Skip to main content
sharethis


25 ส.ค. บ้านมนังคศิลา   พล.อ. สายหยุด เกิดผล รองประธานมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย และนายวรินทร์ เทียมจรัส เลขานุการมูลนิธิองค์กรกลางฯ  ร่วมแถลงผลการประชุมสรุปผลการสังเกตการณ์การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมาของมูลนิธิองค์กรกลางฯ  โดยพล.อ.สายหยุด กล่าวว่า เครือข่ายของมูลนิธิองค์กรกลางฯได้ส่งอาสาสมัครสังเกตการณ์จำนวน 4,000 คน ลงพื้นที่สังเกตการณ์ตามหน่วยออกเสียงประชามติในพื้นที่ 41 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้จากการรายงานผลมีความชัดเจนว่าทหารได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการออกเสียงลงประชามติ ซึ่งตนมองว่าเรื่องนี้จะกระทบต่อสถาบันทหาร และผู้นำทางทหารที่เคยให้คำมั่นสัญญากับประชาชนว่าจะไม่สืบทอดอำนาจ ตนในฐานะนายทหารเก่าจึงอยากขอเรียกร้องให้กองทัพเร่งตรวจสอบกรณีดังกล่าวด้วย


 


ด้านนายวรินทร์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้ประเมินและสรุปผลการจัดการออกเสียงประชามติที่ผ่านมาว่า การดีเบทขององค์กรกลางฯ ช่วยในเรื่องการตัดสินใจของประชาชนได้มาก โดยจัด 3 ครั้ง ใช้งบประมาณเพียง 5 หมื่นบาทเท่านั้น แต่สามารถสร้างความเข้าใจให้ประชาชนได้เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านหรืออ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้วไม่เข้าใจ  ทั้งนี้พบว่าสาเหตุที่ทำให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ เช่น รับไปก่อนและแก้ในภายหลัง รับไปแล้วบ้านเมืองจะดีขึ้น นำไปสู่การเลือกตั้ง รวมทั้งการจูงใจจากภาครัฐ เป็นต้น  ส่วนสาเหตุที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น มองว่ามีที่มาจากรัฐประหาร เนื้อหาเป็นเผด็จการณ์ ไม่พอใจการชี้นำของภาครัฐ  ฐานเสียงทางการเมืองให้ข้อมูลทั้งจริงและเท็จ ไม่เชื่อว่าการขนคนไปลงคะแนนจะทำโดยสุจริตและโปร่งใส และยังพบด้วยว่าคนอีสานไม่ได้โง่ทางการเมือง ไม่ได้เอาเงินไปจ้างได้ทั้งหมด



 


นายวรินทร์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้ข้อสรุปว่าอำนาจรัฐเป็นฝ่ายแพ้ทางการเมืองในการจัดออกเสียงประชามติครั้งนี้ เพราะมีการจัดการเต็มระบบโดยใช้บุคคลากร หลัก 3 หน่วยงาน เช่น ทหาร มหาดไทย และสาธารณสุขเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนที่เห็นด้วย 14 ล้านเสียงนั้นมาจากฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ส่วน 10 ล้านเสียงที่ไม่รับร่างก็เกิดจากการจูงใจโดยกลุ่มการเมือง ทั้ง 2 ส่วนไม่ได้เกิดจากความเข้าใจเนื้อหารัฐธรรมนูญที่แท้จริง นอกจากนั้นผลของประชามติยังแบ่งประชาชนออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน และไม่ได้ส่งอานิสงส์ต่อการพัฒนาการเมืองไทยแต่อย่างใด



 


นอกจากนี้ในส่วนของ กกต. ก็ยังคงมีปัญหาเดิมๆ คือในเรื่องความพร้อมของหน่วยออกเสียง ที่อุปกรณ์ต่างๆ ไม่เรียบร้อย ซึ่งเกรงว่าจะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ด้วย ทั้งนี้ทางองค์กรกลางฯ เพิ่งได้รับรายงานว่าเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา ในหลายพื้นที่ที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้เริ่มแจกจ่ายเงินหัวละ 200 บาทให้กับประชาชน ซึ่งแตกต่างกับการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่มีการแจกเงินให้ประชาชนก่อนวันออกเสียง และอยากให้จับตาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในพื้นที่ที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในเดือน ก.ย. นี้ด้วย



 


นายวรินทร์ กล่าวต่อว่า มูลนิธิองค์กรกลางฯ มีข้อเสนอแนะว่า ขอให้ กกต. ขยายผลเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดเกี่ยวกับการลงประชามติ ให้มีการเขียนคำจำกัดความ คำว่าการเมืองของพรรคการเมือง การเมืองของภาคพลเมือง และความเชื่อมโยงกับการมีส่วนร่วมของประชาชนใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ ขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่มีการรับปากว่าจะแก้ไขด้วย รวมทั้งแก้ไขที่มาของ 47 ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้มูลนิธิองค์กรกลางฯ ขอให้กำหนดไว้ในกฎหมาย กกต. เกี่ยวกับการสนับสนุนการทำงานขององค์กรเอกชนโดยมีงบประมาณสนับสนุนแน่นอน ไม่ใช่ต้องรับจ้างทำงานจาก กกต. และเรียกร้องให้ กกต. ประกาศให้ชัดเจนว่าจะให้องค์กรเอกชนทำอะไรก่อนถึงวันเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ และจะสนับสนุนอย่างไร โดยไม่ใช้วิธีจัดจ้างทำงาน



 


 


..........................................................................


ที่มา: http://www.dailynews.co.th


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net