Skip to main content
sharethis


กอแก้ว วงศ์พันธุ์


นักเขียนอิสระ


 


 


บทนำ


 


ตัวเลขแรงงานข้ามชาติชาวพม่าจากองค์กรพัฒนาเอกชน คณะกรรมการรณรงค์ประชาธิปไตยในพม่า รายงานว่า มีแรงงานชาวพม่าทั้งถูกกฎหมายและเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายอพยพเข้ามาทำงานในประเทศไทยมีจำนวนถึง 2 ล้านคน กระจายออกไปตามเมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั่วประเทศ เช่น ทาง ภาคเหนือ - เชียงใหม่ แม่สอด ตาก ลำพูน แม่ฮ่องสอน ภาคกลาง - กรุงเทพ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา ภาคใต้ - ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น


 


แรงงานชาวพม่านับเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่และมีลักษณะการอพยพที่พิเศษกว่าแรงงานข้ามชาติลาว และกัมพูชา ที่อพยพเข้ามาขายแรงงานเพราะมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในประเทศ แรงงานลาวและกัมพูชาต้องการความมั่นคงทางด้านรายได้ ในขณะที่แรงงานอพยพของชาวพม่า นอกจากจะมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจตกต่ำแล้ว ระบบการปกครองของพม่าได้สร้างปัญหาให้กับประชากรของตน และเป็นปัจจัยสำคัญผลักดันให้ประชากรของตนหนีร้อนไปพึ่งเย็นที่ประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจัยแรกคือ การปกครองในระบบสังคมนิยมแบบพม่า ที่เก็บภาษีการเกษตรจากประชากรมากขึ้นทุกปี กระทั่งชาวบ้านทนการเก็บภาษีของรัฐบาลทหารพม่าและความอดอยากไม่ไหว จึงได้หนีออกนอกประเทศ แรงงานพม่าที่รับจ้างเป็นลูกเรือประมงในอำเภอตะกั่วป่าบอกว่า เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว ทหารจะนำรถบรรทุกไล่เก็บข้าวจากลานทุ่งของชาวนาทุกบ้าน ปริมาณการเก็บแต่ละครั้งเท่ากับครึ่งหนึ่งของผลผลิต ทำให้พวกเขามีข้าวไม่พอกิน พอขาย ภาวะงานหนักแต่อดอยากทำให้เขาและเพื่อนบ้านหาทางมาขุดทองในประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย นอกจากนี้แล้วทหารพม่ายังบังคับให้ประชากรของตนทำงานให้รัฐฟรี บางครอบครัว หัวหน้าครอบครัวหรือแรงงานสำคัญเช่น แรงงานชายต้องไปทำงานตามที่ทหารเกณฑ์ให้ไปทำก่อน เมื่องานหลวงเสร็จจึงจะกลับมาทำงานในบ้านตนเองได้ การขาดแรงงานสำคัญในการทำมาหากินอยู่บ่อยครั้งส่งผลให้ผลผลิตและรายได้ลดลง เหตุนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ชาวพม่าออกจากประเทศเพราะทนความลำบากจากการกดขี่แรงงานของรัฐบาลทหารไม่ไหว ปัจจัยที่สอง คือ ระบบการปกครองแบบเผด็จการทหารที่มุ่งขจัดชนกลุ่มน้อยเพื่อความมั่นคงของประเทศ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศพม่ามีปัญหาเรื่องเชื้อชาติและชาติพันธุ์ มาโดยตลอด หากย้อนกลับไปเมื่อยุคประวัติศาสตร์ ยุคการปกครองแบบอาณาจักรเมื่อครั้งที่แบ่งแยกราชอาณาจักรพม่าและมอญ รากเหง้าความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติที่ทำให้ปรากฏมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อครั้งอาณาจักรพม่า ปราบกรุงหงสาวดีและกวาดต้อนเชลยกลับมา พ.ศ. 2302 การอพยพโยกย้ายของประชากรมีมาตั้งแต่ยุคนั้น


 


รากเหง้าความขัดแย้งของประวัติศาสตร์ระหว่างพม่ากับมอญรวมถึงชนเผ่าต่างๆ ถูกตอกย้ำอีกครั้ง เมื่อพม่าทรยศชนเผ่าต่างๆ ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เอาชนะเจ้าอาณานิคมอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2491 พม่ามีชาติพันธุ์ต่างๆ มากถึง 135 ชนเผ่า กลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ๆ เช่น พม่า มอญ คะฉิ่น กระเหรี่ยง คะยาห์ ยะไข่ ฉาน ไทใหญ่ ฯลฯ แต่เมื่อประกาศอิสรภาพจากอังกฤษแล้ว พม่ากลับฉีกสัญญา "ข้อตกลงปางโหลง" ที่สัญญาว่าจะให้ชาติพันธุ์ต่างมีเอกราช แม้จะอยู่ร่วมบนผืนแผ่นดินเดียวกัน โดยถือโอกาสนั้นรวมเผ่าพันธุ์ต่างๆ ให้เป็นพม่าเนื้อเดียวกัน การฉีกสัญญาปางโหลงและการยึดอำนาจของรัฐบาลพม่า ทำให้เผ่าพันธุ์ต่างๆ พยายามสร้างกองกำลังเพื่อป้องกันการรังแกจากพม่า เช่น องค์กรสหภาพแห่งชาติกระเหรี่ยง ( Karen National Uninon-KNU) องค์กรพรรคมอญใหม่ (New Mon State National Union-NMSP) องค์กรคะฉิ่นอิสระ (the Kachin Independent Organization -KIO) กองทัพรัฐฉาน (Shan State Army- SSA) องค์กรพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะยาห์ (the Karenni Progressive Party- KNPP) สภาปฏิวัติรัฐฉาน (Tailand Revolutionary Council -TRC) เป็นต้น ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธ์ในพม่าไม่ใช่มีเพียงแต่ชนชาติมอญกับพม่าเท่านั้น พม่ายังมีความขัดแย้งกับชนเผ่าอื่นๆ เช่น กระเหรี่ยง ไทใหญ่ คะยาห์ ฉิ่น คะฉิ่น ฯลฯ (พรพิมล ตรีโชติ, 2547) ปัจจุบันชนชาติมอญ คนไทยเชื้อสายมอญ ยังคงมีการจัดงานวันชาติมอญทุกปี ทั้งในประเทศพม่าและที่ประเทศไทย โดยจัดขึ้นประจำที่ด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขะบุรี จ.กาญจนบุรี โดยถือเอาวันก่อตั้งชาติมอญ แรม 1 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันชาติมอญของทุกปี (นิติ ภวัครพันธุ์และสุกัญญา เบาเนิด, 2550)


 


ปัจจุบัน บรรยากาศของหวาดระแวงและการปราบปรามชนกลุ่มน้อยของพม่า ส่งผลให้เกิดการอพยพโยกย้ายแรงงานข้ามชาติ เพราะมาตรการรักษาความปลอดภัยและมาตรการความมั่นคงแห่งชาติของรัฐบาลพม่า ทำให้ประชากรของตนอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวรัฐบาลทหาร และไม่มีความสะดวกสบายต่อการเดินทางติดต่อกันไปมาแม้ในประเทศบ้านเกิด "เวลาจะออกไปนอกเขตเมืองที่ผมอยู่ ผมต้องแสดงบัตรประชาชนกับทหารและรายงานว่าจะไปไหน ไปทำอะไร และต้องกลับมาในทันในตอนค่ำ ถ้ากลับมาไม่ได้ต้องรายงานด้วยว่าทำไมจึงกลับมาไม่ทัน" (สัมภาษณ์นายดำ คนงานประมงบ้านน้ำเค็ม)


 


จากรายงานขององค์กรพัฒนาเอกชน คณะกรรมการรณรงค์ประชาธิปไตยในพม่า เรื่องการอพยพโยกย้ายแรงงานข้ามชาติพม่าเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2531 หรือปี ค.ศ. 1988 หลังจากเหตุการณ์ 8-8-88 ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า โดยการลุกฮือของขบวนการนักศึกษา แต่ก็ถูกรัฐบาลทหารพม่าปราบปรามอย่างหนัก ส่งผลให้ทั้งนักศึกษาและประชาชนต้องอพยพลี้ภัยไปประเทศที่สามจำนวนมาก นั่นคือคนที่มีชีวิตรอดจากการปราบปราม นับจากนั้นเศรษฐกิจของพม่าก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ จึงเกิดการอพยพโยกย้ายแรงงานไปยังประเทศต่างๆ โดยมีประเทศเป้าหมายคือ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์


 


กลุ่มที่ทำการศึกษาคือ กลุ่มแรงงานพม่าในอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ตัวเลขของแรงงานข้ามชาติชาวพม่าจากสำนักงานแรงงานจังหวัดพังงาเมื่อ วันที่ 30 สิงหาคม 2548 รายงานว่ามีตัวเลข แบ่งเป็นแรงงานชาย 11,732 คน เป็นแรงงานหญิง 5,367 คน รวมทั้งหมด 17,089 ตัวเลขในปี 2550 จำนวนทั้งหมด 29,000 คน ทั้งหมดเป็นจำนวนแรงงานพม่าที่จดทะเบียนแรงงานถูกต้องตามกฎหมาย แต่ตัวเลขแท้จริงจากองค์กรพัฒนาเอกชนคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) รายงานว่ามีแรงงานพม่าในปีนี้มากกว่า 50,000 คน นอกเหนือจากนั้นเป็นแรงงานเถื่อน ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขขององค์กรพัฒนาเอกชน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่าที่รายงานว่ามีจำนวนแรงงานผิดกฎหมายมากกว่าแรงงานถูกกฎหมาย เหตุผลหนึ่งเพราะค่าใช้จ่ายต่อการแจ้งจดทะเบียนแรงงานพม่าค่อนข้างแพง รายละ 3,800 บาท นายจ้างส่วนใหญ่จะแจ้งขึ้นทะเบียนคนงานเพียงจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่ถึงครึ่งหนึ่งของแรงงานที่มีอยู่ เพื่อไม่ให้เป็นที่จับตามองแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เพราะกิจการของตนต้องใช้แรงงานพม่าเป็นหลัก นายจ้างเลือกวิธีให้เงินสินบนหรือเงินใต้โต๊ะแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ตำรวจ เมื่อถึงเวลาที่เจ้าหน้าที่เข้ามาทำการตรวจสอบ


 


อาชีพส่วนใหญ่เป็นอาชีพที่แรงงานพม่าไม่สามารถเลือกได้ เป็นงานที่คนไทยไม่เลือกทำ ลักษณะงานของแรงงานพม่าจึงมีภาพลักษณ์ของความเป็นงานที่สกปรก งานหนัก งานใช้แรงมากกว่าใช้ทักษะ แรงงานพม่าตกอยู่ในท่ามกลางความเสี่ยงในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านจิตใจ ปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ปัญหาถูกละเมิดทางเพศ ปัญหาการกดขี่ค่าแรง รวมไปถึงการเผชิญปัญหาการ "แบ่งเขา" "แบ่งเรา" จากประชากรไทยอย่างชัดเจน ด้วยมายาคติที่สร้างให้กับชาวพม่าเป็นแบบต่างๆ จากภาครัฐ เช่น ตัวแพร่เชื้อโรค แย่งงานคนไทยทำ เป็นภัยในด้านความมั่นคงของชาติ เป็นอาชญากรเพราะเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมายมีภาพลักษณ์ของลูกจ้างจอมโหด และในอีกด้านหนึ่งของชีวิตในฐานะประชากรพม่า เมื่อเขากลับไปเยี่ยมบ้านหรือกลับเข้าสู่หมู่บ้านที่จากมา บางคนต้องเผชิญกับการติดตามจากสายลับหรือทหารพม่าอยู่ระยะหนึ่งเพื่อให้แน่ใจว่า คนของเขาที่กลับมานั้นไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงภัยต่อความมั่นคงทางการเมืองของรัฐบาลทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานหรืออาสาสมัครที่เคยทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย เมื่อรัฐบาลทหารทราบข้อมูล พวกเขาจะถูกจับโดยไม่มีการสอบสวนก่อนแต่อย่างใด (อดิศร เกิดมงคล - คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า, 2549)


 


รายงานชิ้นนี้ศึกษาชีวิตแรงงานข้ามแดนพม่า ที่สะท้อนให้เห็นถึงการกระทำของรัฐแต่ละรัฐ อันส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนกลุ่มหนึ่ง กลับกลายเป็นคนไร้รัฐ ไร้สิทธิ ไร้เสียง ไร้ภาวะต่อรองอย่างสมบูรณ์


 


 


0 0 0


 


 


แรงงานข้ามชาติพม่า : เสมือนคนไร้รัฐ


           


เหตุการณ์ภัยธรรมชาติสึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ที่สร้างความหายนะให้กับชีวิตและทรัพย์สินแก่ประชาชนแถบฝั่งทะเลอันดามัน และสร้างความเสียหายในกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในสายตาของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ แต่ในขณะเดียวกันเหตุการณ์ความเสียหายครั้งนั้นก็ได้ทำให้สังคมโลกรับรู้การละเลยและเมินเฉยของรัฐบาลทหารพม่าต่อชะตาชีวิตของประชากรของตนที่กำลังประสบภัยและความทุกข์ยากแสนเข็ญในต่างแดน ทั้งนี้ไม่เคยมีประเทศใดในประวัติศาสตร์เคยกระทำมาก่อน เมื่อใดที่ภัยธรรมชาติหรือภัยสงครามเกิดขึ้น ประเทศใดที่มีประชากรอาศัยอยู่ในประเทศที่เกิดเหตุจะต้องรีบให้ความช่วยเหลือ หรือแม้กระทั่งต้องทำหน้าที่แจ้งข่าวสารจากที่นั่นให้กับญาติมิตรและประชากรที่อยู่ในประเทศทราบ หลังภัยสึนามิประเทศไทยและทุกประเทศในแถบตะวันตกและเอเชียต่างให้การช่วยเหลือประชากรของตนอย่างเต็มที่ แต่ประเทศพม่ากลับเป็นประเทศเดียวที่รัฐบาลไม่ให้ความช่วยเหลือและไม่ให้ความร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทยในการพิสูจน์หลักฐานและเอกลักษณ์บุคคลเพื่อช่วยเหลือประชากรในประเทศของตน องค์กรพัฒนาเอกชนพยายามขอความร่วมมือด้วยการปรึกษากับสถานทูตพม่า แต่ก็ได้รับคำตอบแบบเดิมว่า ทางรัฐบาลทหารไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ประชากรที่ประสบภัยเป็นคนของประเทศพม่าจริงหรือไม่ และปฏิเสธที่จะส่งเจ้าหน้าที่มาให้ความช่วยเหลือแรงงานพม่าในประเทศไทย (นัสเซอร์ อาจวรินทร์-ให้ข้อมูล) ดั้งนั้น แรงงานพม่าในต่างแดนจึงเผชิญภาวะที่ทุกข์แสนสาหัสอย่างโดดเดี่ยวและแทบสิ้นหวัง หากไม่มีองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ


 


รัฐ ที่ถูกออกแบบโดยรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า เป็นรัฐที่มีลักษณะเฉพาะเป็นตัวตนของพม่า แต่ผลจากการสร้างรัฐเกิดความรุนแรงและการละเมิดสิทธิคนอื่นอย่างชอบธรรมในสังคมพม่า รัฐของพม่าเป็นรัฐที่ผูกขาดการใช้ความรุนแรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ผูกขาดความชอบธรรมและใช้ความรุนแรงในการยุติปัญหา


 


หากมองประวัติศาสตร์พม่าในยุคอาณานิคม สมัยอยู่ในปกครองของอังกฤษ พม่าถูกกระทำจากอังกฤษมากมาย พม่าประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยหลากหลายและอยู่ภายใต้การปกครองของระบบกษัตริย์ เมื่ออังกฤษเข้าครอบครองพม่า อังกฤษใช้วิธีการแบ่งแยกและปกครองพม่าอย่างเบ็ดเสร็จ กำจัดพลังของพม่าโดยการสร้างความหวาดระแวงต่อกันให้กับชาวพม่า โดยกลยุทธ์ ยกชนกลุ่มน้อยต่างๆ เหนือพม่า เช่น ให้ชนชาติกระเหรี่ยงเข้ามาเป็นตำรวจทหาร หรือข้าราชการ ปรับคนที่อยู่ในสภาพที่เหนือกว่ากลับกลายเป็นคนที่อยู่ในอาณัติ (สุเนตร ชุตินธรานนท์, 2544) นั่นเป็นประวัติศาสตร์ความเจ็บปวดของพม่า จากประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมส่งผลต่อความคิดรัฐบาลทหารพม่าปัจจุบันด้วย รัฐบาลทหารพม่ากล่าวโทษอังกฤษและโลกตะวันตกเสมอว่า แบ่งแยกและสร้างความแตกแยกให้กับพม่า รัฐบาลทหารพม่าจึงไม่ไว้วางใจโลกตะวันตก การสร้างชาติใหม่ของพม่าจึงพยายามรวมชาติพันธุ์ต่างๆ เป็นหนึ่งเดียว ภายใต้คำขวัญว่า อยู่ร่วมดิน กินร่วมน้ำ อยู่ร่วมเย็น ร่วมร้อน มีจนเสมอกัน และรวมกันอยู่อย่างไข่ไม่แตก รังไม่พัง (พรพิมล ตรีโชติ, 2547)


 


แต่การพยายามสร้างชาติ (assimilation) ของพม่า ด้วยภาษาและวัฒนธรรม ประชาชนอยู่ภายใต้ภาษาและวัฒนธรรมเดียวกัน คือภาษาและวัฒนธรรมพม่า เพื่อความเป็นหนึ่งเดียว แต่ในทางกลับกัน การสร้างชาติให้เป็นหนึ่งเดียวของพม่ากลับไปลดคุณค่าทางด้านวัฒนธรรมของชาติพันธุ์อื่นๆ เรียกว่ากดทับอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ต่างๆ โดยไม่สามารถแสดงความเป็นชาติพันธุ์ได้อย่างอิสระ กลายเป็นว่ายิ่งกว่าถูกทำให้เป็นชายขอบในสังคมพม่า เช่น การสั่งปิดโรงเรียนของกระเหรี่ยงหลายแห่งรวมถึงห้ามแสดงออกทางด้านกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2505 (the Karen Woman"s Organization, 2548) เพราะเหตุผลสำคัญทางการเมือง การแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองของชาติพันธุ์ต่างๆ กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านและต่อสู้รัฐบาลทหารพม่า แรงงานพม่าท่านหนึ่งบอกกับผู้เรียนว่า ถ้าพม่ามีประชาธิปไตย แต่ละชาติพันธุ์จะมีการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ภาษาของตนขึ้นมา เพราะแต่ละชาติพันธุ์มีประวัติศาสตร์เป็นของตนเอง แต่ไม่สามารถพูดถึงได้ เพราะเกรงกลัวรัฐบาลทหาร ทั้งที่กระเหรี่ยง มอญ ไทใหญ่ (ชาน) ฯลฯ ต่างก็มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง หากองค์กรพัฒนาเอกชนต้องการเผยแพร่ข่าวสารให้แก่แรงงานพม่า บ่อยครั้งที่ต้องพิมพ์ให้ครบทุกภาษาที่เป็นภาษาหลัก เช่น พม่า มอญ กระเหรี่ยง


 


กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการเคลื่อนไหวด้วยสัญลักษณ์เพื่อการต่อสู้ให้ได้อิสรภาพที่ชัดเจนกลุ่มหนึ่งคือ ชนชาติมอญ โดยใช้ "หงส์" เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้เคลื่อนไหว แต่ละท่วงท่าของหงส์คือนัยของการต่อสู้ ซึ่งมีผลต่อการท้าทายอำนาจรัฐพม่าแตกต่างกันไปด้วย หากมอญใช้สัญลักษณ์หงส์ยืนนิ่งๆ รัฐบาลพม่าจะยังไม่รู้สึกว่า มอญต้องการต่อต้านและต่อสู้เพื่ออิสรภาพ แต่ถ้าชาวมอญใช้สัญลักษณ์หงส์บิน ซึ่งมีนัยของการเคลื่อนไหวเพื่อก้าวไปข้างหน้า หมายถึงการไปสู่อิสรภาพของรัฐมอญ (นิติ ภวัครพันธุ์และสุกัญญา เบาเนิด, 2550) การใช้สัญลักษณ์นี้ท้าทายอำนาจรัฐบาลพม่าอย่างไม่ต้องสงสัย


 


การพยายามสร้างชาติให้เป็นหนึ่งเดียว ดูเหมือนจะตอกย้ำให้เห็นความล้มเหลวของพม่า จากปรากฏการณ์ในสังคมเล็กๆ ของแรงงานพม่าในไทย อันบ่งบอกถึงความไม่กลมกลืนของชาตินั้นเกิดขึ้นในจังหวัดกระบี่ ที่แบ่งชุมชนชาติพันธุ์อย่างชัดเจน ครั้งหนึ่งอาสาสมัครชาวพม่าขององค์กรพัฒนาเอกชนคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่าลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล ซึ่งต้องลงเก็บข้อมูลของพม่าทุกกลุ่ม พบว่า แรงงานมอญ แรงงานพม่า แรงงานกระเหรี่ยง แม้จะไม่ได้ปฏิบัติตนเป็นศัตรูต่อกัน แต่ก็ไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กันในฐานะพลเมืองพม่าแต่อย่างใด ต่างคนต่างอยู่ "พวกเขา ทราบข้อมูลของกันและกันว่า แต่ละกลุ่มทำงานที่ไหน ทำงานกับนายจ้างคนไหน แต่เมื่อให้นำทางไปหาอีกกลุ่ม พวกเขาจะนำไป แต่จะไม่เข้าไปในชุมชนเด็ดขาด เขาจะพามาส่งแค่ปากทางเข้าเท่านั้น" (สัมภาษณ์ คินโช- อาสาสมัครชาวพม่า)


 


คำขวัญ อยู่ร่วมดิน กินร่วมน้ำ อยู่ร่วมเย็น ร่วมร้อน มีจนเสมอกัน และรวมกันอยู่อย่างไข่ไม่แตก รังไม่พัง จึงเป็นเพียงวาทกรรมของภาครัฐที่เป็นมายาคติ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอกย้ำความเลวร้ายของอำนาจอาณานิคมอังกฤษที่กระทำต่อประเทศพม่าในช่วงนั้น ที่สร้างความแตกแยกในพม่าสำเร็จ เป็นการใช้รอยร้าวของประวัติศาสตร์มาเป็นประโยชน์ต่อการสร้างชาติ ทุกวันนี้แรงงานพม่าหลายคนมีความรู้สึกไม่ดีกับประเทศอังกฤษ แต่ก็มีลักลั่นในความพยายามจะเป็นหนึ่งเดียวของพม่า เพราะในขณะที่รัฐบาลพม่าสร้างภาพอาณานิคมเป็นสิ่งเลวร้ายได้สำเร็จ แต่กลับไม่สามารถสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันได้ เพราะว่า ความเป็นชาติพันธุ์ถูกสร้างมาเป็นเวลานาน ความเป็นมอญ กระเหรี่ยง ไทใหญ่ คะฉิ่น มีความยิ่งใหญ่ไม่น้อยไปกว่าพม่าในกรุงร่างกุ้ง ยิ่งไปกว่านั้นชาวพม่า กลับทรยศหักหลังกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ยอมให้กลุ่มชาติพันธุ์ปกครองตนเองโดยอิสระหลังประกาศอิสรภาพเมื่อปี พ.ศ. 2491


 


