Skip to main content
sharethis

 

พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ

 

 

ที่มาของภาพ minkminkmink, October 21, 2006

 

 

การโฆษณาประชาสัมพันธ์โดย "แพ็กเกจ คมช." ทั้งหลาย ส่อให้เห็นว่าถ้าสังคมไม่ตรวจสอบ พวกเขาเหล่านั้นแทบอยากโฆษณาให้ประชาชนไปลงประชามติ "รับ" ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ในวันที่ 19 สิงหาคมที่จะถึงนี้ชนิดออกนอกหน้า โดยไม่คำนึงว่าหน่วยงานราชการต้องวางตัวเป็นกลางในการจัดการลงประชามติ

 

ไม่ว่าจะเป็น โฆษณาของคณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ในหน้าหนังสือพิมพ์ที่มีข้อความ "รวมพลังลงประชามติ "เห็นชอบรัฐธรรมนูญใหม่ ให้เมืองไทยมีการ "เลือกตั้ง" " ก่อนที่หลายฝ่ายออกมาตำหนิว่าเป็นการชี้นำ มัดมือชก จนต้องเปลี่ยนข้อความเป็น "19 สิงหาคม 2550 ลงประชามติ "เห็นชอบ" หรือ "ไม่เห็นชอบ" เป็นอำนาจของประชาชน

 

ไม่ว่าจะเป็น กรณีที่นายพิเชฐ พัฒนโชติ ประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการอำนวยการการมีส่วนร่วมของประชาชน สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดตัวสติ๊กเกอร์ 2 แบบขนาด 4 เหลี่ยมผืนผ้าสีส้ม และสีแดง ระบุข้อความ อาทิ "ชอบมั้ยรัฐธรรมนูญ วางหลักประกัน คนจนรักษาฟรี?" "ชอบมั้ยรัฐธรรมนูญ ห้าม!! บริวาร คนใช้ ส.ส., ส.ว. รับเหมาสัมปทาน" โดยท้ายสติ๊กเกอร์มีข้อความ "19 ส.ค. 2550 แสดงประชามติ...ร่างรัฐธรรมนูญ" ซึ่งพบว่ามีการนำกระดาษสีขาวแผ่นเล็กๆ มาปิดทับข้อความ เมื่อแกะออกจึงพบข้อความเพิ่มเติมกลายเป็นคำว่า "19 ส.ค. 2550 แสดงประชามติ "รับ" ร่างรัฐธรรมนูญ" 

 

จึงเสียงครหาว่าสำนักนายกรัฐมนตรีชี้นำการลงประชามติเสียเองแบบนี้ จะขัดมติคณะรัฐมนตรี 10 กรกฎาคม 2550เรื่องให้ข้าราชการวางตัวเป็นกลางในการรณรงค์ให้ประชาชนออกเสียงประชามติ

 

ก่อนที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีจะสั่งเก็บสติ๊กเกอร์ดังกล่าว โดย ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า นายกฯ สั่งให้เก็บสติ๊กเกอร์ดังกล่าวแล้ว เพราะมีความผิดพลาดเรื่องการจัดพิมพ์ ยังไม่อนุญาตให้เผยแพร่ เจ้าหน้าที่แจกจ่ายไปโดยไม่แจ้งให้ทราบ

 

และ แคมเปญอาสาสมัครพัฒนาประชาธิปไตย (อสพป.) ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต้องการสร้างวัฒนธรรมการเมือง "ถูกต้อง เป็นธรรม เป็นไทย" และ "ดำรงไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" มีเป้าหมายรับสมาชิก 15 ล้านคนภายในเดือนสิงหาคมก่อนวันลงประชามติ 19 สิงหาคม

 

000

 

แต่การโฆษณาชวนเชื่อของบรรดา "แพ็กเกจ คมช." ยังไม่ร้ายเท่า การบังคับควมคุมการแสดงออกของประชาชนในนาม "ประกาศกฎอัยการศึก" ที่ประกาศมาตั้งแต่คืนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

