Skip to main content
sharethis

การมาตรวจติดตามสาขาพรรคการเมืองในจังหวัดเชียงใหม่ของ "สดศรี สัตยธรรม" กรรมการการเลือกตั้ง ทำให้ได้ข้อมูลชุดหนึ่งที่ละเลยการตรวจสอบไปนานว่า สาขาพรรคการเมืองที่ตั้งอย่างดารดาษก่อนหน้านี้ กระทำกิจกรรมทางการเมืองจริงหรือไม่


 


ประกอบกับข้อมูลที่ฐานสมาชิกพรรคการเมืองที่ กกต.ค้นพบว่า มีชื่อที่ซ้ำกันอยู่ไม่น้อยกว่า 5 แสนชื่อ อันหมายถึงบุคคลหนึ่ง เป็นสมาชิกพรรคการเมืองมากกว่า 1 พรรค ทำให้ต้องรื้อขบวนการตรวจสอบกันใหม่ เพราะนั่นหมายถึงเม็ดเงินภาษีประชาชนที่ต้องส่งต่อให้กลุ่มพรรคการเมืองเหล่านี้ในรูปแบบกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง ที่เสมือนว่านำไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ หรือซ้ำร้ายกว่านั้น ได้เข้าไปกระเป๋าใหม่เป็นการส่วนตัวหรือเปล่า?


 


สาขาของพรรคเพื่อฟ้าดิน ที่สดศรีไปเยือน อันตั้งอยู่ข้างปั๊มน้ำมันบางจาก ติดกับร้านอาหารมังสวิรัติย่านถนนมหิดล เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า เอกสารนโยบายของพรรค รายระเอียดบัญชีรายรับรายจ่ายไม่ได้อยู่ที่สำนักงาน เพราะกำลังจะย้ายสาขาไปอยู่ต่างอำเภอ ขณะที่นโยบายของพรรคคือเน้น "บุญนิยม" ที่จะไม่เน้นการส่ง ส.ส. แต่ละเน้นการให้ประชาชนทำบุญ ด้วยเห็นว่าหากการเมืองยังคงเป็นเช่นนี้ คงยากที่จะส่งตัวแทนและได้รับเลือก


 


"ขณะนี้คาดว่าใกล้จะมีการเลือกตั้ง ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ คาดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปลายปี จึงต้องการมาตรวจสอบดูว่าสาขาพรรคการเมืองต่างๆ เป็นเช่นไร มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่แท้จริงหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า หลายสาขาพรรคตั้งขึ้นมาไม่มีการส่ง ส.ส. ไม่มีกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะหากไม่มีการส่ง ส.ส.อาจมองได้ว่าไม่มีกิจกรรมทางการเมืองที่แท้จริง ประกอบกับพรรคการเมืองต่างๆ ตั้งขึ้นมาขอสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาการเมืองด้วย เช่นกรณีพรรคนี้ได้ชี้แจงว่าการรณรงค์ทางศาสนา ไม่น่าจะเกี่ยวกับการเมือง แต่ท่านก็ยังยืนยันว่าเกี่ยวโยงกันได้" สดศรีกล่าว


 


ใช่เพียงเท่านั้น ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เคยมีพรรคการเมืองหลายแห่งเปิดสาขาในระยะที่ผ่านมาสูงสุดถึง 28 สาขา แต่ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญคือการยุบพรรค และรวมพรรค ทำให้สาขาพรรคการเมืองของเชียงใหม่เมื่อเดือนกรกฎาคม มีเหลืออยู่เพียง 4 พรรคการเมือง 15 สาขาพรรค คือพรรคเพื่อฟ้าดิน 1 สาขา พรรคไทเป็นไท 6 สาขา พรรคประชาธิปัตย์ 7 สาขา และพรรคประชากรไทย 9 สาขา โดยหลายพรรคก่อนหน้านี้ที่ยุบสาขาไป ก็ไม่มีการดำเนินกิจการทางการเมืองใดใด


 


"กรณีพรรคพลังประชาชน ที่ขณะนี้พรรคไทยรักไทยมีมติให้ส.ส.เข้าไปอยู่นั้น ในพื้นที่เชียงใหม่เคยมีสาขาอยู่ 2 สาขาคือที่ต.ข่วงเปา อ.สันกำแพง แต่ปิดสาขาไปตั้งแต่ปี 2548 และสาขาต.ฟ้าฮ่าม อ.เมือง ที่ปิดตัวไปต้นปี 2550 ซึ่งจากการตรวจสอบของกกต.จ. ไม่เคยพบเจ้าหน้าที่ที่สาขา หรือมีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆ" พ.ต.ท.ปกรณ์กิจ ใหญ่โต หัวหน้างานพรรคการเมือง กกต.เชียงใหม่กล่าว


 


ปัญหาการตั้งสาขาพรรคการเมืองหลายสาขา และเต้าเอารายชื่อประชาชนมาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของตัวในเชิงปริมาณมาก เนื่องจากรายรับของพรรคการเมืองไทยส่วนหนึ่งมาจาก เงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง ที่เป็นงบประมาณแผ่นดิน นำมาจัดสรรให้พรรคการเมืองโดยคำนวณจากสัดส่วนของจำนวน ส.ส.เขต 35 % ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 30 % สมาชิกพรรค 20 % และสาขาของพรรค 15 % ขั้นตอนนี้ทำให้เกิดความฉ้อฉล ทั้งการตั้งสาขาโดยไม่ทำกิจกรรมทางการเมือง และยัดเยียดการเป็นสมาชิกภาพทางการเมืองให้ประชาชนจนเกิดปัญหาสมาชิกพรรคซ้ำซ้อน โดยยอดมิใช่เพียงแค่ 5 แสนคนเท่านั้น แต่หลายพรรคการเมืองยืนยันตรงกันว่าหากตรวจสอบให้ดีจะพบว่าซ้ำซ้อนเป็นหลักล้าน


 


นอกจากนั้น ความเป็นสมาชิกภาพนี้ไม่มีความผูกพันโยงใยหรือมีหลักเกณฑ์ให้สมาชิกพรรคเป็นส่วนหนึ่งของพรรค เช่นพรรคใหญ่ในอดีต ได้เงินหลักของการบริหารพรรคจากเงินบริจาคอันไม่มีการกำหนดเพดาน ทำให้ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งกลายเป็นเจ้าของพรรค มีสิทธิเด็ดขาดในการกำหนดทิศทางของการเมือง


 


"เราต้องตรวจสอบเข้มงวดใหม่ เพราะละเลยกันมานาน พรรคเหล่านี้ตั้งขึ้นมาและยื่นขอเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาการเมืองด้วย เราต้องตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบพิจารณาเงินกองทุนนี้เป็นรายภาค รวมทั้งตรวจสอบสมาชิกภาพของสมาชิกพรรคการเมืองด้วยเช่นกันเพราะมีรายชื่อซ้ำซ้อนกันกว่า 5 แสนคน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้อำนาจกกต.ในการตัดรายชื่อผู้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองซ้ำซ้อนนี้ออกให้หมดได้ เพื่อให้ท่านเลือกว่าจะสมัครเป็นสมาชิกพรรคใดใหม่เพียงพรรคเดียวด้วย" สดศรีให้สัมภาษณ์ "พลเมืองเหนือ"


 


มีการเสนอแนวคิดในการจัดการขอดเกล็ดบรรดาคนการเมืองที่นำภาษีไปใช้ผิดวัตถุประสงค์นี้ เช่น ผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกพรรคใดพรรคหนึ่งต้องไปลงรายมือชื่อที่พรรคหรือสาขาด้วยตัวเอง และต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหรือค่าบำรุงพรรคเป็นรายปีด้วยเพื่อให้สมาชิกมีความผูกพันกับพรรค ขณะที่พรรคต้องมีกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยไม่ใช่เป็นพรรคของคนใดคนหนึ่ง สมาชิกพรรคมีอำนาจขอเรียกประชุมพรรคเพื่อถอดถอนหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคได้ รวมทั้งการตั้งสาขาพรรคขึ้นมาเมื่อตรวจสอบพบว่าไม่มีกิจกรรมทางการเมือง จะต้องโทษปรับ หรือมีวิธีการที่ทำให้ไม่อาจได้รับเงินสนับสนุน รวมไปถึงพรรคที่ยุบสาขาลง หากชำระหนี้สินเสร็จแล้ว จะต้องระบุว่าจะนำเงินที่เหลือไปทำประโยชน์อะไร หากไม่ระบุไว้ ก็ต้องนำเงินนั้นกลับเข้ากองทุนพัฒนาพรรคการเมืองด้วย


 


เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ให้มีกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจการของพรรคการเมืองเพื่อให้การเมืองไทยเข้มแข็งแท้จริง แต่ตั้งแต่ปี 2542 เงินที่ตกอยู่ในเมือของคนการเมืองได้นำไปใช้งานสอดคล้องตามเจตนารมณ์หรือไม่ หรือถลุงเข้ากระเป๋าใครจนการเมืองอ่อนแอเช่นนี้?


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net