Skip to main content
sharethis

โดย .....รวงข้าว


 


มติ ครม. 12 มิถุนายน เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฝพ.) รักษาระดับน้ำไว้ที่ 106 -108 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นระดับกักเก็บน้ำปกติของเขื่อนปากมูล เท่ากับเป็นการปิดเขื่อนถาวรนั่นเอง


 


ตำนานเขื่อนปากมูลที่ดูเหมือนลงตัวแล้ว ผู้เดือดร้อนทำใจให้ยอมรับได้บ้าง กำลังเริ่มต้นความขัดแย้งรอบใหม่ จากการกดดันของนายทหารที่ได้รับมอบอำนาจมาจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผู้บัญชาการทหารบกเป็นโดยตำแหน่ง)


 


เขื่อนปากมูลเป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สร้างกั้นแม่น้ำมูลที่หมู่บ้านหัวเห่ว อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี สันเขื่อนสูง 17 เมตร ยาว 300 เมตร ด้วยบประมาณก่อสร้าง 7,000 ล้านบาท ที่มีมติเห็นชอบให้ก่อสร้าง โดยที่ประชุม ครม.สัญจร ณ จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2532 สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ


 



ภาพจาก http://www.searin.org


 


กฟผ.เริ่มต้นสร้างเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2534 ท่ามกลางการต่อสู้คัดค้านของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบมาโดยตลอด


 


เขื่อนสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่เดือนเมษายน 2537


 


การต่อสู้คัดด้านเริ่มโดยชาวบ้านจาก 5 อำเภอ คือ อ.โขงเจียม อ.เมือง อ.วารินชำราบ อ.ตาลสุม และ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราธานี ที่ได้ปิดถนนหน้าศาลากลางจังหวัดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2533 คัดค้านโครงการก่อนจะเริ่มการก่อสร้าง แต่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ การต่อสู้เข้มข้นมากขึ้นเมื่อเริ่มลงมือก่อสร้าง


 


มีข้อเรียกร้องให้ชะลอการสร้าง และให้ กฟผ.เปิดเผยข้อเท็จเรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อน และสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผลกระทบการสร้างเขื่อนปากมูลจากคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ประกอบด้วย รัฐบาล กฟผ. นักวิชาการ และชาวบ้าน


 


เดือนมีนาคม 2536 มีการบุกยึดระเบิดและเครื่องมือก่อสร้างเขื่อน ขบวนการต่อสู้ถูกทำให้แตกแยก มีกลุ่มสนับสนุนการสร้างเขื่อน ที่นำโดยนายเอนก บรรเทา อดีตกำนันในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขว้างก้อนหินเข้าใส่และทุบตีผู้ร่วมชุมนุม มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 30 คน และเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ได้เกิดการปะทะกันอีกครั้งจนมีผู้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส


 


มีการรวมตัวร่วมเคลื่อนไหวกับผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ อีก 47 กรณี มีมติครม. สมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา รับรองการแก้ไขปัญหาทั้ง 47 กรณี แต่ไม่มีความคืบหน้าด้านการปฏิบัติ


 


รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ มีมติ ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามแก้ไขปัญหาและจัดหาที่ดิน 15 ไร่ หรือจ่ายเป็นเงิน 7 แสนบาทต่อครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบ และแก้ปัญหาให้กลุ่มผู้ชุมนุมอื่นๆ ตามคำเรียกร้อง


 


เดือนเมษายน 2542 รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ยกเลิกมติครม.ของรัฐบาลพลเอกชวลิต ด้วยเหตุผลว่า ไม่มีนโยบายจ่ายค่าชดเชยย้อนหลังให้แก่โครงการที่สร้างเสร็จไปแล้ว นำมาสู่การตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 1 ที่ริมสันเขื่อนปากมูล ของผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกว่า 5 พันคน และปีต่อมา บุกยึดพ้นที่จอดรถข้างโรงปั่นไฟตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน7 เพื่อกดดันให้ กฟผ.เจรจาเปิดประตูกั้นน้ำทั้ง 8 บาน


 


กฟผ.นำชาวบ้านที่จัดตั้งไว้เข้ารื้อถอนแม่มูนมั่นยืน 7 เมื่อต้นเดือนกันยายนปี 2543 และเข้ารื้อถอนหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน7 อีกครั้งระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายน มีการยิงปืน ทำร้ายขับไล่ผู้ร่วมชุมนุม ทำลายทรัพย์สินและจุดไฟเผาบ้านผู้ชุมนุมทั้งหมู่บ้าน มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก


 


หลังการเปิดใช้เขื่อนปากมูล ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากอาชีพการทำประมงได้เคลื่อนไหวให้รัฐบาลเปิดเขื่อนมาโดยตลอด ข้อถกเถียงเรื่องผลกระทบเป็นเรื่องราวที่ต่อสู้กันมายาวนานตั้งแต่รัฐบาลชวน มาจนถึงรัฐบาลทักษิณ และมีการศึกษาผลกระทบและแนวทางแก้ไขโดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งได้เสนอแนวทางแก้ไขปํญหา 4 แนวทาง คือ


1.ปิดประตูน้ำใช้เขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าตลอดทั้งปี


2.ให้เปิดประตูน้ำช่วงฤดูฝน เดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน เป็นเวลา 5 เดือน


3.เปิดประตูน้ำจากเดือนเมษายน-พฤศจิกายน


   รวม 8 เดือน เป็นช่วงปลายฤดูแล้งต่อช่วงปลายฤดูฝน


4. เปิดประตูระบายน้ำตลอดทั้งปี


 


ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยสรุปทางเลือกที่ 4. เหมาะสมมากที่สุด สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชุมชนได้มากกว่า 8,000 ครัวเรือน การผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วน แม้ไม่ได้ผลิตจากเขื่อนปากมูลก็ไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของกระแสไฟฟ้า และเขื่อนยังไม่มีบทบาทต่อการชลประทานอย่างเต็มศักยภาพ จึงสมควรมุ่งประโยชน์ของลำน้ำเพื่อเศรษฐกิจพื้นฐานของชุมชนด้วยการพักการใช้เขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ก่อนจนกว่าความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงไปจากภาวะการปัจจุบัน (ทั้งนี้ปัจจุบันยังมีกำลังไฟฟ้าสำรองในระบบอยู่มากไม่จำเป็นต้องผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนปากมูล)


 


รัฐบาลทักษิณ โดยมติคณะรัฐมนตรีให้ใช้ทางเลือกเปิดเขื่อน โดยยกประตูน้ำสุดประตูหมดทั้ง 8 บาน เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม และมีมติครม.เปลี่ยนแปลงเป็นวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันเริ่มต้นเปิดเขื่อน เพื่อให้ปลาอพยพขึ้นมาวางไข่


 


มติ ครม.ให้เปิดเขื่อนเป็นเวลา 4 เดือน เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2547 ไม่ใช้ทางเลือกจากข้อมูล และข้อเสนอที่คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หากมาจากข้อเสนอของกรมชลประทาน และกรมประมง และผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วน จึงทำให้การแก้ไขปัญหาลุล่วงไปไม่ได้


 


แม้เป็นมติที่ขัดต่อความต้องการของชาวบ้าน แต่อย่างน้อยการเปิดเขื่อนเป็นเวลา 4 เดือนก็ยังมีพื้นที่และช่วงเวลาให้ประกอบอาชีพประมงได้บ้าง ทำให้ยังมีช่องทางหายใจกันอยู่


 


หลังการรัฐประหาร มีมติครม.เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 ให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้งหมดสุดบานประตูเป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตลุ่มน้ำมูล ซึ่งประกอบด้วยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐ และชุมชนที่ได้รับผลกระทบ กระบวนการดำเนินงานมาจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด


 


เมื่อมีการยกเลิกศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน (ศตจ.) เปลี่ยนเป็นศูนย์ขจัดความยากจนภายใต้แนวทางปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) และศจพ. มาขึ้นกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) มีผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธาน และมีนายทหารเข้ามาเคลื่อนไหวให้ปิดเขื่อนปากมูลถาวร ชาวบ้านจึงพยายามขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งได้รับการยืนยันจากนายกรัฐมนตรีว่าจะเปิดเขื่อนปากมูล ตามมติ ครม. เดิม (สมัยทักษิณ)


 


กลไก กอ.รมน. อ้างว่างานด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ศจพ. ที่มีประธาน คมช. เป็นผู้อำนวยการ และได้แต่งตั้งให้พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน (ขึ้นกับ ศจพ.) เป็นผู้ดำเนินการ คณะกรรมการพัฒนาทรัพยากร ได้รับแจ้งให้งดการประชุม เพื่อพิจารณาการเปิดประตูน้ำ แต่มีการประชุมปัญหาปากมูลภายใต้กลไกของ กอ.รมน. 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม และ 4 มิถุนายน มีข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลงมติครม. ที่ให้เปิดประตูน้ำเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม เป็นมติครม.เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนให้รักษาระดับน้ำเขื่อนปากมูลไว้ที่ 106-108 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ระดับน้ำ 108 ม.รทก. ระดับกักเก็บน้ำปกติของเขื่อน เมื่อมีการปล่อยน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟ ระดับน้ำจะเหลืออยู่ที่ 106 ม.รทก.) เขื่อนยังใช้งานตามปกติไม่มีการเปิด การรักษาระดับน้ำที่ 106 - 108 ม.รทก. เป็นการเลี่ยงบาลีเท่านั้น


 


มีเหตุผลที่ใช้อ้างในการปิดเขื่อนถาวร 2 ประการ คือ การใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรรมของกรมชลประทาน และมีผู้ลงชื่อสนับสนุนให้เปิดเขื่อนถาวรร้อยละ 96 ของประชาชนในพื้นที่ แต่มีประชาชนในพื้นที่ให้ข้อมูลว่า มีการใช้เล่ห์กลต่างๆ มากมาย ให้ประชาชนลงชื่อให้มีการเปิดเขื่อนถาวร


 


การปิดเขื่อนถาวรตามมติ ครม. 12 มิถุนายน 2550 จะสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนและความเสียหายของระบบนิเวศวิทยาอย่างร้ายแรง เริ่มต้นด้วยความเดือดร้อนของชาวบ้าน ที่เตรียมเครื่องมือทางการประมงไว้ ด้วยการกู้หนี้มาลงทุนก่อน


 


การกลับมติไปมาของครม. ที่เกี่ยวโยงไปกับอำนาจที่ซ้อนอยู่จนต้องปิดเขื่อนปากมูลถาวร จะเพิ่มปัญหาไปทำไม


 


จมูกที่ถูกอุดรูหายใจ จะทำให้ร่างต้องดิ้นรนต่อสู้สลัดผู้อุดจมูกออกไป ซึ่งอาจนำไปสู่ความสูญเสียของทุกฝ่าย นั่นก็เพื่อการอยู่รอดของชีวิต


 


ตำนานการต่อสู้เกือบ 20 ปีของชุมชนลุ่มน้ำมูลที่ผ่านการสูญเสียทรัพย์สิน ชีวิต เลือดเนื้อ และน้ำตา กำลังถูกกำหนดให้เข้าสู่บริบทของการต่อสู้ครั้งใหม่


 


 


เอกสารประกอบ


สารคดี ฉบับเดือนมิถุนายน 2543


กรุงเทพธุรกิจ 21 มิถุนายน 2550

แถลงการณ์ ให้ครม.ทบทวนมติปิดเขื่อนปากมูลของคณะกรรมการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net