กรีนพีซเรียกร้องนายกฯ แดนจิงโจ้ อย่าตุกติกเรื่อง "โลกร้อน" ในการประชุมเอเปก

เมื่อวันที่ 31 ส.ค.อาสาสมัครกลุ่มกรีนพีซในชุดหมีโคอาล่าชูป้ายผ้ามีข้อความว่า "Kyoto-Just Do it" หน้าสถานทูตออสเตรเลียในกรุงเทพฯ และยื่นจดหมายเตือนนายจอห์น โฮเวิร์ด ว่าไม่ควรกดดันผู้นำ 21 ประเทศที่จะมาร่วมประชุมสุดยอดกลุ่มเอเปกในเมืองซิดนีย์สัปดาห์หน้า เพื่อที่จะล้มพิธีสารเกียวโตซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน

 

กรีนพีซระบุว่า จากข้อมูลที่รั่วไหลออกมา นายจอห์น โฮเวิร์ด มุ่งที่จะตั้งเป้าหมาย "อันสูงส่ง" เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการประชุมสุดยอดเอเปกครั้งที่ 14 ซึ่งตัวเขาเองจะร่วมกับอาชญากรโลกร้อนอีกคนหนึ่ง นั่นคือ นายจอร์จ บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในการผลักดันข้อเสนอใหม่ที่ต่างไปจากพิธีสารเกียวโต หรือข้อตกลงภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มีผลบังคับใช้ในทางกฎหมาย

 

นายธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกล่าวว่า "ใน พ.ศ. 2538 นานาประเทศต่างเห็นพ้องกันว่า เป้าหมายการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยใช้วิธีการ "สมัครใจ" นั้นเป็นสิ่งที่ไร้ประสิทธิภาพ และด้วยเหตุนี้เองนานาประเทศจึงเจรจาให้พิธีสารเกียวโตมีพันธะสัญญาในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถ้านายโฮเวิร์ดจริงจังเรื่องภาวะโลกร้อนเหมือนอย่างที่กล่าวไว้ เขาควรเป็นผู้นำให้เอเปกสนับสนุนพิธีสารเกียวโต และใช้สิ่งที่ได้จากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม G-8 ซึ่งเรียกร้อง "ปฏิบัติการเร่งด่วนและมีพลัง" เพื่อจัดการกับปัญหาโลกร้อน รวมทั้งยืนยันว่ากระบวนการของสหประชาชาติในเรื่องสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นเวทีที่เหมาะสมในการเจรจาข้อตกลงระหว่างประเทศอันใหม่"

 

ข้อสรุปในรายงานการประเมินผลครั้งที่ 4 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่นำเสนอในปี พ.ศ.2550 ได้ชี้ให้เห็นถึงระดับและความเร่งด่วนของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประชุมที่กรุงเทพฯ ในเดือนพฤษภาคม IPCC ระบุอย่างชัดเจนว่า "ความพยายามในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงสองถึงสามทศวรรษข้างหน้าจะมีผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อโอกาสในการบรรลุถึงระดับที่สมดุลของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ" และขณะเดียวกัน ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะรักษาระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้อยู่ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส IPCC ชี้ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับโลกจะขึ้นถึงจุดสูงสุดภายใน พ.ศ. 2558 อย่างช้าที่สุด และจะลดลงร้อยละ 50-85 ภายใน พ.ศ. 2593 เทียบกับระดับใน พ.ศ. 2533

 

"กรีนพีซขอเรียกร้องผู้นำประเทศในกลุ่มเอเปกให้รับรู้ถึงนัยสำคัญเพื่อรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกมิให้เพิ่มขึ้นไปกว่า 2 องศาเซลเซียส และให้คำมั่นต่อมาตรการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งดำเนินการเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการประชุมพิธีสารเกียวโตที่จะเกิดขึ้นที่บาหลี อินโดนีเซียในเดือนธันวาคมนี้ การประชุมที่บาหลีจะทำให้โลกมีแนวทางที่เหมาะสม เพื่อปกป้องมนุษย์และโลกจากภัยคุกคามครั้งใหญ่ที่สุดที่ไม่เคยประสบมาก่อน" นายธารา กล่าวเสริม

 

กรีนพีซเรียกร้องให้ประเทศอุตสาหกรรมจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 30 ภายใน พ.ศ.2563 และอย่างน้อยที่สุดร้อยละ 80 ภายใน พ.ศ. 2593 โดยเทียบกับปีฐานใน พ.ศ.2533 เพื่อคงไว้ซึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกมิให้เพิ่มขึ้นมากไปกว่า 2 องศาเซลเซียส เท่าที่จะเป็นไปได้ และเพื่อให้รัฐบาลเคารพต่อคำมั่นสัญญาในช่วงเวลา 15 ปี ที่ผ่านมา ในการหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตราย

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท