บทความ ธีระ สุธีวรางกูร: "หลักแห่งความยุติธรรม กับ มาตรา 309 ของร่างรัฐธรรมนูญ"

ธีระ สุธีวรางกูร

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

การ รับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้บรรดาการต่างๆ ตามบทบัญญัติใน มาตรา ๓๐๙ ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติ เป็นข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งซึ่งบรรดานักวิชาการและบุคคลทั่วไปใช้เป็น เหตุผลสำคัญในการตัดสินใจไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

 

เป็น ที่น่าสังเกตอยู่ว่า แม้ร่างรัฐธรรมนูญมาตรานี้จะถูกตั้งข้อสงสัยถึงความเหมาะสมชอบธรรมต่อการ เขียนกฎหมายในลักษณะเช่นนี้อย่างไร หากทว่าสำหรับผู้มีส่วนในการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว กล่าวได้ว่าแทบจะไม่มีคำอธิบายใด ในต่างกรรมต่างวาระ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนเพียงพอถึงความหมายอันแท้จริงของมาตรา ดังกล่าว

 

บท ความนี้เขียนขึ้นเพื่อพยายามอธิบายพร้อมกับการวิจารณ์ มาตรา ๓๐๙ ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติ อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่เนื้อหาของมาตรานี้มีลักษณะที่เชื่อมโยงกับกรณีต่างๆ อีกหลายเรื่อง ฉะนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจง่ายขึ้น จึงสมควรแยกพิจารณาเรื่องนี้ออกเป็น สาระสำคัญทั่วไป เหตุผลในการรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และผลในทางกฎหมาย ของร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๙ กันโดยลำดับ

 

๑. สาระสำคัญทั่วไปของร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๙

 

๑.๑ มาตรา ๓๐๙ ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติ มีเนื้อความอยู่ว่าบรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำเหล่านั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้

 

๑.๒ จากเนื้อความของร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๙ ข้างต้น การทำความเข้าใจบทบัญญัติมาตราดังกล่าวนี้ จำเป็นอยู่เองที่ต้องพิจารณาเชื่อมโยงไปกับการรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และความชอบด้วยกฎหมายให้กับประกาศ คปค. คำสั่งหัวหน้า คปค. และการปฏิบัติตามประกาศ หรือคำสั่งนั้นๆ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา ๓๖

 

๑.๓ โดยบทบัญญัติในมาตรา ๓๖ ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) กล่าวโดยเนื้อหา จะพบว่าในบรรดาประกาศ คปค. หรือคำสั่งหัวหน้า คปค. ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด หรือสั่งให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือ ตุลาการ อย่างไร หากได้เป็นประกาศหรือคำสั่งที่ออกมาในระหว่างวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ไปจนถึงวันที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีผลใช้บังคับแล้ว ประการหนึ่งคือ จะได้รับการรับรองให้มีผลใช้บังคับได้ต่อไป และอีกประการหนึ่งคือ จะมีรับการรับรองให้บรรดาประกาศและคำสั่งเหล่านั้นรวมตลอดถึงการปฏิบัติตาม ประกาศหรือคำสั่งนั้นๆ เป็นประกาศหรือคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อนึ่ง สำหรับการปฏิบัติตามประกาศ คปค. หรือคำสั่งหัวหน้า คปค. โดยองค์กรหรือเจ้าหน้าที่ต่างๆ ของรัฐ รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา ๓๖ ก็ยังรับรองให้การปฏิบัติทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ มีความชอบทั้งในทางรัฐธรรมนูญและกฎหมายด้วย แม้จะได้มีปฏิบัติภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีผลใช้บังคับ

 

