Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 28 ส.ค. 50 เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ออกแถลงกาณณ์ทำข้อเสนอเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงของผู้ใช้แรงงาน


 


แถลงการณ์ระบุว่า สืบเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจ สังคม ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะเรื่องค่าจ้างแรงงานที่ไม่เพียงพอต่อการครองชีพ คุณภาพชีวิตของพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ยังต่ำกว่ามาตรฐาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงทำข้อเสนอยื่อต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ดังนี้                        


 


1. ขอเสนอให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันเบื้องต้น ให้สอดคล้องกับมาตรฐานอัตราค่าจ้างขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็น 233 บาทต่อวัน อัตราเดียวกันหมดทั่วประเทศ


 


2. ให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการเลิกจ้างและปิดกิจการ สถานการณ์ปัจจุบัน นายจ้างมักใช้ข้ออ้างเกี่ยวกับค่าเงินบาทที่แข็งตัวหรือผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอื่นๆ อันส่งผลให้เกิดการขาดทุน หรือข้ออ้างที่บอกว่ามีการขาดทุนอย่างต่อเนื่องจนทำให้ต้องปิดกิจการนั้น ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีความเห็นว่า ควรมีคณะกรรมการติดตามตรวจสอบสาเหตุต่างๆ ของการเลิกจ้าง หรือการปิดกิจการที่ชัดเจนว่ามาจากการขาดทุนจริง หรือว่านายจ้างมีความต้องการย้ายฐานการผลิตไปในที่ที่มีต้นทุนด้านแรงงานต่ำกว่า หรือเหตุผลแอบแฝงอื่นๆ ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการควรประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนนักวิชาการด้านแรงงาน ผู้แทนนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น


 


3. ให้กระทรวงแรงงานกำหนดให้มีการตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงในการลงทุนจากนายจ้าง โดยคำนวณจากขนาดของสถานประกอบการ คำนวณจากทุนจดทะเบียน โดยนายทุนหรือเจ้าของกิจการต้องนำเงินลงทุนมาหักไว้ในกองทุน ตามอัตราส่วนของทุนจดทะเบียน ซึ่งในเรื่องจำนวนหรืออัตราส่วนที่เหมาะสมของเงินที่จะหักเข้ากองทุน ให้หารือกันในรายละเอียดต่อไป โดยกองทุนประกันความเสี่ยงฯ จะทำหน้าที่เหมือนเงินประกันจากนายจ้างเพื่อใช้ในการชดเชยให้ลูกจ้างอย่างฉุกเฉิน กรณีที่มีการเลิกจ้างหรือปิดกิจการก่อนเป็นการล่วงหน้า เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของลูกจ้างลงเบื้องต้น ทั้งนี้ในเรื่องของรูปแบบในการบริหารกองทุนให้มีการประชุมหารือในรายละเอียดต่อไป


 


4. ให้กระทรวงแรงงานแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาและแก้ปัญหาด้านแรงงานอย่างเร่งด่วน โดยให้มีผู้แทนที่หลากหลาย ได้แก่ ผู้แทนผู้ใช้แรงงาน ผู้แทนนักวิชาการด้านแรงงาน ผู้แทนภาครัฐ และผู้แทนนายจ้าง ซึ่งต้องทำงานอย่างเข้มแข็งและรวดเร็ว และมียุทธศาสตร์การทำงานด้านแรงงานเชิงรุกที่เท่าทันต่อยุคโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน เพื่อปรับปรุงและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านแรงงานให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ นั่นรวมไปถึงการปรับตัวของภาคการลงทุนในส่วนของอุตสาหกรรมที่ต้องมีการปรับตัวจากผู้รับจ้างผลิต มาเป็นเจ้าของสินค้าได้ในอนาคตอันใกล้ นั่นรวมไปถึงการพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งต้องมีการผลักดันกระแสมูลค่าการตลาดและขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศให้สามารถยืนอยู่ได้ โดยพึ่งมูลค่าการส่งออกที่ลดลง ซึ่งในรายละเอียดของกระบวนการสรรหาให้นำไปหารือกันต่อไป


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net