 

แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรี 27 พฤศจิกายน 2549 เห็นชอบให้ยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่ 41 จังหวัด รวมทั้งเขตกทม.และเขตปริมณฑล และออกเป็น "ประกาศ เลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่" ที่มีพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 124 ตอนที่ 7 ก ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2550

 

ทำให้ 10 เดือนของการรัฐประหาร ยังคงมีประชาชนกว่า 25,462,452 คน ในพื้นที่ 35 จังหวัด อยู่ภายใต้ประกาศกฎอัยการศึก (รายอ่านละเอียด)

 

และที่ผ่านมามีในพื้นที่ดังกล่าว ได้มีการใช้กฎอัยการศึกเป็นเครื่องมือจัดการประชาชน เช่น เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ทหารจากชุดเฉพาะกิจกองพันทหารม้า กองทัพภาคที่ 3 พร้อมเจ้าหน้าที่ป่าไม้จากหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชม.5 (ปิงโค้ง) และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา กว่า 20 นาย นำกำลังเข้ารื้อค้นบ้านชาวบ้านปางแดงนอก ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จำนวน 3 หลัง โดยได้รื้อค้นบ้านก่อนทำการยึดไม้พร้อมตั้งข้อหาว่าชาวบ้านมีไม้เถื่อนอยู่ในครอบครอง

 

นอกจากนี้ยังมีการใช้กฎอัยการศึกควบคุมตัวผู้ชุมนุมต่อต้านคณะรัฐประหารไปสอบสวนยังค่ายทหาร เช่น การควบคุมตัวนายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 และสมาชิกขณะปราศรัยต้าน คมช. ที่ข่วงประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่เมื่อ 18 พ.ค. 50 การรื้อเต็นท์ ส.ส.ไทยรักไทย ที่ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อถวายฎีกาเรื่องยุบพรรค ที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 50 หรือการจับกุมกลุ่ม "คนเชียงใหม่ไม่เอาเผด็จการ" และ "คนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ" ที่ ถนนคนเดิน ฐานแจกใบปลิวเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกในวันที่ 17 มิ.ย. 50 เช่นกัน

 

และล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.ค. ทหารเข้าควบคุมตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ผู้ปฏิบัติงานกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ ขณะปราศรัยไม่เห็นด้วยกับ คมช. และร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ขนส่ง จ.เชียงราย และนำไปสอบสวนที่ค่ายพญาเม็งรายมหาราช จ.เชียงราย

 

 

เมื่อถูกควบคุมตัว นายทหารบางนายก็ลุแก่อำนาจเข้าขั้นสั่งสอนเชิงข่มขู่แก่นายสมบัติว่า "รู้ไหมว่าที่นี่เขตกฎอัยการศึก ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตสำหรับผู้ที่ทำลายประเทศชาติ"

 

 

000

 

การคงกฎอัยการศึกเอาไว้ ไม่เพียงสะท้อนการลุแก่อำนาจ โดยอ้าง "ความมั่นคง" บังหน้าเท่านั้น แต่ยังทำให้ทหารยิ่งขาดความชอบธรรมในการปกครองบ้านเมือง เพราะไม่ได้ใช้สมองปกครองบ้านเมือง มีดีแต่ใช้กำลัง

 

ยังไม่ต้องพูดถึง การที่นายทหารบางคนใน คมช. นิยมใช้น้ำลายปกครองบ้านเมือง มักให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในลักษณะข่มขู่คนที่เห็นต่างจากตน เช่น "จะเว้นโทษตายให้" "มากันแค่นี้ไม่พอมือหรอก" ครั้งหนึ่งที่นายทหารผู้นี้เดินทางไปต่างประเทศ เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย นักข่าวเข้าไปสอบถามที่มาที่ไป ให้ชี้แจงสาธารณชน เขาก็รีบอ้างทันทีว่าไม่จำเป็น เพราะเขาไม่ใช่จำเลย พร้อมยกตนว่าเป็น "วีรบุรุษ"!

 

กล่าวได้ว่า นอกจากการโฆษณาชวนเชื่อของ "แพ็กเกจ คมช." ให้เรารับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อปิดล้อมจินตนาการ "เห็นต่าง" ในพื้นที่ "สมอง" ของเราแล้ว

 

ผู้มีอำนาจยังมีเครื่องมือที่ชื่อว่า "กฎอัยการศึก" ที่ปิดกั้นจินตนาการ "เห็นต่าง" ในพื้นที่ "ทางสังคม" ของเราอีกด้วย เพราะกฎอัยการศึกให้อำนาจทหารชนิดล้นฟ้า ครอบประชาชน 35 จังหวัด มิให้แสดงความเห็นแย้งต่อการทำรัฐประหาร มิให้มีการแสดงความเห็นแย้งต่อกฎอัยการศึก กระทั่งมิให้แสดงความเห็นแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญปี 2550

 

ที่สำคัญมากและต้องกล่าวถึง คือ การประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณในเดือนมกราคม พ.ศ.2547 ในนามของการปราบปรามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกระทั่งลากยาวมาจนถึงยุค คมช. นั้น กฎอัยการศึกได้ปิดกั้นพื้นที่การแสดงความเห็นทางการเมือง และการแสดงความเห็นทางสังคมของคนมลายูมุสลิม และกลุ่มชนต่างๆ ในพื้นที่เหล่านั้นโดยสิ้นเชิง

 

และในช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นอกจากการพร่ำบ่นคำว่า "สมานฉันท์" ของรัฐบาล สลับกับฉากไล่ล่า ปราบปราม ล่าสังหาร ระหว่าง เจ้าหน้าที่รัฐ-ผู้ที่รัฐเรียกว่า "ผู้ก่อความไม่สงบ"-และประชาชนผู้บริสุทธิ์ แล้ว เราแทบไม่ได้ยินเสียงผู้คน ณ ที่แห่งนั้นว่าเขาต้องการอยู่ในรัฐรูปแบบใด ต้องการปกครองตนเองขนาดไหน หรือสิทธิ เสรีภาพ สันติภาพที่พวกเขาใฝ่ฝันถึงมีหน้าตาอย่างไร

 

กฎอัยการศึกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงทำหน้าที่ของมันอย่างเข้มแข็ง มันได้ทำให้เกิดความเงียบ มันทำลายบทสนทนาในสังคม เหลือแต่เสียง "สมานฉันท์" "เรามาถูกทางแล้ว" ของผู้มีอำนาจ อ้อ ยังพอมีเสียงก่นด่าเหตุร้ายรายวัน เล็ดลอดออกมาจากปากของคนเล่าข่าวสามเวลาหน้าจอโทรทัศน์

 

กล่าวได้ว่า สังคมอำนาจนิยมภายใต้ คมช. เช่นนี้ จึงไม่มีบรรยากาศประชาธิปไตยที่เหมาะแก่การสนทนาร่วมกันทั้งสังคมเพื่อร่างรัฐธรรมนูญสำหรับทุกคน

 

000

 

19 สิงหาคม 2550 เราจึงมีทางเลือกไม่มาก ที่หน้าคูหาลงประชามติ

 

ทางหนึ่ง ช่วยกันไปโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550

 

เพื่อให้คุ้มกับงบประมาณที่ "คมช และ แพ็กเกจ คมช." ทำรัฐประหารแล้วตั้งเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงทีหลัง, เพิ่มงบประมาณกระทรวงกลาโหมจากเดิม 80,000 กว่าล้านบาท ในปีงบประมาณที่แล้วมาเป็น 143,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2550

 

ใช้งบ 500 ล้านบาทเพื่อใช้สนับสนุนการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความเรียบร้อย และอีก 55,962,600 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ คมช. (ศปศ.คมช.) ในกิจการที่ระบุว่า "เพื่อความสงบเรียบร้อย"

 

