Skip to main content
sharethis


สัมภาษณ์  ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์


คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


10 สิงหาคม 2550


 



 


 "รัฐธรรมนูญนี้เขียนด้วยการมีข้อสมมติว่าคนอื่นเลวหมด ยกเว้นคนร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นคนดี รัฐธรรมนูญก็จะออกมาลักษะควบคุม กำกับ ตรวจสอบประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและนักการเมืองอย่างเข้มงวด" ... ในฐานะที่เคยศึกษา-วิพากษ์รัฐธรรมนูญ 2540 ไว้อย่างรอบด้าน ถึงวันนี้ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ แห่งรั้วโดม จะแจกแจงให้เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จะนำพาสังคมไทยไปสู่อะไร ?


 


 


0000


 


 


ปัญหาที่สำคัญที่สุดของร่างรัฐธรรมนูญ 2550 คืออะไร ?


สมมติถ้าเราทำผังรัฐธรรมนูญโดยดูถึงดีกรีของความเป็นประชาธิปไตย ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 แย่ไปกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 แต่มันอาจจะดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 เล็กน้อย


 


เพราะอะไร ?


เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีลักษณะเป็นรัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตย กลไกหลักคิดว่าอยู่ที่การสรรหาวุฒิสมาชิก ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2540 สังคมไทยมันพัฒนามาถึงขั้นที่มีการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกแล้ว ให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกตัวแทนของตัวเองทั้งสภาล่างและสภาบน


 


อันที่จริงร่างรัฐธรรมนูญมี 2 ฉบับ ฉบับแรกคือที่ทำออกมารับฟังความเห็น ซึ่งฉบับนั้นแย่กว่าฉบับตอนนี้ออีกมีแต่วุฒิสมาชิกแต่งตั้ง จึงได้รับการต่อต้านอย่างมาก แต่ในฉบับนี้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญถอยมาให้มีสมาชิกวุฒิสภาเลือกตั้ง 76  คน อีก 74 คนมาจากการแต่งตั้ง


 


ทีนี้ 74 คนมันเกือบครึ่งวุฒิสภา แล้ววุฒิสภาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่อำนาจค่อนข้างมาก 1.มีอำนาจในการกลั่นกรองกฎหมาย อำนาจนี้สำคัญมาก เพราะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจำนวนมากยังไม่ออก รวมทั้งบรรดากฎหมายลูกที่ไม่ใช่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ออกเช่นกัน แล้วมันอยู่ในบทเฉพาะกาลที่มีการกำหนดเงื่อนเวลาว่าจะต้องผลิตกฎหมายลูกเหล่านั้น ฉะนั้น หน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมายของวุฒิสภาจะทำให้วุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งมีบทบาทสำคัญสูงในการกำหนดโครงสร้าง


 


อย่างน้อยก็มีการกำหนดเวลาที่ชัดเจนในการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก ?


มันเป็นความพยายามจะแก้ไขปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 กลับไม่ได้กำหนดสาระที่เป็นแก่นแกนของกฎหมายแต่ละฉบับ ถ้ากลับไปดูรัฐธรรมนูญ 2540 เวลาที่พูดถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญจะบอกแก่นแกนของกฎหมายเหล่านั้น เช่น พรรคการเมืองตั้งได้ด้วยคนเพียง 15 คน เป็นต้น  แต่ว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกอื่นๆที่มีบทบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้กำหนดแก่นแกนของกฎหมาย ดังนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับสภา วุฒิสภาก็มีบทบาทด้วย ตรงนี้ก็เป็นกลุ่มพลังอำมาตยาธิปไตยสามารถมากำหนดกฎเกณฑ์  กำกับ ตรวจสอบ ควบคุมสังคมการเมืองไทยได้


 


2. วุฒิสภายังมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและองค์กรอื่น 3.วุฒิสภายังมีอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ดังนั้น คิดว่าถึงแม้ว่ากลุ่มพลังอำมาตยาธิปไตยจะไม่ได้ยึดวุฒิสภาทั้งสภา แต่ยึดได้ถึงครึ่งสภาก็ทำให้มีบทบาทกำหนดแล้ว


 


เรื่องส.ว. มีข้ออ้างที่ว่า ส.ว. ต้องมาจากการแต่งตั้ง เพราะส.ว.เลือกตั้งชุดที่แล้วกลายเป็นสภาผัวเมีย ทำให้มันล้มเหลวไปทั้งกระบวนในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร


โครงสร้างของ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งก็เหมือนกับโครงสร้าง สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) มันตั้งโดยคนซึ่งกุมอำนาจรัฐ แต่ผมอยากจะเคลียร์ประเด็นก่อนว่าสภาผัวเมียมันดีหรือไม่ดีอย่างไร


 


ผมคิดว่าการที่คนอยู่ในตระกูลเดียวกันเล่นการเมืองมันเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ รัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามแก้ปัญหานี้ ห้ามไม่ให้คนที่เป็นสามีหรือภรรยาหรือเป็นลูก ถ้ามีคนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วห้ามไม่ให้เป็นวุฒิสมาชิก


 


แต่รัฐธรรมนูญเขียนในหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทยโดยบอกว่าจะต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน แต่การที่มีบทบัญญัติกีดกันแบบนี้มันเป็นบทบัญญัติที่ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน


 


การที่คนในตระกูลเดียวกันเล่นการเมืองมันอธิบายด้วยเหตุผลในทางเศรษฐศาสตร์ได้ ในยุโรปตะวันตกก็ดี ในสหรัฐอเมริกาก็ดี ระบอบประชาธิปไตยเขาหยั่งรากมานานมันก็มีปรากฏการณ์แบบนี้ เราจะเห็นตระกูลนักการเมืองเล่นตั้งแต่ปู่จนระทั่งถึงหลาน 


 


ทำไมจึงมีปรากฏการณ์อย่างนี้ ก็เพราะว่าอาชีพทางการเมืองมีการสร้างยี่ห้อทางการเมือง ยี่ห้อทางการเมือง (political brand) ต้องอาศัยการสั่งสมเป็นเวลานาน แล้วถ้าอยากได้รับเลือกตั้งอยู่เสมอต้องทำให้ประชาชนในเขตการเลือกตั้งขอพูดด้วยภาษาธุรกิจว่า "มีความภักดีต่อยี่ห้อ" (brand royalty)


 


แต่ยี่ห้อทางการเมืองไม่เหมือนยี่ห้อโฟร์โมสท์ ยี่ห้อโฟโมสท์นั้นขายได้ คู่แข่งมาซื้อไปได้ แต่ยี่ห้อทางการเมืองนั้นซื้อขายไม่ได้ เป็นสินค้าที่เปลี่ยนมือไม่ได้ ทว่ามันสืบทอดทางสายโลหิตได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อสืบทอดทางสายโลหิตได้มันก็ประหยัดต้นทุนทางการเมือง เวลาเลือกตั้งก็ประหยัดต้นทุนทางการเลือกตั้ง มันก็อธิบายว่าทำไมจึงเกิดตระกูลนักการเมือง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ประเทศอื่นก็เป็น


 


ผมไม่เคยรู้ว่ามีประเทศไหนบ้างที่เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อจะกีดกันไม่ให้คนในตระกูลเดียวกันมามีอาชีพเป็นนักการเมือง แล้วทำไมไม่เขียนในรัฐธรรมนูญห้ามคนในตระกูลเดียวกันเป็นทหาร (หัวเราะ) หรือห้ามคนในตระกูลเดียวกันเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย


 


นักการเมืองไทยที่ดีมันก็มี ที่แย่มันก็เยอะ แล้วนี่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่ถูกหยิบยกมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้มีบทบัญญัติอันนี้ในรัฐธรรมนูญ


 


ผมคิดว่าในตอนที่เราจะเริ่มต้นเขียนรัฐธรรมนูญต้องเคลียร์ประเด็นหลักการก่อนว่าเราจะยึดอะไร


 


รัฐธรรมนูญจะเขียนโดยให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้ความศรัทธาต่อประชาชน หรือเขียนโดยมองว่าประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นจุลอัปรียชน แล้วนักการเมืองเป็นมหาอัปรียชน


 


ถ้ามองอย่างนี้แบบที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มอง รัฐธรรมนูญก็ออกมาในลักษณะที่ต้องการควบคุม กำกับ ตรวจสอบ คุมประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและนักการเมืองอย่างเข้มงวด


 


รัฐธรรมนูญนี้เขียนด้วยการมีข้อสมมติว่าคนอื่นเลวหมด ยกเว้นคนร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นคนดี รัฐธรรมนูญก็จะออกมาลักษะแบบนี้ ผมคิดว่ามันต้องให้เวลาในการพัฒนา บังเอิญมันโชคร้ายในแง่ที่ว่ารัฐธรรมนูญ 2540 มันเปิดช่องให้มีการกระจุกตัวของอำนาจทางการเมือง ผู้ที่สามารถรวบอำนาจทางการเมืองได้รุกคืบเข้าไปยึดพื้นที่ในรัฐสภา เราก็มาโจมตีที่ปลายเหตุ คือปรากฏการณ์สภาผัว สภาเมีย


 


ทำไม่ไม่กลับไปดูต้นเหตุที่ว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ต้องการให้มี Strong Executive แล้วละเลยกลไกการสร้าง Check and Balance ประเด็นนี้น่าจะเป็นต้นเหตุมากกว่าที่บอกว่าเพราะผัวและเมียเป็นคนไม่ดี ผัวอยู่สภาล่าง เมียอยู่สภาบน เป็นคนละเรื่องกันเลย ถ้าจะแก้ปัญหาต้องมีการสร้างกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจที่มันเข้มแข็งกว่ารัฐธรรมนูญ 2540


 


รัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีกระบวนการตรวจสอบที่เยอะพอสมควรไม่ใช่หรือ ?


แต่การตรวจสอบฝ่ายบริหารทำยากมาก ยกตัวอย่างเช่น จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ต้องมี ส.ส. 40% ของ ส.ส.ทั้งหมด ดังนั้นการตรวจสอบทำได้ยากมาก


 


รัฐธรรมนูญ 2550 ใส่เรื่องการตรวจสอบไว้ดีกว่าอย่างไร ?


มันก็ลดฮวบลงมาเลยเหลือ 20 % ของจำนวน ส.ส. ก็ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ได้ แล้วอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีก็ ใช้ ส.ส. 1 ใน 6


 


แต่ที่มันแย่ไปกว่าเก่าก็คือว่าถึงแม้ว่าจะกำหนดสัดส่วน 20% ของส.ส.ในการยื่นญัตติ ถ้ารัฐบาลบริหารมาแล้ว 2 ปี แล้วฝ่ายค้านมีไม่ถึง 20 % รัฐธรรมนูญมีอยู่วรรคหนึ่งบอกว่าขอให้เกินครึ่งหนึ่งของฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐบาลก็ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจได้ ไม่แน่ใจว่าวรรคนี้ใส่ไปทำไม ทำไมไม่ปล่อยให้รัฐบาลไปใช้เวลาในการบริหาร แทนที่จะต้องมาอภิปรายในสภา


 


อาจารย์คิดอย่างไรเรื่องกลไกการตรวจสอบที่ให้ศาลเข้ามามีบทบาทสูงมาก ?


ประเด็นเรื่องการตรวจสอบอำนาจ check and balance  รัฐธรรมนูญ 2550 ให้อำนาจกับฝ่ายตุลาการเพิ่มขึ้นมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ในฉบับรับฟังความเห็นยิ่งแย่หนักไปกว่านี้ รัฐธรรมนูญให้ฝ่ายตุลาการมีอำนาจเสนอร่างกฎหมาย ซึ่งเป็นครั้งแรกตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา เป็นการที่ฝ่ายตุลาการก้าวล่วงไปใช้อำนาจนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการยังมีส่วนในการคัดสรรสมาชิกวุฒิสภา มีส่วนในการแต่งตั้งผู้บริหารองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีส่วนในกระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการมีบทบาทเพิ่มไปมาก แต่ไม่มีการสร้างกลไกใหม่ตรวจสอบการใช้อำนาจของตุลาการ


 


ผมจึงบอกว่า คนร่างรัฐธรรมนูญมองประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นจุลอัปรียชน มองนักการเมืองเป็นมหาอัปรียชน เป็นการตั้งข้อสมมติซึ่งไม่สอดคล้องกันในทางตรรกวิทยา ผมคิดว่าประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นคนดีก็มี คนเลวก็มี นักการเมืองก็เช่นเดียวกัน ในหมู่ตุลาการผู้พิพากษาก็ทำนองเดียวกัน ทำไมจึงไม่มีข้อสมมติเดียวกัน และยังมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่บอกว่าจะมีการต่ออายุตุลาการ ซึ่งสามารถเอาไปใส่ไว้ในกฎหมายธรรมดาได้ ไม่ต้องใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ


 


การก้าวก่ายอำนาจกันระหว่าง 3 อำนาจที่ถูกแบ่งไว้ โดยเฉพาะในส่วนของตุลาการ จะส่งผลอย่างไรในระยะยาวต่อทั้งตัวสถาบันตุลาการเองและสังคมการเมืองไทย  ?


ก็มีโอกาสที่ฝ่ายตุลาการจะใช้อำนาจในทางพลาดพลั้ง ถึงแม้จะไม่ได้ตั้งใจฉ้อฉล และมันจะทำลายศรัทธาของประชาชนที่มีต่อฝ่ายตุลาการ ในอดีตที่เป็นมาตั้งแต่ 2475 ฝ่ายตุลาการมีอำนาจอันจำกัดในการพิพากษาคดี ไม่ได้ก้าวล่วงไปใช้อำนาจอื่น ถ้าตัดสินคดีด้วยความเป็นธรรมก็มีความน่าเชื่อถือ แต่รัฐธรรมนูญ 2550 มันอาจจะเปิดช่องทำลายความน่าเชื่อถือของตุลาการและผู้พิพากษา


 


การที่ให้ศาลมีบทบาทมาก การที่ต้องมีการแต่งตั้ง ส.ว. ก็เพราะเขามองประชาชนเป็นจุลอัปรียชน ซึ่งเป็นผลมาจากประชาชนไปสนับสนุนมหาอัปรียชน หรือสนับสนุนคุณทักษิณหรือเปล่า และถ้าเราเชื่อในการเลือกตั้ง มันก็อาจจะยากที่จะหนีพ้นสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า "ระบอบทักษิณ"


"ระบอบทักษิณ" ส่วนหนึ่งมันเป็นผลผลิตของรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมีกฎกติกาเกื้อกูลการเติบใหญ่ของระบอบทักษิณ ให้มีการควบรวมพรรค ให้สิ่งจูงใจซึ่งมาจากระบบปาร์ตี้ลิสต์ที่ขีดเส้นไว้ที่ 5% พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงไม่ถึง 5% จะไม่ได้ระบบปาร์ตี้ลิสต์ ทั้งๆ ที่ได้คะแนนอาจเป็นล้านด้วยซ้ำ แล้วมันกลับถูกเกลี่ยไปให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ นี่เป็นการสร้างแรงจูงใจให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ต้องขยายใหญ่ยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้มีเกื้อกูลให้เกิดระบอบทักษิณ คุณอาจจะเอาคำว่าทักษิณออก แล้วเอาคำอื่นใส่มันก็จะเป็นระบอบอื่น เกิดขึ้นมา


 


รัฐธรรมนูญนี้ดูเหมือนจะลดทอนอำนาจฝ่ายบริหาร และที่ผ่านมาอาจารย์ก็ดูเหมือนไม่เห็นด้วยที่รัฐธรรมนูญ 40 ให้มี strong executive (การมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง) การที่รัฐบาลมีเสถียรภาพนั้นไม่ดีหรือ ?


ผมไม่ได้บอกว่าไม่เห็นด้วย ผมบอกว่ามันทำให้มี power concentration คือ ทำให้มีการรวบอำนาจทางการเมือง อันนี้เป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็ง ส.ส.ร.ปี 2540 เห็นว่ารัฐบาลผสมมีอายุสั้น ดังนั้น การคิดถึงนโยบายปฏิรูปทำได้ยาก แต่แม้รัฐบาลผสมก่อนรัฐบาลทักษิณอายุเฉลี่ยประมาณ 11-13 เดือน รัฐบาลทักษิณอายุยิ่งสั้นกว่า แค่ 4-6 เดือน ยกเว้นรัฐบาลทักษิณสุดท้ายที่ไม่มีเวลาปรับครม.เพราะโดนพันธมิตรอัดอยู่ที่ราชดำเนิน คุณทักษิณใช้วิธีการ reshape (เปลี่ยนรูปใหม่) เป็นเครื่องมือในการกำกับรัฐมนตรีตลอดเวลา คนไหนทำท่าจะเปล่งรัศมีเทียบก็ปรับครม. จึงกลายเป็นตรงกันข้ามกับความตั้งใจของ ส.ส.ร. 2540  


 


ผมมองว่ารัฐบาลทักษิณไม่ต่างไปจากรัฐบาลผสมก่อนทักษิณ ซึ่งมีหลายพรรค ความขัดแย้งระหว่างพรรคเป็นเหตุให้รัฐบาลล้ม ในรัฐบาลทักษิณ แม้ในท้ายที่สุดไทยรักไทยจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว แต่ในไทยรักไทยมีหลายแก๊งค์ และมีความขัดแย้งระหว่างแก๊งค์ 


 


รัฐธรรมนูญปี 2540 มีโจทย์ที่ชัดเจนที่จะตอบเวลาร่าง และอาจารย์เคยตั้งข้อสงสัยว่าฉบับ 2550 โจทย์มันคืออะไร พอร่างออกมาแล้ว อาจารย์คิดว่าโจทย์ที่เขาต้องการจะตอบคืออะไร ?


ในนี้เขาเขียนว่า เป้าหมายมี 4 ข้อ คือ 1.ขยายสิทธิเสรีภาพ อันนี้เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 2. ลดการผูกขาดอำนาจรัฐ และขจัดการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม อันนี้ตรงกันข้ามกับรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็ง  3.การทำให้การเมืองมีความโปร่งใส่ มีคุณธรรมและจริยธรรม ผมบอกว่ามันคือการเมืองสีขาว อันนี้ไม่ต่างจากฉบับเดิม และถึงกับมี 1 ส่วนที่พูดเรื่องคุณธรรม  ผมเคยให้สัมภาษณ์ไปว่าถ้ารัฐธรรมนูญสามารถเขียนให้คนไทยเป็นอรหันต์ แล้วคนไทยเป็นอรหันต์ตามรัฐธรรมนูญได้ก็คงจะแจ๋ว ผมคิดว่านี่เป็นส่วนเกินของรัฐธรรมนูญ ถึงเขียนไปก็บังคับใช้ไม่ได้ 4. การทำให้ระบบตรวจสอบมีความเข้มแข็งและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันนี้ก็กลับมาเน้นเรื่อง check and balance  


 


ในความเห็นส่วนตัวผม ถ้าหากรัฐธรรมนูญร่างขึ้นมาเพื่อจะปฏิรูปการเมือง มันต้องถามว่าปฏิรูปการเมืองเพื่ออะไร


 


รัฐธรรมนูญ 2550 ปฏิรูปการเมืองเพื่อให้สังคมการเมืองไทยหลีกเลี่ยงไปจากระบอบทักษิณ นี่คือสิ่งที่ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญนี้


 


ผมคิดว่า ปฏิรูปการเมืองมี 2 เป้าหมายหลัก 1.เพื่อให้ตลาดการเมืองมีการแข่งขันที่สมบูรณ์ขึ้น อันนี้เป็นอันที่ผมใช้วิพากษ์รัฐธรรมนูญ 2540 เพราะทำให้ตลาดการเมืองมีอำนาจผูกขาดมากขึ้น ผมเชื่อเหมือนนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมเชื่อว่า ถ้าตลาดมีการแข่งขัน การจัดสรรทรัพยากรจะดีขึ้น ในทำนองเดียวกัน ผมต้องการให้ตลาดการเมืองมีการแข่งขันมากขึ้น ที่ผ่านมามันถูกจำกัดการแข่งขัน ถ้าหากตั้งเป้าว่าต้องการให้ตลาดการเมืองมีการแข่งขันมากขึ้น คุณต้องทำลายสิ่งกีดขวางการเข้าและออกตลาดการเมือง ยกตัวอย่างเช่น ต้องไม่มีระบบบัณฑิตยาธิปไตยมาเป็นกำแพงขวางการเข้าสู่ตลาดการเมือง รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้กำหนดเกณฑ์นี้สำหรับส.ส. แต่กำหนดสำหรับ ส.ว.และรมต.


 


อีกอันที่รัฐธรรมนูญควรให้ความสำคัญคือ good governance รัฐธรรมนูญ 2550 พยายามพูดถึงเรื่องนี้ แต่ผมดูในบทบัญญัติแล้ว ผมไม่คิดว่าการร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งในรัฐธรรมนูญเขาใช้คำว่า การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี คงแปลมากจาก good governance (หัวเราะ)  


 


Good governance ผมอยากจับ 3 ประเด็นที่เป็นแกน คือ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน 2.เรื่องความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน 3. ความรับผิด


 


เรื่องเหล่านี้ก็มีในรัฐธรรมนูญ 2540 แต่บทบัญญัติมันค่อนข้างจะอ่อนปวกเปียก รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้ดีขึ้นมากนักจากปี 2540 เช่น เรื่องการมีส่วนร่วม ปัญหาที่รัฐธรรมนูญ 50 จับเป็นประเด็นคือเรื่องต้นทุนธุรกรรม เช่น การยื่นเรื่องร้องเรียน หรือยื่นเสนอกฎหมาย มีการปรับจาก 50,000 เหลือ 10,000 รายชื่อ แต่ผมพูดหลายครั้งว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนมันไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญ มันจะมีหรือไม่มี จะมีมากหรือมีน้อย มันขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งหรือความอ่อนแอของการเมืองภาคประชาชน


 


ที่ผ่านมา การเมืองภาคประชาชนมันเติบใหญ่หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองปี 2516 และกลุ่มพลังประชาธิปไตยในสังคมการเมืองไทยเข้มแข็งขึ้นมาก อันนั้นทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม รัฐธรรมนูญอาจช่วยเกื้อกูลในบางเรื่อง และดูพัฒนาการทางการเมืองแล้วภาคประชาชนก็มีแต่จะเข้มแข็งขึ้น ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะไม่เขียนเรื่องนี้ไว้ การมีส่วนร่วมของประชาชนก็จะมีขึ้นตามลำดับ


 


เรื่องความโปร่งใส รัฐธรรมนูญนี้ไม่ต่างไปจากรัฐธรรมนูญ 2540 เรื่องสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการ แต่ว่าสิ่งที่เป็นปัญหาคือ ในบทเฉพาะกาลเขียนเหมือนกันว่าจะต้องมีการตรากฎหมายในเรื่องสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการ แต่ไม่ได้เขียนในรายละเอียด ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องการมีส่วนร่วม กฎหมายการประชาพิจารณ์นั้นแย่มากๆ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ 2540 ก็ออกมาก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 มีผลบังคับใช้ ซึ่งมันเป็นกฎหมายปกปิดข้อมูลไม่ใช่กฎหมายเปิดเผยข้อมูล แล้วคนที่ต้องการข่าวสารทางราชการต้องแบกรับต้นทุนเองในการได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารนั้น ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้จับประเด็นนี้ อันที่จริงมันไม่ใช่ประเด็นด้วยซ้ำว่าต้นทุนในการเข้าถึงสูงหรือต่ำ แต่มันควรจะเป็นว่าประชาชนไม่ควรต้องมารับภาระต้นทุนของการได้มาซึ่งความโปร่งใส


 


เรื่องความรับผิด รัฐธรรมนูญ 2550 เหมือนกับ 2540 ไม่ได้สร้างกลไกความรับผิด ตลาดการเมืองเป็นตลาดการแลกเปลี่ยนสาธารณะ เป็นตลาดการซื้อขายบริการทางการเมือง ซึ่งก็คือ บริการความสุข นักการเมืองและพรรคการเมืองเสนอขายบริการความสุขแก่ประชาชน เสนอ policy menu ไว้ในตลาดการเมือง ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจ่ายเงินซื้อด้วยการหย่อนบัตรเลือกตั้ง ประชาชนจ่ายเงินไปก่อนได้สินค้าทีหลัง และบางครั้ง นักการเมืองและพรรคการเมืองเมื่อชนะการเลือกตั้งแล้วก็เบี้ยว ไม่ส่งมอบสินค้า ตลาดการเมืองมันไม่เหมือนตลาดสินค้าและบริการ ซึ่งมีสัญญาที่ชัดแจ้งว่าถ้าจ่ายเงินไปก่อนแล้วไม่ส่งมอบสินค้าถือว่าละเมิด แต่ตลาดการเมืองประชาชนหย่อนบัตรเลือกตั้ง จ่ายเงินไปก่อนไม่ได้รับสินค้า รัฐธรรมนูญไม่ได้สนใจประเด็นนี้ ไม่สนใจในการสร้างกลไกความรับผิด เพื่อให้การเมืองและพรรคการเมืองนำนโยบายที่ใช้หาเสียงเลือกตั้งไปดำเนินการในทางปฏิบัติ กลไกเท่าที่มีในรัฐธรรมนูญ 40 ก็คือ รัฐบาลต้องแถลงนโยบายในสภา ซึ่งมันเป็นการสร้างกลไกความรับผิดต่อคนร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ต่อประชาชน และหมวด 5 ก็เป็นหมวดที่เป็นส่วนเกินของรัฐธรรมนูญ


 


เป้าหมายระดับผิวเราอ่านได้ 4 ข้อตามที่เขาเขียนไว้ แต่อาจารย์ก็บอกว่าเป้าหมายจริงๆ มันคือการโค่นหรือล้างระบอบทักษิณ


ไม่ใช่โค่นหรือล้าง มันถูกโค่นไปแล้ว แต่มันป้องกันไม่ให้มีอีก


 


แล้วสิ่งที่ร่างมานี้มันไปถึงเป้าหมาย การป้องกัน "ระบอบทักษิณ" ซึ่งเป็นวาระซ่อนเร้นของรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ ?


ไปถึงแน่นอน 1.เขาก็เลิกปาร์ตี้ลิสต์ไป ระบบบัญชีรายชื่อก็จะใช้ proportional representation แต่ว่าสิ่งที่แย่คือ มันทำลายกระบวนการแลกเปลี่ยนในตลาดการเมืองที่เป็นการแลกระหว่างเมนูนโยบายกับคะแนนเสียง


 


ผมคิดว่าตลาดการเมืองควรเป็นตลาดการแลกเปลี่ยนเมนูนโยบายกับคะแนนเสียงเลือกตั้งนี่เป็นตลาดการเมืองในอุดมคติ ตลาดการเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้มันเป็นตลาดการเมืองที่แลกระหว่างเงินกับคะแนนเสียง เราต้องเปลี่ยนตลาดการเมืองให้เป็นเอาคะแนนเสียงแลกเมนูนโยบาย พอระบบปาร์ตี้ลิสต์ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ใช้วิธีจัดเป็นกลุ่มเขต 8 กลุ่ม แทนที่มันจะใช้คะแนนเสียงทั้งประเทศ ซึ่งสามารถมองถึงเจตนารมณ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ว่า ประชาชนต้องการเมนูนโยบายของพรรคการเมืองไหน แต่เมื่อเป็นอย่างนี้ มันก็ไม่ใช่แล้ว มันมันมีปัจจัยเรื่องภูมิภาคนิยมเข้ามาเกี่ยวพัน ยกตัวอย่างเช่น เขตปาร์ตี้ลิสต์ในภาคใต้ คะแนนเสียงก็ต้องให้กับพรรคประชาธิปัตย์ และประชาธิปัตย์ก็จะไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์ในภาคเหนือหรืออีสาน


 


ทำลายระบอบทักษิณได้หรือไม่ ระบบปาร์ตี้ลิสต์อันใหม่มันช่วยทำลายได้ เพราะปาร์ตี้ลิสต์อันเก่ามันทำให้พรรคการเมืองมี over representation  มีส.ส.เกินกว่าสัดส่วนที่ควรจะได้ มีบทบัญญัติในมาตรา 104 ห้ามควบรวมพรรค ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร นี่ก็สะท้อนว่ารัฐธรรมนูญนี้ร่างขึ้นเพราะต้องการป้องกันระบอบทักษิณ ระบอบทักษิณมาเกิดขึ้นจากการควบรวมพรรคการเมือง


 


อีกอันหนึ่งก็คือ การลดดีกรีของ strong executive เห็นคุณจาตุรนต์บอกว่ามีการเขียนห้ามรัฐบาลเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการ ผมไม่ได้อ่านละเอียด แต่ในความเป็นจริงมันต้องก้าวก่าย แล้วข้าราชการก็มีที่ยอมให้ก้าวก่าย เพราะบางส่วนต้องการเติบใหญ่โดยอาศัยอำนาจทางการเมือง คุณไม่สามารถจะไปกำกับได้ขนาดนั้น


 


ด้านหนึ่งอาจารย์บอกว่าสังคมการเมืองไทยมันพัฒนาไปมากแล้ว อยากถามแนวโน้มว่า ระบอบอำมาตยาธิปไตยกับสังคมไทยปัจจุบันยังจะอยู่ด้วยกันได้ไหม และระบอบอำมาตยาธิปไตยจะอยู่รอดในสังคมการเมืองโลกที่เป็นทุนนิยมโลกาภิวัตน์ได้หรือเปล่า ?


ระบอบอำมาตยาธิปไตยมันก็ต้องแปลงร่าง มันไม่เหมือนกับยุค 2475 จนกระทั่งตุลาคม 2516 มันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่สามารถธำรงระบอบเก่าได้ ในยุคตั้งแต่ 2475 ถึง 2516 ระบอบอำมาตยาธิปไตยมันเป็นระบอบที่อำนาจในทางการเมืองอยู่ที่ผู้นำข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน แล้วอำนาจในการกำหนดนโยบายอยู่ที่ผู้นำข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน แต่ตั้งแต่หลังตุลาคม 2516 มันมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือการเติบใหญ่ของกลุ่มทุน บทบาทของกลุ่มทุนในกระบวนการกำหนดนโยบายมันเพิ่มขึ้นมาก กลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมีสิทธิมีเสียงในกระบวนการกำหนดนโยบายเพิ่มมากขึ้น แล้วกลุ่มทุนไทยก็เป็นพันธมิตรกับกลุ่มทุนสากล ชนชั้นกลางก็เติบใหญ่ขึ้นมาก ความรู้สึกเรื่องประชาธิปไตยของประชาชนคนไทยก็เพิ่มขึ้นมาก ทำไมรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับที่รอลงประชามติจึงต่างไปจากฉบับที่รับฟังความคิดเห็นพอสมควร ไม่ใช่เป็นเพราะมีแรงกดดันจากประชาสังคมหรือ


 


แล้วระบอบอำมาตยาธิปไตยมันไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในรูปแบบเดิมที่มีผู้นำฝ่ายทหารที่เป็นหัวโจกของระบอบ ในขณะนี้และในอนาคตผมไม่คิดว่าเราสามารถจะชี้ชัด (identify) ได้ว่าใครเป็นผู้นำฝ่ายทหาร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2549 เกิดขึ้นเพราะคุณทักษิณเข้าไปก้าวก่ายการแต่งตั้งในกองทัพ มันมีส่วนทำให้ผู้นำฝ่ายทหารมีการผนึกตัวกัน


 


ปัญหาก็จะมีอยู่ว่า กลุ่มอำมาตยาธิปไตยจะไปหาทุนทรัพย์จากที่ไหน เพื่อมาดำรงความเป็นอยู่ของระบอบอำมาตยาธิปไตย ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผู้นำฝ่ายทหารที่กระโดดลงไปเลือกตั้ง ในอดีตก็ใช้วิธีหิ้วเงินราชการลับไปตั้งพรรคการเมือง แต่พอกระสุนหมดก็หมดอำนาจในทางการเมือง


 


โจทย์ใหญ่ของระบอบอำมาตยาธิปไตยคือจะหาเงินจากไหนมาใช้ดำรงอยู่ของระบอบ คุณก็จะต้องหาเงินมาจากกระบวนการกำหนดนโยบาย ต้องยึดกุมกระบวนการกำหนดนโยบายให้ได้ ที่สำคัญ คุณต้องเชื่อมสัมพันธ์กับกลุ่มทุน


 


ทั้งหมดนี้ผมต้องการบอกว่าระบอบอำมาตยาธิปไตยมันไม่สามารถดำรงรูปลักษณ์ที่เป็นอยู่ก่อนตุลาคม 2516 ต่อไปได้ และแม้รัฐธรรมนูญ2550 จะพยายามที่จะรักษาพื้นที่ของขุนนางข้าราชการในโครงสร้างชนชั้นปกครอง มันก็รักษาพื้นที่ได้ไม่มาก มนุษย์ต่างดาวที่มาจากกระบวนการเลือกตั้งมันเข้าไปยึดพื้นที่ตั้งแต่ตุลาคม 2516


 


แนวโน้มเศรษฐกิจของไทยจะเป็นอย่างไร ?


เฉพาะหน้าคือปัญหาจะจัดการกับระบอบทักษิณอย่างไร เพราะถ้าจัดการไม่ได้ แล้วยังมีความขัดแย้งดำรงอยู่ ก็จะกระทบกระเทือนต่อการตัดสินใจลงทุนของต่างประเทศ อันนั้นเป็นเรื่องเฉพาะหน้า แต่ก็ไม่รู้เฉพาะหน้านี้จะยาวเท่าไร เลือกตั้งใหม่ผมก็ไม่แน่ใจว่าไทยรักไทยเดิมจะกลับมามีเสียงข้างมากหรือเปล่า (หัวเราะ)


 


อาจารย์คาดการณ์แนวโน้มหลังประชามติได้ไหม ?


ผมเชื่อว่าประชามติก็คงผ่าน ทีนี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อันแรกก็คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างชนชั้นปกครอง กลุ่มพลังอำมาตยาธิปไตยพยายามจะเข้ายึดพื้นที่ แต่ผมไม่คิดว่าจะยึดพื้นที่กลับคืนได้ไม่มาก อาจจะได้บ้าง


 


อันที่สอง สังคมการเมืองไทยก็จะพัฒนาไปเป็นระบบพหุพรรค ในยุคทักษิณเราเห็นการเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองไปสู่ทวิพรรคค่อนข้างชัดเจน โดยที่พรรคไทยรักไทยเติบใหญ่และใช้วิธีการซื้อพรรคอื่นและระบบปาร์ตี้ลิสต์มันทำลายพรรคเล็ก ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 สังคมการเมืองไทยจะกลับไปสู่สภาพที่เป็นอยู่ก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2540 ดีหรือไม่ดีเป็นเรื่องเถียงกันได้


 


อันที่สาม รัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ก็จะเป็นรัฐบาลผสม โอกาสเป็นรัฐบาลพรรคเดียวไม่มีเลย รัฐบาลผสมก็จะมีปัญหาเรื่องอายุของรัฐบาลจะสั้น และรัฐบาลก็จะไม่เข้มแข็ง อันนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550


 


อีกอันคือการทำให้ภาครัฐบาลใหญ่ขึ้นเยอะ เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ภาครัฐบาลใหญ่ขึ้นมาก


มันมีหน้าที่ๆ รัฐต้องทำตามหมวดสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย บทเฉพาะกาลก็บังคับให้ออกกฎหมายด้วย มาตรา 49 ประชาชนจะได้รับการศึกษาได้เปล่าและมีคุณภาพ มาตรา 53 คนชราจะต้องได้รับสวัสดิการ อันนี้ก็อยู่ในบทเฉพาะกาล มาตรา 54 สวัสดิการผู้พิการ ทุพลภาพ วิกลจริต มาตรา 55 บุคคลไร้ที่อยู่อาศัย มาตรา 61 การคุ้มครองผู้บริโภค และในบทเฉพาะกาลก็กำหนดเงื่อนเวลาว่าจะต้องออกกฎหมายตั้งองค์การคุ้มครองผู้บริโภคภายใน 1 ปี


 


อันนี้ก็เป็นภาระของภาครัฐบาลภายใต้ รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งจะทำให้ภาครัฐบาลใหญ่มากๆ แล้วในบางเรื่องเป็นเรื่องซึ่งผมไม่ค่อยเห็นด้วย เช่น เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ที่จะเห็นว่าระบบราชการมีหน่วยราชการอยู่แล้ว และเราก็เห็นว่าหน่วยราชการที่มีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคก็ทำงานไม่ได้เรื่อง ขบวนการคุ้มครองผู้บริโภคควรจะเป็นขบวนการที่จะส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีบทบาท แทนที่ว่ารัฐไปจัดตั้งองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นเอง


 


ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ปัญหาพื้นฐานที่มีมาตั้งแต่ปี 2492 คือหมวดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มันเริ่มในรัฐธรรมนูญ 2492 ซึ่งร่างขึ้นหลังรัฐประหาร 2490 รัฐประหารแล้วกลุ่มซอยราชครูไม่กล้าเป็นรัฐบาลเอง ก็ไปเชิดคุณควง อภัยวงศ์ เป็นนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์ก็ยึดสภาร่างรัฐธรรมนูญ แล้วคุณควงอยู่เพียง 6-7 เดือนก็ถูกจี้ออกจากตำแหน่ง แต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ขึ้นมาเป็นนายกฯ ไม่กล้าล้มสภาร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น รัฐธรรมนูญ 2492 มันมาจากฝีมือของสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งยึดกุมโดยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาธิปัตย์ก็ใส่ไว้ในหมวดนโยบายแห่งรัฐ บอกให้รัฐบาล จอมพล ป. ต้องนำแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไปทำ


 


มันก็เป็นประเด็นปัญหาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2492 จนถึงปัจจุบันว่าจะบังคับให้รัฐบาลทำหรือไม่บังคับ รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่เขียนไปในทางซึ่งไม่บังคับ เช่น มีเนื้อหาบอกว่าถ้ารัฐไม่นำเอาหมวดนโยบายแห่งรัฐไปดำเนินการ ไม่เป็นเหตุให้ประชาชนไปฟ้องรัฐบาลได้ อันนี้เป็นมาโดยตลอด รัฐธรรมนูญ 2550 ก็ไม่กล้าเขียนไว้ว่าถ้ารัฐบาลไม่ทำประชาชนมีสิทธิฟ้องรัฐบาล แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ไปสร้างกลไกว่าเวลาที่รัฐบาลแถลงนโยบาย ต้องแถลงว่านโยบายที่รัฐบาลแถลงอันไหนบ้างมาจากหมวด 5


 


อาจารย์ประเมินอย่างไรกับฝ่ายที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อาจารย์คิดว่าสัดส่วนคนโหวตไม่รับจะเยอะไหม แล้วถ้าคนไม่รับเยอะ แม้รัฐธรรมนูญจะผ่าน จะส่งผลอย่างไรกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ?


แต่ทีนี้มันมีองค์ประกอบต่างกันใช่ไหมครับ คนที่ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญมันมีส่วนที่มีกลุ่มทักษิณ ไม่ได้ต่อต้านด้วยการวิเคราะห์เนื้อหารัฐธรรมนูญ แต่ต่อต้านด้วยเหตุผลในทางการเมือง นี่เป็นเรื่องที่ประเมินลำบาก ยิ่งมีการปล่อยข่าวว่ามีการจ่ายเงินเพื่อให้ล้มรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าเป็นการปล่อยข่าวที่ไม่เป็นธรรม คือถ้าคุณรู้ว่ามีการจ่ายเงินเพื่อให้ล้มรัฐธรรมนูญ ทำไมคุณไม่ดำเนินการจับเสียเลย มันทำให้โหวตโนเป็นไปได้ยาก ปล่อยข่าวแบบนี้


 


กระบวนการประชามติที่เกิดขึ้นตอนนี้เรียกว่าเป็นแฟร์เกมไหม ?


เป็นแฟร์เกมหรือไม่ อันที่หนึ่ง กฎเกณฑ์ของการลงประชามติไม่น่าจะถูกต้อง ปกติมันมีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการลงประชามติอยู่สองกฎเกณฑ์ กฎเกณฑ์ที่หนึ่งก็คือว่าต้องมีคนมาใช้สิทธิจำนวนเท่าไหร่จึงจะถือว่าเป็นประชามติ ยกตัวอย่างเช่น ในกฎหมายประชามติ ถ้าผมจำไม่ผิด ต้องมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาใช้สิทธิไม่น้อยกว่า 20% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด แต่ในคราวนี้ไม่ได้กำหนดไว้เลย มาใช้สิทธิเท่าไหร่ก็ถือว่าชอบธรรม


 


และกฎเกณฑ์อันที่สองคือ จะใช้คะแนนเสียงเท่าไหร่ คราวนี้ก็ใช้ simple majority rule ก็คือเพียงครึ่งเดียวที่ผู้ที่มาลงคะแนน แต่ผมมีความเห็นว่า ในเมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกติกาซึ่งมาควบคุมกำกับตรวจสอบสังคมการเมือง กติกาซึ่งจะมาเป็น Governance

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net