Skip to main content
sharethis

โดย สดใส สร่างโศรก


เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคอีสาน


 



 


"... ชาวบ้านที่มาตั้งบ้านท่าแพมีวัตถุประสงค์ก็เพื่อจะหาปลา อาชีพหลักก่อนสร้างเขื่อนจึงเป็นอาชีพประมง มีบ้างบางคนที่หาของป่าเป็นอาชีพรอง เนื่องจากภูมิประเทศส่วนใหญ่ของบ้านท่าแพเป็นโคก และทำเกษตรในตามริมมูนและห้วย ส่วนทำนาหว่านทำในพื้นที่ที่กลายเป็นเขตป่าสงวนในปัจจุบัน พวกที่มาประกอบอาชีพรับจ้างส่วนใหญ่เป็นชาวลาวที่อพยพเข้ามา ...


 


…ชาวลาวกลุ่มนี้ยังออกไปรับจ้างนอกพื้นที่ด้วยหลังฤดูการหาปลา แต่ชาวบ้านท่าแพไม่นิยมออกไปหาปลานอกพื้นที่ เนื่องจากปลาที่บริเวณปากมูน ซึ่งเต็มไปด้วยขุม เกาะแก่งจำนวนมากถือว่าเป็นจุดที่ปลาชุกชุมมากที่สุด หาปลาเฉพาะในช่วงฤดูปลาขึ้นก็พอแล้ว"


 


คำบอกเล่าเพียงไม่กี่ประโยคของจันทร์เพ็ญ ไชยสัตย์ อายุ ๔๑ ปี ชาวบ้านท่าแพ ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ทำให้เห็นภาพของวิถีการดำรงชีวิตของชุมชนริมแม่น้ำมูนรอบเขื่อนปากมูลได้อย่างชัดเจน ชัดยิ่งกว่าอ่านวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาเอกที่มีอยู่ในโลกนี้ ถ้อยคำที่พรั่งพรู เป็นคำระบายมากว่าการบอกเล่า ด้วยสิ่งที่เธอระบายนั้น มันมาจากหัวใจที่ปวดร้าว ... หัวใจของผู้สูญเสีย

ความหวงแหนและความเข้าใจถึงคุณค่าของความอุดมทางทรัพยากรธรรมชาติ และภาพความประทับใจในความพอเพียงของชีวิตได้เป็นพลังให้ชาวบ้านยืนหยัดที่จะรักษาและปกป้องมานานนับนาน และ... ตราบจนสิ้นลมหายใจ

บ้านท่าแพ ก่อนนี้มีชื่อว่า "บ้านโนนหินแห่" (หินแห่หรือหินแฮ่ หมายถึงดินลูกกรัง) หากผินหน้าสู่น้ำโขง โนนหินแห่จะตั้งอยู่บนฝั่งขวาของริมแม่น้ำมูน เคยเป็นหมู่บ้านเดียวกับบ้านด่านเก่า หมู่ ๑ ตำบลโขงเจียม ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน และเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ท้ายเขื่อนปากมูล

ช่วงที่เริ่มบุกเบิกก่อตั้งหมู่บ้านเมื่อราวๆ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ มีชาวบ้านประมาณ ๑๐ ครอบครัว ได้แก่ครอบครัวของนายคำพูน สอนอาจ นายชาย วงศ์ลา นายเสริม ปทุมมา นายทอง ผาสุก นายบัว ลาลักษณ์ นายเสาร์ วงศ์ลักษณ์ นายเที่ยง ไชยสัตย์ นายพรหมมา มั่นคง และนายเหลี่ยม ทองคำ โดยเลือกเอาชัยภูมิตรงบริเวณริมแม่น้ำมูน ตั้งแต่ปากแม่น้ำไปจนถึงใต้แก่งตะนะ

แก่งตะนะ คือบริเวณที่ร่ำลือกันว่ามีปลาชุกชุมอย่างที่สุด คำล่ำลือได้เรียกเอาผู้คนไม่เฉพาะในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดศรีสะเกษเท่านั้น หากชาวประมงลาวก็แห่กันวาดเรือเข้าแก่งตะนะ ราวกับ "โตน" หนีภัยสงคราม กระนั้น