๑.๔ จากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา ๓๖ ข้างต้น เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับมาตรา ๓๐๙ ของร่างรัฐธรรมนูญแล้ว สาระสำคัญทั่วไปของร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๙ จึงมีอยู่ว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญ มาตรานี้ ได้บัญญัติให้บรรดาการใดๆ หรือการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการเหล่านั้น ซึ่งได้ถูกรับรองความชอบเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา ๓๖ ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ด้วย กรณีจึงหมายความว่า นอกจากรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) จะรับรองให้ประกาศ คปค. คำสั่งของหัวหน้า คปค. และการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยบทบัญญัติในมาตรา ๓๐๙ ของร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังผลให้ประกาศ คปค. คำสั่งของหัวหน้า คปค. และการปฏิบัติตามประกาศและคำสั่งดังกล่าว ต่างก็ได้รับการรับรองให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญต่อเนื่องกันไปเป็นอีก คราวหนึ่ง และก็เช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา ๓๖ ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๙ ก็ยังรับรองให้การปฏิบัติตามประกาศ คปค. หรือคำสั่งของหัวหน้า คปค. นั้นมีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วย แม้จะได้กระทำขึ้นภายหลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลใช้บังคับ เช่นกัน

 

๒. เหตุผลของการรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๙

 

๒.๑ มีคำอธิบายจากบรรดาผู้มีส่วนยกร่างรัฐธรรมนูญทำนองว่า ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๙ นั้นหาได้เป็นการรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้กับบรรดาการต่างๆ ซึ่งมิชอบอย่างใดไม่ หากเป็นแต่เพียงการรับรองให้การทั้งหลายที่ชอบอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา ๓๖ นั้นคงความชอบอยู่ต่อไปตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เท่านั้น คำอธิบายดังกล่าวนี้เป็นเช่นนั้นหรือไม่ คงจำเป็นจะต้องพิจารณาย้อนกลับไปนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน

 

๒.๒ นับจากวันที่มีการรัฐประหารจนถึงวันที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว)พ.ศ. ๒๕๔๙ มีผลใช้บังคับ หากสำรวจตรวจดูจะพบว่า คปค. ได้ออกประกาศ คปค. รวมประมาณ ๓๖ ฉบับ นอกจากนั้น หัวหน้า คปค. ก็ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คปค. อีกประมาณ ๒๘ ฉบับ บรรดาประกาศ คปค.และคำสั่งหัวหน้า คปค.เหล่านี้ เมื่อพิจารณาโดยรวม จะเห็นว่าต่างก็มีเนื้อหาสำคัญอยู่ในหลายลักษณะ กล่าวคือ ทั้งเป็นการจัดองค์กรของรัฐขึ้นใหม่ เป็นการกำหนดอำนาจหน้าที่ใหม่ให้กับองค์กรของรัฐ เป็นการกำหนดแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นการกำหนดโทษแบบใหม่สำหรับการกระทำบางอย่างอันมิชอบด้วยกฎหมาย หรือแม้กระทั่งเป็นการกำหนดข้อห้ามมิให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดกระทำการ อย่างหนึ่งอย่างใด เป็นต้น อนึ่ง สมควรตั้งข้อสังเกตด้วยว่า บรรดาประกาศ คปค. หรือ คำสั่งหัวหน้า คปค. ดังกล่าวนี้ บางเรื่องจะมีสถานะเทียบเท่ารัฐธรรมนูญ บางเรื่องจะมีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ และบางเรื่องก็มีสถานะเทียบเท่ากับกฎหรือคำสั่งทางปกครอง สุดแท้แต่ลักษณะในทางเนื้อหา ตามแต่กรณี

 

๒.๓ เมื่อต้องพิเคราะห์ว่าด้วยเหตุใดจึงมีการรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้ กับบรรดาการต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๙ ต่อความข้อนี้ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องหาคำอธิบายให้พบก่อนว่า เพราะเหตุใดรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ มาตรา ๓๖ จึงต้องบัญญัติรับรองให้บรรดาประกาศ คปค. หรือคำสั่งหัวหน้า คปค. และการปฏิบัติทั้งหลายตามประกาศและคำสั่งดังกล่าว นั้นชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

 

๒.๔ กรณีที่ประเทศอยู่ในภาวะปกติ การกระทำทั้งหลายขององค์กรของรัฐ ไม่ว่าจะในทางใด ต่างก็ตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบควบคุมถึงความชอบด้วยกฎหมายและความชอบด้วย รัฐธรรมนูญ ตามแต่กรณี ทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ช่วงเวลาหลังการรัฐประหารไปจนถึงเวลาก่อนที่รัฐธรรมนูญ ( ฉบับชั่วคราว ) พ.ศ. ๒๕๔๙ จะมีผลใช้บังคับ ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ ๒๕๔๐ ได้ถูกยกเลิกไปโดยคณะรัฐประหาร ประกอบกับประเทศก็กำลังตกอยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติ การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของบรรดาประกาศ คปค. คำสั่งของหัวหน้า คปค. และการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว จึงเป็นอันเหลือวิสัยต่อการที่จะกระทำเช่นนั้น

 

๒.๕ อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ จะต้องถูกนำมาประกาศใช้ อีกทั้งระบบการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายกำลังจะ เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนี้ เมื่อสิ่งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือชอบด้วยกฎหมายในทางเนื้อหา ย่อมสามารถดำรงความชอบอยู่ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปทำการรับรองว่าให้มันชอบ การบัญญัติรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายให้กับบรรดา ประกาศ คปค. คำสั่งหัวหน้า คปค. และการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา ๓๖ จึงมิอาจจะมองให้เห็นเป็นอย่างอื่นได้นอกจากว่า ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ยอมรับเป็นปริยายว่า ประกาศ คปค. คำสั่งหัวหน้า คปค.และการปฏิบัติตามประกาศและคำสั่งเหล่านั้น ย่อมมีเนื้อหาหรืออาจมีเนื้อหาอันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จึงจำเป็นต้องบัญญัติรับรองในรัฐธรรมนูญเอาไว้ว่าให้มันชอบเพื่อมิให้เกิด ปัญหาภายหลังตามมา

 

๒.๖ จากที่กล่าวมานี้ คำอธิบายจากบรรดาผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติที่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๙ เป็นแต่เพียงการรับรองให้การทั้งหลายที่ชอบอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว ) มาตรา ๓๖ นั้นคงความชอบอยู่ต่อไปตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเป็นเพียงการให้คำอธิบายที่หลีกเลี่ยงต่อการกล่าวถึงข้อเท็จจริงทั้งหมด แบบยึดโยงไปถึงเหตุความจำเป็นของการที่ต้องรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและ กฎหมายให้กับบรรดาประกาศ คปค. คำสั่งหัวหน้า คปค. และการปฏิบัติตามประกาศและคำสั่งเหล่านั้นตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา ๓๖ ด้วยเหตุนี้ เหตุผลของการยกร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๙ ดังนี้ แท้ที่จริง จึงเป็นเพียงเพื่อให้ประกาศ คปค. คำสั่งหัวหน้า คปค. และการปฎิบัติตามประกาศและคำสั่งดังกล่าว ซึ่งโดยเนื้อหานั้นอาจจะมีความไม่ชอบมาตั้งแต่ต้น ได้รับการรับรองให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญต่อเนื่องกันไปหลังจากที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา ๓๖ ได้บัญญัติรับรองความชอบมาแล้วครั้งหนึ่ง

 

๓. ผลในทางกฎหมายของร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๙

 

๓.๑ หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกนำไปใช้บังคับ เบื้องต้นแล้ว ประกาศ คปค. คำสั่งหัวหน้าคปค.และการปฏิบัติตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวที่ได้กระทำมา แล้ว ไม่ว่าจะมีรูปแบบหรือเนื้อหาที่มิชอบอย่างไร การต่างๆ และการปฏิบัติเหล่านั้นย่อมถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปทั้งหมด ยิ่งกว่านั้น เมื่อมาตรา ๓๐๙ ของร่างรัฐธรรมนูญได้รับรองให้การปฏิบัติตาม ประกาศ คปค. หรือคำสั่งหัวหน้า คปค. ซึ่งแม้จะเกิดขึ้นภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับ นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญอยู่ด้วย ผลของการนี้ ไม่ว่าการปฏิบัติทั้งหลายของบรรดาองค์กรของรัฐจะเกิดขึ้นเมื่อใดในอนาคต และมิว่าจะมีรูปแบบหรือเนื้อหาที่มิชอบอย่างไร การปฏิบัติดังกล่าวก็ย่อมถูกถือว่าให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปเสียทั้งหมด

 

๓.๒ การรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบรรดาประกาศ คปค. คำสั่งหัวหน้า คปค. และการปฏิบัติตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวเช่นนี้ พิจารณาโดยระบบกฎหมาย ย่อมมีผลเป็นการตัดอำนาจการตรวจสอบถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบรรดาการ ต่างๆ และการปฏิบัติทั้งหลายเหล่านั้น โดยเฉพาะจากองค์กรตุลาการไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง หรือแม้กระทั่งศาลยุติธรรม เสียสิ้น ในกรณีหากมีคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอให้ตรวจสอบถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการ เหล่านั้น โดยผลจากมาตรา ๓๐๙ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ศาลย่อมมิอาจจะทำอะไรได้ นอกเสียจากวินิจฉัยเป็นปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้น ไม่รับคดีนั้นๆ ไว้พิพากษาหรือวินิจฉัย เพราะรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวนี้ได้บัญญัติรับรองเอาไว้ว่าให้มันชอบ

 

๓.๓ นอกจากจะเป็นบทบัญญัติซึ่งทำลายหลักนิติธรรมของประเทศ และเป็นบทบัญญัติที่มิควรจะดำรงอยู่ในรัฐธรรมนูญอันถือเป็นกฎหมายสูงสุดแล้ว มาตรา ๓๐๙ ของร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้ ยังก่อให้เกิดอันตรายอย่างยิ่งกับสิทธิและเสรีภาพของบุคคลผู้ต้องตกอยู่ภาย ใต้บังคับของ ประกาศ คปค. คำสั่งหัวหน้า คปค. และการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว กล่าวกันให้แจ้งชัด มิว่าผู้ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของบรรดาประกาศคำสั่งหรือการปฏิบัติตาม ประกาศคำสั่งเหล่านั้นจะถูกกระทำโดยมิชอบอย่างไร และมิว่าการกระทำนั้นๆ จะได้เกิดขึ้นมาจากก่อนหน้านี้ หรือจะเกิดขึ้นต่อไปหลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ผู้ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของบรรดาประกาศคำสั่งเหล่านี้ ก็มิอาจขอรับความเป็นธรรมในทางกฎหมายได้ อีกทั้งประกาศคำสั่งและการปฏิบัติตามประกาศคำสั่งดังกล่าว ก็มิต้องตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในทางใดได้อีก และประการสำคัญ ผู้กระทำการต่างๆ อันมิชอบโดยเนื้อหาจากมาตรวัดในทางรัฐธรรมนูญ ต่างย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดไปโดยสิ้นเชิง

 

 ๓.๔ จำเป็นต้องกล่าวด้วยว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทบัญญัติที่รับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรี ภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐ แต่เมื่อบทบัญญัติเช่นว่านี้ ผู้ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของประกาศ คปค. คำสั่งหัวหน้า คปค. และการปฏิบัติตามประกาศคำสั่งดังกล่าว ต่างก็มิอาจนำเอามาใช้เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพอันพึงมีพึงได้ของตน เสมอเหมือนกับบุคคลอื่น ดังนี้ โดยเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๙ เช่นนี้ จึงย่อมไม่เกินเลยหากจะกล่าวว่าร่างรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว ได้ทำลายหลักความเสมอภาคต่อการจะได้รับการอำนวยความยุติธรรมจากรัฐ ด้วยตัวของรัฐธรรมนูญมาตรานี้ เอง

 

โดย สรุปจากที่กล่าวมาข้างต้นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๙ บทบัญญัติที่มีผลเป็นการทำลายระบบความยุติธรรมของประเทศ และทำลายหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญเช่นนี้ สมควรจะได้รับการรับรองให้นำไปบังคับใช้หรือไม่ คำตอบจะอยู่ที่การวินิจฉัยของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท