โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง กป.อพช.ประกาศไม่รับ รธน.50

 

ประชาไท - 16 ก.ค. 50 เวทีประชุมของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) หัวข้อ "วิพากษ์และแสดงจุดยืนร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550" ที่มีการถกเถียงอภิปรายอย่างเข้มข้นระหว่างวันที่ 14 - 15 ก.ค. ณ บ้านนานาชาติบางกอกรามาเพลส (บ้านสิริรามาเพลส) กรุงเทพฯ โดยมีตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรประชาชนทั่วประเทศจาก 15 องค์กรเข้าร่วมนั้น

 

วานนี้ (15 ก.ค.) ซึ่งเป็นการประชุมวันสุดท้าย คณะกรรมการของ กป.อพช. นำโดย นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธาน กป.อพช., นายเดช พุ่มคชา, นายไพโรจน์ พลเพชร, นายบรรจง นะแส, ต่อพงษ์ เสลานนท์ ฯลฯ ได้มีการแถลง "คำประกาศจุดยืนการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับการลงประชามติของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)"

 

สาระโดยสรุปของแถลงการณ์ระบุว่าแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีสาระบางประเด็นที่ก้าวหน้าจากรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นผลจากการผลักดันต่อสู้ขององค์กรเครือข่าย เช่น การทำสัญญาข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ การคุ้มครองสิทธิเด็ก สิทธิคนพิการ สิทธิผู้บริโภค สิทธิสตรี การใช้สิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมีผลทันทีโดยไม่ต้องออกกฎหมายลูก เป็นต้น แต่ กป.อพช.เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยรวมไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองอย่างแท้จริง และละเลยอำนาจทางการเมืองที่ชอบธรรมของประชาชนในหลายด้าน แต่กลับให้อำนาจดังกล่าวแก่กลุ่มข้าราชการและโดยเฉพาะข้าราชการตุลาการ

 

กป.อพช. ยังระบุว่ารัฐบาลชั่วคราว และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติกำลังดำเนินการ เพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปโดยการพยายามผลักดันออกกฎหมายการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ที่อาจถือได้ว่าเป็นการ "รัฐประหารเงียบ" เพื่อสร้างรัฐทหารใหม่ซ้อนรัฐที่มาจากการเลือกตั้งของประชาช ย่อมเป็นการยกเลิกเพิกถอนสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติไปโดยทันที

 

โดยในท้ายแถลงการณ์ระบุว่า กป.อพช. มีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับการลงประชามติ และมีข้อเสนอสามข้อได้แก่ 1. ควรปรับปรุงร่างกฎหมายการทำประชามติให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยการเปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ก่อนการลงประชามติ 2. ในการลงประชามติ ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิทำเครื่องหมายในช่อง "ไม่แสดงความคิดเห็น" หรือ "ไม่ออกเสียงลงประชามติ" ได้ 3. รัฐบาลต้องยุติการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. ....ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยทันที เนื่องจากมีสาระที่ขัดกับหลักการสิทธิเสรีภาพของประชนอย่างรุนแรง และทำให้สิทธิเสรีภาพที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง

 

ในช่วงตอบคำถามสื่อมวลชน นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธาน กป.อพช. กล่าวว่า กป.อพช.มีจุดยืนร่วมกันและเป็นมติโดยเอกฉันท์ ทั้งนี้ในเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนและประชาชนทั่วไปเราทราบดีว่ามีความเห็นหลากหลายต่อรัฐธรรมนูญ โดย กป.อพช.เคารพสิทธิต่อทั้งบุคคลและองค์กรภาคประชาชนที่จะมีความเห็นของตนได้ มติวันนี้เป็นของ กป.อพช.ร่วม แต่ภายในเครือข่ายของ กป.อพช. มีความเห็นอย่างไรก็มีสิทธิที่จะทำได้

 

"เราเชื่อมั่นใจวิจารณญาณของประชาชน เราจะไม่ชี้นำประชาชนในการลงประชามติ แต่จะแจ้งให้ทราบว่า กป.อพช.มีมติไม่รับรัฐธรรมนูญ" นายจอนกล่าว

 

