Skip to main content
sharethis

ซิดนีย์ - 23 ก.ค. 2550 รายงานฉบับใหม่ขององค์การหมอไร้พรมแดน (MSF) ชี้ให้เห็นถึงราคายาต้านไวรัส สูตรสำรองที่ลดลงอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ การลดราคายาต้านฯ สูตรสำรองขนานใหญ่ มีสาเหตุสำคัญจากการประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐบาลไทย อย่างไรก็ตาม ในรายการฉบับเดียวกันนี้ขององค์การหมอไร้พรมแดน ยังเผยให้เห็นถึงแนวโน้มใหม่ที่น่าวิตก นั่นคือ การใช้ยาต้านไวรัส สูตรพื้นฐานชนิดรวมเม็ด ตัวใหม่ ที่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงน้อยกว่ากลุ่มยาตัวอื่น ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้ในปัจจุบันนั้นกลับเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วยสูงขึ้นถึง 500% หรือเพิ่มจาก 99 เหรียญสหรัฐเป็น 487 เหรียญสหรัฐ รายงานฉบับดังกล่าวนี้มีชื่อว่า "คลายปมปัญหาการลดราคายา" ซึ่งทางองค์การหมอไร้พรมแดนได้ออกแถลงการณ์วันนี้ ณ การประชุมสมาคมเอดส์นานาชาติครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้น ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย


 


"นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่ราคายาต้านไวรัส สูตรสำรองเริ่มลดลงในที่สุด" คาเรน เดย์ (Karen Day) เภสัชกรประจำฝ่ายรณรงค์เพื่อการเข้าถึงยาจำเป็น องค์การหมอไร้พรมแดน กล่าว "แต่เราก็ยังรู้สึกกังวลกับปัญหาราคายาต้านไวรัส สูตรพื้นฐานตัวใหม่ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ ที่มีราคาสูงมาก ทั้งยังไม่มีการแข่งขันกันมากนักในตลาดยา จะทำให้คนในประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่ดีขึ้นจากยาชนิดนี้ ในขณะที่ ยาใหม่ชนิดนี้สามารถหาซื้อได้ทั่วไปในประเทศที่ร่ำรวยเป็นเวลาหลายปีแล้ว"


 


บทวิเคราะห์ของ MSF ที่กล่าวถึงความพยายามของบราซิลและไทยในการให้บริการการรักษาด้วยยาต้านไวรัสผ่านระบบการประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศนั้น ชี้ให้เห็นว่า การประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิฯ เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการทำให้ราคายาลดลง เรียกได้ว่าได้ผลดียิ่งกว่าการเจรจาต่อรองขอลดราคายากับบริษัทยา หรือการพึ่งพานโยบายการตั้งราคาแบบเป็นขั้นบันไดของบริษัทยา


 


เมื่อ มกราคม 2550 ประเทศไทยได้ประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิฯ เพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงยาต้านไวรัส สูตรสำรองตัวสำคัญ2 ตัว คือ โลพินาเวีย/ริโทนาเวีย (lopinavir/ritonavir) ซึ่งติดสิทธิบัตร โดยมาตรการฯ นี้อนุญาตให้ประเทศไทยนำเข้าหรือผลิตยาชื่อสามัญของยาดังกล่าวได้อย่างถูกกฎหมาย "เพียงหนึ่งปีที่ผ่านมา การรักษาผู้ป่วยในประเทศไทยด้วยยาต้านไวรัส สูตรสำรองทั้งสองชนิดข้างต้นนั้น มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 2,800 เหรียญสหรัฐ ต่อคน ต่อปี" กรรณิการ์ กิจติเวชกุล เจ้าหน้าที่รณรงค์เพื่อการเข้าถึงยาจำเป็นประจำประเทศไทยขององค์การหมอไร้พรมแดน กล่าว "ต้องขอบคุณการประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิฯ ที่ทำให้เกิดการแข่งขัน และทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยด้วยยาต้านไวรัส สูตรสำรองลดลงกว่าเดิมถึง 4 เท่า ปัจจุบันราคายาอยู่ทีประมาณ 695 เหรียญสหรัฐ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ยาก็ยังแพงเกินไปสำหรับคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีเพียง 1,600 เหรียญสหรัฐเท่านั้น"


 


จากประสบการณ์ในการจัดหายารักษาโรคเอดส์ตัวใหม่ๆ ของ MSF ตลอดช่วงสองปีที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาหลักในการเข้าถึงยาของคนในประเทศกำลังพัฒนาเกิดจากความล่าช้าในการกระจายยาของบริษัทยา


 


"ฉันทำงานในซิดนีย์ แต่ฉันเคยรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ในประเทศต่างๆ อย่างมาลาวีและโมซัมบิก จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ความล่าช้านี้นับวันยิ่งน่าวิตก" ดร อเล็กซานดร้า คาล์มาย (Dr. Alexandra Calmy) ที่ปรึกษาด้านเอชไอวี/เอดส์ ฝ่ายรณรงค์เพื่อการเข้าถึงยาจำเป็น องค์การหมอไร้พรมแดน กล่าว "ณ ที่ประชุมในซิดนีย์ครั้งนี้ เราได้เห็นการนำเสนอยาจำเป็นรักษาชีวิตหลายรายการ ซึ่งยาเหล่านี้ควรจะมีจำหน่ายในทวีปอัฟริกา เอเชีย และอเมริกาใต้ พร้อมๆ กับในประเทศร่ำรวยต่างๆ ไม่ใช่ต้องรอให้ต้องมีการต่อสู้เพื่อการเข้าถึงยาจำเป็นเหล่านี้กันเป็นปีๆ ก่อน ซี่งนี่หมายความว่า บริษัทยาควรจะต้องคำนึงถึงความต้องการของคนในประเทศกำลังพัฒนาในแผนการวิจัยและพัฒนาตั้งแต่เริ่มการผลิตยา"


 


MSF เป็นองค์กรสาธารณกุศลด้านการแพทย์ระหว่างประเทศ ปัจจุบันองค์การฯ ให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสแก่ผู้ป่วยกว่า 100,000 ราย รวมถึงผู้ป่วยเด็กกว่า 7,000 รายในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก MSF ให้การดูแลรักษาแก่ผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในประเทศกำลังพัฒนาตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2533 และเริ่มให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสในประเทศไทยและประเทศอัฟริกาใต้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net