รายงานพิเศษ: คำชวนจากรอยยิ้มของ "บังซัน" ชาวประมงวัยฝันแห่งบ้านทอนฮีเล

ณรรธราวุธ เมืองสุข

ศูนย์ข่าวชายแดนใต้ (www.stbnews.net)

 

บรรยากาศหน้าอ่าวบ้านทอน หม้อข้าวหม้อแกงของคนที่นี่  

 

"อารีซัน รอแม" กำลังชักรอกเชือกล่ามช้างขนาดใหญ่เพื่อดึงเรือกอและขึ้นจากทะเล มัดกล้ามหนั่นแน่นและสีผิวดำคล้ำยามต้องแดดดูแข็งแรงยิ่งนัก ภายใต้เคราดกหนาที่เจ้าตัวลดความเข้มด้วยรอยยิ้มแสนจริงใจ ใครจะไปเชื่อเล่า...ว่าคนที่เราเรียก "บังซัน" คนนี้อายุเพียง 19 ปีเท่านั้น เขาเป็นลูกทะเลพันเปอร์เซ็นต์ ลงเรือตั้งแต่อายุ 13 และใช้ชีวิตอยู่กับมันจนเป็นหนุ่มเต็มตัว

 

"รักทะเล อยู่กับมันทุกวัน คลื่นทุกลูกหน้าหาดมันเหมือนเพื่อนผม" บังซันบอกพลางถอนลมหายใจคลายเหนื่อยหลังเอาเรือขึ้นมาไว้บนที่เก็บริมหาดเสร็จเรียบร้อยแล้ว วันนี้เขาได้หมึกยักษ์หลายตัว แม้ว่าราคาขายของมันจะได้ไม่กี่บาทหลังหักลบกำไรและส่วนแบ่งกับเพื่อน แต่เจ้าตัวบอกว่า "แค่นี้ก็คุ้มค่าเหนื่อย"

 

บังซันยิ้มให้คู่สนทนาทุกครั้งหลังพูดจบประโยค เขาเป็นคนยิ้มเก่ง รอยยิ้มฉีกกว้างโชว์ฟันขาวจากชายตัวดำคือความจริงใจที่ได้สัมผัส จริงๆ การเรียกว่า "บังซัน" ก็ไม่ใช่คำเรียกที่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะถ้านับอายุ "บังซัน" หรือแปลเป็นไทยว่า "พี่ซัน" อายุน้อยกว่าผู้เขียนอยู่หลายปี แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แรกทีเดียววัดอายุบังซันด้วยความเข้มของหน้าตาเลยหลงเรียกพี่ แต่พอรู้ความจริงแล้วจะเปลี่ยนคำเรียกก็ดูขวยเขิน อีกอย่างมันก็เป็นคำที่ให้เกียรติคนถูกเรียกได้ไม่น้อยทีเดียวก็เลยเอาตามนั้น

 

บังซัน กับผลผลิตแห่งความภาคภูมิใจจากท้องทะเล


"บ้านทอนฮีเล" หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า "บ้านทอน" เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ริมอ่าวไทย อยู่ในพื้นที่ ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส หมู่บ้านแห่งนี้จะว่าไปก็ไม่ถึงกับเล็กนัก เพราะมีหลายร้อยหลังคาเรือน ต่างก็ซ่อนอยู่ในทิวมะพร้าวริมเล และหมู่บ้านแห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดังเพราะมีเพียงไม่กี่หมู่บ้านที่ยังใช้เรือกอและหาปลา แม้จะเป็นเรือกอและดัดแปลงตัดท้ายต่อเครื่องยนต์แปรสภาพเป็นเรือประมงโดยสมบูรณ์ แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์ความงดงามเอาไว้ไม่สร่าง ช่วงบ่ายถึงเย็นจึงเห็นเรือกอและนับร้อยๆ ลำจอดทอดเรียงบนหาดทรายขาวดูละลานตา

 

เรือกอและทุกลำที่นี่มีเจ้าของคนเดียวกันคือกำนันตำบลโคกเคียน แต่บังซันบอกว่าทุกคนที่เช่าเรือของกำนันไม่รู้สึกว่ากำลังเช่า แต่ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม เพราะทุกคนจะใช้เรือนั้นได้ตลอดชีวิตและสามารถตกทอดให้กับคนในครอบครัวได้ เพียงแค่แบ่งค่าอาหารทะเลที่ได้ให้กับกำนันครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งไม่ถือว่าเอาเปรียบกันนัก บังซันมีรายได้ตกวันละ 300-500 บาทต่อวัน หรือบางครั้งหักลบหลังแบ่งค่าเรือและเพื่อนร่วมลำเรือแล้วเคยได้สูงถึงวันละ 1,000 บาทเลยทีเดียว หากจะต่อเรือเป็นของตนเองก็สามารถกระทำได้ ค่าใช้จ่ายตกลำละ 50,000 บาท

 

ด้วยสภาพหมู่บ้านชาวประมง ช่วงกลางวันอันเป็นช่วงพักผ่อน หมู่บ้านแห่งนี้จึงเงียบเหงาไปถนัดใจ แต่ช่วงก่อนเที่ยงซึ่งเป็นช่วงที่เรือหลายลำแล่นกลับเข้าฝั่ง น่าจะเป็นห้วงเวลาที่คึกคักที่สุด เรือหลายลำแล่นเข้ามาพร้อมการยืนรอคอยอย่างมีความหวังของสมาชิกครอบครัวบนหาด

 

"ทะเลที่นี่นะ ขอให้ลงไปเถอะ อย่างน้อยก็ต้องได้คุ้มค่าน้ำมัน ถ้าไม่พอขายก็ต้องได้กินกันในครัว" บังซันสาธยายด้วยรอยยิ้ม เป็นเครื่องชี้สภาพว่าหมู่บ้านแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ด้วยสินในทะเล อาหารทะเลสดๆ ถูกแกงเต็มหม้อบริโภคในครัวเรือนก่อนเสียที่ปลา กุ้ง ปู หมึกฯลฯ ทุกตัวจะเดินทางถึงตลาดสด

 

 

เรือกอและ นางฟ้าทะเลใต้ พาหนะหล่อเลี้ยงชาวประมงบ้านทอนฮีเลมานานนับพันปี

           

บังซันใม่ใช่คนเรียนตกซ้ำช้อน แต่เขาตัดสินใจออกจากโรงเรียนตั้งแต่ ป. 5 เหตุผลเดียวที่เด็กหนุ่มตัดอนาคตที่ใครๆ เขาว่าดีคือท้องทะเลอันกว้างใหญ่หน้าหาดบ้านทอน

 

"คนถ้าโตมากับอะไรก็อยากจะยึดถือสิ่งนั้นเป็นแบบอย่าง ผมอยู่กับทะเลมาตั้งแต่เกิด ดมแต่น้ำเค็มมาตั้งแต่จำความได้ มันก็อยากจะลงทะเลไปกับผู้ใหญ่ ตัดสินใจออกจากโรงเรียนเพราะอยากออกเรือ แต่ก็ยังออกไม่ได้เพราะยังเด็กเกินไป"

 

บังซันต้องรอจนอายุ 13 เมื่อกล้ามเนื้อเริ่มจะแข็งแรง พ่อของเขาอนุญาตให้บุตรชายติดเรือลงไปด้วย นั่นคือการเปิดโลกให้เด็กชายสัมผัสว่าท้องทะเลมีเสน่ห์มากกว่าที่เขาเคยรับรู้

 

"ผมไม่เคยเมาเรือนะ แต่มีเคล็ดว่าถ้าเมาเรือให้เอานิ้วไปป้ายดินที่ติดสมอเรือมาดมจะหายเมา" เขาพูดจบพลางทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เป็นประสบการณ์ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากคนเรือรุ่นเก่า

 

เพื่อนรุ่นเดียวกับบังซันหลายคนยึดถืออาชีพอย่างเขา บางคนลงช้า บ้างก็ลงเร็วไล่เลี่ยกับเด็กหนุ่ม แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่เท้าไม่เคยสัมผัสท้องน้ำ บังซันว่า "สิ่งที่เราเลือกมันจะบอกว่าอนาคตของเราจะเป็นอย่างไร แต่ผมไม่เคยคิดว่าทำอาชีพประมงแล้วจะลำบากนะ เพราะมันทำให้มีกินทุกวัน"

 

มือที่ชักรอกเชือกผูกเรือมาตั้งแต่วัยเด็กพาให้มือสองข้างของเขาแตกน้ำข้าวซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า รอยเชือกที่บาดลึกซ้ำๆ ทำให้แผลเป็นตรงฝ่ามือแข้งกระด้างราวกำหินไว้ในมือ อารีซันบอกว่านั่นคือร่องรอยแห่งความภาคภูมิใจ เพราะฝ่ามือยิ่งแข็งยิ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าบุคคลผู้นั้นจัดเจนต่อ "เรือ" และ "ทะเล" แม้ในยามมรสุมถั่งโถม ความเชื่อมั่นที่จะนำเรือกลับเข้าฝั่งพร้อมของทะเลสดๆ ยิ่งเพิ่มขึ้นทบทวี

 

บังซันกับแผลแห่งความภูมิใจ มือที่หยาบกร้านของลูกผู้ชายคือความกล้าแกร่ง

 

บังซันมีพี่น้องรวมตัวเขา 4 คน เขาเป็นคนสุดท้อง พี่สองคนแรกทำงานอยู่ในมาเลเซีย ส่วนตัวเขาอาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ กับพ่อผู้เป็นอัมพาต แม่ผู้ชรา และพี่สาว ความภาคภูมิใจของบัซันคือการได้ลงเรือหาปลาแลกเงินเลี้ยงพ่อ แม่ และพี่สาว

 

"ผมไม่เคยคิดว่ามันเป็นภาระ ผมภูมิใจมากเลย ทำให้ที่บ้านมีข้าวสารหุงกินทุกวัน เพื่อนเคยชวนไปทำงานที่มาเลเซีย แต่ผมว่ามันไม่สบายเท่ากับบ้านเรา"

 

"บ้านเรา" ที่บังซันเอ่ยถึงหมายเอาครอบครัว บ้าน เพื่อน หาดทราย กอและลำงามและท้องทะเล ซึ่งสถานการณ์ความไม่สงบไม่เคยย่างกรายเข้ามาภายในหมู่บ้านเพื่อพรากเอาสิ่งเหล่านี้ไปเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับหลายหมู่บ้าน บังซันบอกว่าที่นี่มีระบบดูแลกันเองอย่างเข้มแข็ง มีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านดูแลอย่างเข้มงวด 24 ชั่วโมง มีสถานีตำรวจภายในหมู่บ้าน และที่สำคัญชาวบ้านทุกคนช่วยกันตรวจตรา เป็นหูเป็นตาให้กันและกัน ยามคนนอกเข้ามาภายในหมู่บ้านทุกครั้ง ทุกครัวเรือนจะทราบ หากคนที่เข้ามาทำสิ่งไม่ดีก็คงหวังออกไปจากที่นี่ได้ยาก แต่ในทางกลับกัน หากเข้ามาอย่างมิตร ก็จะได้มิตรกลับไปมากมายหลายคน

 

"ผมไม่อยากให้คนนอกมองว่าภาคใต้มีแต่คนใจดำ มันยังมีที่ๆ คนท่องเที่ยวได้ อย่างหมู่บ้านของผมยังต้องรับทุกคน อยากให้ทุกคนมาดูว่าหมู่บ้านของผมอยู่กันอย่างมีความสุขกันอย่างไร"

 

ทุกยามเดือนมืดและเดือนหงาย ถังใบเขื่องบนลำเรือไม่เคยขาดอาหารทะเลสดๆ เหลือจากแบ่งขายก็ก่อไฟปิ้งย่างกันบนหาด ความสุขเช่นนี้บังซันเชื่อมั่นว่าหาได้ยากจากท้องถิ่นอื่นของประเทศ ไม่ว่าอาหารทะเลจะราคาถูกราคาแพง พวกเขาพร้อมจะแบ่งปันให้มิตรผู้มาเยือนแบบฟรีๆ ไม่คิดสตางค์ หรือจะนอนที่นี่ หอบเสื่อหอบหมอนมานอนริมหาด ก่อไฟย่างปลาย่างหมึกรอฟ้าสางก็ทำได้ ขอให้ลบล้างความกลัวออกไปให้หมด

 

คำเชิญชวนของบังซันอยากให้มิตรภายนอกเดินทางมาเยือน มาดูว่าคนที่นี่ก็ยังอยู่กันอย่างมีความสุขท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งที่น้อยคนนักจะเข้าใจว่ามันคืออะไร แต่ความสุขที่ว่า ชาวบ้านทอนฮีเลและบังซันพร้อมจะแบ่งปันให้กับคนภายนอกทุกคนที่เข้ามาอย่างมิตร.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท