Skip to main content
sharethis

กองบรรณาธิการ
สำนักข่าวประชาธรรม


ภายหลังจากที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมออกมาเคลื่อนไหว แสดงท่าทีและจุดยืนต่อการเมืองกันอีกครั้ง และไม่ผิดไปจากความคาดหมายมีหลากหลายความคิดเห็น หลากหลายจุดยืน ความต่างแนวทางการเคลื่อนไหวนำไปสู่การตัดสินใจรับ- ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีเหตุผลที่แตกต่างกันไป รวมไปถึงการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปการเมืองของภาคส่วนต่างๆ ก็ยังมีสีสันที่ต่างกันออกไปอีกด้วย

สำนักข่าวประชาธรรม ประมวลความคิดเห็น ท่าที และจุดยืนเฉพาะภาคประชาชน โดยไม่ได้ประมวลความเห็นของพรรคการเมืองมาไว้ ณ ที่นี้ เพราะปรากฏอยู่ในสื่อกระแสหลักอยู่ค่อนข้างมากแล้ว ท่าทีจุดยืนของภาคประชาชนไม่ได้จำกัดเฉพาะเพียงแค่รัฐธรรมนูญ 50 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงความคิดเห็นที่มีต่อระบอบการเมือง จนถึงแนวทางการปฏิรูปการเมือง สังคมที่อยากจะเห็นกันในอนาคตด้วย



ไม่รับอำมาตยาธิปไตย ไม่รับรัฐธรรมนูญ 50

กลุ่มภาคประชาชนที่มีการเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคักต่อเนื่องนับตั้งแต่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
(สสร.) ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 50 เสียงวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงการรวมตัวกันออกมาคัดค้านมีเหตุผลสำคัญคือ ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับ 50 ตั้งแต่หลักการ กล่าวคือ เพราะที่มาของร่างรัฐธรรมนูญใหม่มาจากการทำรัฐประหาร ซึ่งเป็นรัฐบาลเผด็จการ ดังนั้นจึงไม่มีความชอบธรรม เช่น เครือข่าย 19 กันยา มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) รวมถึง คณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ที่ได้ออกมาแสดงจุดยืนล่าสุด

ส่วนจุดยืนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนั้นมีเหตุผลหลักคือนอกเหนือจากไม่รับเพราะเป็นการร่างขึ้นมาภายใต้รัฐบาลรัฐประหารแล้ว ยังเห็นว่าเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ 50 ยังนำสังคมไทยไปสู่ระบอบอำมาตยาธิปไตยด้วย ในเนื้อหาแถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการทั่วประเทศ 76 รายชื่อเมื่อวันที่.... ระบุถึงเหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญคือรัฐธรรมนูญฉบับ 50 สวนกระแสการปฏิรูปการเมือง กล่าวคือไม่มีหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในเรื่องการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ การมีสื่อที่เป็นของประชาชน การรวมกลุ่มเพื่อการต่อรอง หลักประกันสวัสดิการพื้นฐาน นอกจากนี้ยังมีความเห็นต่อระบบการเมืองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ไว้วางใจประชาชนเจ้าของประเทศ องค์กรอิสระไม่ยึดโยงกับพลังทางสังคม แต่ไปผูกติดกับระบบราชการ เป็นต้น


นิธิ เอียวศรีวงศ์ /มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพราะเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ประเด็นที่ 1 ตั้งแต่มีรัฐบาลชุดนี้ก็มีการผลักดันกฎหมายที่ออกมาถึง 5 ฉบับ เช่น ร่างพ...ความมั่นคง ร่างพ...ข่าวสารที่ทำให้รัฐธรรมนูญหมดความหมาย เป็นการสถาปนาอำนาจกองทัพขึ้นมาเหนือการเมือง เหนือสังคม นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญ 50 ยังมีการก้าวก่ายระหว่างอำนาจ อธิปไตยทั้งสาม (นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ) เช่น อำนาจตุลาการก้าวก่ายอำนาจบริหาร ซึ่งจะทำให้มีปัญหาในการบริหารบ้านเมืองมาก


ประเด็นที่ 2 ให้อำนาจระบบราชการโดยผ่านอำนาจของฝ่ายตุลาการ จะทำให้ระบบราชการทั้งระบบเข้ามาจำกัด ควบคุมหรือครอบงำการเมือง ประเด็นที่ 3 องค์กรตรวจสอบถ่วงดุลไม่เป็นอิสระ ถูกแทรกแซง (บทสัมภาษณ์ใน www.prachatai.com)


นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ไม่รับรัฐธรรมนูญอีกกลุ่มหนึ่ง คือ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 กค.ที่ผ่านมา โดยในแถลงการณ์ของ กป.อพช.ระบุว่าแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 50 จะมีความก้าวหน้าในบางประเด็นจากรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งเป็นผลจากการผลักดันขององค์กรเครือข่าย เช่นการทำสัญญาข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ การคุ้มครองสิทธิเด็ก สิทธิคนพิการ สิทธิผู้บริโภค สิทธิสตรี และการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมีผลทันทีโดยไม่ต้องออกกฎหมายลูก แต่อย่างไรก็ตาม กป.อพช.เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญ 50 โดยรวมยังไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิรูปสังคม การเมือง กลับให้อำนาจกับกลุ่มข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการตุลาการ เช่น ไม่ยอมรับการปฏิรูประบบสวัสดิการทางสังคม ไม่ยอมรับการปฏิรูประบบภาษี การไม่ยอมรับการคุ้มครองสิทธิเกษตรกรรายย่อย การไม่ยอมรับสิทธิของประชาชนในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา แต่กลับถ่ายโอนอำนาจหรือสิทธิการเลือกตั้ง สว.ไปให้บุคคลเพียง 7 คนที่เป็นตัวแทนศาล


จอน อึ้งภากรณ์ /ประธาน กป.อพช.
การประกาศจุดยืนของ กป.อพช.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เนื่องจากเนื้อหาโดยทั่วไปไม่เอื้อต่อการนำไปสู่การปฏิรูปสังคมและการเมือง หลังจากนี้ประเด็นที่ กป.อพช.จะรณรงค์ต่อไปที่สำคัญตอนนี้คือเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตย ซึ่งล้วนเกี่ยวของกับประชาชนทุกคนโดยเฉพาะ พ...ว่าด้วยความมั่นคงภายในราชอาณาจักรซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ผู้บัญชาการทหารบกในทุกๆ ด้าน และยังรวมไปถึงกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย

นอกจากนี้ กป.อพช.มีข้อเสนอว่าการลงประชามตินั้นต้องให้ความยุติธรรมกับทั้งฝ่ายที่รณรงค์ให้รับและฝ่ายรณรงค์ที่ไม่รับ ขณะเดียวกันต้องให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นโดยอิสระ

หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นี้ไม่ผ่านประชามติทาง กป.อพช.ได้หารือกันแล้วและมีความเห็นว่า ต้องนำส่วนที่เป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญปี 40 มาผนวกกับส่วนที่เป็นความก้าวหน้าของร่างรัฐธรรมนูญปี 50 คือให้เอารัฐธรรมนูญปี 40 เป็นฐาน ขณะส่วนที่เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนน่าจะเอาของปี 50 มาประกอบใช้ รวมทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบาทภาคประชาชน เช่น การแก้กฎหมาย รวมทั้งการทำข้อตกลงระหว่างประเทศก็น่าจะเอาส่วนของปี 2550 มาประกอบกับปี 2540 ด้วย พูดง่ายๆ คือน่าจะเอาส่วนที่ดีของปี 2550 มาเสริมปี 2540


บรรจง นะแส/ เลขาธิการ กป.อพช.ภาคใต้
ต้องยอมรับว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 50 มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี เช่น ในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ก็เห็นว่ามีความพยายามผลักดันให้ถูกบรรจุอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญนี้ แต่ในฐานะที่ผมทำงานอยู่กับคนยากคนจน คนที่มีปัญหาอันเนื่องมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาที่ก่อให้เกิดความยากจนในสังคม ผมมองว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพสำหรับประชาชนมันยังกินไม่ได้ สิทธิเสรีภาพที่กินได้ ต้องเป็นปัจจัยการผลิต ซึ่งเราหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง เช่น การปฏิรูปที่ดิน ลดช่องว่าระหว่างคนจนและคนรวย ด้วยการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีมรดก เราเชื่อว่าถ้าจะปฏิรูปการเมืองในส่วนของคนยากคนจน ต้องแก้ตรงนี้ด้วย

ประเด็นที่ 2 ในเรื่องของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งวิเคราะห์จากรัฐบาลภายใต้การทำงานของควบคู่กับ คมช. มีแนวโน้มที่จะสืบทอดอำนาจต่อ โดยการพยายามผลักดัน พ...ความมั่นคง และมี พ...อีกหลายตัว ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวกับปัญหาของคนจนเลย กรณีการผลักดัน พ...ความมั่นคง ทำให้เราค่อนข้างแน่ใจว่ามีความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจ ทำให้ประเทศเราไม่สามารถที่จะพัฒนาไปสู่แนวทางประชาธิปไตยได้


ผมคิดว่าการพัฒนาทางการก็ต้องดำเนินต่อไปอยู่แล้ว แต่สังคมไทยในวันนี้ มีพัฒนาการที่ก้าวหน้าทางการเมืองพอสมควร ผมจึงไม่เชื่อว่าอำนาจมืด หรือเผด็จการ จะมาครอบงำสังคมไทยได้อีกต่อไป หากมีสิ่งที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้นภายหลังจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอำนาจเก่า หรืออำนาจใหม่ ที่พยายามจะทำให้อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่คนจำนวนหนึ่ง ก็เชื่อว่าสังคมไทยไม่ยอมแน่


รับร่างรัฐธรรมนูญแบบมีเงื่อนไข

ด้านท่าทีจุดยืนของ สมัชชาเพื่อการปฏิรูปการเมือง (สปป.) ซึ่งเดิมคือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิต เครือข่ายสมานฉันท์แรงงานไทย สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประทเศไทย(สค.ปท.) เครือข่ายประชาชนภาคอีสาน เครือข่ายพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการเมืองภาคเหนือ สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองภาคใต้ พันธมิตรสงขลาเพื่อประชาธิปไตย สภาประชาชนอีสาน(สอส.) คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ศูนย์ประสานนิสิตนักศึกษา (ศนศ) สมัชชาประชาชนภาคตะวันออก และกองทัพธรรมมูลนิธิ เครือข่ายประชาชนจ.เพชรบุรี

เหตุผลในการรับร่างรัฐธรรมนูญ 50 แบบมีเงื่อนไขผูกพันคือ สังคมไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ ทั้งปัญหาการเมือง ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และปัญหาชายแดนภาคใต้ อันเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา สปป.มีความเห็นว่าท่ามกลางความเห็นที่แตกต่างหลากหลายในการรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ต้องสร้างทางเลือกที่ 3 ขึ้นมากล่าวคือ ไม่ใช่แค่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับ คมช. หรือระบอบทักษิณเท่านั้น และไม่ได้คาดหวังต่อร่างรัฐธรรมนูญ 50 ว่าจะเป็นคำตอบสำเร็จรูปในการแก้ปัญหาสถานการณ์ประเทศ การรับร่างรัฐธรรมนูญ 50 ในครั้งนี้จึงเท่ากับเป็นการฝ่าวิกฤติการเมืองไปอีกขั้นหนึ่ง และอยากให้การรับรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการก้าวข้ามที่กว้างการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชนให้ชัดเจน

ดังนั้น จุดยืนของ สปป.ที่มีต่อรัฐธรรมนูญ 50 คือแม้รัฐธรรมนูญ 50 จะมีข้อบกพร่องอยู่หลายประเด็น เช่นมีบางมาตราที่เอื้ออำนวยให้รัฐราชการ หรือระบอบอำมาตยาธิปไตยมีพื้นที่ในรัฐธรรมนูญมากขึ้น แต่ถ้ามองจากจุดยืนของการเมืองภาคประชาชน ถือเป็นการเปิดพื้นที่หรือช่องทางใหม่ๆ ให้กับประชาชนประชาชนมากขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญ 40 เช่น มาตรา 55 สิทธิในที่อยู่อาศัย มาตรา 61 สิทธิของผู้บริโภค มาตรา 84 จัดให้มีสภาเกษตร มาตรา 87 กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง และประการสำคัญคือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญได้

สปป.และองค์กรเครือข่ายจึงมีมติรับร่างรัฐธรรมนูญ 50 แบบมีเงื่อนไขผูกพันคือ 1.สปป.จะรณรงค์ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 อย่างเร่งด่วนโดยใช้สิทธิรวมรายชื่อ 50,000 รายชื่อ เช่นแก้ไขมาตรา 111 ที่มาของ สว. มาตรา 229 242 246 และ 252 ที่เกี่ยวกับกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ 2.สปป.จะติดตามและผลักดันกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกที่เป็นหลักประกันเรื่องสิทธิและการมีส่วนร่วมการเมืองของภาคประชาชนให้เป็นรูปธรรม 3.สปป.ขอคัดค้านร่างพ...การรักษาความมั่นคงภายในฯ พ...ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ...หลักเกณฑ์ขั้นตอนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และพ...อื่นๆ ที่มีเนื้อหาลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน 4.เรียกร้องให้รั,บาล และสสร.เร่งสร้างเวทีสาธารณะเพื่อให้การถกจุดเด่นและด้อยของรัฐธรรมนูญ 50 ให้มากที่สุด


พิภพ ธงไชย /สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง (สปป.)
ก่อนไปถึงจุดยืนต่อรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น ขอกล่าวในเบื้องต้นว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ล้มรัฐธรรมนูญ 2540 และผมคิดว่าวันที่ประชาชนรวมตัวกันออกมาเรียกร้องให้ทักษิณลาออกจากนายกรัฐมนตรี ทหารกับตำรวจมีหน้าที่ดูแลไม่ให้เกิดความรุนแรงหรือการปะทะกัน แต่ทหารฉวยโอกาสมาทำรัฐประหาร ซึ่งไม่ถูกต้อง

อีกประเด็นหนึ่งคนอาจจะลืมไปแล้วว่าการเคลื่อนตัวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และประชาชนหลายหลากกลุ่ม นอกจากให้ทักษิณรับผิดชอบการบริหารงานที่ผิดพลาดด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังมีการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2

ประเด็นรัฐธรรมนูญ 2550 แม้ที่มานั้นจะไม่ถูกต้องเพราะมาจากรัฐประหาร แต่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญก็ผิดแปลกไปจากการร่างรัฐธรรมนูญภายหลังการรัฐประหารครั้งก่อนๆ ถ้าจำได้ ตอนปี 2535 รสช.ก็ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเลย แต่คมช.ครั้งนี้ให้ประชาชนเสนอชื่อและเลือกอีกจำนวนหนึ่ง เพราะฉะนั้น คมช.ก็ใช้กระบวนการครึ่งหนึ่งของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ถึงแม้จะไม่เท่ากับรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ก็มีกระบวนการมีส่วนร่วมมากพอสมควร

สำหรับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าส...หลายคนตั้งใจที่จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นประชาธิปไตย และเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน แล้วองค์กรภาคประชาชนหลายองค์กรก็พยายามจะเรียกร้องให้รัฐธรรมนูญมีมาตราที่เป็นประโยชน์ เท่าที่ไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในฐานะสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ก็พบว่า ประชาชนมีความตื่นตัว และนำบทเรียนจากรัฐธรรมนูญ 2540 มาเสนอเพื่อแก้ไข ลงรายละเอียดมากขึ้น ทั้งในเรื่องสิทธิเสรีภาพ การเมืองภาคประชาชน หรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เป็นต้น

"
สรุปว่าประชาชนตื่นตัวในการมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการตื่นตัวแบบใช้ประสบการณ์และขบวนการเรียนรู้จากรัฐธรรมนูญ 40 มากขึ้น เพราะฉะนั้นจะไปบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกชี้นำจากคมช. ทั้งหมด 100% ก็ไม่ได้"

ในส่วนเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 50 ผมพิจารณาในประเด็นดังต่อไปนี้ 1.รัฐธรรมนูญให้พื้นที่แก่ใครบ้าง 2. สถานะ/ฐานะการใช้พื้นที่นั้นมีมากน้อยแค่ไหน 3. วาทกรรมใหม่ๆ ในรัฐธรรมนูญ จุดนี้ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญ 40 พิสูจน์ชัดว่ามีการต่อสู้ทางวาทกรรมใหม่ๆ เช่น สิทธิชุมชน การเมืองภาคพลเมือง องค์กรพัฒนาเอกชน การมีส่วนร่วม รวมทั้งการบริหารจัดการสื่อและโทรคมนาคม การตรวจสอบอำนาจรัฐ การเข้าชื่อกันเสนอกฎหมาย หรือองค์กรอิสระ เป็นต้น มาถึงรัฐธรรมนูญ 50 ผมคิดว่าวาทกรรมเหล่านี้ยังมีอยู่และทำให้ชัดเจน หรือลงรายละเอียดที่สามารถนำไปปฏิบัติใช้มากขึ้น และขจัดอุปสรรคที่มีของรัฐธรรมนูญ 40 ยกตัวอย่าง หมวดสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ส่วนเรื่องจริยธรรมทางการเมือง ผลประโยชน์ทับซ้อน การมีส่วนร่วมของประชาชนทางการเมืองโดยตรง ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญ 50 เขียนชัดเจนขึ้น ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้า

เมื่อมองรัฐธรรมนูญ 50 ผ่านวิวัฒนาการทางการเมืองไทย พบว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญหลายจุด อาทิ สิทธิที่อยู่อาศัย การศึกษา องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค การค้าเสรี เขียนดีขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าดีที่สุด แน่นอนรัฐธรรมนูญ 50 ยังมีจุดอ่อนหลายประการ เช่น ภาษีมรดก การสรรหา สว. ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเป็นอำนาจอำมาตยาธิปไตยสรรหาได้เลย หรือกรณีการเข้าสู่การเมืองของภาคประชาชนแม้จะคลายเงื่อนไขเรื่องการจบปริญญาตรีออก แต่ก็ไปผูกปมไว้ที่สว. หรือกำหนดว่าต้องเข้าสู่การเมืองผ่านการเป็นพรรคการเมือง หรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจะเพิ่มขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 40 แต่กระบวนการสรรหาก็มีปัญหา เพราะไปให้อำนาจตุลาการมากเกินไป ภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วมตรงจุดนี้เลย

โดยภาพรวมพบว่า การเปิดทางให้ประชาชนเข้าชื่อเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้นั้นถือเป็นมติทางการเมืองใหม่ และเอื้อต่อการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 เพื่อขยายต่อเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 40 แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ถือว่ารัฐธรรมนูญ 50 เป็นการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 เพราะภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดมากกว่า ไม่ใช่ทหาร หรืออำมาตยาธิปไตย ดังนั้นถ้ารัฐธรรมนูญ 50 ผ่าน ภาคประชาชนน่าจะเคลื่อนตัวเรื่องปฏิรูปการเมืองทันที

สำหรับการคนตัวเล็กๆ จะให้มีเสียงในการเมืองภาคประชาชน ต้องรวมกันให้ได้ และบริหารจัดการยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีในการเคลื่อนตัวให้เกิดวิวัฒนาการทางการเมืองให้ได้ ต้องร่วมมือระหว่างนักวิชาการกับภาคประชาชนในการทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นจริง ถ้าเราไปติดในเรื่องว่าเขียนรัฐธรรมนูญ 50 ดีขึ้นมีวิวัฒนาการในเรื่องสิทธิเสรีภาพ แล้วความจริงในการใช้สิทธิเสรีภาพจะเป็นจริงแค่ไหนนั้น ต้องดูว่ารัฐธรรมนูญ 50 ขจัดอุปสรรคในทางกฎหมาย ในการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งผมคิดว่ารัฐธรรม 50 ขจัดอุปสรรคไปพอสมควร เช่น ตัดข้อความ "ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ" ออกไปหลายมาตรา ลดจำนวนคนเข้าชื่อ แต่ก็ต้องไปดูกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก เพราะอุปสรรคของรัฐธรรมนูญ 40 คือ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทำลายเจตนารมณ์การใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน
ส่วนจุดอ่อนของภาคประชาชนคือเมื่อสู้กับรัฐธรรมนูญ 40 แล้วกลับไม่สนใจกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทำให้ตกไปอยู่ในมือของนักการเมือง ซึ่งต้องพึงตระหนักว่า นักการเมือง อำมาตยาธิปไตย ข้าราชการ ไม่ต้องการให้ประชาชนเข้มแข็ง

คนเล็กๆ ที่จะทำเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองภาคประชาชนให้เข้มแข็ง นอกจากต้องรวมตัวและบริหารจัดการแล้ว ต้องมีความสนใจในทุกขั้นตอนของกฎหมาย มีส่วนร่วมและต้องต่อสู้ เมื่อเราสู้ให้ปรากฏในกฎหมายได้แล้ว การที่จะนำมาใช้ได้จริงก็ต้องอาศัยการต่อสู้เช่นกัน ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่เขียนไปแล้วนักการเมือง ข้าราชการจะปฏิบัติตามเจตนารมณ์

สิทธิการรวมตัว การชุมนุมของประชาชน การดื้อแพ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงไว้ ประชาชนต้องใช้เป็นเครื่องมือประกอบกับองค์ความรู้ของนักวิชาการที่ช่วยเสริมเข้าไป


การเมืองต้องเห็นหัวคนจน

นอกเหนือจากปัญญาชน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนที่มีข้อเสนอ ความคิดเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ยังมีภาคส่วนที่มีพื้นที่ในการสื่อสาร หรือแสดงความเห็นในทางสาธารณะน้อยมาก คือกลุ่มเกษตรกร ชาวประมงพื้นบ้าน และประชาชนคนชายขอบทั้งหลาย จะด้วยเหตุผลข้อจำกัดในการกระจายข้อมูลข่าวสาร หรือการที่ประชาชนยังมองเป็นเรื่องไกลตัว หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่เสียงดังกล่าวนับว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนก็ว่าได้ และนับว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง


รังสรรค์ แสนสองแคว /กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ(นกน.)
โดยส่วนตัวนั้นตนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการ กระบวนการได้มาไม่เป็นประชาธิปไตย อีกทั้งกระบวนการการมีส่วนร่วมในการร่าง ประชาชนก็ไม่มีส่วนร่วม ที่ผ่านมาภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน รวมทั้งนักวิชาการบางส่วนเสนอให้มีการปรับแก้รัฐธรรมนูญในบางส่วน แต่ก็พบว่าข้อเสนอเหล่านั้นไม่ได้รับการพิจารณา กลับมาการใช้ร่างฉบับที่ ส...ร่างขึ้นมาเป็นหลัก

ส่วนการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 50 นี้ถือเป็นเรื่องจุดยืนทางการเมืองของประชาชน แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้ไม่ผ่านประชามติ คมช.ก็สามารถหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดขึ้นมาประกาศใช้ได้ แต่ประเด็นสำคัญคือไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนมาดีแค่ไหนก็แล้วแต่ หากในทางปฏิบัติมีความขัดแย้งกับสิ่งที่เขียนก็ไม่มีความหมาย ขณะเดียวกันหากประชาชนยังไม่ตื่นตัวต่อเรื่องนี้ ยังไม่สนใจกับรัฐธรรมนูญ หรือยังไม่รู้คุณค่าของรัฐธรรมนูญ ปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการสิ่งที่ขัดแย้งหรือสวนทางกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้นแล้วไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะดีแค่ไหนก็ไม่มีความหมาย

นอกจากนี้ สิ่งที่ภาคประชาชนต้องทำต่อไปเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญคือต้องมีความตระหนัก ตื่นตัวและหารือกันตลอดไม่ใช้มาพูดถึงกันแค่ช่วงการลงประชามติเท่านั้น ต้องทำให้รัฐธรรมนูญกินได้และต้องเห็นหัวคนจน


สมาน โดซอมิ/ศิลปินพื้นบ้าน บ้านกาเม็ง ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา
ที่ผ่านมาเราได้ใช้รัฐธรรมนูญ 40 ไปแล้ว ส่วนตอนนี้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา มีการแก้ไข และเพิ่มเติมในหลายๆ จุดที่เป็นสิ่งที่ดี เช่น เรื่องสิทธิชุมชน โดยส่วนตัว ผมคิดว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญ 50 เพื่อลองใช้ดูก่อนว่าใช้ได้หรือไม่ ถ้านำมาใช้แล้วไม่เข้าท่า หรือไม่ดีก็ไม่ต้องใช้ ต้องนำมาแก้ไขใหม่ อย่างไรก็ตาม การเมืองที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า ต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทุกด้าน ไม่ว่าจะในโครงการอะไรต่างๆ ที่เข้ามาในพื้นที่ ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด

อย่างไรก็ตามคิดว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นสิ่งเดียวที่จะนำมาแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบมันมีความซับซ้อน และเรื้อรังมานาน ปัญหานี้ไม่ใช่จะแก้ได้ง่ายๆ ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาอีกยาวนาน และดูปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบแนวทางการแก้ไขปัญหา เบื้องต้นอยากเสนอว่าให้จัดตั้งเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ ต้องให้โอกาสประชาชน และราชการ ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาร่วมกัน น่าจะเป็นแนวทางที่จะทำให้เราก้าวต่อไปได้



ยายา ตรุรักษ์ ชาวประมงพื้นบ้านบ้านปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล
ไม่รู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ 50 มีรายละเอียดอะไรบ้าง ที่ผ่านมาไม่ได้รับข้อมูล แต่ชาวบ้านก็อยากให้รัฐธรรมนูญที่จะออกมา ระบุเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ชัดเจน ส่วนการก้าวไปสู่การเมืองภาคประชาชน ผมคิดว่าต้องให้มีการกระจายข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับรู้อย่างทั่วถึงก่อน เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เคยรู้เรื่องเลยว่าใครจะทำอะไร ชาวบ้านไม่ค่อยได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานราชการต่างๆ ก็ไม่ค่อยเห็นความสำคัญที่จะให้ชาวบ้านรับรู้ข้อมูลอย่างจริงจัง

การรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นยังตอบไม่ได้ เพราะไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาเลย ชาวบ้านจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง ผมโทษหน่วยงานราชการท้องถิ่นที่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับทราบข้อมูล แม้ว่าจะมีเสียงตามสาย บางทีชาวบ้านก็ดูโทรทัศน์บ้าง แต่เวลาที่ออกทะเล ก็ไม่ได้ดู ข้อมูลข่าสารก็ขาดหายไป



การเมืองไทยหลังประชามติ

ขณะนี้มีหลายภาคส่วนถกเถียง ตั้งคำถามกันไปมาระหว่างรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเผด็จการ หรือทักษิณ สุริยันต์ ทองหนูเอียด/กองเลขาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กลับมีความเห็นว่าภาคประชาชนควรมองให้ข้ามพ้นจากประเด็นดังกล่าว และมองไปในอนาคตให้มากขึ้นเพื่อสร้างพลังขับเคลื่อนของภาคประชาชนร่วมกัน

สุริยันต์กล่าวว่าหลังวันที่ 19 สิงหาคมนี้ถ้าหากประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ 50 ก็ไม่ได้หมายความว่าภาคประชาชนจะหยุดนิ่ง รอการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ภาคประชาชนควรจะทำสัญญาประชาคมทั้งต่อนักการเมือง และผู้คุมอำนาจรัฐในบางเรื่องบางมาตราที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ เช่น เรื่องระบบการเลือกตั้ง ส.. ที่การเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวไม่ได้ถูกบรรจุ ที่มาของ ส..

ส่วนในเรื่องของการเมืองภาคประชาชน เช่น รัฐธรรมนูญมาตรา 303 การเลือกตั้งสภาเกษตรกร กองทุนพัฒนาการเมือง กฎหมายลูกว่าด้วย พ... คุ้มครองผู้บริโภค และอีกหลายเรื่องที่ถือว่าเป็นกลไกใหม่ เรื่องพวกนี้ประชาชนต้องมาคิดกันว่าจะผลักดันอย่างไรไม่ให้อยู่แค่เพียงนิยามเหมือนรัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านมา เพราะอย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญปี 40 การเมืองภาคประชาชนได้รับการบรรจุเอาไว้หลายเรื่องแต่ก็ไม่ได้นำมาปฏิบัติจริง ๆ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ 40 ผ่านแล้ว แต่ละส่วนก็กลับไปทำหน้าที่ของแต่ละองค์กร นักการเมืองก็หยิบชิ้นปลามันนำเรื่องเหล่านั้นไปใช้ทั้งหมด

ในครั้งนี้ก็เหมือนกัน รัฐธรรมนูญมีแนวโน้มที่จะให้อำนาจกับราชการมากกว่านักการเมือง ประชาชนต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ภาคประชาชนเข้าไปสู่ตรงจุดนั้น และผลักดันข้อกฎหมายที่ภาคประชาชนเป็นห่วงให้ออกมาในมิติที่รับใช้ภาคประชาชนมากที่สุด มีความพยายามที่จะเสนอว่าหลังจากการเลือกตั้งเราควรที่จะตั้งสถาบันการเมืองภาคประชาชนขึ้นมาเพื่อผลักดันรณรงค์กฎหมายในส่วนนี้โดยเฉพาะ ต้องไปปรับปรุงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหลายมาตรา เช่น กฎหมายป่าทั้งหมดก็ต้องถูกปรับ เป็นต้น ด้านเศรษฐกิจนั้นในรัฐธรรมนูญ กำหนดทิศทางให้ประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจแบบพอเพียงก็ควรที่จะกำหนดโครงสร้างหรือส่วนประกอบต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่จุดนั้นด้วยไม่ใช่พึ่งแต่ตลาดนอกประเทศ

หากมองในเชิงอำนาจของ คมช. จะต้องไม่มีการสืบทอดอำนาจทุก ๆ รูปแบบ การที่พล..สนธิ บุณยกลิน ประธาน คมช.ยังลังเลในเรื่องที่จะเล่นการเมืองหรือไม่ก็อาจจะนำไปสู่ภาวะวิกฤตได้ เราพยายามให้มองประเทศชาติอย่ามองแต่เพียงตนเอง ในเชิงอำนาจ คมช. ก็ต้องนำทหารกลับเข้ากรมกอง และการที่จะนำทหารเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวทางการเมืองเพื่อนำประเทศเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยก็ต้องทำตามข้อตกลงที่ทำไว้กับประชาชน



อย่างไรก็ตามไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ทหารจะมีการสืบทอดอำนาจ อย่างเช่นในเรื่องการยกร่าง พ... ความมั่นคงฯ ซึ่งให้อำนาจกับทหารมากเกินไป โดย ผบ. ทบ. มีตำแหน่งเป็น ผบ. กอรมน. ด้วย มีอำนาจใหญ่กว่านายกรัฐมนตรีเสียอีก ซึ่งมีลักษณะของอำนาจซ้อนกับรัฐ

สิ่งที่เราไม่อยากเห็นคือการนำไปสู่การปะทะแบบเผด็จการรัฐสภาเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เพราะทหารสืบทอดอำนาจแล้วก็ตระบัดสัตย์จนนำไปสู่การเคลื่อนไหว มีการแบ่งเทพแบ่งมาร ความจริงปัจจุบันสถานการณ์สังคมไทยก็เริ่มวนมาถึงการแบ่งเทพแบ่งมารในภาคการเมือง และเริ่มลามไปสู่ภาคประชาชนด้วย ใครฝ่ายถูก ผิด ใครอยู่ฝ่ายรัฐประหารใครอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย หรือ คมช. ทำให้เกิดวิกฤต

ผ่านมาประชาชนไทยไม่เคยทบทวนเรื่องการแก้ไขปัญหา การใช้วิธีสันติ หรือในเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะโดยสถานการณ์ในฝ่ายของผู้ปกครองนั้นไม่มีการทบทวนในเรื่องนี้อยู่แล้วเมื่อทำเพื่ออำนาจก็จะใช้วิธีการรุนแรงปราบปราม แต่ในส่วนของภาคประชาชน ถ้าหากว่ามองไปให้ไกลกว่าความขัดแย้ง มองในมิติของการแบ่งข้างแบ่งพวกอย่างชัดเจน หากประชาชนแบ่งขั้วก็จะนำไปสู่ความไม่สมดุลในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน


แท้จริงแล้วความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ แต่จะกลายเป็นความรุนแรงในมิติของความสัมพันธ์ คือความรุนแรงไม่ได้มีแค่การฆ่าฟัน ยิงกัน แต่อาจจะเป็นในเรื่องของอคติ ทัศนะ เป็นเรื่องการพิพากษา การตัดสิน ถ้าเรามองว่าทำอย่างไรให้ภาคประชาชนเข้มแข็งก็ต้องมาพูดคุยกัน หากมองปัญหาความขัดแย้งในสังคมในแง่ดีก็เป็นประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตามองค์ประกอบของสังคมก็ไม่ได้มีแต่ภาคประชาชนเป็นส่วนประกอบเท่านั้น ที่จริงปัจจัยสำคัญอยู่ที่ฝ่ายรัฐผู้ปกครองหรือว่านักการเมือง การสร้างฐานะใหม่ของการเมืองภาคประชาชนต้องไปให้ไกลกว่าการอภิปราย หรือการพูดคุยสนทนาในเชิงอธิบาย โลกต้องมีวิธีการเปลี่ยนแปลง หรือขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงตามปัญหาขององค์กร เพราะขณะนี้ดูเหมือนว่าการพูดเรื่องสังคมในอนาคตจะพูดกันแต่เรื่องข้อบกพร่องของอีกฝ่ายหนึ่ง โจมตีความคิดของอีกฝั่งหนึ่งมากกว่า

อนาคตการเมืองภาคประชาชนมาถึงจุดที่ต้องตั้งสถาบันการเมืองที่ภาคประชาชนสามารถเข้ามา หรือเรียนรู้หรือให้การศึกษากับประชาชนมากขึ้น ถ้าเรานำพาสังคมไปสู่ความรุนแรงอีกมันก็จะเป็นการเตะหมูเข้าปากหมาเหมือนเดิม คือจำเป็นต้องไล่ทหารถ้ามีการสืบทอดอำนาจแต่ต้องตอบด้วยว่าหลังไล่เสร็จแล้วระเบียบแผนใหม่ที่ภาคสังคมเสนอคืออะไรไม่ใช่ว่าไล่ทหารเสร็จแล้วต่างคนต่างกลับบ้าน.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net