Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท - 24 ก.ค. 50 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ มูลนิธิกระจกเงา (เชียงราย) ร่วมกับกลุ่มเยาวชนอ่าข่า จากเชียงใหม่ ลำปาง และเชียงราย จัดทำแถลงการณ์ เรื่อง " วัฒนธรรมอ่าข่า กับการถูกละเมิดสิทธิ" ให้กับนายยงรัตน์ มีสัตย์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย และนายประชุม หาญณรงค์ รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงรายเป็นผู้แทนจังหวัดเชียงรายมาพบกลุ่มเยาวชนและรับแถลงการณ์


 


โดยนายปฏิภาณ อายิ เจ้าหน้าที่โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ (www.hilltribe.org) และนายทศพล โชคธนาลัย นักศึกษาชาวอ่าข่าจากมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง เป็นตัวแทนในการอ่านแถลงการณ์ หลังจากนั้นได้มีตัวแทนยื่นต่อนายยงรัตน์ มีสัตย์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย


 






แถลงการณ์


โดย เยาวชนอ่าข่า


วันอาทิตย์ที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๐


 


ราชอาณาจักรไทย เป็นหนึ่งเดียวมิอาจแบ่งแยกจากกันได้ คนไทยไม่ว่าจะชาติพันธุ์ใด เพศ ศาสนา ความเชื่อ และถิ่นกำเนิด ล้วนเป็นหนึ่งเดียว ทุกคนมิสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน การปฏิบัติที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนจะกระทำมิได้


 


ด้วยสถานการณ์สังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านสื่อ สังคมการปกครอง ศิลปวัฒนธรรม และการนำเสนอของสื่อต่างๆ เกี่ยวกับชนเผ่าอ่าข่าในประเทศไทยทำให้ มีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เป็นเหตุให้วัฒนธรรมของชาวอ่าข่าที่ออกสู่โลกภายนอกมีความผิดพลาด และไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งทำให้เกิดทัศนคติที่ผิดๆ การเลือกปฏิบัติ และการละเมิดความเป็นชนเผ่าเพื่อประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่มที่หาผลประโยชน์จากความเป็นคนชนเผ่า


 


อนึ่ง เราในฐานะตัวแทนของเยาวชนชนเผ่าอาข่าในประเทศไทยซึ่งเป็นชนเผ่าที่มีวัฒนธรรมและรากฐานอัตลักษณ์ และความเป็นคนไทย ขอยื่นแถลงการณ์ฉบับนี้เพื่อทำความเข้าใจและขอให้ท่านตระหนักถึงปัญหาของชนเผ่าอ่าข่า และสร้างความเท่าเทียมกันในทุกเผ่าพันธุ์ เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคมไทย และเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์


 


ดังนั้นปัญหาของชนเผ่าอาข่าที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนจากภาครัฐ คือ


 


- การเลือกปฏิบัติ ในสังคมระหว่างคนไทยทั่วไป กับคนชนเผ่า เช่น การเลือกปฏิบัติในการให้บริการรักษาพยาบาลตามสถานบริการของรัฐต่างๆ หรือ การกดขี่แรงงาน โดยคนชนเผ่าถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างทั้งเรื่องค่าแรงน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ และระยะเวลาการทำงานที่มากกว่าปกติ


 


- นโยบาย และการออกกฎหมายที่ไม่เข้าใจในความหลากหลายของวัฒนธรรมชาติพันธุ์ของหน่วยงานรัฐ ทำให้ภาพชนเผ่าอาข่าถูกมองว่าเป็นจำเลยของสังคม เช่น เรื่องการค้ายาเสพติด การกล่าวหาว่าคนอ่าข่าเป็นคนทำลายป่า การมองว่าคนอ่าข่าที่อยู่ตามชายแดนเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ


 


- การละเมิดสิทธิในภูมิปัญญาท้องถิ่น ความคุ้มครองด้านวัฒนธรรม ซึ่งมีกลุ่มคนในรูปแบบของสื่อต่างๆ ที่นำเสนอแบบผิดๆ และนำเรื่องวัฒนธรรมชนเผ่าไปเพื่อค้าขาย และแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัว เช่น ภาพยนตร์หรือโฆษณา ที่ล้อเลียนการแต่งกาย ภาษาพูด วัฒนธรรมการแต่งกายของชนเผ่า หรือจะเป็นในรูปแบบการนำภาพถ่ายหรือประเพณีของชนเผ่าออกมาขายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากบุคคลหรือชุมชน


 


- รัฐต้องสนับสนุนให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆ ในสถานศึกษาเพื่อทำความเข้าใจและรับรู้ถึงความวัฒนธรรมชนเผ่าในประเทศไทยอย่างถูกต้อง รวมทั้งสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรท้องถิ่นในสังคมของชนเผ่าเพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่ง อัตลักษณ์ และความภาคภูมิใจในความเป็นคนชนเผ่า


 


พวกเราเยาวชนอ่าข่าที่ร่วมกิจกรรมเสวนาครั้งนี้ มีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคนไทยทุกคนไม่ว่า ชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา ความเชื่อใด ต้องได้รับความคุ้มครองจากภาครัฐอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์ อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจและสันติในฐานะคนไทยที่อยู่ในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นที่เคารพรักของปวงชนชาวไทยทุกคน


 


ลงชื่อ


กลุ่มเยาวชนอ่าข่าหญ่าเชียงใหม่


กลุ่มเยาวชนอ่าข่าหญ่าลำปาง


กลุ่มเยาวชนอ่าข่าหญ่าเชียงราย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net