Skip to main content
sharethis

เข็ม อิสระ


18 สิงหาคม 2550


 


คนไทยจำนวนมากมีเหตุผลต่างๆ ที่จะไปออกเสียง "รับ" ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 บ้างมองว่าเพื่อจะได้มีการเลือกตั้ง บ้างก็รับในฐานะที่เป็นการสืบสานเจตนารมณ์ของการรัฐประหารที่ต้องการแก้ไขปัญหาระบอบทักษิณ แต่ปัญหาจะจบสิ้นลงไปจริงๆ หรือไม่นั้น หรือจะบังเกิดสภาพการเมืองที่แบ่งขั้วน้อยลงและผูกขาดอำนาจน้อยลงภายหลังการลงประชามติในวันอาทิตย์นี้หรือไม่ ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก


 


พันเอกอำนาจ พุกศรีสุข จากวิทยาลัยการทัพบก กล่าวว่า การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญเป็นขั้นตอนที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการฟื้นคืนระบอบประชาธิปไตย "ไม่ว่า[ร่างรัฐธรรมนูญ]จะดีหรือไม่ดี เราสามารถแก้ไขทีหลังได้ เราจำเป็นต้องมีระบบรัฐสภากลับคืนมา เพราะเราไม่สามารถนั่งอยู่คนเดียวโดยไม่มีใครยอมรับได้ในโลกยุคโลกาภิวัตน์" พันเอกอำนาจกล่าว


 


สายพิณ อินคำ อายุ 29 ปี อาชีพแม่บ้านจาก จ.พะเยาบอกว่า เธอค่อนข้างวางใจกับรัฐบาลชุดนี้และจะบอกให้แม่ของเธอที่พะเยาไปลงประชามติ "รับ" ร่าง 


 


"ตอนที่อดีตนายกฯ ทักษิณบอกว่าจะขจัดความยากจน แม่ของฉันก็ไปลงทะเบียนที่อำเภอ แต่ก็ไม่เห็นสำเร็จ  นโยบายอันเดียวที่เป็นผลดีต่อหมู่บ้านของเราคือการปราบปรามยาเสพติด  แต่ฉันก็ไม่รู้ว่าเขาจะได้กลับมาเมืองไทยและทำให้เกิดการสะดุดหรือเปล่า" สายพิณกล่าว  ประโยคหลังของเธอเป็นประเด็นที่หลายคนตั้งคำถามอยู่เหมือนกัน เนื่องจากยังไม่ค่อยเห็นวี่แววว่าจะนำตัวอดีตนายกฯ และครอบครัวกลับมาดำเนินคดีในคดีทุจริตอื้อฉาวอันเป็นสาเหตุของการรัฐประหาร 19 กันยาได้อย่างไร


 


นี่อาจเป็นครั้งแรกที่การรัฐประหารไม่สามารถจัดการกับปัญหาทางการเมืองได้อย่างฉับไวในคราวเดียว อุกฤษฎ์ ปัทมนันท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว กรณีทักษิณจะยังคงส่งผลสะเทือนอยู่ต่อไปอีกหนึ่งปีหรือนานกว่านั้น ขณะที่กองทัพที่เชื่อว่ากำลังหาหนทางกระชับอำนาจมากขึ้น ก็ยังคงสาละวนอยู่กับการแย่งชิงตำแหน่งผบ.ทบ. แทนหัวหน้าคณะรัฐประหารที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนหน้านี้  อุกฤษฎ์บอกว่า สภาพเงื่อนไขเปลี่ยนไป แต่ก็อาจมีผลลัพธ์แบบเดิมๆ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายไปหลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องมีขึ้นอย่างแน่นอน


 