นอกจากนี้รัฐบาลทหารพม่ายังนำนโยบายตัดสี่ใช้เป็นยุทธศาสตร์ทำลายกองกำลังชนกลุ่มน้อยในประเทศ ในปี พ.ศ. 2513 นโยบายตัดสี่ คือ 1. อาหาร (food) 2. ทุน (fund) 3. การข่าว (intelligence) 4. กำลังพล (recruits) ผลก็คือการโยกย้ายชนกลุ่มน้อยออกจากพื้นที่เดิม หรือออกจากหมู่บ้าน (พรพิมล ตรีโชติ, 2547) การถูกทำให้พลัดบ้านพลัดเมืองในยุคศตวรรษที่ 19 นับเป็นสิ่งที่โหดร้ายทารุณสำหรับชีวิตชนกลุ่มน้อย ที่ต้องตั้งต้นนับหนึ่งใหม่ในอีกพื้นที่หนึ่งภายใต้อำนาจทางการเมืองเผด็จการ เป็นการตัดกำลังของชนกลุ่มน้อยลงอย่างสิ้นเชิงอีกด้วย อีกเหตุผลสำคัญของนโยบายตัดสี่คือ การแย่งชิงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่อยู่ในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อย ทำให้ชนกลุ่มน้อยไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรอันสมบูรณ์ได้ คงมีแต่รัฐบาลพม่าเท่านั้นที่มีอำนาจในการจัดการการเข้าถึงทรัพยากร


 


การสร้างรัฐ-ชาติของพม่าหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ กลับก่อให้เกิดการต่อสู้เพื่อเอกราชของรัฐ ซึ่งเป็นรัฐของชนกลุ่มน้อย ปัจจัยนี้ส่งผลให้ประชากรพม่าที่มาเป็นแรงงานพม่าในประเทศไทยกลายเป็นเสมือนคนไร้รัฐ โดยเฉพาะประชากรที่มาจาก 7 รัฐ คือ ชาน กระเหรี่ยง คะฉิ่น มอญ ฉิ่น คะยาห์ และระคิ่นห์ การกระทำอันรุนแรงต่อประชากรในอาณาเขตของอำนาจรัฐ แสดงให้เห็นว่า รัฐ-ชาติพม่าไม่ได้มองเห็นประชากรเหล่านั้นเป็นคนของรัฐ แต่เป็นศัตรูของรัฐที่ต้องจัดการมากกว่า อีกปัจจัยหนึ่งหากความสำคัญของการเป็นคนในชาติวัดกันจากบัตรประชาชน อันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าเป็นชาวพม่า แต่บางคนที่สัญชาติพม่า แต่เชื้อชาติจากทั้ง 7 รัฐกลับไม่ประสงค์ทำบัตรประชาชนพม่า "ในรัฐ 7 รัฐอย่างพวกยะไข่ ไทใหญ่ มอญ พวกนี้เกือบครึ่งหนึ่งไม่ไปทำบัตรประชาชน ทั้งที่รัฐบาลประกาศให้ไปทำ แต่พวกเขาไม่ยอมทำกันเอง" ตินติน (นามสมมติ) อาสาสมัครองค์กรขององค์กรพัฒนาเอกชนองค์กรหนึ่งในพื้นที่พังงากล่าวถึงเพื่อนร่วมชาติต่างเชื้อชาติ โมเวพื้นเพเป็นคนเกาะสอง สัญชาติและเชื้อชาติพม่า เขาเป็นหนึ่งของผลผลิตการสร้างชาติ assimilation เขาไม่เห็นด้วยกับอำนาจเผด็จการทหาร ต้องการประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศ เขาบูชาออง ซาน ซู จีในฐานะนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและวีรสตรีของพม่า แต่เขาก็ถูกครอบงำจากแนวคิดการรวมชาติ ชาติไม่อาจแบ่งแยกได้ ฉะนั้นการต่อสู้เพื่อเอกราชของชนกลุ่มน้อยในประเทศจึงเปรียบเสมือนโรคร้ายที่ต้องรักษา เขาต้องการเห็นความสงบสมยอมของชนกลุ่มน้อยมากกว่าเห็นการปกครองตนเองอย่างอิสระของชนกลุ่มน้อย ในขณะที่อูวิน อาสาสมัครองค์กรเดียวกัน เป็นชาวยะไข่ กลับมีความภูมิใจในความเป็นยะไข่มากกว่าความเป็นพม่า พวกเขามีการรวมกลุ่มชาวยะไข่ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อตั้งกลุ่มเพื่อช่วยเหลือชาวพม่าทุกเชื้อชาติในด้านต่างๆ เช่น การจัดตั้งกลุ่มออมเงินเพราะตำรวจมักจะเรียกเงินจากพวกเขา 500 -1,000 บาท หรือเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หากนายจ้างไม่ดูแล เงินที่พม่าทุกคนออมจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ชาวยะไข่ในบ้านน้ำเค็มมีการรวมตัวกันเหนียวแน่น อูวินมีบัตรประจำตัวประชาชนพม่า แต่เขาก็กล่าวต่ออย่างภูมิใจว่าเขามีบัตรประจำตัวประชาชนประจำรัฐ (state) คือ รัฐชาน "ในพม่ามี 7 รัฐที่มีบัตรประจำตัวประชาชนประจำรัฐ นอกนั้นเป็นแบบเดียวกับพม่าหมด"


 


จากปัจจัยภายในประเทศดังกล่าว แรงงานพม่าจึงเปรียบเสมือนคนไร้รัฐ เพราะเมื่อถึงเหตุการณ์สำคัญในการรับรองประชากรของตน พม่ากลับไม่ยอมรับรอง คนเหล่านี้ มอญ กระเหรี่ยง ชาน ฉิ่น คะฉิ่น ฯลฯ ที่เข้ามาขายแรงงานในต่างแดน กลับเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ หากแรงงานพม่าเดินทางกลับบ้าน เอไข่ (นามสมมติ) เป็นอาสาสมัครขององค์กรพัฒนาเอกชนมีพื้นที่การทำงานในอำเภอตะกั่วป่า เธอจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เธอกลับบ้านด้วยการจ้างบริษัทนำเที่ยวเพื่อการจัดการเรื่องพาสปอร์ตและการเดินทางเป็นจำนวนเงินก้อนโต เธอยอมเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากเช่นนี้เพื่อเป็นการป้องกันและหลีกเลี่ยงในการเผชิญกับปัญหายุ่งยากจากรัฐบาล หากเธอกลับไปด้วยตนเอง เธอคาดว่าปัญหาต้องตามมามากมาย เพราะเจ้าหน้าที่ในพม่าจะซักถามเธออย่างละเอียด และหากเธอหลีกเลี่ยงการตอบคำถามเกี่ยวกับอาชีพที่เธอทำในไทยไม่ได้ เธอต้องมีปัญหาแน่นอน


 


นอกจากนี้การกดขี่และพยายามทำลายฐานกำลังของชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลพม่า ไร้มนุษยธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้การข่มขืนเป็นเครื่องมือในการกวาดล้างชาติพันธุ์ของชนกลุ่มน้อยกระเหรี่ยง (องค์กรผู้หญิงกระเหรี่ยง, 2548) หรือ การพัฒนาประเทศโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชนกลุ่มน้อย เช่น โครงการสร้างเขื่อนสาละวิน ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นแรงงานพลัดถิ่นอพยพออกนอกประเทศอย่างมาก ในปี 2547 มีจำนวน 526,000 คน และในปี 2548 มีจำนวน 540,000 คน จากรัฐคะเรนนี รัฐกระเหรี่ยง รัฐมอญ และรัฐตะนาวศรี (อดิศร เกิดมงคล, 2550) คนเหล่านี้บางส่วนอยู่ในศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยในราชบุรี กาญจนบุรี แม่สอด แต่บางส่วนยอมเป็นบุคคลผิดกฎหมายเข้ามาเป็นแรงงานเถื่อนและไม่เถื่อนตามจังหวัดที่ระดับเศรษฐกิจดี ในประเทศไทย


 


 


(โปรดติดตามอ่านต่อใน


แรงงานพม่ากับอคติทางชาติพันธุ์ (จบ) : เหยื่อของประวัติศาสตร์ชาติไทย)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net