อีกหนึ่งวงดีเบตร่างรัฐธรรมนูญ 2550 โค้งสุดท้ายจากเชียงใหม่

"มาร์ก" รับร่าง รธน.50 ให้การเมืองเดินหน้าไปได้ ถ้าไม่รับอำนาจกลับสู่มือ คมช. อำนาจเก่าใหม่จะสู้กันยืดเยื้อ "วรเจตน์" ซัด แค่มาตรา 309 ก็เพียงพอต่อการไม่รับ อัปลักษณ์ที่สุดในการเขียนกฎหมาย ทำลายหลักการการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสิ้นเชิง "ไชยันต์" รับรัฐประหารเพราะเป็นเครื่องมือไม่ให้นองเลือด ชูมาตรา 28 เป็นอาวุธสู้เพื่อสิทธิ "จาตุรนต์" งงทำไมท่องแต่คาถานองเลือด ชี้ไม่รับร่าง รธน. 50 ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องการมี รธน. แต่เพื่อบอกชาวโลกว่าเราต้องการประชาธิปไตย

 

 

ประชาไท - เมื่อวันที่ 17 ส.ค. โครงการรณรงค์เผยแพร่ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และการลงประชามติ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศานศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการอภิปรายเรื่อง "รัฐธรรมนูญ 2550 กับทิศทางการเมืองไทยในอนาคต" ณ หอประชุมใหญ่สถานบริการสาระสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีผู้อภิปรายฝ่ายสนับสนุนให้ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และรศ.ดรไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนผู้อภิปรายคัดค้านให้ลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ได้แก่ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายจาตุรนต์ ฉายแสง กลุ่มไทยรักไทย

 

 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวเป็นคนแรกว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กับ 2550 มีโครงสร้างหลัก 3 ประการที่ไม่แตกต่างกัน ประการแรกคือเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพไว้อย่างกว้างขวาง ประการที่สองคือเปลี่ยนรูปแบบการปกครองในรัฐสภาแบบดั้งเดิมโดยเสริมกลไกการตรวจสอบนอกสภาด้วยองค์กรอิสระ ประการสุดท้ายคือหลักประชาธิปไตยประชาชนต้องเป็นผู้กำหนด โดยในรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรียังต้องแต่งตั้งจากสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้น ในภาพรวมรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับจึงมีโครงสร้างหลักไม่ต่างกัน ส่วนในรายละเอียดอาจจะต่างกันบ้างจนนำไปสู่การขยายความของทั้งฝ่ายรับและไม่รับรัฐธรรมนูญ และคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เองก็ไม่ได้ดีทั้งหมดอย่างที่ฝ่ายสนับสนุนคุย แต่ก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ฝ่ายคัดค้านบอก

 

ในส่วนที่ดี เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพ เดิมในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จะต้องรอกฎหมายลูกออกมาแต่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จะมีผลทันทีแม้ไม่มีกฎหมายรองรับ แต่จะไปสู่การตีความของศาล

 

นอกจากนี้การเขียนกฎหมายตามลายลักษณ์อักษรดีขึ้น โดยพยายามแก้ไขจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่เขียนไว้ดีแต่ประสบปัญหาในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ถ้าปลายปี 2549 มีการเลือกตั้ง รัฐธรรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็จะมีการแก้ครั้งใหญ่ ซึ่งในการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็หยิบหลักการเหล่านั้นมาใช้

 

ในส่วนที่มองว่าไม่ดี และไม่เห็นด้วย คือ มาตรา 309 และเรื่องวุฒิสภา อย่างไรก็ตาม หากจะบอกว่าเป็นการสืบทอดอำนาเผด็จการหรือการฟื้นระบอบอมาตยาธิปไตยคิดว่าไม่น่าจะใช่ เพราะประเด็นอย่างนายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งหรือการมีคณะกรรมการฉุกเฉินแก้วิกฤติก็ถูกตัดออกไป ประเด็นคนที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนมีอำนาจมาชี้นำได้จึงไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน

 

ต่อมา นายอภิสิทธิ์ได้วิเคราะห์ประเด็นองค์กรอิสระว่า มีที่มาไม่แตกต่างกันมากนักในรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ นอกจากนี้ องค์กรอิสระยังไม่มีบทบาทในด้านนโยบาย เพราะเรื่องนโยบายยังเป็นส่วนที่พรรคการเมืองต่างๆ จะต้องไปแข่งขันกัน จึงทำให้ไม่มีปัญหาอำนาจแทรกแซง

 

ในประเด็นที่มองว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีถูกอภิปรายได้ง่าย ประเด็นนี้ถ้านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีจิตวิญญาณประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะหลักสำคัญของประชาธิปไตยจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสภา รัฐบาลจะต้องคุมเสียงข้างมากในสภาให้ได้ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลที่โปร่งใสจะต้องพร้อมชี้แจงต่อสภา

 

ในเรื่องการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งเป็นเขตที่ใหญ่ขึ้นจะทำให้ได้รัฐบาลผสมนั้น ตัวชี้วัดจะไม่ใช่เรื่องกติกาแต่กลับเป็นข้อเท็จจริงทางการเมือง ดังนั้นแม้จะใช้ระบบตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แต่ถ้าเป็นใน พ.ศ. 2548 พรรคไทยรักไทยก็ยังจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว ในขณะที่ตอนนี้แม้จะใช้ระบบตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็อาจจะได้รัฐบาลผสม เพราะสภาพหลังการรัฐประหาร กลุ่มต่างๆ แตกตัวเป็นอย่างที่เห็น ทั้งนี้ รัฐบาลผสมในสามัญสำนึกอาจจะดูอ่อนแอแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะอ่อนแอเสมอไป มันอยู่ที่ความเป็นผู้นำรัฐบาลและกติการะหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้นหากพรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล พรรคที่มาร่วมต้องยอมรับวาระประชาชน ซึ่งถ้าไม่ได้ก็พร้อมจะไม่เป็นรัฐบาล

 

สุดท้าย นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงจุดที่ชอบในร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า สามารถให้รัฐมนตรีคงสภาพ ส.ส. ได้ เพราะจะทำให้ความผูกพันต่อสภาชัดเจนขึ้น ที่ผ่านมาเมื่อแยกรัฐมนตรีออกจากการเป็น ส.ส. ทำให้รัฐมนตรีไม่ใส่ใจต่อสภาทำให้เกิดสภาพที่ผู้แทนของประชาชนต้องวิ่งไปหารัฐมนตรีเพื่อผลักดันนโยบายต่างๆ

 

อีกเรื่องหนึ่งคือการขยายเขตเลือกตั้งใหญ่จะทำให้ไม่เกิดการต่อสู้กันอย่างรุนแรงในเขตเลือกตั้ง และจะลดการซื้อเสียง ไม่สร้างความแตกแยกในชุมชน รวมทั้งจะทำให้ ส.ส. สนใจงานในระดับชาติมากขึ้น  เพราะการที่เขตเลือกตั้งเล็กจะทำให้ ส.ส. เห็นท้องถิ่นสำคัญกว่าทั้งที่ควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำตรงนั้นให้เต็มที่

 

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เคารพคนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีที่มาจากการรัฐประหาร และส่วนตัวก็ไม่ชอบหลายเรื่อง แต่ตอนนี้รัฐประหารได้เกิดขึ้นแล้ว ชอบหรือไม่ชอบก็เปลี่ยนไม่ได้ และถ้าไม่ชอบอำนาจจะกลับไปสู่มือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เพราะสุดท้ายจะเป็นผู้เลือกรัฐธรรมนูญมาใช้ ถ้ารับรัฐธรรมนูญแล้วจะเกิดเหตุการณ์เหมือน พ.ศ. 2535 ก็จะไม่รับร่างนี้เช่นกัน แต่ถ้ามันพอไปได้แล้วรับ สิ่งที่ได้คือความชัดเจนทางการเมืองอีกทั้งมั่นใจว่าสภาในชุดหน้าจะแก้รัฐธรรมนูญแน่และแก้ง่ายกว่าฉบับอื่นๆที่ผ่านมา การรับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ชัดเจนในการเดินไปข้างหน้า แต่หากไม่รับอำนาจจะยังอยู่ในมือรัฐบาลปัจจุบันและ คมช. การต่อสู้ของกลุ่มอำนาจเก่าและใหม่ก็จะยืดเยื้อ ซึ่งมองว่าพอแล้วสำหรับทั้งเศรษฐกิจและสังคมที่เสียหาย เพราะอยากให้ประเทศเดินหน้าจึงเป็นเหตุผลที่พรรคประชาธิปัตย์รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

 

 

ด้าน รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวถึงความเห็นในการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ว่า การพูดถึงรัฐธรรมนูญและประชามติต้องเข้าใจก่อนว่าสำคัญอย่างไร รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นแม่บทที่ใช้ในการปกครองประเทศ เรื่องสำคัญที่ต้องมองคือเรื่องหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการจัดการโครงสร้างทางการเมือง ในเรื่องหลักสิทธิเสรีภาพนั้นในทางเนื้อหาไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แต่สามารถใช้สิทธิได้โดยตรงมากขึ้น เรื่องนี้ได้แก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จริง แต่ก็เป็นเรื่องที่พูดกันมาก่อนและเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขกันอยู่แล้ว

 

แต่ในส่วนโครงสร้างสถาบันทางการเมืองและองค์กรอิสระแม้จะไม่ต่างกันในภาพกว้าง แต่หากลงรายละเอียดจะเห็นความต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งบางอย่างเป็นความต่างในทางหลักการและมีข้อบกพร่องซึ่งสามารถแก้ไขได้ยากจึงต้องปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

 

ความบกพร่องของโครงสร้างสถาบันทางการเมืองในร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 คือเรื่องระบบการเลือกตั้งและการได้มาซึ่งวุฒิสภา ระบบการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 แบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 400 เขต แต่ละเขตสามารถเลือกคนเข้ามาได้คนเดียว เสียงแต่ละคนจึงไม่ต่างกันจึงเป็นความเสมอภาคในการลงคะแนน

 

ส่วนในระบบบัญชีรายชื่อหรือสัดส่วนนั้นเดิมทีใช้ประเทศเป็นเขตแล้วหาสัดส่วน ส.ส.เข้ามา คิดว่ายุติธรรมเพียงแต่มีปัญหาเรื่องการต้องมีสัดส่วนที่พรรคนั้นต้องได้รับเลือก 5% จึงทำให้เสียที่นั่งในการเป็นตัวแทน ส.ส.ในสภา ซึ่งเรื่องนี้แก้ได้เพียงตัดเรื่อง 5% ออกไป

 

แต่ในร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้แบ่งประเทศเป็น 8 เขต โดยจัดเป็นกลุ่มจังหวัด หากเอาจังหวัดในภาคเหนือไปรวมกับภาคใต้ เพื่อมี ส.ส. ร่วมกัน ตรงนี้เอาอะไรเป็นเกณฑ์

 

ในส่วนของ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง 74 คน การเลือกตั้ง 76 คน ก็มีความบกพร่อง เพราะในบางกรณี ส.ว.ต้องเป็นรัฐสภา เช่น เวลาที่ ส.ส.หมดวาระไป การที่ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งทำให้ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชนแล้วจะมาใช้อำนาจแทนประชาชนได้อย่างไร

 

ในส่วนองค์กรอิสระ เดิมทีให้อำนาจองค์กรสรรหามากอยู่แล้ว มาในร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 องค์กรสรรหาจำนวนไม่น้อยมาจากประธานศาลต่างๆ จากนั้นจึงเลือกกรรมการอิสระส่งไปให้ ส.ว.เลือกอีกที และถ้า ส.ว. ปฏิเสธไม่เลือกจะต้องส่งรายชื่อกลับมาที่องค์กรสรรหา แต่ถ้าหากองค์กรสรรหายังยืนยันเป็นเอกฉันท์ก็สามารถส่งชื่อไปลงพระปรมาภิไธยได้ จึงเป็นการออกแบบให้อำนาจสำคัญมาอยู่ที่องค์กรสรรหาที่มาจากการแต่งตั้งหรือโดยตำแหน่ง

 

รศ.ดร.วรเจตน์ ได้ตั้งข้อสังเกตต่อไปในเรื่องการสืบทอดอำนาจว่า การทำในรูปแบบเดิมเป็นไปไม่ได้แล้วแต่มันจะเนียนขึ้นโดยจะทำผ่านคณะกรรมการสรรหา ผ่าน ส.ว. ผ่านองค์กรอิสระ ผ่านคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (มาตรา 308) และการยอมให้มีมาตรา 309

 

ทั้งนี้ หากรับร่างรัฐธรมนูญ พ.ศ.2550 ไปแล้ว การบอกว่าค่อยไปแก้ทีหลังนั้นทำได้ยาก เพราะเมื่อรับแล้วกลไกต่างๆ จะเริ่มเดิน การเลือกตั้งก็มีปัญหาในเชิงหลักการ การสรรหาองค์กรอิสระบางองค์กรก็จะเกิดขึ้น อัยการกลายเป็นองค์กรอิสระที่ไม่เกี่ยวกับการบริหาร เป็นต้น และถ้ากลไกเหล่านั้นเดินแล้วจะสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ง่ายๆ อย่างที่ว่ากันหรือ

 

ประเด็นสำคัญที่สุดที่ รศ.ดร.วรเจตน์ ระบุว่าเพียงมาตราเดียวก็เพียงพอต่อการไม่รับร่างรัฐธรรมนุญ พ.ศ. 2550 ก็คือมาตรา 309 ความเป็นมาของมาตรานี้ในรัฐธรรมนูญฉบับรับฟังความคิดเห็นได้รับการวิพกษ์วิจารณ์มากจากทุกฝ่ายว่าเขียนกว้างเกินไป แต่กลับไม่มีการแก้ไขแม้แต่คำเดียวในรัฐธรรมนูญฉบับที่จะให้ลงประชามติ

  

มาตรา 309 ถือเป็นกล่องดวงใจของผู้กุมอำนาจในเวลานี้และแก้ไม่ได้ ทางหนึ่งคือการนิรโทษกรรม ล้มความผิดในอดีต ให้ลืมการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไปเสีย

 

อย่างไรก็ตาม มาตรา 309 ไม่ได้เขียนเพื่อลบล้างความผิดในอดีตเท่านั้น เพราะถ้าอ่านแล้วจะได้ความว่าการกระทำใดๆ หลังการใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2549 หากทำไม่ถูกจะได้รับการนิรโทษกรรมด้วย ยกตัวอย่างสมมติว่า หากในวันนี้ คมช. ใช้อำนาจไม่ชอบตามกฎหมายหรือรัฐธรรมนุญชั่วคราว พ.ศ. 2549 เช่นใช้งบประมาณไม่ถูกต้อง หรือเกิดการทุจริตในเวลานี้ ถ้ามาตรา 309 ประกาศใช้โดยถ้อยคำก็จะยกเลิกความผิดนี้

 

นอกจากนี้ หากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 คมช.จะยังไม่พ้นตำแหน่งจนกว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมารับหน้าที่และมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ดังนั้น คมช.จะสามารถใช้อำนาจไปถึงตอนนั้นได้ จึงหมายความว่า มาตรา 309 รองรับการกระทำของ คมช. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรานี้อัปลักษณ์ที่สุดในการเขียนกฎหมาย มาตรา 309 นัยยะคือเรื่องไม่ชอบถือว่าชอบ เป็นการทำลายคุณค่าขั้นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม

 

อีกประเด็นหนึ่ง การบอกว่ารัฐประหาร 19 กันยาฯ เกิดขึ้นแล้วทำอะไรไม่ได้ แต่ก่อนหน้านี้วันนั้นแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์เองก็ยอมรับว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ แต่เมื่อเกิด 19 กันยาฯ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่างไรก็ตามผลของการลงประชามติคือการส่งสัญญาณว่า วันข้างหน้าคุณอย่าทำ ผลประชามติไม่รับจะบอกว่าผู้ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองนอกระบอบประชาธิปไตยอย่าทำอีก เรื่องนี้เป็นเรื่องของอนาคต

 

ในส่วนที่บอกว่าถ้าไม่รับจะทำให้ไม่เกิดความชัดเจนทางการเมือง ในนานาอารยะประเทศความชัดเจนทางกรเมืองจะเกิดขึ้นได้เมื่อกลับเข้าสู่ระบบแล้วมีการเลือกตั้ง ซึ่งตรงนี้แม้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ก็มีการเลือกตั้งแน่ๆ ทั้งนี้ ยอมรับว่าหากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อำนาจจะกลับไปอยู่ในมือ คมช.จริง เป็นเพราะที่ผ่านมากติกาหล่านั้นล้วนไม่แฟร์มาตลอด แต่จะเอามาเป็นเหตุผลได้หรือ แน่นอนว่าหลังการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดความกดดัน แต่มันจะไม่นาน จากนั้น คมช.จะต้องประกาศใช้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งจะมีการแก้ครั้งใหญ่ เพียงแต่อำนาจในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้จะกลับมาอยู่ในมือประชาชนโดยไม่มีกฎอัยการศึก

 

หรือการที่มีบางคนพูดว่าถ้าไม่รับจะนำไปสู่การนองเลือด การนองเลือดนั้นจะเกิดขึ้นต่อเมื่อลั่นกระสุน แต่ถ้าผู้กุมอำนาจไม่ลั่นกระสุนก็จะไม่มีการนองเลือด การไม่รับคือการไม่เห็นด้วยกับที่มาและเนื้อหา จึงต้องเป็นหน้าที่ คมช.ที่ต้องนำรัฐธรรมนูญที่ดีกว่ามาใช้ เพราะทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่มาจากการต่อรองที่ไม่เท่ากัน ปัญหานี้คือเรื่องกติกาของการอยู่ร่วมกันในสังคม การยอมรับจะเกิดได้ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วม แต่ตรงนี้ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญนี้

 

 

รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร กล่าวเป็นคนต่อไปว่า ในทางรัฐศาสตร์ การยึดอำนาจรัฐนั้นหากยึดได้สำเร็จก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ถ้าไม่สำเร็จก็เรียกว่กบฎ และถ้ามาตรา 309 เรียกว่านิรโทษกรรมแสดงว่าเวลานี้การรัฐประหารอาจจะยังทำไม่เสร็จ และจะเสร็จทันทีเมื่อมีมาตรา 309

 

ดังนั้นการที่ยังมีฝ่ายไม่รับรัฐธรรมนูญ เช่น ม.เที่ยงคืน กลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหาร อยู่แสดงว่าการยึดอำนาจยังไม่สำเร็จ และกำลังมีความพยายามยึดอำนาจกลับคืนมาจากฝ่ายประชาชนซึ่งเป็นเรื่องที่แตกต่างจากในอดีตเพราะในการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 คนมีความตื่นตัวสูง ในวันแรกหลังการรัฐประหารก็มีการประท้วงที่สยามพารากอน และมีต่อเนื่องตามมาตลอด

 

อย่างไรก็ตาม ในสังคมประชาธิปไตย 5 ปีก่อน ประเด็นการละเมิดสิทธิผ่านการออกพระราชกำหนดการก่อการร้ายโดยคณะรัฐบาลทักษิณก็สามารถออกมาได้เลย ในขณะที่พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ....ของเผด็จการเมื่อจะออกมา ทุกกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านจนไม่สามารถออกมาได้ ดังนั้นเผด็จการกับประชาธิไตยอาจเป็นแค่ชื่อหรือนามก็ได้

 

รัฐประหารเกิดเพราะการยุติโอกาสในการนำไปสู่การนองเลือดไม่ใช่เพื่อการแก้รัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก คิดว่าถ้าคณะรัฐประหารเลือดเย็นกว่านี้ ถ้ามีการนองเลือดก่อนคงชอบธรรมมากกว่า แต่รัฐธรรมนูญหรือการปกครองที่เราศรัทธาหรือประชาธิปไตยมันไม่มีความหมายถ้าต้องตายเพราะมัน เราผ่านการสูญเสียมาเยอะแล้ว มนุษยชาติต้องมีชีวิตรอดก่อนจึงมีการปกครองที่ดีได้ ซึ่งหมายถึงต้องรักษาชีวิตคนอื่นด้วย ดังนั้นถ้ารัฐประหาร 19 กันยาฯ นองเลือดก็ไม่เห็นด้วย

 

"ผมปฏิเสธการนองเลือด ทหารเป็นเพียงเครื่องมือของผม ของประชาชน เป็นทัพหลังของประชาชน"

 

จากนั้นจึงได้กล่าวต่อในประเด็นเนื้อหาในรัฐธรรมนูญว่า การพิจารณาก่อนลงประชามติให้นำรัฐธรมนูญทั้ง 2 ฉบับมาเปรียบเทียบกันว่ามาตราใดที่มีประโยชน์อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใดเป็นเกณฑ์ ในส่วนตัวโชคดีที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มีมาตรา 65 จึงทำให้สามารถนำไปใช้อ้างในการสู้คดีฉีกบัตรเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ได้

 

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มีมาตรา 28 ไว้ให้สู้อีกทางหนึ่งซึ่งเพิ่มมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จึงอยากลองใช้ดู ถ้าใช้ไม่ได้ก็ต้องล้มรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติจะใช้มาตรา 28 เป็นตัวตั้งในการนำร่องเพื่อสู้เรื่องสิทธิของตัวเองต่อไป

 

 

นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวเป็นคนสุดท้ายและโต้ประเด็นมาตรา 28 ว่า การเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญไม่ใช่การต้องพูดทุกมาตรา แต่การอ้างมาตรา 28 มาตราเดียวแล้วเห็นข้อดีว่าฉีกบัตรแล้วไม่ผิดสำหรับรัฐธรรมนูญนั้นมันไม่ใช่แค่เขียนเรื่องสิทธิเรื่องเดียวแล้วก็พอใจ รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่กว่านั้น ต้องเอาเรื่องหลักๆ มาดูกัน

 

มาตรา 309 จะไปนิรโทษกรรม คมช. ที่โยงไปกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2549  มาตรา 37 ที่ว่า บรรดาการกระทำทั้งหลาย ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึด และควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ของหัวหน้าและคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมตลอดทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้า หรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า หรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อน หรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง

 

จากนั้น กฎหมายจึงรับรองว่าการฉีกรัฐธรรมนูญ การล้มสภา  การเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ก็ชอบด้วยกฎหมาย สิ่งพิเศษคือการกระทำใดๆ ขององค์กรหลังรัฐธรรมนูญชั่วคราว และการกระทำต่อไป ถ้าทำผิดกฎหมาย เช่น การยึดเอกสาร การจับคนไปขังในค่ายทหาร หากอ้างว่าเป็นคำสั่ง คมช. แม้จะไปฟ้องศาลก็จะถือว่าไม่เป็นความผิด มาตรา 309 จึงเป็นการนิรโทษกรรมการกระทำล่วงหน้าด้วย

 

ส่วนการอ้างให้รับเพราะกลัวการนองเลือดนั้น คราวที่แล้วก็อ้างว่ารัฐประหารเพราะกลัวการนองเลือด ทำไมจึงท่องคาถากันแบบนี้ ทั้งที่ ก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 ถ้าป้องกันกันจริงๆ ก็ไม่นองเลือด

 

ในประเด็นประชามติ นายจาตุรนต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำประชามตินั้นเขาทำในประเทศที่เจริญแล้ว ซึ่งเป็นการถามความคิดเห็นประชาชนว่าจะเอาหรือไม่ อย่างไร รัฐบาลมีหน้าที่แค่รับฟังเท่านั้น แต่นี่ไม่ใช่เพราะทั้งรัฐบาลและ คมช.มีการขู่ประชาชนว่าหากไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจจะได้รัฐธรรมนูญที่แย่กว่าเดิมมาใช้ ขณะที่ประธาน คมช. ก็ยังพูดว่าร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ดีกว่า 2540 ดังนั้นกรณีที่เกิดขึ้นนี้เราจะเรียกว่าเป็นประชามติได้อย่างไร เป็นการทำประชามติที่ไม่เข้าใจหลักการของประชามติเลย

 

"คนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ต้องการรัฐธรรมนูญ เขาต้องการ เพียงแต่เขาไม่ต้องการรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่นอกจากมาจากการรัฐประหารแล้วยังมีข้อบกพร่องต่างๆ มากมาย ดังนั้นการลงประชามติครั้งนี้จึงเป็นการกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง และเป็นโอกาสที่เราจะบอกชาวโลกว่าเราต้องการประชาธิปไตย เราไม่ต้องการการรัฐประหาร" ประธานที่ปรึกษากลุ่มไทยรักไทย กล่าวทิ้งท้าย

  

 

มาตราสำคัญที่ถูกกล่าวถึงในการอภิปราย

 

มาตรา ๒๘ บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้
        บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้ได้โดยตรง หากการใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องใดมีกฎหมายบัญญัติรายละเอียดแห่งการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้แล้ว ให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
        บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือจากรัฐ ในการใช้สิทธิตามความในหมวดนี้

 

มาตรา ๓๐๙ บรรดาการใด ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้
       

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท