บทความ: ตีนช้างเหยียบปากนก : "คัทชู" หรือ "คอมแบ็ต" ล้วนหนักพอกัน

สดใส สร่างโศรก
เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำมูน

            เมื่อรัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหารได้เข้ามาแก้ไขปัญหาชาวบ้าน ในกรณีเขื่อนปากมูล ได้สร้างความสับสนและขัดแย้งในชุมชนยิ่งกว่ายุคใด การสั่งการให้เปลี่ยนมติ ครม. จากเดิมที่ต้องเปิดเขื่อน 4 เดือน (พ.ค.-ส.ค.) ให้ปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร และที่เลวร้ายไปกว่านั้น ล่าสุด... จับชาวบ้านโยนออกนอกทำเนียบ

            ชั่วอายุ 10 เดือนของ คมช. ได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า การทำงานของทหารที่แฝงตัวเข้ามาแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลนั้นไม่เป็นกระบวน ไม่เข้าใจปัญหา ไม่มีความจริงใจต่อประชาชน และที่สำคัญ กรณีที่ คมช. กระทำต่อปัญหาเขื่อนปากมูล ได้ชี้ให้เห็นชัดว่า เหตุผลของการรัฐประหารที่อ้างเสียสวยหรูนั้น แท้จริงก็เป็นเรื่องการเล่นปาหี่ และแหกตาชาวบ้านไปวันๆ

            ทหารได้เข้าไปแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลโดยผ่านกลไก "ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนภายใต้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.)" ซึ่งเดิมเป็นศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน (ศตจ.) โดยมีพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ปากมูน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน ภายใต้ ศจพ. และ ศจพ. ก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยกองอำนวยการร่วมรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) อีกต่อหนึ่ง

            การลงพื้นที่ที่เขื่อนปากมูล ทหารได้บอกชาวบ้านว่าจะมาแก้ปัญหาเรื่องที่ดินที่ทำกิน และยังได้เข้าไปล่ารายชื่อชาวบ้าน ที่ต้องการรับการชดเชยจากเขื่อนปากมูลไปแล้วด้วย ท้ายที่สุด รายชื่อของชาวบ้านที่ได้มา ก็ถูกเล่นแร่แปรธาตุให้กลายเป็นรายชื่อของผู้ที่ต้องการปิดเขื่อนปากมูลถาวร

            คณะทหารของรัฐบาลรัฐประหาร ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาระดับน้ำในแม่น้ำมูนไว้ที่ประมาณ 108 ม.รทก. โดยหนังสือเชิญประชุมดังกล่าวระบุชัดว่า ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน) ในฐานะศูนย์อำนวยการ ศจพ.ได้มอบหมายอำนาจให้อนุกรรมการชุดนี้เป็นผู้ดำเนินการ

ข้อเสนอที่ได้จากการประชุมที่เป็นทางการ 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 ณ หอประชุมกองทัพบก และวันที่ 4 มิถุนายน 2550 ณ ที่ทำการเขื่อนสิรินธร ได้นำไปสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ให้รักษาระดับน้ำในแม่น้ำมูนไว้ที่ประมาณ 108 ม.รทก. ซึ่งสาระสำคัญในเรื่องนี้ก็คือ การเปลี่ยนมติคณะรัฐมนตรี 29 พ.ค.50 นั่นเอง

            เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ชาวบ้านปากมูนได้ไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอเจรากับพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ซึ่งเคยรับปากว่าจะนำเรื่องเข้า ครม. แต่คำตอบที่ได้ คือ มติ ครม.ไม่ได้เปลี่ยนกันง่ายๆ มิหนำซ้ำ ท่านยังถามว่าชาวบ้านให้เจ็บปวดอีกว่า ผู้ที่มา เป็นผู้ที่เดือดร้อนจริงหรือ และตามด้วย การจับชาวบ้านโยนออกจากทำเนียบรัฐบาลอย่างหมูอย่างหมา

           

            อนึ่ง กรณีเขื่อนปากมูลนั้น มีบริบทและรากเหง้าแห่งปัญหา มีความซับซ้อนและเรื้อรังยาวนาน บรรดาความตั้งใจและความมุ่งมั่น โดยมีเป้าหมายที่จะให้ชาวบ้านได้ "กินอิ่ม นอนอุ่น อยู่อย่างพอเพียง" ของรัฐบาลนั้น ต้องเป็นหมันมาหลายรัฐบาลแล้ว เนื่องมาจากกระบวนการแก้ไขปัญหา

... กลับเป็นเหมือนการโยนฟืนเข้ากองไฟ และไฟนี้ก็พร้อมที่จะกระพือโหมขึ้นอีกรอบ เพราะได้เข้าไปเพิ่มความขัดแย้งในชุมชน สร้างความสับสนต่อการแก้ไขปัญหา

            เมื่อปี พ.ศ. 2532 ทันที่ที่ชาวบ้านรู้ว่าจะมีเขื่อนปากมูล ชาวบ้านได้รวมตัวกันเรียกร้องตั้งแต่เขื่อนยังไม่สร้าง ชาวบ้านได้เรียกร้องให้รัฐบาลได้ทบทวนการสร้างเขื่อน เพราะชาวบ้านมองเห็นว่าจะเกิดผลกระทบทั้งธรรมชาติและชีวิตของผู้คนทั้งสองฝั่งแม่มูน

            แต่แล้ว รัฐบาลก็สร้างเขื่อนท่ามกลางความขัดแย้งขึ้นจนได้ แล้วผลกระทบที่ชาวบ้านคาดการณ์ไว้ก็เกิดขึ้น รัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหา ทุกรัฐบาลก็แก้ไขอย่างคนอับจนปัญญา คือ ใช้เท้า และความรุนแรง.....

            แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะยังดำเนินการเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท่ามกลางเสียงร้องโหยไห้โห่ร้องของชาวบ้าน ไม่เคยจะระแคะระคายต่อโสตประสาทของผู้กุมอำนาจรัฐมาโดยตลอด ขณะเดียวกัน ชาวบ้านเองก็ทนมือทนเท้า และต่อสู้แบบกัดไม่ปล่อยเช่นกัน

การแก้ปัญหาของรัฐบาลรัฐประหารโดยการนำของทหาร เป็นการเข้า "ทางตีน" ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้เป็นเจ้าโครงการฯ ซึ่งไม่เคยมีความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหา เพราะในโพรงสมองของคนในองค์กรนี้ คำนึงแต่เรื่องศักดิ์ศรีขององค์กร ความต้องการหนึ่งเดียวของ กฟผ. คือ การเอาชนะชาวบ้าน และบรรดาความแตกแยกในหมู่ชาวบ้านประดามี ก็ล้วนเป็นผลงานขององค์กรนี้

ไม่แปลกเลย ที่สถานการณ์ได้พลิกผันเช่นนี้ เพราะการเข้ามาแก้ปัญหาเขื่อนปากมูลของรัฐบาลภายใต้การนำของทหาร ได้มีนายทหารที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับ กฟผ. นั่นเอง!!!

            คำถามมีว่า ทหารที่เข้าแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลกำลังผลักไสชาวบ้านให้ไปอยู่ข้างใด?!

หลับตาทบทวนสถานการณ์ที่ผ่านมา และกำลังจะเป็นไปแล้ว ให้นึกถึงปรัชญาของบรรพบุรุษที่ว่า "ตีนช้างเหยียบปากนก" ไม่ว่าจะเป็นเท้าที่ซุกใน "คัทชู" หรือ "คอมแบ็ต" การประเคนลงปากนกมันก็หนักพอๆ กัน

           

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท