Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วานนี้ (19 ก.ค.50) ที่หอประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเสวนา "ชำแหละร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ความมั่นคงของใคร?" โดยมีอาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ หลายสำนักเข้าร่วม รวมทั้งมีนายทหารระดับสูงจากกองบัญชาการทหารสูงสุดร่วมสังเกตการณ์ด้วย ทั้งนี้ ในตอนท้ายของวงเสวนามีข้อสรุปว่า หากรัฐบาลยังไม่มีการถอยเรื่องนี้ นักวิชาการหลายสำนักเตรียมจะร่วมกันลงชื่อและยื่นจดหมายเปิดผนึกคัดค้านร่างกฎหมายนี้อย่างเต็มที่


 


 


กฎหมายความมั่นคงฟิลิปปินส์ดีกว่า


ศรีประภา เพชรมีศรี  สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง พ.ร.บ.ความมั่นคงเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายของฟิลิปปินส์ ซึ่งน่าสนใจว่าชื่อย่อของกฎหมายฉบับนี้เรียกว่า กฎหมายความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีการกำหนดรายละเอียดการใช้กฎหมายอย่างละเอียดมาก มีการให้คำนิยามชัดเจนว่า การก่อการร้ายคืออะไร ขณะที่กฎหมายความมั่นคงของประเทศอื่นจะไม่ให้นิยามว่าศัตรูของความมั่นคงคือใคร หรือไม่ก็ให้นิยามไว้กว้างมาก


 


นอกจากนี้ในกฎหมายของฟิลิปปินส์ยังเปิดช่องให้กระบวนการยุติธรรมเข้ามาถ่วงดุลตรวจสอบ เช่น ต้องมีหมายศาลหากจะจับกุมคุมขัง ต้องมีการแจ้งข้อหา และการคุมขังทำได้ได้เพียง 3 วัน ขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 1 เดือน


 


"ในบรรดานิยามทั้งหลาย การทำรัฐประหาร ตามประมวลกฎหมายอาญาของฟิลิปปินส์ ถือว่าเป็นการก่อการร้ายด้วย เหตุการณ์ 19 กันยา ถ้าเกิดในฟิลิปปินส์ก็ถือเป็นการก่อการร้าย"


 


ศรีประภา กล่าวถึงกฎหมายฟิลิปปินส์อีกว่า มีการระบุให้ผู้ใช้กฎหมายมีความรับผิดชอบ หากพิสูจน์แล้วว่าผู้ต้องสงสัยไม่ผิด ผู้ใช้กฎหมายต้องถูกลงโทษ ถูกปรับขั้นต่ำสุด 500,000 เปโซ หรือจำคุกตั้งแต่ 1 วันถึง 12 ปี ทั้งยังกำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของฟิลิปปินสน์นั่งอยู่ในสภาที่ปรึกษา มีอำนาจฟ้องร้องหน่วยงานรัฐได้หากพบว่ามีการละเมิดสิทธิของประชาชน อย่างไรก็ตาม กฎหมายฟิลิปปินส์ก็ยังมีส่วนที่เป็นปัญหา เช่น ไม่มีการนิยามผู้ต้องสงสัยให้ชัดเจน ไม่กำหนดช่วงเวลาของการใช้กฎหมาย อำนาจเจ้าหน้าที่กว้างขวางมาก และมีโอกาสละเมิดได้ตลอดเวลา


 


เสนอรวมหน่วยงานความมั่นคงเป็น ทบวงรักษาความมั่นคงภายใน


ปณิธาน วัฒนายากร  คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในสามส่วนคือ ที่มา ปัญหาและทางออก ในส่วนของที่มา ร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงมาจากความต้องการมีแผนแม่บทที่จะจัดการกับปัญหาความมั่นคงใหม่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่รวมของทหาร ตำรวจ ประชาชน อยู่ทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่ผ่านมาไม่เคยมีการปฏิรูปงานด้านความมั่นคงจึงมีการออกกฎหมายนี้


 


"เข้าใจว่าน่าจะมาจากกฎหมายที่มีอยู่แล้วหลายฉบับ รวมทั้งคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 205 ให้จัดตั้ง กอ.รมน. ร่างนี้ หมวด 1-3 คล้ายคำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับนั้น อีกส่วนหนึ่งเป็นของพ.ร.บ.ฉุกเฉิน หมวด 4-6 และยังคล้ายกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วย การผสมหลายพันธุ์เป็นที่มาของปัญหา คงทำกันอย่างเร่งรีบและอาจข้ามกันมากเกินไป หวังว่าทางกฤษฎีกาจะเป็นผู้สะสางความไม่ลงตัวนี้"


 


ปณิธานยังกล่าวถึงปัญหาของพ.ร.บ.ความมั่นคงว่ามาจาก 4 เรื่อง 1.การขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ  กฎหมายความมั่นคงไม่ควรไปขัด หรือทับซ้อนกับกฎหมายที่มีอยู่แล้ว 2.ดุลยภาพระหว่างความมั่นคงและเสรีภาพ ร่างกฎหมายนี้หนักไปทางความมั่นคงแบบทหาร หรือแบบดั้งเดิม โดยมาจากแนวความคิดการรักษาความมั่นคงในการเผชิญหน้าทางการเมือง และไม่มีเวลากำหนดว่าประกาศแล้วจะมีผลบังคับใช้ 3. ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่ดี ในต่างประเทศมีกระบวนการศาลยุติธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำรายงานต่อสภา มีกฎหมายถ่วงดุล มีผู้ตรวจการอิสระ แต่ร่างพ.ร.บ.นี้ไม่มี 4. ความเป็นมืออาชีพ ในอดีตเป็นของทหารบก แต่ปัจจุบันความเป็นมืออาชีพด้านความมั่นคง ตำรวจ ประชาชน ต่างประเทศ ต่างก็เข้ามามีบทบาท จึงต้องอาศัยความร่วมมือกัน


 


ปณิธานกล่าวต่อถึงทางออกในการแก้ร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงว่า ทางแรกคือแก้ที่ผอ.กอรมน. ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี 2.แก้รายมาตรา เรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองแยกออกไป 3.ยกเครื่องใหม่ เป็นแนวทางที่เขาให้น้ำหนักค่อนขางมากคือ แปลงกอ.รมน.เป็นทบวง แล้วเอา ศอ.บต. หรือหน่วยงานใดๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงมารวมกันเป็นทบวงกิจการภายใน เพื่อเป็นสำนักงานรักษาความสงบปลอดภัยของประเทศจริงๆ อาจขึ้นกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง หรืออยู่ใต้สำนักนายกรัฐมนตรี รูปแบบการจัดองค์กรนั้นมีอยู่ 5 รูปแบบที่คนศึกษาไว้แล้ว ตั้งแต่แปลงแบบถอดรากถอนโคนหรือแบบประนีประนอม อาจจะแปลงเพื่อรอจังหวะเปลี่ยนผ่านอีกครั้งก็ได้


 


ความมั่นคงที่ทำให้สังคมป่วยตลอดเวลา


ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ข้อวิเคราะห์ของเขาจะตัดประเด็นเรื่องสืบทอดอำนาจทิ้งไปก่อน โดยจะเห็นได้ว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงมีผลต่อสังคมหลายมิติ มิติแรกเรื่องของเวลา มันเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ ที่น่าเป็นข้อยกเว้นให้กลายเป็นสถานการณ์ปกติ ถ้ากฎหมายนี้มุ่งรักษาโรค ที่เกิดในเวลาพิเศษ นานๆ เกิดที สิ่งที่มันทำคือทำให้ป่วยตลอดเวลา


 


มิติที่สองคือเรื่องพื้นที่ มันเปลี่ยนพื้นที่ทั้งหมดในประเทศให้เป็นพื้นที่ความมั่นคง ซึ่งพื้นที่ความมั่นคงนี้ไม่อาจมีชีวิตปกติได้ เป็นการผลักสังคมไทยไปสู่สภาพผิดปกติ มิติที่สาม ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน เราจะพบว่าตัวละครในหลายมาตราคืออัยการสูงสุด ซึ่งมีหน้าที่ฟ้อง คนที่มีหน้าที่เช่นนี้ย่อมต้องมองหาความผิด คนผิด สิ่งผิดตลอดเวลา เกิดความไม่มีความไว้วางใจกัน ซึ่งโยงกับมิติต่อมาคือ สายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเอง เมื่อรัฐกับประชาชนเกิดความไม่ไว้ใจกัน ความไม่ไว้ใจจะระบาดสู่ประชาชนด้วยกันเอง ความหวาดระแวงจะถูกสถาปนาเป็นสถาบัน


 


อีกมิติหนึ่งคือความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ วันนี้เราภูมิใจว่ามีโรงงานทอผ้าที่ผ่านมาตรฐานของอียู น่าสนใจว่ามาตรฐานของอียูไม่ได้อยู่บนฐานสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีอย่างเดียวเท่านั้น แต่อยู่บนฐานสิทธิมนุษยชนด้วย มันจึงเป็นการลดโอกาสที่จะแข่งขันของสังคมไทย


 


ชัยวัฒน์ กล่าวถึงมิติสุดท้ายคือสังคมไทยกับอนาคตของสังคมไทย เราจะพบว่า ร่างรัฐธรรมนูญอาจมีจุดเด่นบางอย่าง แต่พ.ร.บ.นี้ทำตรงข้ามทุกเรื่อง ไม่ลดการผูกขาดอำนาจรัฐ แต่ย้ายอำนาจรัฐ และความเข้มแข็งขององค์กรอิสระไปที่อื่น ความโปร่งใสเป็นไปไม่ได้ กฎหมายแบบนี้จะเต็มไปด้วยเงามืด สิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องยกไว้ก่อนถ้าเผชิญกับปัญหาความมั่นคง


 


"แปลว่า อนาคตของสังคมไทย ฝากไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งบรรจุทั้งความเป็นจริงและความใฝ่ฝันของสังคม พ.ร.บ.นี้จะทำให้สังคมไทยอยู่กับความเป็นจริงและทำลายความใฝ่ฝัน" ชัยวัฒน์กล่าว


 


ถึงไม่มีกฎหมายนี้ ก็เกิดการละเมิดสิทธิมากเกินพอแล้วใน 3 จังหวัดใต้


อลิสา หะสาเมาะ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นข้ออ้างของการออกกฎหมายความมั่นคงเสมอ แต่กฎหมายเหล่านี้ไม่เคยใช้แก้ปัญหาได้จริง ทั้งยังกล่าวถึงบางมาตราที่น่าเป็นห่วงในพ.ร.บ.นี้ เช่น มาตรา 26 เรื่องการจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ปกติแม้จะบอกว่าต้องมีหมายศาลและการแจ้งข้อหาประกอบ แต่ในความเป็นจริง เจ้าหน้าที่สามารถไปที่บ้านแล้วเรียกไปคุยได้เลย โดยชาวบ้านจะถูกคุมตัวในค่ายกักกันกันเป็นเดือน พร้อมยกตัวอย่างผู้ต้องสงสัยคดีฆ่าตัดคอที่ถูกนำไปสอบในค่ายอิงคยุทธ โดยไม่มีการให้ญาติหรือทนายเยี่ยม กระทั่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปเยี่ยมจึงได้ข้อมูลว่าระหว่างการสอบสวนนั้นมีการซ้อมจนสลบและใช้วิธีการทรมานด้วย


 


"เรามีกรณีอย่างนี้มากมายในพื้นที่ แม้ไม่มีกฎหมายนี้ แต่มันไม่ถูกบันทึก ดิฉันมีความกังวลว่า ถ้ากฎหมายนี้ออกมา ความรับผิดชอบตามาตรา 39 พนักงานก็ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา เป็นการเอื้อให้เกิดเงื่อนไขทำอะไรก็ได้ ไม่มีขัดจำกัด"


 


"ทุกวันนี้ชาวบ้านก็อยู่ด้วยความหวาดกลัวอยู่แล้ว ถ้าร่างกฎหมายผ่านจะมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นในอีกหลายๆ แห่งหรือเปล่า ถามว่ามันจะช่วยให้ภาคใต้ดีขึ้นไหม บอกได้เลยว่าไม่มีทางดีขึ้นเลย ทุกวันนี้กิจกรรมที่ทำกันมากที่สุดคือการไปงาน" อลิสากล่าว


 


กฎหมายความมั่นคงไม่เท่าทันภัยสมัยใหม่


ฐิตินันท์  พงษ์สุทธิรักษ์  คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  ความหมายของความมั่นคงในกฎหมายนี้เป็นความต้องการให้มีความสงบเรียบร้อยภายใน ไม่ใช่ความมั่นคงต่อภัยคุกคามใหม่ๆ  ในโลกปัจจุบัน เช่น โรคระบาด สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ ความยากจน ความมั่นคงด้านพลังงาน อาชญากรรมข้ามชาติ ฯลฯ มันจึงเกิดความลักลั่นว่าต้องการจัดการกับภัยคุกคามใหม่ แต่โครงสร้างของพ.ร.บ.นี้ไม่สอดคล้องด้วย เนื่องจากเป็นโครงสร้างเก่าที่ประกอบด้วยกอ.รมน. ทหารทุกเหล่าทัพ ปลัดกระทรวงต่างๆ ที่ล้วนเป็นกระทรวงเดิมในการจัดการปัญหาคอมมิวนิตส์ หากจะจัดการภัยคุกคามใหม่ๆ ต้องมีการจัดการร่วมของ กระทรวงแรงงาน ท่องเที่ยว สาธารณสุข พลังงาน ฯลฯ


 


พ.ร.บ.ความมั่นคง ไม่นำไปสู่ทางลงของทหารแบบสันติวิธี


เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากกฎหมายนี้บังคับใช้อย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้มันจะเปลี่ยนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปเป็นรัฐราชการอาญาสิทธิ์เพื่อความมั่นคงและการสอดส่องเบ็ดเสร็จ อะไรที่อาญาสิทธิ์หมายความว่าอำนาจจะรวมศูนย์ที่คนหรือกลุ่มคน ผอ.กอ.รมน.มีอำนาจทั้งในส่วนบริหารและไปก้าวก่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ และความอาญาสิทธิ์สามารถล่วงละเมิดสิทธิในชีวิต ทรัพย์สิน ของบุคคลโดยไม่ต้องรับผิด นำมาซึ่งรัฐบาลที่มีอำนาจไม่มีขอบเขต


 


"ผมชอบนโยบายหลายอย่างของรัฐบาลทักษิณ แต่ที่ผมที่ไม่ชอบเพราะมีลักษณะอาญาสิทธิ์มากขึ้นเรื่อยๆ  เมืองไทยจะเดือดร้อนถ้าเรามีผู้ปกครองที่มีอำนาจขนาดนั้น ตลกดี ในกระบวนการต่อต้านทักษิณ เราก็วิ่งไปหาตรงนั้น แต่เปลี่ยนจากนักการเมืองมาเป็นข้าราชการประจำ"


 


กฎหมายนี้ทำให้ชีวิตของสังคมทุกเรื่องกลายเป็นเรื่องความมั่นคงทั้งหมด และยังทำให้เรื่องความมั่นคงทั้งหมดอยู่ในอำนาจทหาร วิธีคิดแบบนี้มาจากความเข้าใจผิดว่าอำนาจกับความสามารถเป็นเรื่องเดียวกัน รัฐอาจเข้าใจว่ามีปัญหาความสามารถก็เลยคิดว่าถ้ามีอำนาจมากๆ อาจให้อำนาจนั้นมาถมความไร้ความสามารถได้


 


"หลัง 6 ตุลาผมเข้าป่า เข้าร่วมภัยคุกคามใหญ่ที่สุดของรัฐไทย เราแพ้ ท่านชนะ ไม่ใช่เพราะมีอำนาจมาก แต่เพราะท่านฉลาด ใช้โอกาส จังหวะ โดดเดี่ยวพคท.จากสากล ทำให้คนต่างรุ่นขัดแย้งแล้วเปิดทางให้การออกจากป่าเป็นไปได้"


 


"ระบอบอำมาตยาธิปไตยมีจุดอ่อนบางอย่างที่เป็นจุดตาย คือปัญหาความชอบธรรม เทียบกับสมบูรณาญาสิทธิราช ผู้ปกครองชอบธรรมเพราะมีเชื้อพระวงศ์ เป็นสมมติเทพ ไม่มีนายพลคนไหนเป็นสมมติเทพ ระบอบประชาธิปไตย ความชอบธรรมมาจากการเลือกตั้ง ผู้นำต่างๆ พยายามถมด้วยลัทธิชาตินิยม รัฐนิยม แต่มันไม่เวิร์ค ยิ่งยุคโลกาภิวัตน์ยิ่งยาก ยอมรับดีกว่าว่า demilitarization จะมา ถ้าเราจัดการดี ผมหวังว่าเราจะผ่านยุคนี้ไปได้อย่างสันติ"


 


"ร่างรธน. และกฎหมายความมั่นคงอาจเป็นสะพานไปสู่การถอย ถอยแบบมีเกราะกำบังมากที่สุด ในทางกลับกันถ้าถอยแบบนี้โดยเฉพาะพ.ร.บ.ความมั่นคงจะต้อนทั้งทหารและสังคมไทยไปสู่จุดอับแห่งการเผชิญหน้าอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ในที่สุดการทำให้การเมืองไทยปลอดทหาร สู่ปกติอีกครั้งอาจต้องผ่านความรุนแรง" เกษียรกล่าว


 


เจริญ คัมภีรภาพ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ในอดีตปัญหาความมั่นคงถูกตีความโดยอำเภอใจเพื่อตอบสนองการใช้อำนาจ การต่อสู้เรียกร้องเพื่อล้มล้างความอยุติธรรมในสังคมก็ถูกจัดอยู่ในความหมายภัยต่อความมั่นคง ความหมายของความมั่นคงที่กว้างมากเกินไปทำให้กฎหมายไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้องความมั่นคงเพื่อประชาชน แต่เป็นเพื่อการรักษาอำนาจ รักษาความมั่นคงทางการเมือง พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ ในอนาคตที่กำลังจะมีขึ้น ทำอย่างไรจึงจะแน่ใจได้ว่าจะไม่เป็นเหมือนในอดีต ในเมื่อตัวร่างกฎหมายนี้กำลังพูดคนละกระบวนทัศน์ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงของมนุษย์ มีอยู่ในบริบททางสังคมมากมาย แต่รัฐไม่ให้ความสนใจ ไม่ได้อยู่ในกระบวนทัศน์ที่ถูกถักทอเข้าไปในกฎหมายฉบับนี้ เพราะรัฐยังติดอยู่กับกระบวนทัศน์ในเชิงอำนาจและการเมือง ผู้ที่ใช้อำนาจและการใช้อำนาจยังผูกติดกับโครงสร้างการบังคับบัญชาของทหาร จึงสรุปได้เลยว่าความมั่นคงทางกฎหมายนี้จะถูกใช้เช่นเดิม เพราะมันฝังในกระบวนทัศน์ของผู้ใช้อำนาจ


 


ตัวอย่างความรุนแรงในอาเจะห์


T.Samsul Alam อาจารย์คณะพยาบาล จากมหาวิทยาลัย Syiah Kuala (เซย์ กัวอาลา) ประเทศอินโดนีเซีย เล่าถึง "Dom" หรือพื้นที่ปฏิบัติการทางการทหารในอินโดนีเซียระหว่างปี 1989-1998 โดยกล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงว่า นโยบายดังกล่าวมาส่วนกลางที่กำหนดให้เข้าไปตั้งค่ายทหารในแต่ละตำบล 5-10 หน่วย สร้างระบบความมั่นคงในทุกตำบล ทุกอำเภอ บังคับชาวบ้านเข้าไปอยู่ในกองกำลังรักษาความปลอดภัยนี้ด้วย ซึ่งชาวบ้านก็ต้องเข้าร่วมเพราะกลัวถูกกล่าวหาว่าเห็นพวกกลุ่มแบ่งแยกดินแดน หรือพวกกบฏ ในช่วงนั้นสถานการณ์ในจังหวัดอาร์เจะห์ เกิดการต่อสู้ทางอาวุธและสูญเสียคนบริสุทธิ์ไปมากมาย  มีการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน


 


สิ่งที่ประชาชนได้รับคือความรุนแรงและการบาดเจ็บทางจิตใจ รู้สึกไม่ดีต่ออาวุธและทหาร เพราะการใช้กำลังในการปราบปรามความไม่สงบโดยมีทหารเป็นผู้เข้ามาจัดการความขัดแย้งในสังคม ทั้งที่มีการจัดการอย่างเข้มข้นแต่จำนวนผู้ตกเป็นเหยื่อและสมาชิกของผู้ปลดปล่อยอาเจะห์กลับเพิ่มขึ้นหลังจากที่มีการประกาศใช้ "Dom"


 


 


..................................
เกี่ยวข้อง
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ผลกระทบของกฎหมายความมั่นคงต่อ 6 มิติ (และความใฝ่ฝัน) ของสังคมไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net