ตั้งงบประมาณของ สสร. ในการร่างรัฐธรรมนูญและงบประชาสัมพันธ์การลงประชามติ 269,903,282 บาท และงบประมาณ 576 ล้านบาทสำหรับ กกต. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดการออกเสียงประชามติ

 

และเพื่อให้คุ้มกับ สัญญาจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ 20 ล้านเล่ม สำหรับทุกครัวเรือน ในวงเงิน 285 ล้านบาท

 

ซึ่งโรงพิมพ์ที่รับพิมพ์เหล่านั้นประกอบไปด้วย 1.โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยจำกัด (1.5 ล้านเล่ม) 2.โรงพิมพ์อาสารักษาดินแดน กรมการปกครอง (1 ล้านเล่ม) 3.โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (3.5 ล้านเล่ม) 4.โรงพิมพ์ตำรวจ (2 ล้านเล่ม) 5.โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2 ล้านเล่ม) 6.สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา (2 ล้านเล่ม) 7.โรงพิมพ์องค์การค้าคุรุสภา (4 ล้านเล่ม) 8.โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (2 ล้านเล่ม) 9.ศูนย์สื่อสิ่งพิมพ์แก้วเจ้าจอม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (2 ล้านเล่ม)

 

ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวตั้งราคากลางเล่มละ 14.25 บาท แต่ผู้รับเหมาเหล่านั้นผ่าให้เอกชนเข้ามาเหมาช่วงพิมพ์ต่อในราคา 12 บาทกว่า ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคากลาง ทำให้งานนี้จะมีรายการกินส่วนต่างไม่ต่ำกว่า 20-40 ล้านบาท!!

 

เพื่อให้มีการเลือกตั้ง ที่พ่วงขุนศึก ศักดินา และบรรดาอำมาตย์ที่มาจากการ "ลากตั้ง" มานั่งครองเมือง และเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ตามรัฐธรรมนูญ 2550…แต่ทั้งนี้ตามแต่ที่ ผอ.กอ.รมน. จะกำหนดหาก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านพร้อมกับแพ็กเกจ "พ.ร.บ.ความมั่นคง" ผ่าน สนช.!!?

 

ลงประชามติรับรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักประกันว่า "อำมาตยาธิปไตย" ไม่เพียงแต่จะอยู่คู่กับสังคมไทยแบบชั่วคราว เพื่อ "คลี่คลายวิกฤตการณ์" แต่จะอยู่กับสังคมไทยเพื่อให้ "คนดีมีคุณธรรม" แก้ปัญหาแทนเรา คิดแทนเรา ตัดสินใจแทนเรา ให้บ้านเมืองอยู่ภายใต้ "ประชาธิปไตยพอเพียง" แบบถาวร

 

000

 

อีกทางหนึ่ง โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550

 

เพื่อสั่งสอน คมช. และเหล่าเสนาอำมาตย์ ว่าประชาชนปกครองตัวเองได้ โดยไม่กลัวคำขู่ของนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ที่ให้สัมภาษณ์เมื่อ 2 ก.ค. ที่ว่า "ของที่ผมเอามาไว้อยู่ในมือข้างหน้ากับของที่ผมซ่อนเอาไว้ข้างหลังจะเลือกเอาอย่างไหน"

 

และเพื่อให้ คมช. และ "แพ็กเกจ คมช." รู้ว่า บรรดาโครงการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อทั้งหลาย รวมถึงกฎอัยการศึก ไม่อาจกักขังเจตจำนงเสรีของประชาชนเอาไว้ได้

 

โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสั่งสอนให้รู้ว่า ประชาชนกำลังจะพิพากษา "ทักษิณกับพวก" ว่า "ชอบธรรม" หรือ "ไม่ชอบธรรม" ด้วยตัวของเขาเองผ่านการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดตามพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2549 ในวันที่ 15 ต.ค. 49 ตามที่ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันที่ 20 ก.ค. 2549

 

แต่ในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ดันถูกบรรดาคุณพ่อรู้ดีในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.)" ซึ่งกลายเป็น คมช. ในปัจจุบัน ทำให้กระบวนการประชาธิปไตยเป็นหมันไปเสียก่อน!

 

เพื่อสั่งสอนเขาว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ "แพ็กเกจ คมช." ร่างมานั้นผิดสเปก ทั้งที่มาของการร่าง ทั้งกระบวนการร่าง ทั้งเนื้อหาการร่าง ทั้งขั้นตอนการพิมพ์ และทำท่าว่าจะผิดสเปกกระทั่งขั้นตอนการพิมพ์บัตรลงประชามติ!!!

 

สำคัญที่สุด การโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่เท่ากับการเอาทักษิณกลับมา แบบที่คุณสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่กลายเป็นสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง ให้ความเห็นเอาไว้

 

หากแต่การไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเป็นการสร้างทางเลือกอื่นๆ ให้กับสังคมไทยที่มากกว่าเอา "ระบอบ คมช." หรือเอา "ระบอบทักษิณ" หรือแม้ว่าสังคมจะเลือกเดินตามแนวทางทักษิณ หรือ คมช. การเลือกนั้นก็จะอยู่ในบรรยากาศของการถกเถียง การแลกเปลี่ยนทางความคิดอย่างเสรี

 

แบบที่ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ แห่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเสนอว่าการโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้การปฏิรูปการเมืองบนฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนดำเนินต่อไปได้ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมพลังที่จะกดดันให้ คมช. ต้องเลือกรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ใหม่ โดยเปิดให้มีการแก้ไขจากสภาแก้ไขที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง ยับยั้งการนำประเทศกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ และให้บทเรียนแก่สังคมโดยรวมว่า การรัฐประหารไม่มีทางแก้ไขปัญหาของประชาธิปไตยได้เป็นอันขาด แก้ไม่ได้ในเมืองไทยและแก้ไม่ได้ทั้งโลก

 

การโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงเป็นไปเพื่อให้รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมีที่มาจากประชาชน และมีที่มาจากชัยชนะของประชาชนในเดือนพฤษภาคม 2535 เป็นพื้นฐานปฏิรูปการเมืองรอบสองโดยประชาชนอย่างแท้จริง

 

และเพื่อให้บทเรียนกับผู้มีอำนาจว่า ประชาชนไม่ต้องการแก้ปัญหาด้วยการพึ่งหวังเทวดาฟ้าฝนที่ไหน มีแต่ประชาชนเท่านั้น ที่จะกำหนดหนทางเดินชีวิตด้วยตัวของเขาเอง.

 

อ่านเพิ่มเติม

เปิดกฎอัยการศึก ดูความหมาย-สถิติการปฏิวัติ รัฐประหาร, ประชาไท, 20 ก.ย. 2549

ทหารร่วมกับป่าไม้ใช้กฎอัยการศึกสนธิกำลังเข้ารื้อ-จับชาวบ้านปางแดง, ประชาไท, 23 ม.ค. 2550.

ฐิตินบ โกมลนิมิ, สำนักข่าวชาวบ้าน, สมบัติ บุญงามอนงค์ : "ภายใต้กฎอัยการศึก เราไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยได้" ใน ประชาไท, 9 ก.ค. 2550.

 "ผ่ายุทธวิธี "ดาวกระจาย" นปก. ไม่เล่นบทเสี่ยง เลี่ยงพื้นที่กฎอัยการศึก (ล้อมกรอบ)", ใน มวลชนกว่า 3000 แหกด่านฟัง นปก. ปราศรัยที่ลำพูน, ประชาไท, 12 ก.ค. 2550.

สำนักข่าวชาวบ้าน, เอ็กซเรย์พื้นที่อัยการศึกทั่วไทย พบ ปชช.กว่า 25 ล้านในภาวะ "เว้นวรรคเสรี", ใน ประชาไท, 14 ก.ค. 2550

นิธิ เอียวศรีวงศ์, 5 คำถาม 5 คำตอบ #2 โหวตล้มรัฐธรรมนูญ จะได้อะไร.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net