Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวประชาธรรม



วันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนผู้ประสบปัญหาจากยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล ประกอบด้วย 1.ชุมชนบนพื้นที่สูง ลีซู, ลาหู่, ม้ง, อาข่า 2.ชาวเล (มอแกน, มอแกลน, อุรักลาโว้ย) 3.คนไทยพลัดถิ่น (ระนอง,ประจวบ,ชุมพร) 4.คนไทยคืนถิ่น (แม่สอด) และ 5.ลาวอพยพ (เชียงราย และอุบลราชธานี) เข้าร่วมเวทีสัมมนาทบทวนและประเมินสถานการณ์ กลไกการปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล ณ ห้องประชุมฝ้ายคำ สำนักบริการวิชาการ (UNISERVE) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


การจัดเวทีสัมมนาครั้งนี้เป็นผลมาจากมติ ครม.วันที่ 18 ม.ค. 2548 เห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล เพื่อกำหนดมาตรการในการจัดการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยมียุทธศาสตร์ 4 ประการ คือ 1.ยุทธศาสตร์การกำหนดสถานะ จะมีการกำหนดสถานะที่เหมาะสมให้แก่กลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม มีการจัดทำเอกสารแสดงตน 2.ยุทธศาสตร์การให้สิทธิขั้นพื้นฐาน จะมีการดูแลคุ้มครองให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง 3.ยุทธศาสตร์การดำเนินการเชิงสร้างสรรค์ เพื่อป้องกันการอพยพเข้ามาใหม่ โดยเพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันและสกัดกั้นการเดินทางเข้ามาในประเทศอย่างไม่ถูกต้อง และ 4.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ กำหนดแนวทางดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทุกภาคส่วน เพื่อร่วมมือกันในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ทั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ฯ 6 กลุ่ม ดังนี้


1.ผู้ที่อพยพเข้ามาในประเทศมีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนแล้ว 480,000 คน โดยเป็นกลุ่มที่ ครม.มีมติรับรองสถานะแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาคำร้อง 120,000 คน และกลุ่มที่ทางราชการจัดทำทะเบียนควบคุมออกบัตรสีต่างๆ ให้ถือไว้ จำนวน 360,000 คน ทั้งนี้รัฐบาลมีนโยบายให้สถานะบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ 10 ปี/ทำประโยชน์/บุตรที่เกิดในไทยให้ได้รับสัญชาติไทย และแปลงสัญชาติเป็นไทยให้แก่ผู้อพยพเชื้อสายไทย (จำนวน 12, 000 คนเศษ) บุตรที่เกิดในไทยให้ได้รับสัญชาติไทย


2.เด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษามี 60,000 คน โดยมีนโยบายให้สัญชาติไทยแก่บุคคลที่เกิดหรืออาศัยอยู่ในประเทศไทยและจบการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย นอกจากนี้ เด็ก/บุคคลที่เรียนต่ำกว่าอุดมศึกษาให้เข้าสู่กระบวนการกำหนดสถานะในกรอบการกำหนดสถานะตามกลุ่มที่ 1 (ทำบัตรเลข 0) 3.กลุ่มคนที่มีคุณประโยชน์แก่ประเทศ ได้แก่ บุคคลที่มีผลงาน/ ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ อาทิ ในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา โดยจะพิจารณาให้สัญชาติไทย แต่ทั้งนี้ ไม่สามารถกำหนดจำนวนเป้าหมายที่ชัดเจนของคนกลุ่มนี้ได้ เนื่องจากขึ้นอยู่กับการพิจารณาเป็นกรณีไป


4.กลุ่มคนไร้รากเหง้า ได้แก่ บุคคลที่ขาดบุพพการี หรือ ถูกบุพพการีทอดทิ้ง, อยู่นอกสถานรับเลี้ยงของรัฐและอาศัยอยู่ในประเทศไทย ,ไม่สามารถกำหนดจำนวนเป้าหมายที่ชัดเจนต้องมีการสำรวจตรวจสอบเพิ่มเติม ทั้งนี้มีนโยบายให้สัญชาติไทย ในกรณีที่ 1.ขาดบุพการี และมีคนรับเป็นบุตรบุญธรรมโดยคำสั่งศาล และ 2.ขาดบุพการี และมีชื่ออยู่ในระบบทะเบียน/ อาศัยอยู่อย่างน้อย 10 ปี 5.กลุ่มแรงงานต่างด้าว (พม่า ลาว และกัมพูชา) ที่พิสูจน์สัญชาติ ไม่ผ่าน มีนโยบายในการส่ง สตม./เจรจาส่งกลับอย่างเข้มข้น หรือพิจารณาให้สิทธิอยู่ชั่วคราวและเข้าสู่กระบวนการพิจารณากำหนดสถานะ และ 6.กลุ่มอื่นๆ คือ กลุ่มที่หลุดจาก 5 กลุ่มแรก เช่น ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทาง


นายสมชาติ พิพัฒน์ธราดล หัวหน้าโครงการพัฒนาสถานภาพและคุ้มครองสิทธิเด็กไร้รัฐและเด็กไร้สัญชาติในประเทศไทย มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลมีน้อย โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 3 เรื่องการป้องกันการเข้ามาใหม่ ไม่สามารถทำได้จริง เพราะคนทั้ง 6 กลุ่ม ขาดการตรวจสอบ และไม่ครอบคลุมกลุ่มที่ประสบปัญหาด้านสถานะบุคคลจริงๆ นอกจากนี้ยังมีการทุจริตเกิดขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ นี้ด้วย เช่น แรงงานขึ้นทะเบียน ไม่ต่ออายุ แล้วก็เข้ารับการสำรวจอย่างผิดกฎหมายโดยการเสียเงินนายหน้าให้กับเจ้าหน้าที่ที่รับการสำรวจผู้ตกหล่นทางทะเบียน


"สรุปแล้วยุทธศาสตร์นี้ทำลายความมั่นคง และไม่ได้ช่วยให้เกิดการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิเลย มีการสำรวจและกำหนดเฉพาะกับคน 6 กลุ่ม ซึ่งไม่ครอบคลุมคนที่มีปัญหาจริงๆ ซ้ำยังมีเจ้าหน้าที่ใช้ช่องทางจากยุทธศาสตร์นี้คอร์รัปชั่นอย่างแยบยลด้วย ดังนั้น การวางยุทธศาสตร์ต้องคิดถึงเรื่องการจัดการที่เป็นจริงด้วย โดยเฉพาะการจัดการสิทธิที่เป็นจริง เช่น การอนุญาตให้เดินทางนอกพื้นที่ กองทุนการศึกษา และสวัสดิการสุขภาพ เป็นต้น" นายสมชาติ กล่าว


นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้ประสานงานสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน กล่าวว่า กรอบความคิดหลักของยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล หลายอย่างก็ดูแล้วใช้ได้ เช่น การยอมรับเรื่องความหลากหลายของชาติพันธุ์ ความสมดุลเรื่องสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้งให้มีการดำเนินงานที่หลากหลายของประชาสังคม


อย่างไรก็ตาม ในทัศนะส่วนตัวเห็นว่าเมื่อกำหนดยุทธศาสตร์ออกมาแล้ว ยังมีความไขว้เขวบ้างในบางเรื่อง เช่น การให้สิทธิขั้นพื้นฐานกับบุคคลต่างๆ ที่มีสถานะที่ไม่ชัดเจน และอยู่ระหว่างการพิสูจน์สถานะ ตรงนี้ควรจะเปลี่ยนจากการให้ เป็นการให้ความคุ้มครอง เพราะเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นการได้มาโดยการเกิด จะขอหรือโอนให้ใครไม่ได้ โดยที่รัฐมีหน้าที่คุ้มครองเรื่องการศึกษาขั้นพื้นฐาน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม


"มีปัญหาเรื่องการจัดกลุ่มประเภทบุคคลตามยุทธศาสตร์ เช่น คนไทยพลัดถิ่น มีการนำไปรวมเอาไว้อยู่ในกลุ่มคนต่างด้าว ซึ่งไม่ถูกต้อง แต่ปัญหาที่หนักที่สุดคือ แนวทางการปฏิบัติและการนำไปใช้ที่มีความล่าช้ามาก นอกจากนี้ระเบียบและการสั่งการ ยังไม่มีความชัดเจน มีเพียงระเบียบการสำรวจจัดทำทะเบียนและเอกสารแสดงตนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน แต่ ณ วันนี้ ก็ยังไม่มีการสำรวจที่ครอบคลุมทุกกลุ่มบุคคล เป็นการสำรวจเด็กที่อยู่ในโรงเรียน ญาติของบุคคลที่ถือบัตรสีต่างๆ กลุ่มมอแกน และคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งเป็นปัญหากับกลุ่มคนที่ไม่มีญาติ แต่มีตัวตน ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการนี้ได้ รวมทั้งยังมีปัญหาเชิงซ้อนเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น มีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่และผู้นำ" นายสันติพงษ์ กล่าว


นายสันติพงษ์ กล่าวเสริมท้ายว่า ในยุทธศาสตร์ฯ นี้ ไม่มีขาวหรือดำ ข้อดีของยุทธศาสตร์ที่ดีก็มี จึงเสนอว่า เราควรจะประคองยุทธศาสตร์ฯ นี้เอาไว้ ส่วนที่ไม่ถูกต้องก็ต้องแก้ไข ทั้งนี้ วาระเร่งด่วนคือ ให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมด้านการบริหารจัดการในคณะกรรมการระดับชาติ ของพหุภาคี และกลุ่มประชาสังคมที่เป็นเจ้าของปัญหาด้วย ทั้งนี้ กลุ่มประชาคมที่เป็นเจ้าของปัญหาจะจัดเวทีทบทวนกลั่นกรองข้อเสนออีกครั้ง เพื่อนำเสนอให้กับรัฐบาลแก้ไขต่อไป


แหล่งข่าวคนไทยพลัดถิ่น จ.ระนอง รายหนึ่ง กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ข้อล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาสถานะสิทธิและบุคคล กล่าวคือล้มเหลวในการทำงานประเด็นพลัดถิ่น เนื่องจากมีผู้ถือบัตรเลขศูนย์นอกประเทศด้วย ส่วนการให้สิทธิขั้นพื้นฐานก็ไม่เป็นจริง ไม่สามารถป้องกันการอพยพเข้ามาใหม่ ซ้ำยังมีการปลอมและสวมตัวในการเข้ามาขอสำรวจ อีกทั้งการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ของรัฐก็ขาดการมีส่วนร่วมของผู้แทนปัญหา. 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net