ท้าอิตาเลียนไทย หยุดเหมืองโปแตช

สำนักข่าวเสียงคนอีสาน จ.อุดรธานี - ตามที่นายวิทสุทธิ์ จิราธิยุต ผู้จัดการใหญ่บริษัทเอพีพีซี บริษัทในเครืออิตาเลียนไทย ดีวีล๊อปเมนต์จำกัด มหาชน ให้ข่าวในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจเมื่อ 6 ส.ค. 50 ที่ผ่านมา ว่าจะยกเลิกผลการรังวัดโครงการเหมืองแร่โปแตช และเริ่มการศึกษาอีไอเอใหม่ เนื่องจากขณะนี้ บริษัท อิตาเลียนไทย เป็นบริษัทคนไทยและถือหุ้นโครงการเหมืองแร่โปแตชแล้ว 90% นั้น

 

นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาปัญหาดินเค็มและการจัดการทรัพยากรแร่ภาคอีสาน เปิดเผยว่า การจดทะเบียนของบริษัทอิตาเลียนไทยมีความซับซ้อน และเป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่า เป็นบริษัทคนไทยจริงหรือไม่ เนื่องจากการเข้าซื้อบริษัทเอพีอาร์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเอพีพีซี ที่ประเทศแคนาดา กระทำโดยการจัดตั้งบริษัทชื่อ เอสอาร์เอ็มที โฮลดิ้ง ลิมิเตด (SRMT Holding limited) ซึ่งเป็นบริษัทที่ผู้บริหารอิตาเลียนไทยออกมาระบุว่าเป็นบริษัทลูกของบริษัท สินแร่เมืองไทย จำกัด ที่เป็นบริษัทลูกของอิตาเลียนไทย อีกทอดหนึ่ง แต่ไม่ได้เข้าซื้อเอพีอาร์โดยตรง แต่ไปจัดตั้งบริษัทซึ่งมีชื่อเป็นรหัสลับว่า 622360 .N.B.ltd. อีกทีหนึ่ง ซึ่งไม่อาจตรวจสอบได้ว่ามีผู้ถือหุ้นคือใครบ้าง มีทุนจดทะเบียนเท่าไร เพราะไม่เป็นที่เปิดเผย เนื่องจากการเลือกไปจดทะเบียนในเมืองที่ไม่อาจตรวจสอบธุรกรรมทางธุรกิจของนักลงทุนได้

 

"ข้อนี้ต้องเปิดเผยกันออกมา และสัญญาเดิมก็ต้องฉีกเพื่อเริ่มต้นใหม่ หากเป็นบริษัทคนไทยจริงต้องเอามาเปิดเผยทั้งการซื้อกิจการและสัญญาให้สาธารณะรับรู้ นี่คือรูปธรรมของความจริงใจ" นายสุวิทย์กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาปัญหาดินเค็มฯ กล่าวต่อในกรณีที่บริษัทฯ ออกมาอ้างถึงการยกเลิกการรังวัดปักหมุด และการยกเลิกอีไอเอของบริษัทฯ ว่า เป็นการสร้างภาพว่าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ข้อเท็จจริงคือ อีไอเอฉบับดังกล่าวผิดพลาดจนไม่ได้รับการยอมรับจากทั้งนักวิชาการและชาวบ้าน

 

"ที่ต้องยกเลิกการรังวัดปักหมุด เพราะที่ผ่านมา มีการเร่งรัดขั้นตอนกระทำการโดยไม่ถูกต้องจริงๆ ชาวบ้านต้องต่อสู้กับความฉ้อฉลของบริษัทมา 6 ปี จนถูกแจ้งความดำเนินคดี การที่บริษัทออกมาแถลงยกเลิกอีไอเอ และผลการรังวัดเป็นเรื่องของนักฉวยโอกาสและสร้างภาพของบริษัท" นายสุวิทย์กล่าว

 

นายสุวิทย์ยังกล่าวต่อไปว่า ตอนนี้เรื่องเหมืองแร่โปแตชจะมองแต่ที่อุดรธานีไม่ได้ เพราะเมื่อต้นปี 2549 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) ได้มีมติให้ศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (เอส อี เอ) ทั้งเกลือและโปแตชทั่วอีสาน เพราะตอนนี้ มีบริษัทเอกชนกำลังยื่นคำขอสำรวจรวมแล้วเกือบ 7 แสนไร่ใน 6 จังหวัด

 

ถ้าต่างจุดต่างทำไป จะเกิดปัญหาความขัดแย้งและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีสานมาก แต่ขณะนี้บริษัทอิตาเลียนไทยกลับไม่สนใจมติ กกวล. กลับเร่งผลักดันให้เกิดการรังวัดปักหมุดและเร่งรัดการอนุญาติประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี เพราะหากไม่ได้ประทานบัตรภายในปีนี้บริษัทต้องสูญเสียเงินถึง 3.2 พันล้านบาทในตลาดหุ้น จึงใช้วิธีการต่างๆ เช่น นำชาวบ้านเข้ายืนหนังสือต่อกพร. เร่งให้ออกมารังวัด สร้างภาพกลบความขัดแย้ง แต่แบบนี้มีแต่ความขัดแย้งรุนแรงจะทวีขึ้นเมื่อบริษัทตั้งใจจะจัดตั้งมวลชนออกมาปะทะกับกลุ่มคัดค้าน

 

"ถ้าอิตัลไทยจริงใจจริงๆ อย่างที่แถลง ผมท้าว่าต้องหยุดทุกขบวนการและเริ่มต้นใหม่ โดยให้กกวล.ประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ก่อนจะมีการดำเนินการใดๆ ต่อไป ให้รู้ก่อนว่าเรื่องแร่โปแตชและเกลือหินในอีสานจะมีทิศทางไปทางไหน ไม่ใช่หัวหมอว่า "จะศึกษาก็ได้แต่ให้ประทานบัตรเอพีพีซีก่อน ทำเหมืองไปศึกษาไป" ควรพูดว่า "เอพีพีซีจะหยุดทุกอย่างไว้ก่อน ให้กรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติดำเนินการศึกษาผลกระทบชิงยุทธศาสตร์ก่อน แล้วค่อยว่ากันใหม่" นั่นต่างหากเป็นการแสดงความจริงใจต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรมไม่ใช่เพียงสร้างภาพไปวันๆ" นายสุวิทย์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท