Skip to main content
sharethis

องอาจ เดชา


 



 


 





เป็นที่รับรู้กันแล้วว่า ประเทศไทย เป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียและประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการค้ามนุษย์ และองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ได้ใช้ประเทศไทยเป็น"วงจรอุบาทว์" ในการแสวงหาผลประโยชน์จำนวนมหาศาลจากการค้ามนุษย์ ซึ่งว่ากันว่า หากเทียบรายได้จากอาชญากรรมที่ร้ายแรงแล้ว เป็นรองจากการค้ายาเสพติดและอาวุธเท่านั้น


 


รายงานของ "องค์การแรงงานระหว่างประเทศภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก หรือ "ไอแอลโอ" ที่มีภารกิจหลักเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานทั่วโลกให้ได้รับความยุติธรรมจากสังคม และสภาพการทำงานที่ดีขึ้น ระบุว่า การค้ามนุษย์ทั่วโลก ได้ทำเงินสูงกว่า 7,000-10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศไทยถูกใช้ใน 3 สถานะ ทั้งเป็น "ประเทศต้นทาง"  "ประเทศทางผ่าน" และ "ประเทศปลายทาง" ของเหยื่อจากการค้ามนุษย์


 


กระทั่งครั้งหนึ่ง สหรัฐอเมริกาได้จัดให้ไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาการค้ามนุษย์อยู่ในระดับ 2+ จากสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนั้นอยู่ในระดับ 3


นั่นทำให้ประเทศไทย จำเป็นต้องลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่งปัญหาการค้ามนุษย์นี้ โดยภาครัฐเพียงลำพัง ย่อมไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาให้ประสบความสำเร็จลงได้ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจับมือกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันป้องกันและปราบปรามปัญหาการค้ามนุษย์


ศึกษากรณี "ทราฟคอร์ท" กับการทำงานแก้ปัญหาการค้ามนุษย์


 


และเมื่อหันไปมองในพื้นที่ในภาคเหนือ "หน่วยประสานงานเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ภาคเหนือตอนบนประเทศไทย หรือทราฟคอร์ท (TRAFCORD)" ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นหน่วยงานประสานความร่วมมือเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์ประสานงานเพื่อสิทธิเด็กและสตรีจังหวัดเชียงใหม่ และอาสาสมัครในการทำงาน ซึ่งเป็นการทำงานทั้งในการป้องกัน ปราบปราม และเยียวยา


 


ถือได้ว่า เป็นองค์กรเอกชนที่สามารถทำงานรองจากองค์กรรัฐในการร่วมมือแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์อย่างทันท่วงที โดยมีพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด 9 จังหวัดในเขตภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ตาก โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก มูลนิธิเอเชีย ยูเสด (The Asia foundation) (USAID), กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (Unicef) และสถานทูตสหรัฐอเมริกา


 


เผยเหยื่อที่ถูกกระทำรุนแรงที่สุด คือ กลุ่มค้าประเวณี


 


โดยกระบวนการทำงานของทราฟคอร์ท ในขณะนี้จะเน้นป้องกันไม่ให้บุคคลกลุ่มเสี่ยงต้องตกไปเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ และทำอย่างไรถึงจะไม่ให้เหยื่อที่เคยถูกกระทำหวนกลับเข้าไปสู่วังวนขบวนการค้ามนุษย์ซ้ำอีกครั้ง


 


ปัจจุบัน ทราฟคอร์ทมีอาสาสมัครเข้าร่วมที่หน่วยฯกว่า 1,300 คน ซึ่งมีทั้งนิสิต นักศึกษา และคนวัยทำงาน รวมทั้งมีการประสานงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แพทย์ นักกฎหมาย นักสังคมสงเคราะห์ ล่าม นักจิตวิทยา นักวิชาการ เพราะวิธีการทำงานของทราฟคอร์ทนั้นทำตั้งแต่รับแจ้งเหตุ สืบหาข้อเท็จจริง เมื่อช่วยเหลือได้ต้องช่วยบำบัดฟื้นฟูทั้งสภาพจิตใจ และร่างกาย ก่อนพากลับยังบ้าน โดยเหยื่อที่ถูกกระทำทารุณรุนแรงมากที่สุด คือ เหยื่อที่ถูกล่อลวงค้าประเวณี


 


อาสาสมัครคนหนึ่ง บอกว่า ผู้หญิงที่โดนค้าประเวณีจะถูกบังคับให้กินยาเลื่อนประจำเดือน หากหนีจะถูกจับมาขังและให้ลูกน้องข่มขืน ก่อนบังคับให้ขายตัวอีกครั้ง ล่าสุดไปทลายซ่องมา ผู้หญิงบางคนกลายเป็นบ้า จิตหลอน ต้องบำบัดจิตใจ และเดี๋ยวนี้แก๊งค้ามนุษย์ฉลาด ไม่เปิดบ้านเป็นซ่องแล้ว แต่ไปเช่าม่านรูดให้ลูกค้ามาซื้อ แล้วพาหลับนอนที่นั่นเลย ส่วนเงินก็เอามาแบ่งให้เจ้าของม่านรูด แบบนี้ทำให้จับกุมยากขึ้น



 



สุริยา เกษมสิริสวัสดิ์


ผู้จัดการหน่วยประสานงานเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ภาคเหนือตอนบนประเทศไทย(TRAFCORD)


 


หาวิธีเอาผิดขบวนการค้ามนุษย์


หลังเข้าช่วยเหลือเหยื่อ และจับกุมคนค้ามนุษย์


 


นายสุริยา เกษมสิริสวัสดิ์ ผู้จัดการหน่วยประสานงานเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ภาคเหนือตอนบนประเทศไทย หรือทราฟคอร์ท (TRAFCORD) เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการทลายซ่อง และนำตัวเหยื่อออกมาได้แล้ว เราจะมีทีมงานร่วมกันสัมภาษณ์เหยื่อเพื่อคัดแยกตัวผู้เสียหายเบื้องต้น รวมไปถึงการตรวจเพื่อพิสูจน์หาอายุว่าต่ำกว่า 18 ปีหรือไม่


 


"ที่จำเป็นต้องมีการพิสูจน์หาอายุของเหยื่อ ก็เพื่อนำไปสู่การตั้งข้อหากับกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์ที่จับกุมได้ เพราะกฎหมายให้บทลงโทษหนักเบาตามอายุของเหยื่อที่ถูกกระทำ ซึ่งบางรายตอนที่เราเข้าไปช่วยเหลือ เขาจะบอกว่าเด็กอายุ 19 ปี แต่เมื่อเปรียบเทียบอายุจริงๆ แล้ว ต่ำกว่า 18 ปี"


 


นพ.มาโนช โชคแจ่มใส ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชมหานครเชียงใหม่ ซึ่งเป็น 1 ในชุดปฏิบัติการช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ในรูปแบบสหวิชาชีพ โดยทำหน้าที่ตรวจร่างกายและระบุอายุเด็กที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วเริ่มเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาการค้ามนุษย์ เพราะการที่หมอนิติเวชต้องเข้าไปเกี่ยงข้องกับเด็กที่ถูกกระทำชำเรา เลยต้องเข้าไปร่วม ซึ่งเมื่อมาถึงจุดหนึ่งก็พบว่าหญิงที่ถูกกระทำส่วนหนึ่งในเชียงใหม่ มีลักษณะที่ต่างไปจากจังหวัดอื่นและแหล่งท่องเที่ยวอื่น คือหญิงที่ถูกนำมาขายบริการส่วนหนึ่งไม่ใช่คนไทย แรก ๆ เลยจะเป็นชาวพม่า ไทยใหญ่ และเริ่มมีคนจีนเข้ามาเพิ่มมากขึ้น


           


