้น ซึ่งหมายถึงอนาคตการเมืองไทย ทุกคนซึ่งล้วนเป็นสมาชิกของชุมชนการเมืองนี้ ย่อมหลีกหนีไม่พ้นที่จะรับผลของมัน  



ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net