Skip to main content
sharethis


 


ระชาไท - 19 ก.ย.2550 ที่หน่วยลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลาก่อน 12.00 น. ได้มีนักศึกษาและอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง ซึ่งเป็นทะเบียนบ้านของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่ารายชื่อของตัวเองหายไปจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง


 


โดยนักศึกษากลุ่มดังกล่าวที่รายชื่อตกหล่น ได้นำกระดาษโปสเตอร์สีเขียวมาเขียนด้วยปากกาเมจิกว่า "ทำไมพวกผมไม่มีสิทธิลงประชามติ" และนำมาชูหน้าคูหาเลือกตั้ง ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ต.ภูพิงค์ราชนิเวศน์ ซึ่งทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยหน้าคูหาเข้ามายึดป้ายไป โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้หนึ่งกล่าวว่าการกระทำดังกล่าวหน้าคูหาไม่มีความผิด เพราะนักศึกษากลุ่มนี้แค่ร้องเรียนสิทธิการลงประชามติเท่านั้น


 


เวลาประมาณ 14.00 น. ตัวแทนนักศึกษาประมาณ 15 คน จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินทางมาร้องเรียนที่ กกต.จังหวัด โดยระบุว่ามีนักศึกษาถูกตัดสิทธิไปกว่า 800 คน โดยทางมหาวิทยาลัยได้ย้ายรายชื่อนักศึกษาดังกล่าวออกจากทะเบียนบ้านเลขที่ 239 ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่อยู่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปอยู่ในทะเบียนกลางของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม เนื่องจากนักศึกษาบางคนจบการศึกษาแล้ว แต่ยังไม่ได้โอนย้ายที่อยู่ และไม่ได้อยู่ในหอพัก


 


นักศึกษาที่ร้องเรียนดังกล่าวระบุว่า การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา พวกเขายังสามารถออกไปใช้สิทธิได้ จึงเกรงว่าอาจจะมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น ขอให้ กกต.เข้าไปตรวจสอบด้วย


 


ส่วนหนึ่งของนักศึกษาและอดีตนักศึกษาที่มีรายชื่อตกหล่นประกอบไปด้วย นายปิยะเวทย์ กองสอน นายทินกฤต นุตวงศ์ นางสาวสุนทรี กะโอชาเลิศ น.ส.วรรณศิริ ทิพยมงคล นายมงคล เจริญจิตต์ น.ส.กุลภัทร ยิ้มพักตร นายวันชัย เชี่ยวชาญธนกิจ น.ส.ดุจเดือน กิตติวรวัฒน์ น.ส.ปริญญารัตน์ จินโต น.ส.กรกต อรรจนุสุขสวัสดิ น.ส.ธัญชนิต เพียรจัด นายเอกสิทธิ์ วงค์ราษฎร์ น.ส.วิพาพร ปีลอด และนายนครินทร์ กลั่นบุศร์


 


ผู้สื่อข่าวพบว่า นักศึกษาที่ร้องเรียนดังกล่าว บางส่วนเป็นนักศึกษาที่อยู่ชั้นปีสูงๆ เช่น นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 5 หรือ ชั้นปีที่ 6, นักศึกษาปริญญาโท หรือนักศึกษาปริญญาเอก ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจาก มช.แต่ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านกลับภูมิลำเนา และนักศึกษาที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และยังไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้าน


 


นายปิยะเวทย์ กองสอน นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายทินกฤต นุตวงศ์ นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยืนยันว่าเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา พวกตนยังมีสิทธิเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ แต่ปรากฏว่าในวันนี้เมื่อพวกตนตรวจสอบรายชื่อหน้าคูหาเลือกตั้ง กลับไม่มีชื่อ เมื่อสอบถามไปยังแขวงศรีวิชัยพบว่ามีการย้ายชื่อนักศึกษาออกจากทะเบียนบ้านในวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา และไม่มีการย้ายชื่อตนกลับภูมิลำเนา ทำให้ไม่มีสิทธิในการลงประชามติครั้งนี้


 


นักศึกษาคนหนึ่งเปิดเผยว่า จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาได้ปีเศษแล้ว วันนี้ได้นั่งรถทัวร์จากต่างจังหวัดกลับมาที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อใช้สิทธิลงประชามติ ด้วยเข้าใจว่ารายชื่อของตนเองยังอยู่ในทะเบียนบ้านของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังไม่ได้ทำการย้ายออก แต่เมื่อมาถึงแล้วไม่มีสิทธิเลือกตั้งทำให้รู้สึกเสียดายสิทธิ และเสียดายเวลามาก ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมต้องจำหน่ายชื่อออกในวันที่ 15 กรกฎาคม ทั้งๆ ที่เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมาเพื่อนๆ หลายคนได้มาใช้สิทธิเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ที่หน่วยเลือกตั้งศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นี้


 


ต่อมาตัวแทนนักศึกษาประมาณ 15 คนได้เดินทางมาร้องเรียนที่ศูนย์ประสานงานการลงประชามติของ กกต.จังหวัดเชียงใหม่ ถ.เมืองสมุทร อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อร้องเรียน โดยพนักงานสืบสวนสอบสวนของ กกต.เชียงใหม่ รายหนึ่งกล่าวว่า จะขอรับคำร้องเรียนของนักศึกษากลุ่มดังกล่าวไปก่อน และแนะนำว่าในการเลือกตั้งแต่ละครั้งควรตรวจดูรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อนที่ทะเบียนบ้านกลางของมหาวิทยาลัย ว่ามีสิทธิหรือไม่ หากรายชื่อตกหล่นจะได้ร้องเรียนทันเวลา


 


อนึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีระเบียบให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่พักในหอพักของมหาวิทยาลัย ย้ายทะเบียนบ้านจากภูมิลำเนา เข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาออกไปส่วนใหญ่จึงจะย้ายชื่อของตนกลับภูมิลำเนาเดิม แต่บางส่วนศึกษาต่อระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอก บางส่วนไม่สำเร็จการศึกษาภายใน 4 ปี หรือ "ปีเปอร์" หรือสำเร็จการศึกษาแล้วแต่ไปทำงานนอกภูมิลำเนา จึงยังคงมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


สำหรับผลการลงประชามติอย่างไม่เป็นทางการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำ exit poll ทั่วเมืองเชียงใหม่ เก็บตัวอย่างกว่า 1000 ราย พบว่าส่วนใหญ่โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ


 


ผลการสำรวจตัวอย่างทั้งสิ้น 1,050 ตัวอย่างพบว่า 45.45% โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ และ 54.56% ไม่รับ โดยตัวอย่างที่สำรวจส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง 58.2% และผู้ชาย 41.8%


 


กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 18-25 ปี เป็นนักเรียนนักศึกษา รองลงมาคือ รับจ้างและธุรกิจส่วนตัว และส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ผู้มาออกเสียงประชามติส่วนใหญ่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการลงประชามติและร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จากสื่อโทรทัศน์ รองลงมาคือหนังสือพิมพ์และวิทยุ


 


84.4% ทราบว่าการลงประชามติครั้งนี้เป็นการลงประชามติครั้งแรกในการเมืองไทย และ94.3% ทราบว่าการลงประชามตินั้นเป็นสิทธิของประชาชน


 


ประเด็นที่น่าสนใจคือ 61.1% ของกลุ่มตัวอย่างไม่เชื่อว่าการลงประชามติครั้งนี้จะสามารถยุติความรุนแรงทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ได้ ในขณะที่ 49.3% เชื่อว่าหากร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านการลงประชามติแล้ว จะสามารถนำไปใช้ในการบริหารบ้านเมืองได้จริง  


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net