Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 27 สิงหาคม 2550 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.) ได้ออกแถลงการณ์หลังผลการลงประชามติ 19 สิงหาคม 2550 โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งประณามความไม่ชอบธรรมของกระบวนการลงประชามติของคณะรัฐประหาร เช่น มีการใช้อำนาจรัฐข่มขู่ชาวบ้าน มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก


แถลงการณ์ยังมีความเห็น ในกรณีที่ "กลไกของ คมช. ทั้งหลายรวมทั้ง กกต. นักวิชาการ สื่อมวลชนและนักการเมืองผู้สนับสนุนการรัฐประหาร ต่างก็ออกมากล่าวดูหมิ่นเสียงของประชาชนที่ไม่รับร่างว่า เป็นฐานเสียงที่อยู่ในระบบอุปถัมภ์ของพรรคไทยรักไทย เป็นเสียงที่ไม่บริสุทธิ์ หรือเป็นเสียงที่มาจากการใช้เงินอย่างมหาศาลของกลุ่มอำนาจเก่า เป็นกลุ่มคนจนที่คิดอะไรไม่ได้ไกลมากกว่าเรื่องการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ฯลฯ โดยไม่ได้ตระหนักว่า 10 ล้านเสียงที่ยืนยันไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่อำนาจรัฐหลอกล่อ ตบตา ครอบงำ ข่มขู่ ด้วยวิธีการสารพัดนั้น มีเจตนารมณ์อย่างไร ต้องการบอกอะไรต่อผู้มีอำนาจและต่อสังคมบ้าง …


ดังนั้นการไม่ยอมรับความแตกต่างทางความคิดที่สามารถจะเกิดขึ้นได้เสมอในสังคมประชาธิปไตย ที่เคารพในสิทธิประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน นี่ย่อมผิดหลักการทำประชามติ ผิดหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตย ผิดหลักการสร้างความสมานฉันท์ และไม่เคารพสิทธิพลเมือง" แถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุ


ในตอนท้ายของแถลงการณ์ กสส. ยังเสนอข้อเรียกร้องต่อสังคม 7 ประการ โดยตอนหนึ่งระบุว่า "แม้เสียงที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติครั้งนี้จะเป็นเสียงข้างน้อย แต่ก็หมายถึงประชาชนกว่า 10 ล้านคน ขอให้ผู้ถืออำนาจรัฐไม่ว่าในปัจจุบัน หรือในอนาคต สำนึกว่า สิ่งที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหาร การฉีกรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจากการรัฐประหาร และรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นในบรรยากาศของการรัฐประหาร ไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่เป็นที่ต้องการของประชาชนจำนวนมาก และสิ่งเหล่านี้ต้องถูกประณามให้ตายไปจากสังคมไทยได้แล้ว"


 






แถลงการณ์กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน


การลงประชามติ 19 สิงหาคม พ.ศ.2550 เป็นการลงประชามติที่มีผลสืบเนื่องจากการทำการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 โดยการฉีกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และทำการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยที่กระบวนการและเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญได้ถูกกำหนดโดยคณะรัฐประหารทั้งสิ้น


การลงประชามติก็เป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร โดยสิ่งเหล่านี้ได้พิสูจน์ให้ประชาชนได้เห็นแล้ว กล่าวคือ


1. กระบวนการลงประชามติไม่ได้สร้างทางเลือกให้กับประชาชน ประชาชนไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่ารัฐธรรมนูญในอนาคตจะมีเนื้อหาอย่างไรหากไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้


            2. การลงประชามติที่ดำเนินไปในขณะที่ประชาชนใน 35 จังหวัด ได้ตกอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ซึ่งทหารมีอำนาจในการควบคุมทุกอย่าง ประชาชนไม่ได้มีสิทธิเสรีภาพที่จะกระทำการใดๆเช่นสังคมปรกติ


            3. คณะรัฐประหารภายใต้ชื่อ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ( คมช.) และรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งโดยหลักการแล้วต้องวางตัวเป็นกลางในการออกเสียงแสดงประชามติ แต่ในความเป็นจริงกลับใช้งบประมาณและกลไกทุกอย่างของรัฐในการรณรงค์ชักจูงให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ


            4. กลไกของ คมช. ไม่ว่าจะเป็น สสร. กอ.รมน. ตำรวจทหาร ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. สื่อมวลชน รวมทั้ง NGOs และผู้นำชุมชนที่ใกล้ชิดอำนาจรัฐ ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้วิจารณญาณของตนเองในการตัดสินใจในการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังกล่าวโจมตี สร้างกระแสว่า ฝ่ายไม่เห็นด้วยคือผู้ไม่รักชาติ ไม่อยากให้บ้านเมืองสงบ ไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง


            5. มีการใส่ร้ายป้ายสีที่เกินจริง รวมทั้งการยืนยันจาก กกต. เพื่อสร้างภาพก่อนการลงประชามติ ว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญมีการเคลื่อนไหวนอกรูปแบบในการขัดขวางการลงประชามติหรือให้ประชาชนไปลงประชามติไม่รับร่าง เช่น แจกเงิน แจกเสื้อ ยึดบัตรประชาชน ออกเอกสาร/ซีดีเผยแพร่ ทั้งๆที่ในบางอย่างเป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนที่จะทำได้ (แจกเสื้อรณรงค์,ออกเอกสารเผยแพร่) และฝ่ายรับร่าง (คมช.) ก็ได้นำวิธีการที่ได้กล่าวโจมตีฝ่ายไม่รับร่างฯมาใช้ (โดยที่ไม่เป็นข่าว) นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวของฝ่ายไม่รับฯก็มีแต่ข่าวการร้องเรียนและจับกุม แต่การสอบสวนจนสามารถระบุได้ว่ามีความผิดจริงมีเพียงน้อยราย (รับแจกเงินเพียง 45 ราย)


            6. ทันทีที่ผลการลงประชามติออกมาว่าเสียงที่รับร่างมี14 ล้านเสียง แต่เสียงที่ไม่รับร่างมีถึง 10 ล้านเสียง (คิดเป็น ร้อยละ 41.37) โดยมีจังหวัดที่มีเสียงไม่รับร่างมากกว่าร้อยละ 50 อยู่ถึง 24 จังหวัด แบ่งเป็นภาคอีสาน 17 จังหวัด ภาคเหนือ 7 จังหวัด กลไกของ คมช. ทั้งหลายรวมทั้ง กกต. นักวิชาการ สื่อมวลชนและนักการเมืองผู้สนับสนุนการรัฐประหาร ต่างก็ออกมากล่าวดูหมิ่นเสียงของประชาชนที่ไม่รับร่างว่า เป็นฐานเสียงที่อยู่ในระบบอุปถัมภ์ของพรรคไทยรักไทย เป็นเสียงที่ไม่บริสุทธิ์ หรือเป็นเสียงที่มาจากการใช้เงินอย่างมหาศาลของกลุ่มอำนาจเก่า เป็นกลุ่มคนจนที่คิดอะไรไม่ได้ไกลมากกว่าเรื่องการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ฯลฯ โดยไม่ได้ตระหนักว่า 10 ล้านเสียงที่ยืนยันไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่อำนาจรัฐหลอกล่อ ตบตา ครอบงำ ข่มขู่ ด้วยวิธีการสารพัดนั้น มีเจตนารมณ์อย่างไร ต้องการบอกอะไรต่อผู้มีอำนาจและต่อสังคมบ้าง


ดังนั้นการไม่ยอมรับความแตกต่างทางความคิดที่สามารถจะเกิดขึ้นได้เสมอในสังคมประชาธิปไตย ที่เคารพในสิทธิประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน นี่ย่อมผิดหลักการทำประชามติ ผิดหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตย ผิดหลักการสร้างความสมานฉันท์ และไม่เคารพสิทธิพลเมือง


อย่างไรก็ตาม การออกมาใช้สิทธิลงประชามติของคนไทยทั้งประเทศจำนวน 25,978,954 คน รวมทั้งการตั้งใจไม่ออกมาใช้สิทธิของประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง เราเชื่อว่าโดยส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วยกับกระบวนการอันจอมปลอม และแนวทางการรัฐประหาร เพียงแต่ต้องการให้คณะรัฐประหารได้ยุติบทบาท เพื่อที่ประเทศชาติจะได้ฟื้นตัวจากการกระทำย่ำยีโดยการใช้อำนาจและเหตุผลจอมปลอมที่อ้างขึ้นมาเพื่อตบตาประชาชน


และด้วยความกล้าหาญของประชาชน (เป็นคนอีสานกว่า 5 ล้านคน) ที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถูกดูหมิ่นดูแคลน โดยเทวดาผู้ถืออำนาจรัฐ นักวิชาการรับใช้เผด็จการ นักการเมืองไร้อุดมการณ์ สื่อมวลชนที่ไร้จรรยาบรรณ และคนชั้นกลางผู้ชาญฉลาด เรา-กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.) ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายเยาวชนชาวบ้าน และนักกิจกรรมในภาคอีสาน จึงมีข้อเรียกร้องต่อสังคม เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่เสียงของประชาชนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้


1. ให้ คมช. ยุติบทบาททางการเมืองทันที รวมทั้งกล่าวขอโทษต่อพี่น้องประชาชนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และยุติการสั่งการให้หน่วยงานความมั่นคงดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่สีแดง


2. ให้ คมช. ยกเลิกกฎอัยการศึกใน 35 จังหวัดโดยเร็วที่สุด เพื่อยุติการข่มขู่คุกความประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว


3. ให้ กกต. พิสูจน์ข้อกล่าวหาว่าคนอีสาน และพี่น้องในภาคอื่นกว่า 10 ล้านคน ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพราะถูกซื้อเสียง โดยดำเนินการหาหลักฐาน/พยาน/ผู้ทำความผิด มาสอบสวนและชี้แจงต่อประชาชนให้มากกว่านี้ และดำเนินการเช่นเดียวกันกับฝ่ายรัฐที่เคลื่อนไหวให้รับร่างรัฐธรรมนูญ


4. ให้นักวิชาการและนักการเมือง สำนึกได้แล้วว่าความรู้และสถานะทางสังคมของท่าน ต้องใช้ประโยชน์ไปในการปกป้องสิทธิของคนชั้นล่างที่ถูกกระทำจากอำนาจรัฐตลอดมา รวมทั้งปกป้องสิทธิของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง มิใช่เป็นไปเพื่อเอื้ออำนวยการกดขี่และละเมิดสิทธิประชาชน (ที่ไม่เห็นด้วยกับท่าน) อย่างที่พวกท่านบางคนทำอยู่ทุกวันนี้


5. ให้สื่อมวลชนที่กล่าวโจมตีและดูหมิ่นพี่น้องคนจนและคนอีสานที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าก่อนหรือหลังการลงประชามติ สำนึกตัวว่าเป็นการกระทำที่ไร้จรรยาบรรณของวิชาชีพ ขาดการเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และกล่าวขอโทษต่อประชาชนผ่านสื่อของตนเอง


6. ขอให้พี่น้องประชาชนทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนชั้นกลาง เลิกดูถูกผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ควรรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างด้วยความเคารพ และไตร่ตรองด้วยเหตุผล เพราะนี่คือวิถีทางแห่งการสร้างสรรค์ในสังคมประชาธิปไตย อีกทั้งต้องเป็นพลังในการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป


7. แม้เสียงที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติครั้งนี้จะเป็นเสียงข้างน้อย แต่ก็หมายถึงประชาชนกว่า 10 ล้านคน ขอให้ผู้ถืออำนาจรัฐไม่ว่าในปัจจุบัน หรือในอนาคต สำนึกว่า สิ่งที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหาร การฉีกรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจากการรัฐประหาร และรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นในบรรยากาศของการรัฐประหาร ไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่เป็นที่ต้องการของประชาชนจำนวนมาก และสิ่งเหล่านี้ต้องถูกประณามให้ตายไปจากสังคมไทยได้แล้ว


ถ้าหากข้อเรียกร้องดังกล่าวข้างต้นไม่ได้รับการรับฟัง และปฏิบัติตาม ก็จะเป็นข้อพิสูจน์ให้ประชาชนได้เห็นอีกครั้งว่า ท่านทั้งหลายขาดความเข้าใจต่อหลักการประชาธิปไตย รวมถึงไม่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่แท้จริงอย่างที่ท่านกล่าวอ้างเลย และถ้าเป็นเช่นนั้นก็อย่าได้กล่าวประณามคนจน/คนอีสาน และเหยียบย่ำด้วยเหตุผลอันจอมปลอมอีกต่อไป


กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.)
25 สิงหาคม 2550


 


กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมภาคอีสาน (กสส.) และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน


1. นายพิชิต พิทักษ์


2. นายแพทย์กิตติภูมิ จุฑาสมิธ


3. นายทูนเกียรติ กมลเนตร


4. นายดนุพล สอนตาง


5. นายองอาจ ชาวสวนงาม


6. นายนันทโชติ ชัยรัตน์


7. นายสถิต ยอดอาจ


8. นายศรายุทธ์ ตั้งประเสริฐ


9. นางนีรนุช เนียมทรัพย์


10. นางสุภาวดี บุญเจือ


11. นายเลื่อน ศรีสุโพธิ


12. นายเดชอนันต์ พิลาแดง


13. นายนีณวัฒน์ เคนโยธา


14. นายสุพิทักษ์ วีระพล


15. นายวราเชนทร์ เชื้อบุญมา


16. นายไกรทอง เหง้าน้อย


17. นายจักรพงษ์ แก้วพเนา


18. นายนิรัตติศัย ขันทอง


19. นายพลจักร นวนพั่ว


20. นายสุเนตร เพียสุพรรณ์


21. นายภูมิอนันต์ สะอาด


22. นายสมศักดิ์ แก้วโสภา


23. นายวิรัตน์ บุญชาย


24. นายอนุพงษ์ จรดรัมย์


25. นายประธาน คงเรืองราช


26. นายหนูเกิด ทองนะ


27. นายสุพจน์ แก้วแสนเมือง


28. นายธนภพ มุขขันธ์


29. นายธิปไตย ฉายบุญทอง


30. นายฤทธิชัย ภูตะวัน


31. นายนิวาส โคตรจันทึก


32. นายปราโมทย์ ผลภิญโญ


33. นายชัน ภักดีศรี


34. นายวันชัย ฉอ้อนศรี


35. นายทศพล พลเยี่ยม


36. นายสมพงษ์ สิงห์ทิศ


37. นายไพทูรณ์ พรหมนอก


38. นายเมธา วีพิทักษ์


39. นายปรีชา พะวงศ์


40. นายวิมล สามสี


41. นายอนุชา แหสมุทร


42. นายพิษณุ ไชยมงคล


43. นายเจษฎา โชติกิจภิวาทย์


44. นายวัชระ บุญผิว


45. นายถนัด ชาวเขา


46. นายพิสาร หมื่นไกล


47. นายรุ่งวิชิต คำงาม


48. นายบุญทัน กมล


49. นายสมเกียรติ วงศ์เฉลิมมัง


50. นายสไว มาลัย


51. นายสามารถ ป้องนาค

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net