ประธาน กป.อพช. ยังกล่าวว่า รัฐธรรมนูญในอนาคตที่ควรจะได้ ควรมีส่วนดีของรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ที่บางส่วนมีข้อดีหลายอย่างเช่น เสรีภาพของประชาชนกลุ่มต่างๆ การเข้าชื่อประชาชนแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการมีสิทธิชุมชน หรือข้อตกลงการค้าเสรีที่ต้องผ่านการพิจารณาของสภา แต่โดยรวมเราไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ดังนั้น กป.อพช.จึงเห็นว่าหลังการเลือกตั้งภาคประชาชนทุกส่วนต้องผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป เพื่อให้มีการปฏิรูปการเมืองโดยแท้จริง

 

ด้านนายบรรจง นะแส เลขาธิการ กป.อพช.ภาคใต้ กล่าวว่าที่ภาคประชาชนหลายส่วนเข้าไปยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้น กป.อพช.มีเป้าหมายที่ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม แก้ปัญหาทางโครงสร้าง ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจน ความกินดีอยู่ดีของพี่น้อง ไม่ว่าประเด็นเรื่องการปฏิรูปที่ดิน แม้จะมีในรัฐธรรมนูญปี 2550 ใน ม.84 แต่ไม่มีมาตรการรองรับว่าจะเป็นจริงได้ ในเรื่องการถือครองปัจจัยการผลิตของเกษตรกร เสรีภาพกินไม่ได้ ที่ดินปลูกข้าวกินได้ แต่รัฐธรรมนูญนี้ก็ไม่ได้จัดการตรงนี้ ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนที่เราเสนอมาตรการภาษีก้าวหน้า ภาษีมรดก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่ระบุ ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้กินไม่ได้และแก้ปัญหาให้ประชาชนไม่ได้

 

นายบรรจงยอมรับว่าที่ผ่านมา กระบวนการยกร่างที่ผ่านมา มีสมาชิกของ กป.อพช. บางส่วนเข้าไปมีส่วนร่วม และเรามีจุดยืนว่าเข้าไปเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างที่ทำให้เกิดความยากจนและความอยุติธรรม แต่ปรากฏว่าโดยสภาพทั่วไปของรัฐธรรมนูญรวมถึงการพยายามผลักดัน พ.ร.บ.ความมั่นคง ชี้ชัดว่ารัฐบาลมีแนวโน้มจะพัฒนาประเทศไปสู่เผด็จการ ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เราต้องการ

 

นายไพโรจน์ พลเพชร สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น กป.อพช.ยืนหยัดที่จะค้านเผด็จการทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเกิดเผด็จการอีกรอบตามที่หลายฝ่ายหวั่นเราก็พร้อมที่ต่อสู้ รณรงค์คัดค้านอย่างถึงที่สุด และถ้ามีการเลือกตั้ง เราก็จะผลักดันให้ประชาธิปไตยไปข้างหน้า ให้มีกติกาที่สามารถปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปสังคมได้

 

นายจอน อึ๊งภากรณ์ กล่าวการให้ความเห็นของรัฐบาลและ คมช. ที่ว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะไม่มีการเลือกตั้ง ว่า เขาไม่เห็นว่ามีเหตุผลใดที่การไม่รับรัฐธรรมนูญ จะทำให้ไม่เกิดการเลือกตั้ง โดยเขาเห็นว่าต้องเกิดการเลือกตั้งและต้องกลับสู่ประชาธิปไตย ไม่ว่าผลการลงประชามติจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ การขู่ของ คมช. ว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะไม่มีการเลือกตั้ง ลักษณะนี้เป็นการมัดมือชกต่อประชาน ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความเห็นโดยเสรี ว่าจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่การมีสิทธิขอไม่ลงความเห็น ก็ควรเป็นสิทธิของประชาชน และไม่ควรมีคำขู่ว่าถ้าไม่รับรัฐธรรมนูญแล้วผลจะเป็นอย่างนี้จะเป็นอย่างนั้น

 





คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

NGO Coordinating Committee on Development (NGO-COD)

 

คำประกาศจุดยืน

การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับการลงประชามติ

ของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)

----------------------------------------------------------------------------

 

 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) ได้จัดประชุมองค์กรสมาชิกและองค์กรเครือข่าย เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ภายหลังจาก กป.อพช. ได้เคยเสนอความคิดเห็นประเด็นสำคัญต่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผลจากการพิจารณาของที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีสาระบางประเด็นที่ก้าวหน้าจากรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นผลจากการผลักดันต่อสู้ขององค์กรเครือข่าย เช่น การทำสัญญาข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ การคุ้มครองสิทธิเด็ก สิทธิคนพิการ สิทธิผู้บริโภค สิทธิสตรี การใช้สิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมีผลทันทีโดยไม่ต้องออกกฎหมายลูก เป็นต้น แต่ กป.อพช.เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยรวมไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองอย่างแท้จริง และละเลยอำนาจทางการเมืองที่ชอบธรรมของประชาชนในหลายด้าน แต่กลับให้อำนาจดังกล่าวแก่กลุ่มข้าราชการและโดยเฉพาะข้าราชการตุลาการ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

 

 ๑.การไม่ยอมรับสิทธิการกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิทธิในการพัฒนาที่จะทำให้ประชาชนสามารถกำหนดวิถีชีวิตของตนเองได้

 ๒.การไม่ยอมรับการปฏิรูประบบสวัสดิการทางสังคม เช่นการจัดสวัสดิการด้านสาธารณสุขแก่ทุกคน การจัดสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุทุกคน

 ๓.การไม่ยอมรับการปฏิรูประบบภาษี ให้เป็นมาตรการในการกระจายรายได้เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม เช่น การเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก หรือภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า

 ๔.การไม่ยอมรับการปฏิรูปสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีองค์กรอิสระองค์กรเดียวรวมอำนาจการจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ไว้ด้วยกัน

 ๕.การไม่ยอมรับการคุ้มครองสิทธิเกษตรกรรายย่อย เพื่อรักษาอธิปไตยและความมั่นคงทางอาหารของประเทศชาติ

 ๖.การไม่ยอมรับสิทธิในที่อยู่อาศัยและความมั่นคงในที่อยู่อาศัยของประชาชนทุกคน

 ๗.การไม่ยอมรับสิทธิและความหลากหลายทางชาติพันธุ์

 ๘.การไม่ยอมรับสิทธิของประชาชนในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา แต่กลับถ่ายโอนอำนาจหรือสิทธิการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาไปให้กับบุคคลเพียงเจ็ดคนที่เป็นตัวแทนของศาลจำนวนสามคนและองค์กรอิสระจำนวนสี่คน

 ๙.การไม่ยอมรับให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมเป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมืองและข้าราชการ แต่กลับให้กรรมการสรรหาประกอบด้วยตัวแทนของศาลจำนวนห้าคน และตัวแทนของพรรคการเมืองจำนวนสองคน ย่อมทำให้ศาลเป็นผู้ทรงอำนาจเด็ดขาดในการคัดเลือกคนเป็นกรรมการองค์กรอิสระ และมีแนวโน้มที่ทำให้เชื่อได้ว่าองค์กรอิสระจะกลายเป็นที่รองรับชนชั้นนำของภาคราชการ

 

กป.อพช.ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการจัดทำประชามติ เนื่องจากไม่เปิดโอกาสให้ทั้งผู้ที่ไม่เห็นด้วยและเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ความคิดเห็นทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน โดยรัฐบาลต้องมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้อย่างเต็มที่ หาใช่การกระทำที่พยายามใช้กลไกของรัฐทุกวิถีทางในการให้ประชาชนมาลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ แต่กลับกีดกันหรือจะลงโทษผู้ที่จะเผยแพร่ความเห็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการให้มีเพียงสองทางเลือก ในการรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ เท่านั้น

 

นอกจากนี้ รัฐบาลชั่วคราว และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติกำลังดำเนินการ เพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปโดยการพยายามผลักดันออกกฎหมายการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ที่อาจถือได้ว่าเป็นการ "รัฐประหารเงียบ" เพื่อสร้างรัฐทหารใหม่ซ้อนรัฐที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ย่อมเป็นการยกเลิกเพิกถอนสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติไปโดยทันที

 

กป.อพช. จึงมีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับการลงประชามติ และมีข้อเสนอ ดังนี้

 

 ๑. ควรปรับปรุงร่างกฎหมายการทำประชามติให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยการเปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ก่อนการลงประชามติ

 

๒. ในการลงประชามติ ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิทำเครื่องหมายในช่อง "ไม่แสดงความคิดเห็น" หรือ "ไม่ออกเสียงลงประชามติ" ได้

 

๓. รัฐบาลต้องยุติการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. .... ต่อสภานิติบัญญัติแห่งช่าติโดยทันที เนื่องจากมีสาระที่ขัดกับหลักการสิทธิเสรีภาพของประชนอย่างรุนแรง และทำให้สิทธิเสรีภาพที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง

 

ประกาศวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๐

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท