Skip to main content
sharethis

มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย เครือข่ายประชาชนตรวจสอบการเลือกตั้ง (พีเน็ต) เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน จัดดีเบต จุดเด่น-ด้อยของร่างรธน.50 ณ บ้านมนังคศิลา

ประชาไท - เมื่อวันที่ 3 ส.ค.50 มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย เครือข่ายประชาชนตรวจสอบการเลือกตั้ง (พีเน็ต) เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) จัดเวทีดีเบต (การประชันความคิด) จุดเด่น-ข้อด้อยของร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ณ หอประชุมบ้าน มนังคศิลา โดยได้รับความร่วมมือในการถ่ายทอดสด ผ่านทางเนชั่นแชนแนล และเว็บไซต์ประชาไท

 

เวทีครั้งนี้ มีตัวแทนเข้าร่วมการประชันความคิดจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ประกาศว่า "รับร่าง" รัฐธรรมนูญ และจากฝ่ายนักวิชาการ ตัวแทนนักการเมือง ที่ประกาศ "ไม่รับร่าง" โดยแบ่งการประชันความคิดออกเป็นคู่ๆ ดังนี้

 

คู่ที่ 1: นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม และรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กับ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 

คู่ที่ 2: นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกและประธานคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ของ ส.ส.ร. กับ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

 

คู่ที่ 3: คือ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ส.ส.ร.และเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กับ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ดำเนินรายการโดย จอมขวัญ หลาวเพ็ชร จากเนชั่นแชนแนล และสมชัย ศรีสุทธิยากร เครือข่ายประชาชนตรวจสอบการเลือกตั้ง (พีเน็ต)

 

 

รายการทั้งหมด แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ช่วงที่ 1-3 ให้แต่ละคู่อภิปรายคนละ 20 นาที จากนั้นให้ตอบคำถามคนละ 5 นาที และในช่วงสุดท้าย เป็นช่วงสรุปประเด็น คนละ 5 นาที ซึ่งฝ่าย ส.ส.ร.มีนายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นตัวแทน และฝ่ายนักวิชาการ มีนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็นตัวแทน

 

ก่อนจะเริ่มการอภิปรายในแต่ละคู่ มีการจับฉลากว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายเริ่มอภิปรายก่อน ซึ่งฝ่ายที่อภิปรายก่อนจะได้สิทธิตอบคำถามทีหลัง ทั้งนี้เมื่อผลการจับฉลากออกมา ปรากฏว่าในทั้ง 3 คู่ ฝ่าย ส...เป็นฝ่ายเริ่มอภิปรายก่อนทั้งสิ้น

 

"ประชาไท" ขอเก็บเนื้อความทุกคำ ทุกประโยคมาเผยแพร่ โดยแบ่งออกเป็น 4 ตอน

 

 

 

0 0 0

 

 

 

 

 

"คณะผู้ร่าง ค่อนข้างมั่นใจว่า องค์กรอิสระในกรอบการสรรหาใหม่ จะเป็นอิสระและเป็นกลางทางการเมืองจริงๆ ไม่เปิดช่องทางให้ฝ่ายการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงได้"

 

                จรัญ ภักดีธนากุล

 

"ระบบราชการไทยนั้นไม่เคยมีชื่อเสียงว่า ซื่อสัตย์สุจริต หรือริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากวิกฤตต่างๆ ได้ถ้าไม่มีคนข้างนอก อย่าลืมว่ารัชกาลที่ 5 คือคนข้างนอก แล้วเข้ามาใช้ระบบราชการเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตในช่วงนั้น"

 

                     นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

 

0 0 0

 

 

 

จรัญ ภักดีธนากุล

สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

 

 

ท่านประธานมูลนิธิองค์การกลางเพื่อประชาธิปไตย และท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน

 

ผมคิดว่ากิจกรรมในวันนี้ เป็นกิจกรรมที่จะสร้างสรรค์สติปัญญาให้เกิดแก่พี่น้องประชาชนชาวไทยในวงกว้างที่สุดในบรรดากิจกรรมหลากหลายที่หลายฝ่ายพยายามระดมเร่งทำมาตลอดสองสามสัปดาห์ก่อน

 

แต่ผมขอปรับบรรยากาศในเช้าวันนี้นิดเดียวครับ เพราะว่าบรรยากาศของการโต้เวทีแบบตะวันตก ไม่ค่อยเหมาะกับวันนี้ เพราะมันจะสร้างบรรยากาศของการเป็นฝักฝ่าย แล้วยกเอาจุดเด่นของตัวขึ้นมากดข่มจุดด้อยของแต่ละฝ่าย แล้วทำให้สติปัญญาไม่เกิด ผมอยากจะขอปรับเป็นว่า เราเปลี่ยนบรรยากาศมาเป็นเรื่องปรึกษาหารือกัน มาร่วมคิด ร่วมขยายความ ให้ประชาชนที่กำลังรอที่จะตัดสินใจในเรื่องนี้ ได้เกิดความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่งอย่างกว้างขวาง แล้วประชาชนจะได้เลือกตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ตรงกับประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง

 

พอผมตั้งกรอบความคิดไว้อย่างนี้แล้ว ผมก็มามองว่า เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของทางโลกแท้ๆ เป็นเรื่องของความเห็นที่หลากหลาย ที่แตกต่างกันของคนในชาติ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครที่จะมาจัดทำรัฐธรรนูญให้กับแต่ละประเทศ ไม่มีทางที่จะได้ของที่สมบูรณ์ 100% หาที่ติมิได้ ไม่มีทางทำได้ สิ่งที่ผมพยายามจะกระทำก็คือ จะพยายามชี้ให้เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในกระบวนการจัดทำก็ดี ในเนื้อหาสาระก็ดี และเป้าหมายที่ประสงค์จะให้เกิดขึ้นก็ดี มันมีจุดดีจุดเด่นอย่างไร ส่วนเรื่องที่เป็นข้อด้อย จุดอ่อน มีแน่นอน ขอมอบไว้ให้กับทางฝ่ายอีกด้านหนึ่งที่เห็นว่าไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผู้นำเสนอ

 

ในแง่มุมของกระบวนการจัดทำ มองทีแรกนั้น เราอาจจะเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เริ่มต้นไม่ค่อยสวย เพราะว่ามาจากกระบวนการอภิวัฒน์รัฐประหาร นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้

 

ส่วนรัฐธรรมนูญ 2540 มีจุดเด่นตรงจุดกำเนิดที่มาจากกระบวนการที่เรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ท่านครับ ลองดูกระบวนการเดิมในการจัดทำในช่วง 6 เดือน 7 เดือนที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยกร่าง 35 คนก็ดี คณะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งร้อยคนก็ดี ท่านไม่ได้ทำตามอำเภอใจ และแน่นอน ท่านไม่ได้ทำตามบงการหรือมติของใครแน่นอน สิ่งที่พวกเราทำก็คือ วิ่งเข้าไปหาประชาชน ในฐานะที่พวกเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางการเมือง ไม่มีผลประโยชน์ได้เสียทางการเมือง ความรู้ ความเชี่ยวชาญ หลากเลห์หลายคน ไม่มี ฉะนั้น สิ่งที่เราจะทำงานนี้ให้สำเร็จได้ มีทางเดียว ต้องมีประชาชนเป็นฐาน แล้วเราก็จัดกระบวนการเข้าหาประชาชนหลากหลายรูปแบบ รายละเอียดผมคิดว่าจะมีผู้นำเสนอต่อไป

 

ผมสรุปเบื้องสั้นๆ ว่า รอบแรก ก่อนที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ 35 คนจะลงมือวางกรอบ ก็มีการตั้งประเด็น 20-30 ประเด็นหลักๆ แล้วกระจายออกไปรับฟังความคิดเห็น เสียงสะท้อนจากประชาชนทั่วประเทศ เราก็ได้เสียงสะท้อนกลับมารอบที่ 1 แล้วการยกร่างกรอบที่หนึ่งก็เริ่มขึ้น

 

แล้วการยกร่างรัฐธรรมนูญรอบที่หนึ่ง ก็มีการนำเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่เรียกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับรับฟังความเห็นประชาชน แจกกระจายไปให้ประชาชนทั่วประเทศได้พิจารณา แล้วก็มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญมากมาย กระจายออกไปทุกจังหวัด หาทางเข้าไป อธิบาย ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ แล้วรับฟังเสียงสะท้อนกลับมา ท่านครับ .. มีเสียงสะท้อนโต้แย้งไม่น้อย แต่เสียงสนับสนุนในหลายประเด็นก็มี

 

ประเด็นหนึ่งที่เราจับได้ชัดเจน แล้วก็คิดว่าเราทำถูกเป้ามาตั้งแต่แรก ก็คือการยืนหยัดว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. ไม่เอาจากคนนอก ตรงนี้ทำให้เรามั่นใจว่า ถ้าเราเดินในทิศทางอย่างนี้ แล้วแม่น แล้วตรงกับความต้องการของประชาชนชนส่วนใหญ่แล้ว เราจะทำงานได้สำเร็จ จะทำสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติประชาชนได้ จากจุดเริ่มต้นที่อาจจะอ่อนด้อยในทางหลักวิชา

 

พอเราได้รับเสียงสะท้อนในรอบที่หนึ่งกลับมา คณะกรรมาธิการยกร่างฯ 35 คน ก็ประชุมปรับปรุงแก้ไขยกร่างที่ 1 ร่วม โดยรับฟังความคิดเห็นจาก ส.ส.ร. ผู้เสนอคำแปรญัตติขึ้นมาประกอบ แล้วก็ปรับปรุงเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สอง นำเสนอต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 100 คน มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ หลากหลายพื้นที่ หลากหลายระดับความรู้ประสบการณ์ ท่านก็แปรญัตติ โต้เถียง เป็นธรรมชาติ ไม่มีมติไหนที่มาจากกลุ่มของ ส.ส.ร.กลุ่มใด ที่คงเส้นคงวาแล้วไม่เคยแพ้ เกาะกลุ่มเป็นชนัก เป็นบลอกโหวต ไม่มี ทุกกลุ่มมีแพ้ ทุกกลุ่มมีชนะ ผมเองได้เสนอหลายประเด็นจากความคิดในเนื้อหาวิชาที่ได้จากห้องสมุดบ้าง งานวิจัยบ้าง ก็พ่ายแพ้ หลายประเด็นแพ้ แต่หลายประเด็นก็ได้รับการสนับสนุนจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ

 

เสร็จจากการพิจารณาของ ส.ส.ร. เราก็ได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 คือฉบับที่นำออกเผยแพร่ขอมติจากประชาชน ฉบับที่กระจายไปสู่ประชาชนนี่ล่ะครับ ในกระบวนการอย่างนี้ ผมมั่นใจว่าเรามีฐานที่อิงการทำงาน ที่อิงกับประชาชนมากพอที่จะแสดงความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้

 

จุดที่สอง ในด้านของเนื้อหาสาระ เป้าหมายที่คิดทำนี้ ไม่ได้คิดถึงขนาดจะสร้างรัฐธรรมนูญฉบับอุดมคติให้สมบูรณ์เลิศเลอเป็นของวิเศษในแผ่นดิน มิได้เลยครับ กรอบความคิดตรงกัน จะเรียกว่าเกือบ 100%เลยก็ว่า เอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาดู สิ่งไหนที่เป็นคุณประโยชน์ เป็นจุดแข็ง จุดดี ของรัฐธรรมนูญ 2540 พยายามคงไว้ แล้วจุดไหนเป็นข้อด้อยก็พยายามหาทางแก้ไขปรับปรุง อะไรที่ดีอยู่แล้วแต่มีช่องทางทำให้ดีขึ้นได้ก็ต่อยอด เพราะฉะนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังขอความเห็นชอบจากประชาชนอยู่นี้ จึงไม่ใช่ของอะไรที่ ส.ส.ร.คิดขึ้นมาเอง มีฐานที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2540 นั่นเอง

 

ผมยกตัวอย่างในจุดที่เราเรียกว่าเป็นข้อด้อยในรัฐธรรมนูญ 2540 และเราพยายามที่จะหาทางแก้ไข

 

จุดที่หนึ่ง รัฐธรรมนูญ 2540 ออกแบบโดยต้องการที่จะให้รัฐบาลมีความเข้มแข็ง มั่นคง ต่อเนื่อง ไม่ล้มลุกคลุกคลาน เป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้ยิ่งดี อย่าเป็นรัฐบาลผสม ได้นายกฯ ที่ดูแลประเทศ 10 ปี 20 ปีได้เหมือนประเทศสิงคโปร์ มาเลเซียได้ยิ่งดี นี่เป็นเป้าหมายของรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อแก้ปัญหาในอดีตก่อนปี 2540 คือปัญหารัฐบาลเราไม่เข้มแข็ง ไม่มั่นคง ความต่อเนื่องทางการเมืองไม่ดีพอ ท่านครับ แต่พอทำไปแล้ว มันเกินธงครับ เกินพอดี จนกระทั่งเราได้รัฐบาลทีเข้มแข็งเกินไป เข้มแข็งถึงขนาดว่า ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถตรวจสอบได้เลย

 

สิ่งที่ผมเรียนก็ได้มาจากเหตุผลและข้อเท็จจริงว่า ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถขอเปิดอภิปรายทั้งคณะ หรืออภิปรายนายกรัฐมนตรีได้เลย เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 ไปเขียนล็อคไว้ว่า จะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ ต้องใช้คะแนนเสียงสองในห้า คือ 200 เสียง ใน 500 เสียง แต่ว่าในช่วงที่ผ่านมา เรามีฝ่ายค้านอยู่เพียงร้อยกว่าเสียง ไม่ถึงสองร้อยเสียง เพราะฉะนั้นการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ จึงทำไม่ได้ นี่ล่ะครับคือจุดดุลและคานอำนาจในทางการเมืองระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารสูญเสียไป ตรงนี้ทำให้เรารู้สึกว่า คำกล่าวที่ว่าเผด็จการทางรัฐสภา มันคืออะไร มันเป็นจริงไหม หลายคนก็คิดว่าทำไมเราไม่เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจให้ทำได้ง่ายขึ้น แล้วอย่างไรเสีย รัฐบาลท่านมีเสียงข้างมากอยู่แล้ว อย่างไรเสีย รัฐบาลท่านก็เป็นฝ่ายที่ทำอยู่ในความชอบธรรมอยู่แล้ว ลงมติท่านก็ชนะ แต่ให้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเถอะครับ ประชาชนจะได้รู้ตื้นลึกหนาบาง ไม่ถึงกับเป็นการปิดหูปิดตาประชาชน นี่คือสิ่งที่ผมวิเคราะห์ออกมา ผิดถูกก็ขออภัย

 

เพราะฉะนั้น ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราก็แก้ตรงนี้ ขอให้เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ลดลง ไม่ต้องสองในห้า หนึ่งในห้าก็พอแล้ว จาก 480 คนในร่างนี้ก็คือ 96 คน แต่ก็มีผู้ท้วงอีกว่า ถ้าฝ่ายค้านเกิดได้มาแค่ 80 คน ก็ขอเปิดไม่ได้อยู่ดี ก็มีผู้เสนอทางออกว่า ให้เขียนยกเว้นไว้อีกว่า ถ้าฝ่ายค้านมีเสียงไม่ถึงหนึ่งในห้า ถ้ารัฐบาลบริหารประเทศไปแล้วครึ่งวาระ คือ 2 ปี ฝ่ายค้านจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของที่มี ก็ให้มีสิทธิ์ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล คือท่านนายกรัฐมนตรีได้ ก็เปิดช่องทางให้กระบวนการดุลคานและตรวจสอบการใช้อำนาจทางการเมืองเกิดขึ้นได้ แต่เปิดอภิปรายแล้วจะแพ้ก็ไม่เป็นไร ระบบของการดุลคานอำนาจ (Check & Balance) ทางการเมือง ยังคงมีอยู่ และเปิดให้ทำงานได้ ไม่ปล่อยให้ใครไปครหากล่าวร้ายว่า เป็นเผด็จการทางรัฐสภา นี่คือสิ่งที่เราคิดแก้ไขในจุดที่หนึ่ง

 

จุดที่สอง คือรัฐธรรมนูญ 2540 ไปพลาดอย่างยิ่งอยู่ข้อหนึ่ง คือไปเปิดช่องทางให้กระบวนการสรรหาตุลาการรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ เช่น ปปช. กกต. คตง. ถูกแทรกแซงโดยฝ่ายการเมืองได้ ไม่ว่าฝ่ายไหน ฝ่ายการเมืองนี่ โดยธรรมชาติเขาต้องสู้กัน เขาต้องเอาชนะกันเป็นธรรมดา แต่รัฐธรรมนูญ 2540 ไปเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองข้างมากชนะหมด คือถ้าใครเป็นการเมืองฝ่ายข้างมาก สามารถบริหารจัดการทำให้ได้คนของตัว ผู้แทนของพรรคของตัว เข้าไปอยู่ในกรรมการสรรหาตุลาการรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ มันบังเอิญ จำนวนของฝ่ายการเมืองที่เข้าไปในกรรมการสรรหา มันพอดีที่จะบล็อค ไม่ให้การลงคะแนนสามในสี่เพื่อสรรหาคนเข้าสู่องค์กรอิสระส่งไปที่วุฒิสภาเกิดขึ้นได้ โหวตสิบที ยี่สิบทีก็ติดอยู่ตรงนั้น แล้วผลของมันคือทำให้เราเริ่มได้ตุลาการรัฐธรรมนูญบ้าง องค์กรอิสระตรวจสอบบ้าง ไม่ตรงครับ ไม่ตรงกับหลักการที่เราวางไว้ว่า เราต้องการให้มีองค์กรตรวจสอบที่เป็นอิสระ และเป็นกลางทางการเมือง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ไม่เป็นเครื่องมือให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเอาไปใช้กลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม ไม่สำเร็จครับ เพราะฉะนั้นมันจึงเดินไปสู่กระบวนการวิกฤตทางการเมืองอย่างที่เราเห็น เพราะมันเปิดช่องและบอกให้ประชาชนที่เป็นกลางส่วนใหญ่ให้เห็นได้ว่า เออจริง นี่ล่ะครับ เป็นจุดอ่อนที่สองที่เราก็พยายามแก้ จะสำเร็จหรือไม่ ก็ต้องรอดูการทำงาน ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการรับรองจากประชาชน

 

ในส่วนของคณะผู้ร่าง ค่อนข้างมั่นใจว่า องค์กรอิสระในกรอบการสรรหาใหม่ จะเป็นอิสระและเป็นกลางทางการเมืองจริงๆ ไม่เปิดช่องทางให้ฝ่ายการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงได้ นี่เป็นจุดที่สอง

 

จุดที่สาม เรามีเรื่องของสิ่งที่ขาดหายไปในรัฐธรรมนูญ 2540 คือเรื่องจริยธรรมและคุณธรรมของคนที่ทำงานให้แผ่นดิน คือคนที่จะมีอำนาจ ตั้งแต่ในบ้านเลยครับ บ้านไหนเอาอำนาจให้คนไม่มีจริยธรรมคุมอำนาจนั้น บ้านนั้นเสื่อม (คนปรบมือ) หมู่บ้านไหน ตำบลไหน อำเภอไหน จังหวัดไหน ประเทศไหน เหมือนกันครับ อำนาจนี่มันตัวร้าย มันเป็นตัวพาให้คนทำตามใจตัวเอง ฉะนั้น ที่ไหนมีอำนาจ นอกจากการคานอำนาจในทางภายนอกแล้ว ต้องมีการคานอำนาจภายในจิตใจของผู้ทรงอำนาจด้วย แต่รัฐธรรมนูญ 2540 พูดเรื่องนี้ ทำเรื่องนี้น้อยไป ไปเน้นองค์ประกอบภายนอก มีมาตราเดียว คือมาตรา 77 พูดว่า รัฐบาลต้องส่งเสริมเพิ่มพูนการพัฒนาเรื่องจริยธรรม แต่ไม่มีการดำเนินการเลย ผลของมันเป็นไงครับ ผลของมันคือที่ผ่านมา นักกฎหมายไทย นักการเมืองไทย ข้าราชการไทย คนที่มีอำนาจทั้งหลาย ไมได้คำนึงถึงเรื่องคุณธรรมจริยธรรมอย่างจริงจังครับ ไปเน้นเรื่องกฎหมาย จะทำอะไรเดี๋ยวเช็คกฎหมายสิ ถูกไหม ทำได้ไหม ถ้าถูกตามกฎหมาย ทำ โดยไม่คำนึงเลยครับ ว่าทำแล้วผลมันจะเสียหายอย่างไร จุดนี้ผมคิดว่า ทางสภาร่างรัฐธรรมนูญก็เติมเต็มเอาเรื่องจริยธรรมและคุณธรรมเข้ามากำกับผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง หรือข้าราชการประจำทุกระดับ ขอขอบพระคุณครับ

 

0 0 0

 

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 

การร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะฉบับไหน จะร่างจากการตั้งโจทย์ขึ้นมาก่อน โดยพยายามวิเคราะห์ปัญหาของบ้านเมืองในเชิงการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แล้วพยายามร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นคำตอบในการแก้ปัญหาที่เรามองเห็น

 

โจทย์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 กับรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังเสนอให้ลงประชามติ มีความตรงกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ทั้งสองฉบับมุ่งที่จะปฏิรูปการเมือง แต่วิธีการอธิบายโจทย์ของรัฐธรรมนูญ 40 ค่อนข้างกว้าง คืออย่างน้อยที่สุด เขาตั้งปัญหาขึ้นมาว่า รัฐบาลในระบบเลือกตั้งของประเทศไทยที่ผ่านมา มีปัญหา 3 ด้าน หนึ่ง คือ รัฐบาลในระบบเลือกตั้งมักอ่อนแอเกินไปในทางการเมือง จนไม่สามารถบริหารรัฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีเสถียรภาพบ้าง ต้องทะเลาะกันเอง ต้องฮั้วกันเองบ้าง

 

ประการที่สอง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นเองที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่บ่อยๆ ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็ละเมิดเหมือนกัน แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยังกลับไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่บ่อยๆ

 

ประการที่สาม ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่อ่อนแอและละเมิดสิทธิเสรีภาพ จะสามารถเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในโลกาภิวัตน์ได้อย่างไร

 

ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญ 40 จึงตอบปัญหาเหล่านี้ โดยให้สร้างคุณภาพของรัฐสภาขึ้น มีการใช้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ฯลฯ สอง ทำให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งขึ้น เพื่อจะใช้กลไกของรัฐหรือระบบราชการได้สะดวกขึ้น ถึงขนาดที่ในมาตรา 230 ยอมที่จะให้จัดแบ่งส่วนราชการเพื่อทำภารกิจเฉพาะบางอย่างโดยออกพระราชกฤษฎีกาแทนที่ต้องออกพระราชบัญญัติ นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นชัดเจนเลยว่า เขาต้องการให้ฝ่ายบริหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เลิกการที่ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลจำเป็นต้องฮั้วทางการเมืองระหว่างพรรค เพราะใครเป็นรัฐมนตรีก็ต้องหลุดจาก ส.ส. ทำให้นายกฯ มีอำนาจต่อรองกับรัฐมนตรีใน ครม. มากกว่า เป็นต้น

 

เขารู้ว่าฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งมีอันตรายค่อนข้างมาก จึงพยายามสร้างกลไกในการตรวจสอบ โดยมีวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่สังกัดพรรคการเมือง มีองค์กรอิสระ ให้สิทธิประชาชนในการเสนอกฎหมาย ฯลฯ ขณะเดียวกัน นอกจากอาศัยกลไกการเมืองในระบบเพื่อตรวจสอบควบคุมฝ่ายบริหารแล้ว  จำเป็นต้องมีสังคมที่มีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะเข้าไปตรวจสอบระบบการเมืองได้ด้วย ดังนั้น จึงให้หลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพไว้หลายอย่าง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ดีพร้อม ควรแก้ไขเพิ่มเติม แต่หลักคิดนั้น มี

 

สี่ ที่เขาคิดถึงแต่ไม่มากนัก ในโลกปัจจุบัน สิ่งที่เป็นอันตรายต่อประชาชน ต่อประเทศชาติที่สุดอย่างหนึ่ง คือ ทุน ที่เข้ามาครอบงำทางการเมืองก็ได้ ขณะเดียวกันเบียดเบียนเอาเปรียบผู้อื่นก็ได้ โดยรัฐธรรมนูญ 40 ได้พยายามระวังไม่ให้ทุนเข้ามาครอบงำทางการเมือง หลักเกณฑ์เรื่องเจ้าของหุ้นต้องไปให้คนอื่นถือแทนหรือไปซุกเอาไว้ที่ไหนก็มีบัญญัติไว้ แต่ไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมีรัฐธรรมนูญที่ดีกว่า 40 จะลืมอันตรายจากทุนไม่ได้ ต้องคิดว่าจะบัญญัติอย่างไรให้ประเทศชาติและประชาชนปลอดภัยจากการเบียดเบียนของทุนให้ได้

 

จนกระทั่งก่อนถึงการรัฐประหาร 19 กันยา 49 ผมคิดว่า ทุกฝ่ายยอมรับข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 40 แม้แต่คุณทักษิณเองก็ยอมรับว่า หลังเลือกตั้งจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเห็นตามนี้โดยความจริงใจหรือเพราะโดนกดดันก็ตาม แต่ทุกฝ่ายยอมรับว่าจะต้องแก้รัฐธรรมนูญ 40

 

ถ้าสมมติว่า โอกาสของการแก้ไขเกิดขึ้นโดยไม่มีรัฐประหาร อะไรจะเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ 40 ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้นก็คือ

 

หนึ่ง ประชาชนจะมีส่วนร่วมรอบด้านมากขึ้น การมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ใช่ตั้งกรรมาธิการออกไปนั่งฟังเสียงประชาชนตามจังหวัดต่างๆ อย่างเดียว แต่รัฐธรรมนูญ 40 มีการเคลื่อนไหวในภาคสังคม เพื่อผลักดันให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดสิ่งที่คนต้องการเข้ามาหลายอย่างด้วยกัน กฎหมายเรื่องสิทธิชุมชนก็ไม่ได้เกิดจาก ส.ส.ร. ในชุดนั้นเองโดยทันที แต่มีการเคลื่อนไหวผลักดันในภาคประชาชนมาก่อน กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ก็ไม่ได้เกิดโดย ส.ส.ร. เอง แต่มีการผลักดันในประชาชนมาก่อน บรรยากาศที่มีเสรีภาพเช่นนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการร่างรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น ถ้ามีการร่างรัฐธรรมนูญภายใต้บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนจะมีส่วนร่วมรอบด้านมากขึ้น

 

สอง ที่ผมคิดว่าสำคัญมาก คือประสบการณ์ เราใช้รัฐธรรมนูญ 40 มาเกือบ 10 ปี มีคนจำนวนมากมายหลายกลุ่มที่เผชิญปัญหาของรัฐธรรมนูญ 40 ชาวบ้านก็เผชิญ แรงงานก็เผชิญ ชนชั้นกลาง นักการเมืองก็เผชิญ ผมหวังว่าถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประสบการณ์จริงเหล่านี้จะถูกส่งเข้ามายังสภาที่จะมีหน้าที่แก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การคิดเอาเอง แต่มาจากประสบการณ์จริงของคนกลุ่มต่างๆ แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้น

 

ในขณะที่มีการรัฐประหารและมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ถามว่า โจทย์สามข้อที่พูดเมื่อสักครู่ คือฝ่ายบริหารที่อ่อนแอเกินไปไม่ได้ การเผชิญปัญหาคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งจากทุนและรัฐ ไทยจะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไร โจทย์นี้ยังมีอยู่จริงในสังคมไทย เพราะฉะนั้น การร่างรัฐธรรมนูญ 50 ผมคิดว่า ตั้งโจทย์เอาไว้แคบเกิน เพราะโจทย์สามอย่างถูกทิ้งไปอย่างน้อย 2-3 คำถาม เหลือไว้เพียงเรื่องของรัฐบาลที่เข้มแข็งเกินไปจะทำให้เกิดการใช้อำนาจที่ในทางฉ้อฉล ในทางมิชอบ ซึ่งยอมรับว่าบกพร่องจริง แต่จะแก้อย่างไร นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง  

 

โดยสรุป รัฐธรรมนูญ 50 ตั้งโจทย์ไว้แคบเกินไป แคบทั้งแง่คำถาม และดึงเอาประสบการณ์ของคนจำนวนน้อยคือเฉพาะชนชั้นกลางในเมืองเท่านั้นมาตอบปัญหา ไม่ได้มองประสบการณ์ทางการเมืองของชนชั้นล่าง เพราะไปด่วนสรุปเสียก่อนว่า ชนชั้นล่างซื้อสิทธิขายเสียงเพียงอย่างเดียว จริงๆ จะขายไม่ขายผมไม่ทราบ แต่เขามีปัญหาทางการเมืองที่เขาเผชิญอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 40 เหมือนกัน น่าจะเอาประสบการณ์ของเขาเข้ามาใช้เป็นประโยชน์ในการร่าง 

 

ทีนี้ คำตอบของโจทย์รัฐธรรมนูญ 50 คืออะไร ผมคิดว่า คำตอบของโจทย์ที่แคบอยู่แล้วคือ หนึ่ง ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอในทางการเมือง โดยทำให้รัฐบาลที่ผสมน้อยพรรคเกิดขึ้นได้ยาก จะมีรัฐบาลผสมหลายพรรค เช่นเดียวกับสภาพการเมืองไทยก่อนหน้าที่จะใช้รัฐธรรมนูญ 40 ระบบตัวแทนมีปัญหา เพราะใช้เขตเลือกตั้งที่ใหญ่มาก ประชาชนจะสัมพันธ์กับผู้แทนได้เบาบางลง ต้องอาศัยตัวกลางในการสัมพันธ์กับผู้แทนมากขึ้น ระบบตัวแทนหายไปหรือมีพลังน้อยลงนั่นเอง

 

สอง การเมืองในระบบย่อมกลับไปสู่การฮั้วกันแบบที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้าปี 40 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หมายความว่า มีการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อไหร่ พรรคนี้ที่มาร่วมรัฐบาลก็ได้โควต้ากระทรวงนี้ไป พรรคนี้ได้กระทรวงนี้ไป พรรคนี้ได้กระทรวงนี้ไป โดยที่พรรคที่เป็นแกนกลางไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายยุ่มย่ามอะไรได้เลย ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า ระบบราชการไม่สามารถแยกเป็นส่วนๆ อย่างนั้นได้ จำเป็นต้องประสานงานกัน แต่นายกฯ กลับไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ประสานงานในระบบราชการได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ระบบราชการจะคุมรัฐบาล ถ้าเมื่อไหร่ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอ เมื่อนั้นระบบราชการจะคุมตัวนักการเมืองหรือระบบการเมืองแทนเสมอ

 

ยิ่งไปกว่านี้ ในรัฐธรรมนูญ 50 ซึ่งก็ทำคล้ายๆ รัฐธรรมนูญ 40 ไปยกอำนาจในการเลือกสรรคณะกรรมการองค์กรอิสระทั้งหลายให้ฝ่ายตุลาการไว้ค่อนข้างมาก ซึ่งจะเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะเท่ากับให้กรรมการองค์กรอิสระทั้งหลายมาจากข้าราชการเกษียณ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 40 ก็ทำแล้วได้ผลอย่างเดียวกัน คือค่อนข้างหนักไปที่ข้าราชการเกษียณ จะแก้ปัญหาเรื่ององค์กรอิสระถูกแทรกแซงอย่างไรนั้น คิดว่าไม่ง่ายด้วยการไปยกให้ตุลาการทำอย่างเดียว คงต้องทำอะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งจะไม่พูดถึงในที่นี้ แต่จะมีผลน่ากลัวที่จะตามมา 2 อย่างคือ

 

มีการก้าวก่ายแทรกแซงอำนาจอธิปไตยระหว่างกันเยอะมาก สอง ฝ่ายตุลาการเองเมื่อเข้าไปยุ่งกับการเมืองมากขึ้น ฝ่ายตุลาการจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในระบบราชการมากขึ้น ซึ่งจะเป็นอันตรายกับฝ่ายตุลาการเองในระยะยาว ฉะนั้น การเมืองในระบบนี้ นักการเมืองจะต้องประนีประนอมกับระบบข้าราชการค่อนข้างมาก

 

ระบบราชการไทยนั้นไม่เคยมีชื่อเสียงว่า ซื่อสัตย์สุจริต หรือริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากวิกฤตต่างๆ ได้ถ้าไม่มีคนข้างนอก

 

อย่าลืมว่ารัชกาลที่ 5 คือคนข้างนอก แล้วเข้ามาใช้ระบบราชการเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตในช่วงนั้น ไม่ใช่ระบบราชการสามารถแก้วิกฤตให้กับตัวเองได้หรือให้กับประเทศชาติได้ ผมจึงคิดว่า อันตรายมากกับระบบการเมืองของไทยที่ปล่อยให้ระบบราชการเข้ามาครอบงำสูงขนาดนี้

 

การตรวจสอบฝ่ายบริหารที่จะมีพลังที่สุด คือ สังคม ซึ่งจะตรวจสอบได้เมื่อมีสิทธิเสรีภาพ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ให้ไว้มากมาย อาจจะยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ 40 หรือ สอง คือต้องมีบทบาทในทางการเมือง สิทธิเสรีภาพที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ เมื่อไม่ได้ใช้ประสบการณ์ชาวบ้าน จึงมองไม่เห็นว่าสิทธิเสรีภาพหลายอย่างที่ให้ไว้ในรัฐธรรมนูญ 40 และขยายในรัฐธรรมนูญ 50 เป็นสิ่งที่มีในกระดาษ ไม่มีในของจริง เป็นต้นว่า สิทธิเสนอกฎหมาย ลดจำนวนเข้าชื่อจาก 5 หมื่นชื่อเหลือ 1 หมื่นชื่อ ซึ่งไม่มีความจำเป็น ที่สำคัญมากกว่า คือเข้าถึงสื่อ คุณจะบอกประชาชนทั้งประเทศได้อย่างไรว่า ทำไมเราจึงควรมีป่าชุมชนถ้าเข้าไม่ถึงสื่อ ถ้าเข้าถึงสื่อ แสนชื่อยังได้เลย

 

ร้ายไปกว่านั้น กฎหมายที่เสนอโผล่เข้าไปในสภา ถูกเรียงคิวไว้ท้ายสุด ดองไปจนเน่าหมดวาระไป ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ผมคิดว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเจตนาดี แต่ไม่ได้ใช้ประสบการณ์จริงของชาวบ้านมาศึกษาว่าจะขยายสิทธิเสรีภาพนั้นยังไง

 

อีกข้อ คือบทบาททางการเมือง รัฐธรรมนูญ 50 ไม่ได้ให้บทบาททางการเมืองกับชาวบ้านมากนัก เช่น โครงการของรัฐ คนที่ประมูลได้ไปจ้างนักวิชาการทำการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่เปิดเผยไม่ได้ ทั้งที่เป็นโครงการของรัฐ ผมคิดว่า รัฐธรรมนูญต้องสั่งให้เปิดเผยผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโครงการของรัฐให้ประชาชนรู้ ถ้าไม่รู้แล้วจะไปสู้ได้ยังไงว่าควรทำหรือไม่ แม้ให้สิทธิเยอะแยะไปหมด เช่น ชุมชนมีสิทธิฟ้อง แต่ต้องให้เขารู้ข้อเท็จจริงก่อน ซึ่งไม่มีทั้งในรัฐธรรมนูญ 40 และร่างฉบับปัจจุบัน

 

ไม่มีสิทธิรีคอล (ถอดถอน) ถ้าคุณคิดว่าผู้แทนของคุณไม่ได้เรื่อง ไม่ได้เป็นตัวแทนของคุณ น่าจะมีสิทธิถอดถอน ไม่ต้องขึ้นกับคณะกรรมการ เขาเป็นตัวแทนประชาชน ถ้าจำนวนผู้ที่ขอให้ถอดถอนมีถึงเท่านั้นเท่านี้เป็นเปอร์เซ็นต์เท่าไหร่ๆ ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก็เลือกตั้งใหม่ นี่คือบทบาททางการเมืองซึ่งรัฐธรรมนูญ 40 ก็ไม่ได้ให้ และฉบับนี้ก็ไม่ได้ให้

 

นอกจากร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ผมว่า เราต้องคิดถึงร่าง พ.ร.บ. อีก 4 ฉบับที่ผ่าน ครม. ไปแล้ว และกำลังจะเข้า สนช. อยู่ ทั้ง 4 ฉบับนั้นมีผลในการทำลายเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 50 หมด ไม่ว่าเรื่องของการกระจายอำนาจการปกครองก็ตาม ไม่ว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพก็ตาม เป็นการยกเว้นกฎหมายรัฐธรรมนูญเอาไว้ก่อนด้วยกฎหมายเล็กๆ ที่เป็นรองรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ เช่น กฎหมายว่าด้วยร่างระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นต้น

 

ผมจึงคิดว่าจำเป็นที่เราจะต้องเริ่มต้นจากการพยายามมองหาสิ่งที่เป็นความชอบธรรมทางการเมืองที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ผมไม่เชื่อว่า การเมืองจะสงบได้ ถ้าคุณผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะว่าจะมีคนจำนวนหลายล้านคนที่ออกมาลงประชามติ และไม่ได้ออกมาลงประชามติ ที่เห็นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ชอบธรรม คุณไม่สามารถมีการเมืองที่สงบโดยมีประชาชนเป็นหลายล้านคนรู้สึกว่า รัฐบาลไม่ชอบธรรม สภาก็ไม่ชอบธรรม ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ชอบธรรม ไอ้นั่นไอ้นี่ก็ไม่ชอบธรรมหมด เป็นไปไม่ได้

 

ฉะนั้น ผมคิดว่า จำเป็นจะต้องไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อทำให้ คมช.และรัฐบาลหันไปเลือกรัฐธรรมนูญที่เป็นไปได้มากที่สุด คือรัฐธรรมนูญปี 40 ขอบพระคุณมากครับ  

 

 

 คำ ถ า ม ถึ ง  นิ ธิ  เ อี ย ว ศ รี ว ง ศ์

 

 

คำถามแรก : ประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีมากกว่าในปี 2540 จะเป็นเหตุให้นำไปสู่การสมควรรับร่างฉบับนี้ได้หรือไหม

นิธิ : ในทัศนะของผมก็คือ ไม่ได้ เวลาเราพูดถึงรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่มองเพียงแต่ละมาตรา จำเป็นต้องเข้าใจโครงสร้างทั้งหมดของรัฐธรรมนูญ มากกว่าจะมองว่ามาตรานั้นดี มาตรานี้ดี ต้องมองเป็นองค์รวมทั้งหมด และผมคิดว่า สิทธิเสรีภาพที่ขยายเพิ่มมากขึ้นหลายอย่างด้วยกัน ผมเชื่อว่ามันมีประโยชน์ เป็นต้นว่า คุณสามารถอ้างรัฐธรรมนูญเพื่อใช้เป็นคดีในศาลได้ อันนี้ดีมากๆ เลย แต่ผมคิดว่ามันไม่พอ สำหรับข้อบกพร่องทั้งหมดของตัวร่างรัฐธรรมนูญ

 

นอกจากนั้นแล้ว ตัวสิทธิเสรีภาพที่ให้ขยายขึ้นมาเอง มันเกาไม่ถูกที่คัน คือไม่ใช่จุดที่ประชาชนเดือดร้อนในเรื่องนั้นจริงๆ จึงไม่ค่อยได้ประโยชน์มากนัก บางอันได้ แต่ไม่ใช่ได้ทุกอัน หลายอันผมคิดว่าไม่มีประโยชน์เท่าไร

 

 

คำถามที่สอง : รัฐธรรมนูญ 2550 จะทำให้การเมืองอ่อนแอ ระบบราชการ ตุลาการเข้มแข็งขึ้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อประเทศไทยโดยรวม

นิธิ : คือถ้าดูจากประสบการณ์การเมืองไทยในอดีต ตั้งแต่ประมาณ 2500 จนถึงประมาณ 2540 จะพบว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แทบจะไม่สามารถริเริ่มนโยบายใหม่ๆ อะไรได้เลย ยกตัวอย่าง คุณจะปฏิรูปการศึกษา คุณก็จะมีครูจำนวนมากในประเทศไทยออกมาต่อต้าน เพราะกลัวจะกระทบผลประโยชน์ตนเอง คุณปฏิรูปอะไรไม่ได้สักอย่างหนึ่งในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะว่าพลังทางการเมืองของคุณอ่อนแอเกินไปกว่าที่คุณจะเป็นผู้นำที่แท้จริงได้ ถามว่าถ้าเป็นอย่างนี้ประเทศไทยเผชิญปัญหาอะไรบ้าง มากมายนะครับ

 

ที่เราได้ยินข่าวเรื่องโรงงานปิดทุกวันนี้ จริงๆ นักเศรษฐศาสตร์เตือนมา 25 ปีมาแล้วว่า ถ้าคุณไม่ปฏิรูประบบการศึกษาไทย แรงงานของเราจะเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งไม่มีทางแข่งเวียดนาม หรือจีน หรืออินเดียได้เลย ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น แรงงานของเราจะไปไม่รอด แต่ความพยายามในการปฏิรูปการศึกษาของเรา ทำไม่สำเร็จ เพราะถ้าคุณต้องประนีประนอมกับระบบราชการ สิ่งที่คุณต้องประนีประนอมคือ อย่าไปขัดแย้งผลประโยชน์ของระบบราชการ และระบบราชการในประเทศไทยคืออภิสิทธิ์ชน ปฏิเสธเรื่องนี้ไม่ได้ แล้วอภิสิทธิ์ชนที่ไหนในโลกนี้ที่จะบอกว่า ตัดผลประโยชน์ตัวเองทิ้งเพื่อส่วนรวม ไม่มีหรอกครับ

 

 

 

 

 

 

 คำ ถ า ม ถึ ง  จ รั ญ  ภั ก ดี ธ น า กุ ล

 

 

คำถามที่หนึ่ง : การสรรหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นการให้อำนาจแก่ฝ่ายตุลาการมากเกินไปหรือไหม แล้วจะทำให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงฝ่ายตุลาการ จนเป็นปัญหากับฝ่ายตุลาการหรือไหม

จรัญ : ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ คำถามนี้เข้ามาคุกคามคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ตลอดมาตั้งแต่ต้น ว่าระวังนะ ตุลาการภิวัฒน์มันจะเกินไปนะ จะเกินขอบเขต และจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย ท่านครับ เราระมัดระวังจริงๆ แล้วก็ค่อยๆ ตัดออก จัดเอาไว้เฉพาะเท่าที่จำเป็นจริงๆ

 

ทีนี้ จำเป็นตรงไหน จำเป็นตรงที่ในบางพื้นที่ ในการบริหารจัดการบ้านเมือง เราต้องการความเป็นอิสระและเป็นกลางทางการเมืองจริงๆ มันถึงจะทำให้ภารกิจตรงนั้นมีประสิทธิภาพได้ เราก็ลองดูว่า ในองค์กรในบ้านเรา มีองค์กรไหนที่เป็นกลางทางการเมืองมากที่สุด คือถูกครอบงำทางการเมืองน้อยที่สุด แล้วก็มีความเข้มแข็งพอที่จะต้านพลังทางการเมือง ซึ่งเป็นพลังที่ใหญ่ที่สุดในฐานะที่ได้รับอาณัติมาจากประชาชนเอาไว้พอได้ ไม่มีครับ เราก็เหลือเพียง..ไพ่ในมือก็เหลือเพียงองค์กรเดียว คือองค์กรตุลาการ

 

เพราะฉะนั้น ท่านครับ... ถ้าเราถามว่า การสรรหาบุคคลเข้าไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ท่านต้องการให้เขาเป็นกลางและเป็นอิสระทางการเมืองไหม ถ้าต้องการ กระบวนการสรรหาต้องมั่นคงว่า ได้คนที่เป็นอิสระและเป็นกลางในการสรรหา

 

ด้วยเหตุนี้จึงยังจำเป็นต้องคงเอาทางฝ่ายตุลาการทั้งสามศาลมาเป็นหลักเอาไว้ ถามว่าให้ฝ่ายตุลาการเพียงฝ่ายเดียว มันจะรวบอำนาจไปอยู่ฝ่ายตุลาการมากไปไหม เราก็ห่วงใยตรงนั้น เพราะฉะนั้นจึงต้องดึงเอาองค์กรอื่นที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลางทางการเมืองในระดับที่เข้มข้นเข้ามาร่วมด้วย นั่นก็คือที่มาขององค์กรตรวจสอบองค์กรอิสระ และตัดส่วนของฝ่ายการเมืองออกไป นี่ก็เป็นที่มาที่เราคิด และอยากจะทำให้ได้ดุลยภาพพอดีๆ ไม่ให้ตุลาการภิวัฒน์มากจนเป็นอันตราย

 

 

คำถามที่สอง : ก่อนปี 2540 ก็เลือกพวงใหญ่มาแล้ว แล้วก็บอกกันว่าคนมีสิทธิ์เลือกตั้งไม่เท่ากัน แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นเขตเดียวเบอร์เดียว ไฉนปี 2550 จึงร่างถอยหลังเข้าคลองมาเป็นพวงใหญ่แบบโบราณอีก

จรัญ : ตรงนี้เป็นเรื่องที่เราฟังประชาชนจริงๆ คือคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ก็ดี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ดี ไม่มีฐานข้อมูลที่จะพิสูจน์ว่า ส่วนไหนดีกว่ากันหรือด้อยกว่ากัน สิ่งที่เราได้รับข้อมูลเข้ามา มีทั้งสองด้าน ฝ่ายที่โต้แย้งแสดงจุดอ่อนข้อด้อยของระบบเขตเดียวเบอร์เดียวนี่ มากเลยนะครับ เป็นระบบที่สู้กันอย่างไม่มีวันยอมแพ้ แพ้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องทุ่มกันสุดกำลัง การต่อสู้รุนแรงมาก เพราะแพ้แล้วมันหมายถึงทำลายภาพการเป็นคนของประชาชนในเขตนั้นไปทั้งหมด นี่เป็นจุดใหญ่ที่เราได้รับแจ้งเข้ามา

 

ฝ่ายสามคนเรียงเบอร์นั้น ในอดีตเคยทำมาแล้ว แล้วก็เห็นจุดอ่อนข้อด้อยมาแล้วเหมือนกัน ข้อสำคัญของสามคนเรียงเบอร์ที่เป็นจุดอ่อนก็คือ ไม่ให้ความเสมอภาคกับประชาชน ประชาชนบางจังหวัด เขามีเขตเดียว มี ส.ส.ได้คนเดียว เขาก็เลือกได้เสียงเดียวได้คนเดียว แต่ประชาชนในจังหวัดใหญ่ๆ เขาเลือกได้สามคน ความรู้สึกไม่เสมอภาคอย่างนี้มี

 

เราก็ตรวจสอบครับ แล้วก็ได้พบว่า ข้อโต้แย้งเรื่องความไม่เสมอภาคในระบบสามคนเรียงเบอร์ ไม่ใช่มาจากประชาชนครับ มาจากนักวิชาการ เพราะอันนี้เป็นหลักคิดทางหลักวิชา แต่ประชาชนที่เราออกไปรับฟังความคิดเห็นนี้ ท่านไม่แปลกครับ ส่วนใหญ่จะเอียงไปทางสามคนเรียงเบอร์ เพราะอย่างนี้ครับ เพราะท่านบอกว่า สามคนเรียงเบอร์ ประชาชนมีสิทธิ์มากขึ้น ได้เลือกสามคน จะได้ไม่ต้องรักพี่เสียดายน้อง ถ้าเขตเดียวเบอร์เดียว ท่านเลือกได้คนเดียว แต่ในใจของท่านมันมีหลายคน เช่น คนที่ท่านรักจริงๆ คนหนึ่ง ส่วน คนที่พรรคการเมืองที่ท่านศรัทธาอีกคนนึง และคนที่มีการฝากมานอกระบบอีกคนหนึ่งล่ะ ถ้าเขตเดียวเบอร์เดียว ประชาชนก็ต้องทิ้งสองคน เลือกหนึ่ง แต่ถ้าเราใช้สามคนเรียงเบอร์ ประชาชนท่านบอก ดีครับ เขาจะได้เลือกใช้สิทธิ์มากขึ้น

 

 

 

 

 

 

ดูวิดีโอคลิปดีเบตได้ที่  http://www.prachatai.com/live/20070803

 

 

 

............................

เกี่ยวข้อง

บทคัดย่อ "ดีเบต" รธน.40 VS รธน. 50 : จรัญ-เจิมศักดิ์-สมคิด VS นิธิ-จาตุรนต์-วรเจตน์

คำต่อคำ ดีเบต "รับ-ไม่รับ" รธน.50 : เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง vs จาตุรนต์ ฉายแสง

คำต่อคำ ดีเบตประวัติศาสตร์ "รับ-ไม่รับ" รธน.50 : สมคิด เลิศไพฑูรย์ VS วรเจตน์ ภาคีรัตน์

คำต่อคำ ดีเบต "รับ ไม่รับ" รธน.50 : บทสรุปสองฝ่าย โดย "วรเจตน์" และ "จรัญ"

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net