"หลังจากนั้นแล้วก็ได้มีทีมย่อย ๆ อีกทีมด้วยกันซึ่งก็มีการชักชวนกัน ซึ่งมีทั้งนักสังคมสงเคราะห์ ตำรวจ อาจารย์ด้านสังคมศาสตร์ และส่วนตัวผมเป็นแพทย์และจบนิติศาสตร์บัญฑิตมาด้วยก็เลยเป็นองค์ประกอบที่มีสหวิชาชีพ จึงได้เข้ามาร่วมมือพูดคุย และได้มีการประชุมขอรับการสนับสนุนทุน และมีการจัดตั้งแทรปคอร์ตขึ้นมา และส่วนหนึ่งที่ต้องเข้าไปให้ความร่วมมือคือส่วนของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ซึ่งทาง รพ.มหาราชฯปัจจุบัน ในส่วนของรพ.ที่ได้เกี่ยวข้องและต้องให้ความช่วยเหลือมากที่สุดจะเป็นเรื่องของการพิสูจน์หาอายุ เพราะพบว่า เด็กและหญิงที่ถูกละเมิดในส่วนของภาคเหนือ ส่วนใหญ่จะไม่ใช่คนไทยก็จะมีปัญหาเรื่องสูติบัตร เกิดเมื่อไหร่ อายุเท่าไหร่ เนื่องจากกฎหมายของไทย โทษจะต่างกันไปตามอายุของเหยื่อ เพราะฉะนั้นก็จะเป็นจุดแรกที่ทาง รพ.หรือนิติเวชจะต้องเข้ามาช่วยเหลือในการพิสูจน์อายุ"


 


ในการตรวจหาอายุของเด็กนั้น แม้ว่าเด็กจะยอมบอกอายุจริงของตนก็ตามแต่ก็ยังต้องมีการตรวจหาอายุเนื่องจากเด็กไม่มีหลักฐานที่เป็นเอกสารลายลักษณ์อักษร และเพื่อเป็นข้อมูลหลักฐานยืนยันแก่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีการทำรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ


 



นพ.มาโนช โชคแจ่มใส


ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราช เชียงใหม่


1 ในชุดปฏิบัติการช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ในรูปแบบสหวิชาชีพ


หน่วยประสานงานเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ภาคเหนือตอนบนประเทศไทย หรือทราฟคอร์ท (TRAFCORD)


 


แพทย์พิสูจน์หาอายุเหยื่อจากฟันกราม กระดูก


 


นพ.มาโนช บอกเล่าให้ฟังว่า ในการตรวจสอบอายุในเบื้องต้นปกติจะดูจากฟัน โดยมีหลักคือฟันกรามไหนควรจะขึ้นเมื่ออายุเท่าไร คนเราเมื่ออายุเท่านี้น่าจะมีฟันกี่ซี่ เมื่อมาถึง รพ.ก็จะตรวจเพิ่มเติม ซึ่งความจริงแล้วต้องมีการตรวจทั้งร่างกาย ดูการเปลี่ยนแปลงทางเพศ ลักษณะของอวัยวะต่าง ๆ แต่สำหรับบางคนที่พอสังเกตเห็นได้ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจทั้งหมด


 


"ส่วนขั้นตอนต่อไปคือการ x-ray กระดูก โดยมีหลักการคือ กระดูกข้อมือของคนเราจะมีกระดูกเล็กกระดูกน้อยเยอะมาก กระดูกแต่ละชิ้นตอนเกิดมาจะเป็นกระดูกอ่อนซึ่งจะx-ray ไม่เห็นแต่เมื่อผ่านช่วงวันรุ่น ช่วงที่เปลี่ยนผ่านกระดูกอ่อนจะเริ่มเปลี่ยนไปเป็นกระดูกแข็งซึ่งจะสามารถ x-ray สามารถเห็นได้ เพราะฉะนั้นทางหมอจะมีรูปภาพพัฒนาการของกระดูกข้อมือ นำมาเปรียบเทียบกับข้ออื่น ๆ ที่ใช้มากคือข้อมือกับข้อศอก ซึ่งจะสามารถช่วยได้มาก"


           


นพ.มาโนช บอกอีกว่า ที่ผ่านมาเด็กอายุ 18-19 ปี จะไม่สามารถบ่งชี้อายุได้ชัดเจน เนื่องจากเป็นช่วงที่คร่อมกันอยู่ ซึ่งหากต้องดำเนินคดี พนักงานสอบสวนจะสอบถามถึงความเป็นได้ที่เด็กจะอายุ 18 ปี ซึ่งแพทย์ก็จะสามารถบอกได้เป็นเปอร์เซ็นต์อแต่ไม่สามรถบอกหรือระบุเป็นตัวเลขได้ชัดเจน ส่วนในด้านการดำเนินการนั้นจะใช้เวลาประมาณครึ่งวัน เช่นเมื่อมีกรณีเข้ามาตรวจก็จะทำการตรวจ x- ray ฟันก่อนและในช่วงที่รอผลการ x- rayฟันก็จะส่งตัวไป x- ray ตามข้อและส่งผลมารวมกันที่ภาควิชานิติเวช


 


นอกจากการตรวจสอบหาอายุของเหยื่อที่ถูกกระทำแล้ว ทาง รพ.ยังได้เข้าไปมีบทบาทในเรื่องของการรักษาทางร่างกาย ซึ่งถ้าพบว่ามีบาดแผลทางร่างกายทางแพทย์ก็จะดูแลรักษาพยาบาล หรือพบว่ามีการบาดเจ็บติดเชื้อที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ก็จะให้การดูแล อีกส่วนหนึ่ง คือบำบัดเยียวยาทางด้านจิตใจซึ่งก็จะมีหมอจิตเวชที่คอยดูแลทางด้านนี้อยู่เด็กที่พบส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงของวัยรุ่น อายุประมาณ 14-16 ปีและมีประสบการณ์การให้ความช่วยเหลือมาแล้วประมาณ 30-40 ราย


 


"ผู้ที่ถูกส่งตัวมาที่นี่จะเป็นพวกที่กูกหลอกลวงมาค้าประเวณี ซึ่งที่ผ่านมา มักจะไม่ค่อยปรากฏเป็นบาดแผลทางกาย ในกรณีของผู้ค้าประเวณีนั้นในช่วงแรกอาจจะถูกทำร้าย แต่พอมาถึง รพ.มักจะไม่เหลือร่องรอยการถูกทำร้ายแล้ว แต่ก็อาจมีบาดแผลทางจิตใจหลงเหลืออยู่"


 


เผยสังคมไทยไม่สนใจปัญหาแรงงานระดับล่าง- การค้ามนุษย์


priority ต่ำ คิดว่าคนเดือดร้อนไม่ใช่คนไทย


 


ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชมหานครเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันแรงงานระดับล่างส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นชาวไทยใหญ่ โดยเฉพาะเชียงใหม่ ซึ่งปัญหาที่มีตามมาคือ มีทั้งการถูกหลอกเข้ามา หรือเข้ามาโดยสมัครใจ หรือเข้ามาถูกกฎหมายแต่อยู่ต่อแบบผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาคล้ายกับเขตแดนของชาวอเมริกันที่มีชาวเม็กซิโกเข้ามา คนไทยจะรู้สึก priority ต่ำ มักจะคิดว่าคนที่เดือดร้อนไม่ใช่คนไทย ดังนั้นจึงต้องร่วมกันปลุกจิตสำนึกของคนไทยให้ตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้น และเป็นเรื่องที่จะต้องหาทางแก้ไขกันอย่างเร่งด่วน


 


"อย่างในเชียงใหม่ขณะนี้ มีแนวโน้มว่าจะมีเพิ่มขึ้น เหมือนกับเมืองใหญ่ๆ ที่มีแรงงานมาก ก็จะมีมาเฟียคุ้มครอง ซึ่งตนเห็นว่าเป็นปัญหาวังวน ถ้าไม่รีบหาทางแก้ไข สำหรับความเห็นในการแก้ไขปัญหานี้ ตนยังเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างกระแสให้ได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกคน"      


 


ชี้เหยื่อการค้ามนุษย์ไม่ให้ความร่วมมือ


เพราะกลัวถูกผลักดันกลับประเทศ


 


นพ.มาโนช กล่าวด้วยว่า อีกส่วนหนึ่งที่เห็นว่าไม่ค่อยลงตัว ก็คือเหยื่อที่ถูกกระทำไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งมีหลายรายที่เหยื่อและพยานได้หนีก่อนถึงชั้นศาล เพราะถ้าเขาให้ความร่วมมือ เขาก็จะถูกผลักกลับประเทศ ซึ่งต่างจากอเมริกาบางจุด ในปัจจุบันไม่แน่ใจว่ากฎหมายอเมริกาเปลี่ยนไปหรือยัง คือถ้าเขาให้ความร่วมมือ พอถึงจุดหนึ่งเขาจะมีสิทธิ์ได้เป็นคนอเมริกัน ซึ่งเป็นวีซ่าอีกประเภทหนึ่งที่เขาจะได้เป็นคนอเมริกันได้


 


"...แต่ของประเทศไทย ยิ่งให้ความร่วมมือ พวกเขาก็จะกลับถูกผลักดันกลับประเทศเร็วยิ่งขึ้น แต่หากไม่ให้ความมือ เขาก็จะได้อยู่ต่อ ก็เลยเป็นจุดที่แก้ยาก และเนื่องจากเป็นสหวิชาชีพบางเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายคนเข้าเมือง หรือเกี่ยวกับคนต่างด้าว แม้ในตัวบทจะมีรายละเอียดที่เขียนชัดเจนเอาไว้ แต่ในทางปฏิบัติเขาก็จะถูกผลักดันกลับท่าเดียว วิธีหนึ่งที่จะได้อิสระก็คือเขาจะต้องถูกเอาไปเก็บไว้เซฟเฮ้าส์ ซึ่งก็ต้องสูญเสียอิสระภาพ และวิธีที่จะได้อิสระภาพคือจะต้องหนีจากเซฟเฮ้าส์ จะวนเวียนอยู่อย่างนี้มันจะเหมือนกับการไล่เก็บปัญหา…"


 


อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการหน่วยประสานงานเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ภาคเหนือตอนบนประเทศไทย หรือทราฟคอร์ท (TRAFCORD) ก็กล่าวถึงการผลักดันเหยื่อซึ่งเป็นชาวต่างชาติออกนอกประเทศ ว่า เมื่อเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อจากขบวนการค้ามนุษย์มาแล้ว หากมีการพิสูจน์ว่าเป็นผู้กระทำผิดตามกฎหมายคนเข้าเมืองจริง ก็ต้องมีการผลักดันออกนอกประเทศไป โดยจะมีการประสานกับทางหน่วยงานของประเทศนั้นๆ เพื่อเน้นความปลอดภัย ซึ่งต่างกับผู้ที่ลักลอบเข้ามาแรงงานต่างด้าวทั่วไป ซึ่งพอส่งพ้นชายแดนไปแล้วก็จบ


         


 







 


สถิติการช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ ตั้งแต่ปี 2546-เดือนมีนาคม 2550


รวม 9 จังหวัดในภาคเหนือ


 


ประเภทสัญชาติ


แบ่งเป็นเด็กและผู้หญิงจากประเทศพม่า จำนวน 139 ราย


ประเทศจีน 4 ราย


ประเทศเขมร 3 ราย


ประเทศลาว 2 ราย



ส่วนกรณีการค้ามนุษย์เด็กและผู้หญิงมากที่สุด


คือ ค้าประเวณี จำนวน 68 ราย


ขอทาน 54 ราย


แรงงาน 26 ราย



กรณีคนไทยที่ได้รับการช่วยเหลือจากกระบวนการค้ามนุษย์มีทั้งหมด 12 ราย



ในขณะที่คนไทยได้รับการช่วยเหลือน้อย


เนื่องจากเหยื่อที่เป็นคนไทย มักจะถูกขบวนการค้ามนุษย์ส่งออกไปยังต่างประเทศมากกว่า



ที่มา : ทราฟคอร์ท



 


 


 


ข้อมูลประกอบ


หน่วยประสานงานเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ภาคเหนือตอนบน (TRAFCORD)


มติชน,22 พ.ค.2550 


 


----------------------------


อ่านย้อนหลัง


 


รายงาน : "การค้าสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า มนุษย์" กับเส้นทางอาชญากรรมข้ามชาติในไทย (1)


 



รายงาน : "การค้าสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า มนุษย์" กับเส้นทางอาชญากรรมข้ามชาติในไทย (2)



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net