ในอดีต ชาวประมงจะอพยพมาหาปลาเฉพาะในช่วงฤดูการหาปลา หรือช่วง "ปลาขึ้น" ระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมเท่านั้น ชาวประมงจะพากันปลูกเพิงพักอยู่บริเวณแก่งตะนะ จนหมดช่วงปลาขึ้นจึงแยกย้ายกันกลับถิ่น นานเข้า... แทนที่จะเทียวไปเทียวกลับก็มีผู้ปักหลักและตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างถาวร จนกลายเป็นชุมชน และเป็น... บ้านท่าแพ ในเวลาต่อมา

เหตุที่ใช้ชื่อ "บ้านท่าแพ" เนื่องเพราะเป็นบริเวณที่มีท่าแพขนานยนต์ รับ-ส่งข้ามแม่น้ำระหว่างบ้านท่าแพกับบ้านด่านเก่า

ด้วยความตั้งใจพื้นฐานของการตั้งหมู่บ้านเพื่อประกอบอาชีพหาปลาเป็นหลัก ทำให้บ้านเรือนของบ้านท่าแพเรียงรายกันไปตามความยาวของสายน้ำ จนต่อมา ชาวบ้านจากที่อื่นๆ ได้อพยพเข้ามาสมทบ จนเกิดความแออัด กอปรกับเกิดน้ำท่วมใหญ่ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ จึงพากันร่นขึ้นไปจับจองที่ดินตรงที่ตั้งหมู่บ้าน ณ ปัจจุบัน ซึ่งอยู่ติดถนนประจำหมู่บ้าน และในปี ๒๕๓๖ มีผู้ที่แยกตัวออกจากบ้านด่านเก่า ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่อีกฝั่ง ได้อพยพข้ามน้ำมูนเข้าเป็นสมาชิกของท่าแพเพิ่มอีกกลุ่ม

ความที่เป็นหมู่บ้านประมง และเป็นแหล่งปลาชุม ชาวท่าแพมักคุ้นกับคำกล่าวที่ว่า "คนท่าแพจับปลาแค่ ๓ เดือนอยู่ได้เป็นปี แถมมีเงินส่งลูกเรียนได้สบาย" ชาวท่าแพทุกคนพอใจและภูมิใจกับคำกล่าวนี้นัก แม้จะเหมือนคำโอ่อวด แต่ก็เป็นถ้อยคำที่กลั่นจากความเป็นจริง

แต่ชาวท่าแพก็ภูมิใจได้ไม่นาน เมื่อรัฐบาลผุด "โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล" คำกล่าวที่เคยให้ความภูมิใจ กลับเป็นเหมือนคำเสียดเย้ยเยาะหยัน เพราะสภาพความเป็นจริงเวลานี้กับอดีตนั้น ต่างกันราวฟ้ากับดิน และคำกล่าวนี้เป็นได้เพียงตำนานหรือนิทานหลอกเด็ก เพราะอนุชนคนรุ่นใหม่


ไม่มีใครเชื่อ!!


รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี (มติ ครม.) อนุมัติการก่อสร้างเขื่อนปากมูล เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๓ และรัฐบาลได้ดำเนินโครงการแบบ "อาหารจานด่วน" เพราะอนุมัติปุ๊บก็ก่อสร้างปั๊บ คือตั้งแต่พฤษภาคม ๒๕๓๓ ถึงพฤศจิกายน ๒๕๓๗ ใช้เวลาเพียง ๔ ปีครึ่ง ตัวกำแพงซีเมนต์ยักษ์ก็ยืนทะมึนกางกั้นแม่น้ำที่ชาวบ้านเคยใช้สัญจร ด้วยงบประมาณก่อสร้าง ๖,๖๐๐ ล้านบาท


นับแต่นั้น... ชีวิตของชาวบ้านในหมู่บ้านเล็กๆ ริมแม่น้ำมูนก็เปลี่ยนไป ... เปลี่ยนไปในทางที่เลวร้าย!!

การหาปลาของชาวบ้านที่อาศัยภูมิปัญญาและองค์ความรู้เรื่องฤดูกาลของน้ำที่สั่งสมกันมายาวนาน นับแต่ครั้งบรรพบุรุษ ความรู้เกี่ยวกับช่วงเวลาที่น้ำขึ้น-น้ำลง และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของปลาในแต่ละฤดูกาล เมื่อตัวเขื่อนขวางกั้นลำน้ำมูน ส่งผลให้กระแสน้ำเปลี่ยนและปิดกั้นการเดินทางของฝูงปลา ภูมิปัญญาและองค์ความรู้ที่มีอยู่ก่อนก็ไร้ค่าในทันที

ฤดูน้ำแดง (พฤษภาคม-มิถุนายน) เป็นช่วงฝนเริ่มตกและเข้าสู่ฤดูฝน โดยน้ำจะเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ น้ำที่หลากได้พัดพาเอาตะกอนดินจนมีสีขุ่นข้นจนเป็นสีน้ำตาลแดง ชาวบ้านจึงเรียกว่า "ฤดูน้ำแดง" ช่วงนี้เป็นช่วงที่ชาวบ้านจับปลาในแม่น้ำมูนได้มากที่สุดในรอบปี เครื่องมือที่ใช้มีลาน ลอบ ตุ้มปลายอน มองขนาด ๑๒-๑๘ เซนติเมตร เบ็ดราว ปลาที่ได้เป็นปลาที่อพยพจากแม่น้ำโขงขึ้นมาสู่แม่น้ำมูน เช่น ปลาอีตู๋ เป็นต้น

และนี่คือองค์ความรู้ในการหาปลาของชาวท่าแพ ซึ่งในอดีตเคยเป็นตำราไร้แผ่นกระดาษอันทรงคุณค่า แต่เวลานี้เป็นได้แต่เพียงเศษสวะที่ถูกกระแสน้ำสาดกระแทกเข้ากับพนังเขื่อนปากมูล แล้วก็ล่องลอยอย่างไร้จุดหมาย แต่ถึงอย่างไรอนุชนคนรุ่นหลังก็ควรจะรับรู้ไว้ ... เผื่อฟ้าเปลี่ยนสี สายนทีกลับเป็นของชาวบ้านอย่างแท้จริง


ฤดูน้ำหลาก (สิงหาคม-พฤศจิกายน) เป็นช่วงที่น้ำเต็มตลิ่ง และน้ำในแม่น้ำมูนไหลแรง ชาวบ้านจึงเลี่ยงไปจับปลาแถบบริเวณริมแม่น้ำ และตามลำห้วยและบุ่งทาม เครื่องมือที่ใช้เป็น ลานและลอบ ฤดูนี้ปลาที่อพยพจากแม่น้ำโขงสู่แม่น้ำมูน จะเริ่มอพยพกลับลงสู่วังใหญ่ในแม่น้ำโขงอีกครั้ง


ฤดูน้ำลด (พฤศจิกายน-มกราคม) ในช่วงน้ำลด เป็นช่วงเวลาที่น้ำในแม่น้ำมูนใสจนเป็นสีคราม เครื่องมือจับปลาใช้ มองขนาด ๕-๖ ซ.ม. ปลาที่ได้มีทั้งปลาขนาดใหญ่และเล็ก เป็นพวก "ปลาค้างวัง" หมายถึงปลาที่อพยพมาจากลำน้ำโขงแต่ยังไม่เดินทางกลับถิ่นเดิมเหมือนปลาอื่นๆ
ฤดูแล้ง (มกราคม-เมษายน) เป็นช่วงที่น้ำลดลงต่ำสุด และน้ำใส เครื่องมือที่ใช้จับปลามี มอง ขนาด ๓-๑๖ ซ.ม. เบ็ดราว ปลาจะมีขนาดเล็ก

ความจริง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชุมชนมิได้เพิ่งจะปรากฏขึ้นเมื่อสร้างเขื่อนเสร็จ แต่ได้เริ่มก่อปัญหาตั้งแต่ช่วงที่มีการก่อสร้างแล้ว เริ่มจากน้ำในเดือนพฤษภาคมที่ขุ่นข้นอยู่แล้วกลับขุ่นและข้นขึ้นอีก สาเหตุก็เนื่องมาจากเศษปูนซีเมนต์จากงานก่อสร้างได้ไหลระคนกระแสน้ำ ผลของมันทำให้ชาวบ้านที่ลงหาปลาในแม่น้ำเกิดผดผื่นคันทั่วร่างกาย แต่กระนั้น ชาวบ้านก็ยังคงก้มหน้าหาปลากันต่อไป เพราะปลาแม่น้ำเป็นแหล่งรายได้หลักเพียงแหล่งเดียวของพวกเขา

"จากที่เคยเห็นปลาก่ำเป็นฝูงหนาแน่นเหมือนปลาเลี้ยงในกระชัง ตามเกาะแก่งต่างๆ ก็เบาบางลง จากเคยหาแค่ ๓ เดือนเลี้ยงครอบครัวได้เป็นปี จำเป็นต้องใช้เวลาในการหามากขึ้น" พ่อทองจันทร์ บุษบง พ่อเฒ่าวัย ๗๗ เล่าถึงสถานการณ์ช่วงเริ่มต้นแห่งความวิบัติ

แต่เมื่อมีการปิดประตูเขื่อนปากมูลในระยะ ๒ ปีแรก ชาวหาปลาแห่งท่าแพที่คอยดักจับปลาตรงบริเวณท้ายเขื่อน ตรงบริเวณที่การไฟฟ้าฯ ปล่อยน้ำไหลที่ผ่านเครื่องปั่นไฟ พบว่าจำนวนปลามีมากขึ้น แต่...
"การจับปลาท้ายเขื่อนจะมีอุปสรรคมาก เพราะตรงนั้นเป็นที่หาปลาของชาวบ้านหัวเห่ว เวลาบ้านท่าแพจะไปหาจึงถูกกีดกันบ้าง"

อุปสรรคที่สำคัญอีกอย่างที่ชาวประมงบ้านท่าแพได้รับ คือ ความเสี่ยงที่เกิดกับการสูญเสียเครื่องมือจับปลา เนื่องจากไม่มีการเตือนล่วงหน้าจากการไฟฟ้าฯ ว่าจะปิด-เปิดเขื่อนในเวลาใด เมื่อช่องระบายน้ำถูกเปิด โดยที่ชาวบ้านไม่รู้ตัวล่วงหน้า กระแสน้ำอันเชี่ยวกรากก็พัดพาเอาเครื่องมือจับปลาไปตกเสียที่อื่น เกาะแก่งในลำน้ำมูนที่เคยเป็นตัวชะลอความรุนแรงของกระแสน้ำ เมื่อถูกระเบิดจนเหี้ยนเตียนจากการสร้างเขื่อน จึงทำให้กระแสน้ำไหลเชี่ยวเกินกว่าจะคาดการณ์ได้ อย่าว่าแต่เครื่องมือจับปลาเลย ที่ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์จะยื้อยุดฉุดเอาไว้ได้ แม้เรือทั้งลำก็ยังต้องปล่อยให้กระแสน้ำปั่นให้จมลงใต้น้ำ

แต่แม้จะต้องเสี่ยง ชาวบ้านก็ยังเข้าจับปลาท้ายเขื่อนอยู่ดี เพราะถึงอย่างไรก็ยังดีกว่าไม่มีที่จะหา แต่การหาปลาท้ายเขื่อนก็ทำได้เพียงช่วงระยะสั้นๆ คือ ๒ ปีแรกเท่านั้น ต่อจากนั้นก็จับปลาไม่ได้ เพราะบริเวณดังกล่าวไม่มีปลา ชาวหาปลาอย่างคนท่าแพ ผู้ที่เรียนรู้พฤติกรรมปลาแทบว่าจะคุยกับปลารู้เรื่องอธิบายว่า เป็นเพราะพวกปลามันเริ่มรู้แล้วว่า แม้จะว่ายทวนน้ำขึ้นไป แต่ก็ไปต่อไม่ได้ ปลาที่เคยจับได้ใน ๒ ปีแรกก็พาลหายหน้าไปเลย

ดังนั้น ในช่วงปิดประตูเขื่อน ชาวบ้านจึงหาทางออก โดยหันไปประกอบอาชีพรับจ้าง แต่หลายคนเลือกที่จะกลับไปทำนาที่บ้านเกิด เพราะพื้นที่บ้านท่าแพมีที่ดินที่ที่สามารถทำนาได้ผลเพียง ๒ แปลงๆ ละ ๕ ไร่เท่านั้น ที่นาอื่นๆ นอกนั้น ล้วนอุดมไปด้วยหิน สมแล้วที่ชื่อเดิมของที่นี่ คือ บ้านโนนหินแห่

เมื่อย้อนไปดูมูลเหตุจูงใจที่ทำให้ชาวบ้านแห่กันอพยพมายังท่าแพ คือ การย้ายที่มาหาปลาแล้ว ก็ยิ่งได้ตระหนักชัดว่า ท่าแพเหมาะเพียงการหาปลาเท่านั้นจริงๆ เพราะผลผลิตข้าวที่ได้นั้นกะพร่องกะแพร่ง อย่างดีก็พอจะลดการซื้อข้าวได้บ้างเท่านั้น ต่อให้ทำนาให้ตายก็ยังต้องซื้อข้าวอยู่ดี

คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีที่นาที่บ้านเดิมก็จึงหนีไปรับจ้างในกรุงเทพฯ และหลายครอบครัวก็เตลิดไปแถบเพชรบุรีและกาญจนบุรี ไปรับจ้างตัดอ้อย พวกที่ไปกรุงเทพฯ จะเป็นคนหนุ่มคนสาวและหัวหน้าครอบครัว แต่งานรับจ้างตัดอ้อยจะไปกันเป็นครอบครัว ทำให้มีภาระต้องย้ายโรงเรียนให้บุตรหลานที่ติดตามผู้ปกครอง แต่พอสิ้นฤดูกาลตัดอ้อยก็ต้องย้ายกลับมาเรียนที่โรงเรียนเดิม ซึ่งการย้ายเข้า-ย้ายออกนี้ส่งผลอย่างยิ่งต่อการศึกษาของเด็กอยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม อาชีพตัดอ้อยก็ใช่ว่าจะงานที่เพิ่มพูนรายได้สมกับที่ต้องลำบากดิ้นรนไม่ ค่าจ้างตัดอ้อยเพียงแต่จะดำรงชีวิตไปวันๆ ก็ทั้งยาก ดีแต่ว่า เถ้าแก่เขาให้เบิกเงินล่วงหน้ามาซื้อข้าวปลาอาหารไปก่อนได้เท่านั้น แต่หลังจากใช้เงินประทังชีวิตได้ก็ต้องก้มหน้าทำงานชดใช้ในภายหลัง ครั้นพอใช้หนี้ได้หมดก็สิ้นฤดูกาลตัดอ้อยพอดี เมื่อหมดอ้อยก็ต้องกลับบ้าน และกลับบ้านแบบมือเปล่า...!!

ทางออกทางเดียวที่เปิดช่องไว้ให้ คือ ขอเบิกเงินล่วงหน้า ซึ่งก็คือเงินค่าแรงของปีถัดไป คือขอเอามาใช้ก่อนปีหน้าค่อยว่ากัน ... แล้วครั้นถึงปีหน้าฟ้าใหม่ก็ต้องกลับไปตัดอ้อยชดใช้หนี้ แล้วก็เบิกเงินของปีถัด ... ถัดไป อยู่เช่นนั้นปีแล้วปีเล่า ไม่รู้จบไม่รู้สิ้น

หนักเข้าหนี้สินพอกพูน ทั้งหนี้เก่า-หนี้ใหม่พันกันยุ่งไปหมด ชาวบ้านจึงต้องทำงานหนักขึ้นอีกเป็นสองเท่า เพื่อให้พอใช้หนี้ แต่ถึงกระนั้น ชาวบ้านก็ยังต้องขอเบิกเงินล่วงหน้าของปีถัดไปอยู่ดี และต้องก้มหน้าทำงานหนักอยู่เช่นนี้เป็นวัฏจักร ... วัฎจักรแห่งความทุกข์ยากทารุณ

เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมกลางแก้ไขปัญหาเรื่องเขื่อนปากมูลให้ทดลองเปิดประตู ๔ เดือน จากกรกฎาคมถึงตุลาคม การเปิดเขื่อนแม้จะเป็นยอดปรารถนาของชาวบ้าน แต่ในระยะแรกของการเปิดประตูเขื่อน ชาวบ้านท่าแพยังไม่สามารถจับปลาได้ เนื่องจากกระแสน้ำเชี่ยว เพราะไร้เกาะแก่งที่จะชะลอความรุนแรงของกระแสน้ำ ขณะเดียวกันร่องน้ำที่มีอยู่เดิมหรือก็ลึกลงอย่างมาก ชาวท่าแพจึงต้องรอจนถึงเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้น้ำลดระดับลงถึงจับปลากันได้


แต่แม้จะมีปลาให้จับ ชาวท่าแพก็ได้แต่กลืนน้ำลาย เพราะบรรดา ตุ้ม ลอบ มองและเครื่องมือหาปลาชนิดอื่นๆ ได้ถูกกระแสน้ำพัดพาไปสิ้นแล้วตั้งแต่ช่วงปิดเขื่อน การลงทุนซื้อเครื่องมือใหม่ถือเป็นเรื่องใหญ่ของชาวประมงในลำน้ำมูน เพราะลงทุนแต่ละครั้งต้องใช้เงินเป็นเรือนหมื่นเรือนพัน เพราะบางรายต้องซื้อเรือลำใหม่ ซึ่งเงินจำนวนนี้จะต้องไปกู้หนี้ยืมสินทั้งสิ้น ดังนั้น การจะลงทุนขนาดนั้นจะต้องมีความมั่นใจว่า มติ ครม. ต้องยั่งยืนคุ้มกับการลงทุน เพราะแม้จะมี มติ ครม. ก็ใช่ว่าทางเขื่อนจะเปิดได้ในทันที
แม้ ครม. จะมีมติออกมาแล้ว แต่ชาวบ้านยังต้องออกแรงเรียกร้อง และสร้างกระแสกดดันสารพัด การไฟฟ้าฯ จึงจะอ้อยอิ่งเปิดบานประตูได้

ข้างฝ่ายผู้ที่ออกไปรับจ้างนอกชุมชน ก็ได้แต่เฝ้าสอบถามเพื่อนบ้านว่า ระยะเวลาเปิดประตูเขื่อนจะนานเพียงใด ถ้าเปิดนาน ก็จะกลับมาอยู่บ้าน แต่ถ้าเปิดไม่นานก็จะยังไม่กลับ เพราะต้องเสี่ยงลาออกจากงาน แต่... ไม่มีใครให้คำตอบได้ ทุกคำตอบยังล่องลอยในสายลม


และก็จริงดังที่ชาวบ้านหวั่นเกรง เพราะหลังมติ ครม. ฉบับนั้น ได้มีมติ ครม. ฉบับอื่นๆ ตามมา โดยให้มีการปิด-เปิดเขื่อนสารพัดสูตร รวมถึง ๑๑ ครั้ง ภายใต้สภาพการณ์ลักลั่นลักปิดลักเปิดมาโดยตลอด

จนที่สุด ในปีนี้ (๒๕๕๐) สถานการณ์ยังคงสับสนไม่เปลี่ยนแปลง .....ชาวบ้านที่ลงทุนซื้อเครื่องมือจับปลาไปแล้วต้องนั่งเศร้าอีกครา เพราะในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ภายหลังจากการทำรัฐประหารโดยคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คมช.) และภายหลังการบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.สรยุทธ์ จุลานนท์ คณะรัฐมนตรีได้มติความ "เห็นควรเริ่มเปิดประตูปากมูลในวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๐ และเปิดยกบานสูงสุด ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๐"
แต่กลิ่นปากของโฆษกรัฐบาลผู้อ่านมติ ครม. ยังไม่ทันจางกลิ่น ในวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ ครม. ชุดเดียวกันก็มีมติออกมาอีก ...

" เห็นชอบรักษาระดับน้ำในเขื่อนปากมูลไว้ที่ประมาณ + ๑๐๖-๑๐๘ เมตร/ระดับน้ำทะเล (ม.รทก.)โดยไม่กำหนดว่าจะต้องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเมื่อใด โดยให้เป็นไปตามธรรมชาติและสภาพแวดล้อมในพื้นที่" แปลไทยเป็นไทยก็คือ "ให้ปิดเขื่อนปากมูลโดยไม่มีกำหนด"

ชีวิตของชาวท่าแพที่เคยมีวิถี ยืนอยู่บนขาของตัวเอง ด้วยพวกเขาสามารถกุมได้ทุกสภาพในการประกอบอาชีพ รู้ทั้งฤดูกาลของน้ำ พฤติกรรมของปลา และจัดหาเครื่องมือจับปลาอันหลากหลายที่เหมาะแก่ชนิดปลา แม่น้ำมูนจึงเป็นหลักประกันของชีวิตได้อย่างมั่นคง แต่หลังที่มีเขื่อนปากมูล ชีวิตของคนทั้ง ๖๐๐ กว่าชีวิตในบ้านท่าแพต้องผูกไว้กับ มติ ครม. มติอันเกิดจากวาระซ่อนเร้นของผู้คุมเกม และตัวละครหลากหลาย ซึ่งล้วนแต่เป็นบุคคลภายนอก ทั้งๆ ที่พวกเขาซึ่งอยู่และตายบนฝั่งมูนไม่เคยมีสิทธิ์มีส่วนในการตัดสินใจ


ชีวิตของชาวท่าแพจึงขึ้นอยู่กับประตู ๘ บาน ซึ่งไม่รู้ว่า จะมีมติให้ลั่นดาลหรือถอดกลอนได้เมื่อใด?!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net