Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 14 ส.ค. 50 พรรคแนวร่วมภาคประชาชน ออกแถลงการณ์เรื่อง "ประชามติ 19 ส.ค. ไม่เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตย"


 


เนื้อความในแถลงการณระบุว่า กระบวนการลงประชามติเพื่อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขาดความชอบธรรมและขาดความเป็นประชาธิปไตย เพราะรัฐบาลและคมช.ใช้ทุกวิถีทางเพื่อปิดกั้นไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยสามารถรณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น ยังคงมีกฎอัยการศึกใน 35 จังหวัด ในขณะเดียวกัน รัฐบาลหุ่นของคมช. ได้ถลุงงบประมาณที่เป็นเงินสาธารณะหรือเงินของประชาชนในการรณรงค์ชวนเชื่อและหาเสียงเพื่อให้ประชาชนไปรับร่างรัฐธรรมนูญเพียงฝ่ายเดียว


 


"ดังที่ปรากฎในเว็บไซต์ของหน่วยงานของรัฐบาล เช่น รัฐสภา รวมถึงของกระทรวงกลาโหมฯ หรือ สื่อสาธารณะต่างๆ อาทิ สถานีวิทยุซึ่งทหารคุมอยู่เป็นจำนวนมาก สถานีโทรทัศน์ ซึ่งมีการอัดสปอตโฆษณาอยู่เกือบตลอดเวลาอย่างเอิกกะเริกครึกโคม สรุปแล้ว เผด็จการทหารกำลังพยายามโกงการลงคะแนนเสียงในครั้งนี้"


 


ในแถลงการณ์ของพรรคแนวร่วมระบุว่า ถ้ามองเปรียบเทียบกับกรณีการเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49 ที่หลายๆ ฝ่ายมองว่าทักษิณโกงการเลือกตั้ง ครั้งนั้นมีการเปิดโอกาสให้หาเสียงกันทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย พรรคเราและคนอื่นมีการรณรงค์เพื่อให้กาช่องโนโหวตเพื่อเป็นการประท้วงโดยไม่มีการกีดกันหรือปราบปรามจากฝ่ายรัฐ แต่หลังการเลือกตั้ง 2 เมษายน กลุ่มสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง ที่พัฒนาตัวเองมาจาก กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือพวกชนชั้นกลางและนักวิชาการเสรีนิยม ได้ป่าวร้องว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นไม่ชอบธรรมเพราะเป็นการเลือกตั้งสกปรก จึงอ้างว่า "ไม่มีทางอื่นนอกจากการทำรัฐประหาร" เพื่อแก้วิกฤตการเมืองไทย


 


"แต่ถ้ามองเปรียบเทียบกันแล้ว การลงประชามติวันที่ 19 สิงหาคม 2550 นี้ ยิ่งสุดแสนจะสกปรก แต่พวกที่ยอมรับรัฐประหารยังดันทุรังที่จะสนับสนุนกระบวนการลงประชามติและรณรงค์ให้รับรัฐธรรมนูญทหารโดยมีการให้เหตุผลว่าเพื่อปูทางไปสู่การปฏิรูปการเมือง"


 


ถ้าการมีส่วนร่วมของประชาชนถูกกีดกันทั้งในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการลงประชามติ และเนื้อหารัฐธรรมนูญแล้ว การแก้คราวหน้าจะยิ่งลำบาก ฉะนั้นถ้าผลการลงประชามติออกมาว่ามีการรับร่างรัฐธรรมนูญ จะถือว่ามีความชอบธรรมไม่ได้ เพราะเป็นการ "โกงการเลือกตั้ง" ครั้งใหญ่


 


"ในสถานการณ์แบบนี้เราควรปฏิเสธที่จะไปลงคะแนนเสียงในวันที่ 19 ส.ค. หรือไม่? จริงๆ แล้วเราควร แต่กระแสการปฏิเสธการลงคะแนนเสียงดังกล่าวไม่ใช่กระแสใหญ่ในหมู่คนที่อยากคว่ำรัฐธรรมนูญซึ่งมีมากมาย ดังนั้นเราเสนอว่ายังควรไปกาช่องไม่รับรัฐธรรมนูญเถื่อนของทหารด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้"


 


ทั้งนี้ พรรคแนวร่วมเห็นการอ้างว่ารัฐธรรมนูญ 50 เพิ่มเสรีภาพ แต่เนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญลดอำนาจประชาชนอย่างเป็นระบบ เช่น จำนวน สว.ครึ่งหนึ่งไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง มีการเพิ่มอำนาจให้กับกลุ่มข้าราชการ เพิ่มงบประมาณทหาร ซึ่งถือว่าเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ มีการลดปริมาณงบประมาณที่ใช้เพื่อประโยชน์ของคนจน


 


นอกจากนี้ เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีความก้าวหน้าไปจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ในสาระสำคัญที่มีผลต่อคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ เช่น มีการส่งเสริมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ บังคับให้รัฐบาลต้องลดงบประมาณที่ใช้สร้างสวัสดิการให้คนจนผ่านประโยคเรื่อง "การรักษาวินัยทางการคลัง" บังคับให้รัฐบาลต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมตามระเบียบของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ (IMF) และฉันทามติวอชิงตัน (Washington Consensus) และในขณะที่รัฐต้องจำกัดค่าใช้จ่ายสำหรับคนจน มาตรา 76 กลับระบุว่ารัฐต้องเพิ่มงบประมาณทหาร นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มอำนาจให้ตลาดและกลุ่มทุน ไม่มีการเพิ่มอำนาจและสิทธิเสรีภาพในการต่อรองของกรรมาชีพและสหภาพแรงงานหรือกลุ่มเกษตรกรแต่อย่างใด ไม่มีข้อเสนอให้เก็บภาษีก้าวหน้าจากคนรวย ไม่มีข้อเสนอให้สร้างรัฐสวัสดิการอย่างครบวงจรจากการเก็บภาษีดังกล่าว และไม่มีมาตรการเพื่อสร้างเสรีภาพของสื่อที่ถูกทหารควบคุมมาตลอดหรือเคยถูกทักษิณควบคุมด้วย


 


ในเรื่องสิทธิของคนกลุ่มน้อย สิทธิทางเพศ สิทธิชาติพันธ์ และการสร้างสันติภาพและความเป็นธรรมในสามจังหวัดภาคใต้ รัฐธรรมนูญ50ไม่ได้คืบหน้าอย่างจริงจังแต่อย่างใด สรุปแล้วพวกที่มาร่างรัฐธรรมนูญทหารไม่สนใจการปฏิรูปการเมืองเลย สนใจแต่จะกีดกันไทยรักไทยด้วยวิธีการเผด็จการเท่านั้น


 


"แม้ว่าผลการลงคะแนนในประชามติจะออกมาอย่างไร รับหรือไม่รับ มันเป็นภาระกิจของพวกเราที่จะต้องทำหน้าที่รณรงค์ต่อไปเพื่อการปฏิรูปการเมืองอย่างถอนรากถอนโคน เพื่อสร้างประชาธิปไตยแท้ สร้างรัฐสวัสดิการ และสร้างสังคมที่ปราศจากอำนาจผูกขาดของชนชั้นปกครองเผด็จการทุกรูปแบบ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net