Skip to main content
sharethis


ในวันที่ 30 ส.ค.50 ตั้งแต่เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายต่างๆ ได้แก่ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี, เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ, ITF, แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์, นักศึกษามหิดล ฯลฯ จะมีการอภิปรายและยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้มีการตรวจสอบและยกเลิก ประกาศจังหวัดเรื่องการจัดระบบในการควบคุมแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ในพื้นที่ภูเก็ต ระนอง ระยอง พังงา


 


ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวขององค์กรพัฒนาเอกชนไทยด้านแรงงานและแรงงานข้ามชาติใน การเรียกร้องให้รัฐราชการไทยยกเลิกประกาศดังกล่าว ซึ่งมีมาตรการบางประการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนข้ามชาติ เช่น


 


หลังเวลา 20.00 น. ห้ามแรงงานข้ามชาติออกนอกสถานที่ทำงานหรือสถานที่พักอาศัย


 


ห้ามแรงงานข้ามชาติขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ และห้ามเจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ อนุญาตให้แรงงานขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ของตนเอง


 


หากแรงงานข้ามชาติมีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือ ให้นายจ้างจัดทำบัญชีรายชื่อแรงงานข้ามชาติผู้ใช้โทรศัพท์พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ และชื่อนามสกุลเจ้าของเครื่องและซิมการ์ดส่งให้จังหวัดทุกคน


 


ห้ามแรงงานข้ามชาติเข้าร่วมชุมนุมนอกที่พักอาศัยตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป


 


 


000


 


ข้อมูลเรื่องภาพรวมสถานการณ์หลังการประกาศใช้ประกาศจังหวัด เรื่องการจัดระบบในการควบคุมแรงงานต่างด้าว


 


โดย Peaceway Foundation 


 


 



ภาพรวมสถานการณ์หลังการประกาศใช้ประกาศจังหวัด


เรื่องการจัดระบบในการควบคุมแรงงานต่างด้าว[1]


 


สถานการณ์ทั่วไป


            จากการที่มีประกาศจังหวัดเรื่องกำหนดมาตรการจัดระเบียบคนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่จดทะเบียนขออนุญาตทำงานกับนายจ้างในกิจการต่างๆ ลงวันที่ 19 เดือนธันวาคม 2549 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 16 เดือนกุมภาพันธ์ 2550 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ลงวันที่ 27 เดือนกุมภาพันธ์ 2550 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง และลงวันที่ 9 เดือนมิถุนายน 2550 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เพื่อจัดระบบในการควบคุมแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและได้รับอนุญาตทำงานในจังหวัดดังที่มีประกาศข้างต้น และได้กำหนดมาตรการบางประเภทให้นายจ้าง แรงงานข้ามชาติ ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติ   


 


ในมาตรการที่กำหนดขึ้นพบว่าตั้งอยู่บนฐานคิด 2 ประการ คือ


1.      ฐานคิดเสรีนิยมบนผลประโยชน์นายทุน เช่น


1.1   ห้ามนายจ้างจ้างแรงงานข้ามชาติทำงานอื่นนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต


1.2   ในขณะทำงานแรงงานข้ามชาติต้องมีใบอนุญาตทำงานติดตัวหรือมีไว้ที่สถานที่ทำงาน เพื่อแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อมีการตรวจสอบ


1.3   ให้นายจ้างจัดที่พักอาศัยให้กับแรงงานข้ามชาติโดยคำนึงถึงความสะอาดและความเป็นอยู่ที่ถูกสุขลักษณะ


1.4   ห้ามนายจ้างรับแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเด็ดขาด หากปล่อยปละละเลยหรือก่อให้เกิดปัญหาจะยกเลิกใบอนุญาตทำงานทันที


 


2.       ฐานคิดเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐ ที่มองแรงงานข้ามชาติว่าเป็นบุคคลที่สามารถส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของชุมชน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงความมั่นคงของรัฐ ฉะนั้นรัฐควรจะต้องมีมาตรการในการควบคุมด้านต่างๆ เช่น


2.1   หลังเวลา 20.00 น. ห้ามแรงงานข้ามชาติออกนอกสถานที่ทำงานหรือสถานที่พักอาศัย หากมีความจำเป็นต้องทำงานหลังเวลาห้ามหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนอื่นๆจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้าง


2.2   ห้ามแรงงานข้ามชาติขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ และห้ามเจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ อนุญาตให้แรงงานขับขี่รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ของตนเอง


2.3   หากแรงงานข้ามชาติมีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือ ให้นายจ้างจัดทำบัญชีรายชื่อแรงงานข้ามชาติผู้ใช้โทรศัพท์พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ และชื่อนามสกุลเจ้าของเครื่องและซิมการ์ดส่งให้จังหวัดทุกคน


2.4   ห้ามแรงงานข้ามชาติเข้าร่วมชุมนุมนอกที่พักอาศัยตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรม นายจ้างของแรงงานข้ามชาติต้องออกหนังสือรับรองและแจ้งบัญชีรายชื่อแรงงานข้ามชาติที่จะเข้าร่วมกิจกรรมโดยมีรายละเอียดวัน เวลา และสถานที่ชุมนุม ชื่อและหมายเลขประจำตัวแรงงานข้ามชาติให้ชัดเจน ให้จังหวัดทราบเป็นลายลักษณ์อักษร


2.5   การอนุญาตให้ออกนอกเขตจังหวัดทำได้ 3 กรณี คือไปเป็นพยานศาลหรือถูกหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน มีเหตุเจ็บป่วยต้องรักษานอกพื้นที่โดยความเห็นของแพทย์ และได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนท้องที่ทำงานจากจัดหางานจังหวัดแล้ว


 


จากการมีประกาศจังหวัดดังกล่าวได้สะท้อนและแสดงให้เห็นว่ารัฐราชการไทยไม่ได้ตระหนักว่า


(1)     มาตรการดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติและตอกย้ำอคติที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ เป็นการนำไปสู่ความขัดแย้งและเพิ่มความเกลียดชังกลุ่มที่แตกต่างจากคนไทย อันขัดแย้งกับความต้องการและการประกาศแนวนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งให้มีความปรองดองสมานฉันท์เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์  ประกาศจังหวัดแสดงถึงรากฐานของความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติของรัฐราชการไทยที่มีต่อคนข้ามชาติ คนด้อยโอกาส หรือบุคคลที่ถูกถือว่าเป็น "คนอื่น" สำหรับสังคมไทย ได้สร้างทัศนคติในแง่ลบและสร้างความหวาดกลัวต่อแรงงานข้ามชาติมากยิ่งขึ้น 


(2)    ในความเป็นแรงงานข้ามชาติมีความเป็นมนุษย์ในสถานะอื่นๆซ้อนทับอยู่ เช่น เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นคนในครอบครัวหนึ่งๆ  เป็นเพื่อน เป็นเครือญาติ ไม่แตกต่างจากบุคคลกลุ่มอื่นๆทั่วไป การออกประกาศจังหวัดดังกล่าวจึงเป็นการแยกแรงงานข้ามชาติออกจากการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม แยกจากครอบครัว แยกจากชุมชน ซึ่งขัดแย้งต่อความเป็นมนุษย์ที่กล่าวว่า "มนุษย์คือสัตว์สังคม" และขัดแย้งกับวิถีของมนุษย์ที่ดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน


(3)    การทำงานของแรงงานข้ามชาติบางประเภทในเวลากลางคืนที่ต้องขึ้นอยู่กับการควบคุมของนายจ้างเป็นสำคัญนั้น ยิ่งทำให้แรงงานข้ามชาติตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิแรงงานมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการถูกบังคับใช้แรงงาน


(4)    การรวมตัวของแรงงานข้ามชาติไม่จำเป็นต้องเป็นการชุมนุมทางการเมืองตามที่รัฐราชการไทยเข้าใจเพียงเท่านั้น ยิ่งรัฐกีดกันการรวมตัวยิ่งส่งผลให้แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงสิทธิด้านอื่นๆเพิ่มยิ่งขึ้น เช่น สิทธิทางสาธารณสุข สิทธิทางการศึกษา การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือการดำเนินกิจกรรมทางวัฒนธรรมของตน


(5)    มาตรการดังกล่าวทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีการละเมิดสิทธิ การขูดรีด เนื่องด้วยการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจค้นจับกุมแรงงานข้ามชาติอันเนื่องมาจากข้อห้ามต่างๆ ซึ่งในแง่ข้อเท็จจริงแรงงานข้ามชาติก็มีความเสี่ยงในประเด็นดังกล่าวสูงอยู่แล้ว


(6)    ประกาศจังหวัดที่เกิดขึ้นไม่ได้สร้างให้เกิดความมั่นคงขึ้นในพื้นที่ ในทางกลับกันกลับสร้างความหวาดระแวงให้แก่คนที่อาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่ เป็นการแสดงถึงความไม่มั่นคงของชุมชน ที่สร้างกลไกการกดขี่เพิ่มขึ้น สร้างบ่อเกิดความหวาดระแวง และสร้างความเสี่ยงให้แก่คนในชุมชนเพิ่มขึ้น


(7)    ประกาศจังหวัดขัดแย้งกับหลักการสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานและอนุสัญญาต่างๆที่ประเทศไทยได้ให้การรับรองและเป็นสมาชิก เป็นนโยบายเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติหรือคนต่างชาติเพียงกลุ่มเดียว คือ พม่า ลาวและกัมพูชา


(8)    ประกาศจังหวัดนำไปสู่การเกิดแนวโน้มในการหาผลประโยชน์โดยมิชอบ การทุจริตจากเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐสามารถที่จะใช้ช่องทางของระเบียบเข้าไปแสวงหาประโยชน์จากแรงงานที่ต้องอยู่ในความหวาดกลัวต่อระเบียบนี้


 


เสียงจากภาครัฐ


            (1) ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง- นางกาญจนาภา กี่หมัน


"การที่จังหวัดออกประกาศฉบับดังกล่าวไม่ใช่ว่าจะห้ามแรงงานต่างด้าวใช้โทรศัพท์มือถืออย่างเด็ดขาด แต่จะห้ามในบางกรณีเท่านั้น แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาถูกต้องและมีใบอนุญาตทำงานสามารถมีและใช้โทรศัพท์มือถือได้ทุกเวลา ห้ามเฉพาะแรงงานที่เข้ามาไม่ถูกต้องและรอการส่งตัวกลับเท่านั้น แต่หากจำเป็นต้องใช้ก็ให้นายจ้างแจ้งหมายเลขโทรศัพท์มือถือให้จังหวัดทราบเพื่อจะได้ควบคุมได้ ที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดระนองมีปัญหาเรื่องขบวนการค้ามนุษย์หรือชนกลุ่มน้อยอาระกัน เมื่อมีการจับกุมและตรวจสอบลงไปพบว่ามีการใช้โทรศัพท์มือถือโทร.ติดต่อกันไปหาผู้กระทำความผิด จึงจำเป็นต้องมีระเบียบดังกล่าวและหลังจากที่ได้ออกประกาศไปแล้ว จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ก็พอใจในมาตรการที่ออกมา"[2]


 


            (2) ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต- นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร


"เหตุผลที่ต้องออกประกาศฯ เพราะแรงงานที่เข้ามาทำงานในพื้นที่นั้นมีหลายกลุ่ม และบางกลุ่ม ออกมาสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ สำหรับประกาศดังกล่าวนั้นทางจังหวัดจัดทำขึ้นเพื่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในจังหวัดและต้องใช้ต่อไป จะนำเรื่องของสิทธิมนุษยชนมาอ้างคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะการบังคับไม่ได้บังคับเด็ดขาด จึงคิดว่าไม่เป็นการริดรอนสิทธิมนุษยชนแน่นอน


และจากการที่ทางสวท.ภูเก็ต ได้เปิดสายรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนชาวภูเก็ต พบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยกับประกาศดังกล่าวเนื่องจากชาวบ้านรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และอยากให้จังหวัดมีการบังคับใช้กฏหมายอย่างเด็ดขาด"[3]


 


            (3) ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี- นายนิวัตน์ สวัสดิ์แก้ว


"ได้ออกประกาศจังหวัดสุราษฎร์ธานี เรื่องการกำหนดมาตรการควบคุมแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันการก่อเหตุร้ายที่จะเป็นอันตรายต่อความสงบสุข ความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรด้วย"[4]


 


เสียงจากแรงงานข้ามชาติ: ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการมีประกาศจังหวัด


(1)  จังหวัดพังงา : แรงงานทั้งมีใบอนุญาตทำงานและไม่มีใบอนุญาตทำงานได้ถูกจับกุมเพิ่มขึ้น[5]


1.1   เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2550 แรงงานกลุ่มหนึ่งได้จัดงานวันเกิดให้กับเด็กๆในหมู่บ้าน ระหว่างนั้นมีแรงงานผู้ใหญ่และเด็กจำนวน 300-400 คน ได้เดินทางมาร่วมงาน เมื่อตำรวจทราบว่ามีการรวมตัวกันเกิน 5 คน จึงเข้าจับกุมแรงงานทั้งๆที่แรงงานจำนวนมากมีใบอนุญาตทำงานถูกกฎหมาย และอีกหลายคนเป็นเด็ก


1.2   เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 แรงงานข้ามชาติคนหนึ่งกับเพื่อนได้ขี่รถมอเตอรไซด์ของนายจ้าง ซึ่งได้ขออนุญาตนายจ้างแล้ว เพื่อไปซื้อของใช้ทั่วไปที่ร้านค้าแห่งหนึ่งในตำบลเขาหลัก ระหว่างที่กำลังเลือกซื้อของอยู่ในร้านนั้น พนักงานในร้านเมื่อรู้ว่าเป็นแรงงานข้ามชาติก็ได้โทรศัพท์แจ้งตำรวจ เมื่อตำรวจมาถึงแรงงานคนดังกล่าวได้แสดงใบอนุญาตทำงาน แต่ตำรวจก็ยังยึดรถมอเตอร์ไซด์ไป และแจ้งให้นายจ้างไปรับคืน หรือเหตุการณ์ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 ที่ตำรวจไปพบแรงงานอีกคนหนึ่งที่ขี่มอเตอร์ไซด์ของนายจ้างไปซื้อของในร้านค้าที่อยู่คนละแห่งของสถานที่ทำงาน เมื่อตำรวจไปพบเข้าก็ยึดรถมอเตอร์ไซด์ไปทันที ทั้งๆที่แรงงานคนดังกล่าวก็มีใบอนุญาตทำงานถูกกฎหมาย


1.3   เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2550 แรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานคนหนึ่งได้หลบหนีตำรวจ เพื่อไม่ให้ถูกจับ เขาจึงถูกตำรวจยิงและได้รับบาดเจ็บที่ขาและกระดูกบริเวณดังกล่าว เขาถูกส่งไปยังโรงพยาบาลพังงาเพื่อรักษา ระหว่างนั้นตำรวจได้เรียกเงินจำนวน 1,400 บาท เพื่อแลกกับการที่เขาไม่ต้องถูกจับ


1.4   เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2550 เวลา 14.00 น. แรงงานข้ามชาติคนหนึ่งซึ่งมีใบอนุญาตทำงานถูกกฎหมาย ถูกตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอตะกั่วป่า จับที่สถานีขนส่งรถโดยสารอำเภอตะกั่วป่า ระหว่างที่จะเดินทางไปหาเพื่อนที่ต.บางเนียง เนื่องจากตำรวจให้เหตุผลว่าแรงงานข้ามชาติคนนี้ไม่มีใบหรือสำเนาใบอนุญาตทำงานที่ถูกกฎหมาย ทั้งๆที่แรงงานให้เหตุผลว่าใบอนุญาตทำงานนั้นนายจ้างเป็นคนเก็บไว้โดยตรงเพราะกลัวว่าแรงงานจะหลบหนีไปทำงานที่อื่น ตำรวจก็เลยจับแรงงานและกักขังไว้ที่สถานีตำรวจ 2 วัน ระหว่างที่ถูกขังอยู่ที่สถานีตำรวจ แรงงานได้ขอใช้โทรศัพท์ที่สถานี เพื่อโทรศัพท์ไปหาเพื่อนบอกให้นำใบอนุญาตทำงานมาแสดงกับตำรวจ แรงงานต้องเสียเงินค่าโทรศัพท์ให้ตำรวจถึง 200 บาท


1.5   เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 เวลา 21.00 น. แรงงานข้ามชาติจำนวน 11 คน ได้นั่งรับประทานอาหารอยู่ในร้านอาหารแห่งหนึ่งในอำเภอตะกั่วป่า ซึ่งเวลาดังกล่าวเลยจากเวลา 20.00 น. ที่มีในประกาศจังหวัดว่าห้ามแรงงานออกจากที่พักอาศัยมาแล้ว ทำให้เจ้าของร้านอาหารได้โทรศัพท์แจ้งตำรวจ เมื่อตำรวจมาถึงก็ได้จับกุมแรงงานทั้งหมดไปที่สถานีตำรวจตะกั่วป่า ใน 11 คน นั้น มี 7 คน มีใบอนุญาตทำงาน อีก 4 คน ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หลังจากนั้นไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับแรงงานกลุ่มนี้


1.6   เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 เวลา 15.00 น. แรงงานจำนวน 4 คน ซึ่งมีใบอนุญาตทำงานเพียง 2 คน ได้ถูกตำรวจจับกุมไปยังสถานีตำรวจ แรงงานที่มีใบอนุญาตทำงานต้องจ่ายให้ตำรวจ 2,000 บาท ส่วนแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 บาท เพื่อแลกกับการที่ไม่ต้องถูกคุมขัง


1.7   สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกรกฎาคม 2550 แรงงานข้ามชาติคนหนึ่งได้เดินทางไปซื้อน้ำแข็งที่ร้านค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านชาวประมงในตำบลคุระบุรี ระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 คน สังเกตเห็น จึงได้ติดตามแรงงานคนนี้ไปยังบ้านพักอาศัย และเข้าจับกุมแรงงานที่เป็นทั้งผู้ใหญ่และเด็กที่อาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าวจำนวน 20 คน


1.8   แรงงานจำนวนมากที่มีการใช้โทรศัพท์มือถือ / ขับขี่มอเตอร์ไซด์ในที่สาธารณะ(แม้ว่าจะไปแค่ซื้อของ หาเพื่อน เยี่ยมญาติ) เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ คนขับรถยนต์สาธารณะในท้องถิ่น เจ้าของร้านขายของ พนักงานขายของ ผู้นำหมู่บ้าน มาพบเข้า จะมีการแจ้งตำรวจให้มาริบโทรศัพท์ / ยึดมอเตอร์ไซด์ไป หรือบางครั้งก็จะมีคนที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจมายึดไปแทนด้วยเช่นกัน ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายนและ 6 กรกฎาคม 2550


 


(2)  จังหวัดภูเก็ต : เพิ่มอำนาจฝ่ายปกครองในการจับกุม


2.1   กลุ่มงานความมั่นคงปกครองจังหวัดสนธิกำลังปกครองอำเภอเมืองและจัดหางานจับกุมแรงงานต่างด้าวรวด 7 จุด ตามประกาศจังหวัดและรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2550  โดยนายสุระ สุรวัฒนากุล ป้องกันจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายวิโรจน์ สุวรรณวงค์ ผู้ช่วย ป้องกันจังหวัดภูเก็ต นายกิตติ หนุ่ยศรี นักวิชา การแรงงาน 7ว นายอดุลย์ ชูทอง ปลัดอำเภอเมืองภูเก็ต นายสุธี ศิริอนันต์ ผู้ช่วยป้องกันจังหวัดภูเก็ต นายอนันต์ เม็นราโสย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมืองภูเก็ต และสมาชิกอาสารักษาดินแดน สังกัดกองรักษาดินแดนจังหวัดภูเก็ตจำนวน 20 นาย ตรวจสอบแรงงานต่างด้าวใน ที่พักคนงานโครงการแลนด์ เทริส, โครงการ Thana wan Villas, ที่พักคนงานบริษัท Wood Lands , สถานที่ก่อสร้างบริษัทภูเก็ตอินเตอร์ วิลล่า , แคมป์คนงานโครงการโบ๊ทลากูน , ที่พักคนงาน บ้านหัวหาน ซอยท่าเรือเกาะแก้ว , ที่พักคนงานบริเวณใกล้เคียงและสถานที่ก่อสร้างที่บริเวณโดยรอบ โดยแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานถูกนำไปควบคุมตัวบันทึกประวัติที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต แล้วนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.อ.เมืองภูเก็ต ดำเนินคดีในข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานเพื่อผลักดันออกนอกประเทศต่อไป โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำตามตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 64/2550 ลงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2550 เรื่องแต่งตั้งชุดเฉพาะกิจแรงงานเพื่อตรวจสอบปราบปรามจับกุมและดำเนินคดีคนต่างด้าวลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต[6]


2.2   เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2550  พ.ต.อ.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองภูเก็ต ได้แถลงข่าวผลการจับกุมแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ว่าภายหลังจากที่จังหวัดภูเก็ตได้ออกประกาศห้ามแรงงานต่างด้าวออกจากที่พักหลังเวลา 20.00 น.ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ และห้ามขี่รถจักรยานยนต์ รวมทั้งข้อห้ามอื่นอีกมากมาย โดยได้ออกประกาศมาตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2549 และแจ้งให้นายจ้างได้รับทราบ รวมทั้งมีการแปรเป็นภาษาพม่าประกาศให้แรงงานต่างด้าวได้รับทราบ ดังนั้นเพื่อเป็นการสนองตอบนโยบายของจังหวัดภูเก็ต ทางด่านตรวจคนเข้าเมืองภูเก็ตจึงได้ระดมกำลังออกจับกุมแรงงานต่างด้าว โดยครั้งแรกได้จับกุมเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ในงานวัดฉลองได้แรงงานต่างด้าวทั้งหมด 42 คน โทรศัพท์มือถือ 27 เครื่อง และเมื่อคืนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2550 จับกุมได้อีก 39 คน โทรศัพท์มือถือ 20 เครื่อง ซึ่งการที่แรงงานต่างด้าวมีโทรศัพท์มือถือ มีรถจักรยานยนต์เป็นของตนเอง เป็นการเสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรมมาก เพราะสามารถที่จะติดต่อสื่อสารกันได้สะดวกยิ่งขึ้น[7]


 


การเคลื่อนไหวขององค์กรพัฒนาเอกชน


(1)  การเคลื่อนไหวขององค์กรของแรงงานข้ามชาติ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานร่วมกับแรงงานข้ามชาติ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2550


            คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อแรงงานไทย , ตัวแทนกลุ่มแรงงานทำงานในบ้าน, เครือข่ายพนักงานบริการ, คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.), เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ, เครือข่าย PHAMIT และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศด้านแรงงานข้ามชาติ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ถึงความกังวลใจต่อสถานการณ์และแนวนโยบายที่เกิดขึ้น จึงขอเรียกร้องให้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้ยกเลิกประกาศจังหวัดและนโยบายที่มีการละเมิดสิทธิและการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติทั้งหมด และต้องบังคับใช้กฎหมายในการคุ้มครองแรงงานอย่างจริงจัง รวมทั้งกำหนดแนวปฏิบัติที่เอื้อต่อการเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ


 


(2)  การเคลื่อนไหวของเครือข่ายสามพรานต้านการค้ามนุษย์ เพื่อขอให้ยกเลิกมาตรการควบคุม "แรงงานข้ามชาติ" เมื่อวันที่ 16  พฤษภาคม 2550 


เครือข่ายสามพรานต้านการค้ามนุษย์ซึ่งประกอบด้วย บ้านพระคุณ, มูลนิธิผู้หญิง, ศูนย์ข้อมูลคนหาย, ศูนย์เพื่อน้องหญิง, โครงการละครชุมชน, โครงการมิตรข้างถนน, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก, มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก, สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี,  องค์การพันธมิตรสากลต้านการค้าหญิง, องค์การแตร์เดซอมแห่งประเทศไทย, องค์การช่วยเหลือเด็ก (สหราชอาณาจักร), มูลนิธิไว.เอ็ม.ซี.เอ.กรุงเทพฯ สาขาพะเยา,  ภาคีต่อต้านการค้าเด็กและหญิงประเทศไทย, มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก, ศูนย์ทางเลือกการเรียนรู้สู่การพัฒนาและป้องกันชีวิตเด็ก ได้เดินทางไปยื่นจดหมายแก่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์  เพื่อคัดค้านมาตรการควบคุมแรงงานข้ามชาติที่ประกาศโดย ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ภูเก็ต และเชียงใหม่  และได้นำแถลงข่าวแจกจ่ายให้แก่สื่อมวลชนในทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอให้เผยแพร่แก่สาธารณชน 


 


(3)  การเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงานข้ามชาติและกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2550


            โดยเปิดเวทีเสวนาระดมความคิดเห็นเพื่อเสนอแนวทางให้รัฐบาลยกเลิกหรือทบทวนจังหวัดที่มีการประกาศใช้เคอร์ฟิวในกลุ่มแรงงานต่างด้าวตามเมืองท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลกระทบชีวิตความเป็นอยู่หรือเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่เกิดการทุจริตในการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามถิ่น โดยเตรียมยื่นข้อเสนอให้กับทางรัฐบาลทบทวนหรือยกเลิกจังหวัดที่ได้มีการประกาศใช้เคอร์ฟิวไปแล้ว ส่วนในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีกระแสข่าวจะมีการนำข้อห้ามดังกล่าวมาใช้เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดการประชุมขอเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน รวมทั้งให้แก้ไขปัญหาการขูดรีดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ใช้ช่องทางควบคุมแรงงานต่างด้าวในการจำกัดห้ามออกนอกพื้นที่ รวมทั้งบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ให้สอดคล้องตามความเป็นจริงในการทำงาน


 


(4)   การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษานานาชาติระดับบัณฑิตศึกษา สาขาสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 เป็นต้นมา


โดยทางกลุ่มได้เปิดให้มีการลงชื่อที่ http://www.ipetitions.com/petition/support_thai_migrant_workers เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการมีประกาศจังหวัดดังกล่าว ซึ่งแสดงถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงต่อคนข้ามชาติ


 


(5)  การเคลื่อนไหวของเครือข่ายให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในพื้นที่สึนามิ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2550


โดยทางเครือข่ายซึ่งประกอบด้วยศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ , MAP Foundation, องค์การหมอไร้พรมแดน, มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า, เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อประชาสังคมเข้มแข็ง ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เพื่อขอคัดค้านและขอให้ยกเลิกประกาศจังหวัดพังงา เนื่องจากเห็นว่าประกาศจังหวัดพังงานั้นมีเนื้อหาจำกัดสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมายของแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามมติคณะรัฐมนตรี และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการอนุญาตให้ชคนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2549 และ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550


 


สรุปข้อเรียกร้องขององค์กรพัฒนาเอกชน


การออกประกาศจังหวัดได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประเทศไทยไม่สามารถที่จะเป็นประเทศประชาธิปไตยและได้รับการยอมรับจากชุมชนระหว่างประเทศได้อย่างแท้จริง เนื่องจากเป็นการขัดและละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ และต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยเป็นภาคี เรามีข้อเรียกร้องต่อรัฐไทย ดังนี้


 



  1. รัฐต้องทบทวนและยกเลิกประกาศจังหวัดดังกล่าว รวมถึงต้องมีการวางแนวปฏิบัติเพื่อมิให้มีการออกประกาศที่มีลักษณะละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลอีกต่อไป  
  2. รัฐจะต้องมีแนวนโยบายต่อเรื่องแรงงานข้ามชาติในมิติที่รอบด้านและสอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเน้นเรื่องการคุ้มครองและเคารพในสิทธิมนุษยชน ควบคู่ไปกับนโยบายด้านอื่นๆ ยกระดับนโยบายแรงงานข้ามชาติไปสู่นโยบายคนข้ามชาติที่มีมุมมองและมิติที่ลึกซึ้งสอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่าแค่เป็นเรื่องของแรงงาน การบริหารจัดการในเรื่องแรงงานข้ามชาติ ในทุกระดับจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ภาคส่วนต่างๆรวมถึงแรงงานข้ามชาติเข้าไปมีบทบาทในการกำหนด และเสนอในเชิงนโยบายโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน "คณะกรรมการบริการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง" 
  3. รัฐต้องยอมรับในข้อเท็จจริงว่าประเทศไทยยังต้องการแรงงานข้ามชาติที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยและตระหนักว่าแรงงานข้ามชาติมีคุณูปราการต่อการสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย จึงควรที่สังคมไทยจะต้องปฏิบัติและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในฐานะของมนุษย์ที่มีสิทธิขั้นพื้นฐาน  
  4. รัฐต้องระมัดระวังในการพิจารณาส่งกลับแรงงานข้ามชาติบางคน เนื่องจากบุคคลบางคนได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่พักพิงและสมควรได้รับการคุ้มครอง  
  5. รัฐจะต้องส่งเสริมให้สังคมไทยเกิดความเข้าใจอันดีต่อแรงงานข้ามชาติ ขจัดความเกลียดชัง ความหวาดกลัวต่อบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ไทย

 


 


 


 


 






[1] เรียบเรียงข้อมูลโดย น.ส. บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์  มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี(Burma Issues) จากเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องของเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่เรียกร้องให้มีการยกเลิกประกาศจังหวัดดังกล่าว



[2] ข่าวสด วันที่ 03 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 17 ฉบับที่ 5999



[3] สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 02 พฤษภาคม พ.ศ. 2550



[4] สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2550



[5] ข้อมูลจากการรวบรวมโดยคณะกรรมการการศึกษาและการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในระดับรากหญ้า (GHRE)



[6] สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2550



[7] ผู้จัดการ วันที่ 22 กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net