Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปิติ ชูใจ


 


เธอ...


 


ทั้งที่เราอยู่ใกล้กันแค่นี้ แต่ทำไมบางทีดูเหมือนเราไม่รู้จักและไม่เข้าใจกันเลย


 


แม้จะมีพื้นฐาน "ความรู้สึกดีๆ" ให้กัน แต่บางเวลาเราก็ยังขัดแย้ง ทุ่มเถียง และกระทบกระทั่งกันเพราะความคิดความเชื่อที่แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ชีวิต


 


ถ้อยคำมากมายที่ควรจะทำให้เราเข้าใจกัน บางครั้งบางหนยิ่งทำให้เราเข้าใจผิดกันเข้าไปใหญ่


 


ถ้าอย่างนั้น...คนที่ถูกสอนให้เกิดมาเพื่อ "เกลียด" กันและกันล่ะ?


 


พวกเขาจะชิงชังกันขนาดไหน?


 



ภาพถ่ายของเด็กหญิงนิตแซน (Nitzan Kraus) วัย 14 ปี พูดถึง "สิ่งใกล้ตัวที่สุด" ของเธอ


 


เมื่อไม่นานมานี้ ฉันอ่านเจอ ข่าวเล็กๆ ในเว็บไซต์ของ BBC ที่พูดถึงการรวมตัวของเด็กกลุ่มหนึ่ง...


 


จำนวนครึ่งหนึ่งของพวกเขา เป็นเด็กชาวปาเลสไตน์ที่มีประสบการณ์เลวร้ายจากฝีมือของกองกำลังทหารอิสราเอล ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่ง คือเด็กชาวอิสราเอลที่เจ็บปวดจากการกระทำของกองกำลังปาเลสไตน์ที่ต่อสู้เพื่อการมีดินแดนเป็นของตัวเอง


 


เด็กกลุ่มนี้ล้วนสูญเสียครอบครัว ญาติมิตร และผู้เป็นที่รักไปในการต่อสู้นับครั้งไม่ถ้วนระหว่างสองชนชาติที่ขัดแย้งกันมานานกว่าอายุของพวกเขา (หรือแม้แต่อายุของพ่อแม่ของพวกเขา)


 


สิ่งที่พวกเขาต้องการคำตอบก็คือว่า...พวกเขาต้องเผชิญหน้าความขัดแย้งรุนแรงถึงเลือดถึงเนื้อเช่นนี้ไปอีกนานเท่าไหร่...


 


เมื่อมูลนิธิ Photovoice ของอังกฤษเข้าไปจัดกิจกรรมชื่อว่า Side-by-Side ในเยรูซาเล็ม เด็กๆ 12 คนจากฝั่งปาเลสไตน์และอิสราเอลอย่างละครึ่งก็สมัครเข้าร่วมโครงการนี้ ที่มีเป้าหมายให้เด็กๆ ทั้งสองชนชาติอันขัดแย้งได้มาทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน


 


แต่ก็อย่างที่เรารู้ๆ กันนั่นแหละว่า บางครั้งบางครา "คำพูด" ก็ยิ่งผลักไสให้เราห่างกันมากกว่าเดิม และเราก็มีแนวโน้มที่จะแปลความหมายที่อีกฝ่ายต้องการสื่อผิดไปจากเดิม-ตามอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง...


 


การทำความเข้าใจระหว่างเด็กสองกลุ่มที่ถูกปลูกฝังมาว่าอีกฝ่ายคือ "ศัตรู" จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ ที่พูดกันไม่กี่ครั้งก็เข้าใจกระจ่างแจ้ง


 


โครงการของโฟโตวอยซ์ก็เลยเน้นให้พวกเขาทำความรู้จักกันผ่านมุมมองของแต่ละฝ่ายโดยไม่จำเป็นต้องใช้ "คำพูด" มาเป็นสื่อกลางเสมอไป...


 



 




ภาพถ่ายของ Noam Burger คือแผ่นหลังของแม่คนหนึ่งที่มาส่งลูกชายเข้ากองทัพ


 



กล้องถ่ายรูปถูกแจกจ่ายไปสู่เด็กๆ ชาวปาเลสไตน์และอิสราเอลที่เข้าร่วมโครงการ จากนั้นพวกเขาจะต้องเข้าฝึกอบรมเทคนิคและวิธีการถ่ายรูปร่วมกันเป็นเวลา 6 เดือน


 


ในระหว่างนั้น กิจกรรมหลักๆ ของพวกเขาคือการถ่ายภาพตามหัวข้อที่ตั้งไว้ร่วมกัน และนำภาพถ่ายที่ถ่ายจากชีวิตประจำวันเหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนกันดู...


 


ภาพแผ่นหลังของแม่คนหนึ่งกำลังยืนดูลูกชายของเธอเข้าแถวในกลุ่มทหารใหม่ คือภาพที่เด็กหญิงนอม เบอร์เกอร์ (

Noam Burger) วัย 14 ปี กดชัตเตอร์เก็บภาพไว้เมื่อครั้งที่เธอไปยังค่ายทหารพร้อมกับพี่สาวซึ่งไปกล่าวคำอำลาเพื่อนๆ ที่เข้าเกณฑ์ทหาร เพราะเด็กหนุ่มเด็กสาวชาวอิสราเอลที่มีอายุ 18 ปี จะต้องเข้าร่วมการฝึกอบรมวิธีสู้รบและป้องกันดินแดนทุกคน

 


"เมื่อฉันมองเธอ ฉันเห็นทั้งความภาคภูมิใจและความกลัว" นอมอธิบายภาพ "แผ่นหลังของแม่" ว่าอย่างนั้น


 


แน่นอนว่า-คงไม่มีแม่คนไหนไม่นึกหวั่นที่ลูกของตัวเองต้องไปเป็นส่วนหนึ่งในกองทัพของประเทศที่มีการสู้รบภายในอย่างไม่จบสิ้น และถ้าความผูกพันระหว่างแม่-ลูก และบุคคลที่เรารัก คือความรู้สึกอันเป็นสากล เด็กๆ จากปาเลสไตน์ก็น่าจะเข้าใจความเป็นห่วงเป็นใยของคนจากฝั่งอิสราเอลได้เช่นกัน


 



สภาพความเป็นอยู่ของชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงค์ที่ต้องอาศัยอยู่ในเตนท์เก่าๆ


ถ่ายโดย Sameh Darwazeh อายุ 16 ปี


 


ในทางกลับกัน ภาพเด็กน้อยหน้าตาไร้เดียงสาที่ยืนอยู่หน้าเตนท์เก่าๆ ในเขตเวสต์แบงค์, ปาเลสไตน์ และภาพตลาดยามบ่ายที่ร้างไร้ผู้คนไปจับจ่ายซื้อของเพราะไม่มีเงิน ก็น่าจะทำให้เด็กๆ ฝั่งอิสราเอลที่เต็มไปด้วยความสะดวกสบายพรั่งพร้อมมองเห็นความข้นแค้นบางประการของคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามได้บ้าง


 


และในระหว่างที่โครงการ Side-by-Side ดำเนินไป เด็กๆ จากปาเลสไตน์ต้องเจอกับอุปสรรคในระหว่างการเดินทางข้ามเขตปาเลสไตน์มายังฝั่งอิสราเอลแทบทุกครั้ง


 


ทหารที่อยู่ตรงด่านตรวจมักจะกักตัวและใช้เวลานานมากในการพิจารณาจดหมายขออนุญาตข้ามเขตที่ทางการของทั้ง 2 ฝ่ายจัดทำขึ้น...


 


กลุ่มเด็กๆ ที่ยังไม่ทันโตเป็นผู้ใหญ่ยังถูกตรวจค้นอย่างเคร่งครัดขนาดนี้ แต่ก็เทียบไม่ได้กับสิ่งที่ผู้ใหญ่ชาวปาเลสไตน์ซึ่งข้ามแดนมาทำงานเลี้ยงปากท้องต้องเผชิญหน้าอยู่ทุกวัน


 


สิ่งที่ร้ายกว่านั้นก็คือว่า ถ้าพวกเขาไม่ข้ามฝั่งมา ก็อย่าหวังว่าจะมีงานหรือเงินเดือนหรือชีวิตที่ดีกว่ารออยู่ที่ฝั่งปาเลสไตน์...


 


เรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเหล่านี้ ถ้ามองแบบผ่านๆ ก็คงไม่มีใครทันสังเกตเห็นความคับข้องของการต้องอยู่ในสภาพจำยอม เช่นเดียวกับที่ผู้คนที่โกรธแค้นมักมองไม่เห็นว่าฝ่ายที่ยืนตรงข้ามเรานั้นก็เป็นคน มีเลือดเนื้อจิตใจและอารมณ์ความรู้สึกเหมือนๆ กัน


ประโยคหนึ่งที่เด็กชายโมฮัมเหม็ด วัย 13 ปี จากเขตเฮบรอน, ปาเลสไตน์ ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวถึงโครงการ Side-by-Side ครั้งนี้ เขาพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า


"ผมมาเข้าร่วมโครงการนี้ก็เพื่อที่คนอิสราเอลจะได้เห็นว่าพวกเรา (ชาวปาเลสไตน์) ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายเสมอไป และพวกเราก็จะได้เห็นด้วยว่าคนอิสราเอลไม่ได้มีแต่ทหารที่ประจำอยู่ตามด่านตรวจแค่นั้น"



ตลาดยามบ่ายในฝั่งปาเลสไตน์ที่เงียบเหงาเพราะผู้คนไม่มีเงินจะมาจับจ่ายใช้สอย


(ภาพโดย Wael Taboug)


ฉันไม่รู้ว่าการได้อยู่ "เคียงข้างกัน" ในระยะเวลา 6 เดือน ของเด็ก 2 กลุ่ม ที่ถูกสอนมาให้เชื่อว่า "พวกเขาเป็นศัตรูกัน" จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงยังไงต่อไปในวันข้างหน้า


แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันตระหนักมากขึ้นและอยากจะบอกก็คือว่า โลกมีแง่มุมให้มองได้หลายด้าน


เพราะอย่างนั้น...เราคงต้องเผื่อใจไว้มองในมุมของคนที่เห็นต่างจากเราด้วย..


เมื่อหันมามองความขัดแย้งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเธอและฉัน ดูเหมือนว่ามันจะรุนแรงขึ้นทุกวัน ใช่หรือเปล่าว่ามันมีสาเหตุมาจากการที่เราเลือกมองแต่มุมที่ตัวเองเชื่อและอยากให้เป็นอยู่ฝ่ายเดียวด้วยส่วนหนึ่ง


เป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะหันมามองในมุมของคนที่ยืนอยู่คนละฝั่งกับเราบ้าง?


ก่อนที่ทุกอย่างมันจะลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้...


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net