การรัฐประหารโดย จปร. 5 ในปี 2534 ที่นำโดยพล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ. พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผบ.สูงสุด พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ. สามารถปิดฉากรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ ที่อุ้มชูธุรกิจแต่เต็มไปด้วยข้อกล่าวหาการทุจริตลงไปได้ รัฐประหาร 19 กันยายังไม่มีอะไรที่ใกล้เคียงกับรสช.เลย อาจเป็นได้ว่าบทเรียนจากคราวนั้นเป็นเหมือนฝันร้าย ไม่ใช่สำหรับผู้ที่ทำการรัฐประหาร 19 กันยา แต่สำหรับประชาชนไทยที่เชื่อว่าจะต้องมีการจัดการกับครอบครัวทักษิณและทรัพย์สินของพวกเขา  สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบรัฐมนตรีในรัฐบาลชาติชายในข้อหา "ร่ำรวยผิดปกติ"  แต่ศาลฎีกาก็ตัดสินในภายหลังให้คืนทรัพย์สินเหล่านั้นไป เนื่องจากเป็นการยึดทรัพย์โดยมิชอบด้วยกฎหมายและคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินไม่มีอำนาจศาล


 


การต่ออายุ คตส.จึงเป็นประเด็นสำคัญ และบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญระบุว่าการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวข้องและสืบเนื่องจากการรัฐประหาร 19 กันยาจะได้รับการคุ้มครองในอนาคต รวมถึงการตรวจสอบและการดำเนินคดีทักษิณและพวกพ้อง อุกฤษฎ์เชื่อว่าการเมืองจะยังคงไม่นิ่งหลังประชามติ เนื่องจากคมช.ที่ปลดเกษียณและจะลงเล่นการเมือง จะต้องฟันฝ่าอาถรรพ์ที่รุ่นพี่เคยประสบมาในกรณีพรรคสามัคคีธรรม


 


แต่ทว่า ก็ยังคงมีความหวังอยู่บ้างว่า แม้ว่ากองทัพจะกลับมาเป็นฝ่ายคุมเกมในการเมืองไทยในอีกสองสามปีข้างหน้าด้วยอานิสงค์ของรัฐธรรมนูญ 2550 และกฎหมายอื่นๆ ที่จะออกตามมาอย่างเช่น พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน แต่คนมีสีก็ไม่สามารถจะทำอะไรตามอำเภอใจได้อีกแล้ว  บริบททางกฎหมายอาจจะมีความเข้มงวดมากกว่ายุคหลัง 6 ตุลา แต่คณะรัฐประหารจำต้องแสวงหาการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ


 


และพวกเขาก็ตระหนักว่าจะต้องรับฟังเสียงจากภายนอก มิฉะนั้นพวกเขาก็คงไม่ต้องคิดที่จะเชื้อเชิญสหภาพยุโรปหรือประเทศอื่นให้มาสังเกตการณ์การเลือกที่จะมาถึง ตอนนี้ขึ้นกับว่าเงื่อนไขและสภาพการณ์จะเป็นอย่างไรสำหรับผู้สังเกตการณ์ดังกล่าว คณะรัฐประหารตอนนี้ไม่ต้องการถูกจับตาหรือถูกวิจารณ์เกี่ยวกับกิจกรรมที่ "ไม่เป็นประชาธิปไตย" ที่อาจมีขึ้นเพื่อจัดการกับพรรคพลังประชาชน


 


กลยุทธ์และมาตรการต่างๆ ที่งัดออกมาใช้สำหรับการลงประชามติในวันอาทิตย์นี้เพื่อชักจูงให้ประชาชนไปออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญและไม่ส่งเสียงคัดค้านดังเกินไป ก็มีแนวโน้มจะถึงพริกถึงขิงมากขึ้นในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นต่อไป ท้ายที่สุดแล้ว คมช.และรัฐบาลสุรยุทธ์จะต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อควบคุมกระแสการต่อต้านรัฐประหาร ที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นในหมู่ผู้ที่ไม่ได้สนับสนุนการกลับมาของทักษิณ


 


 


-----------------


แปลจาก Uncertainty remains after referendum โดย พงศ์เลิศ พงศ์วนานต์


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net