ปาฐกถา อ.ศรีศักร วัลลิโภดม "วิกฤติการรับรู้และการธำรงชาติพันธุ์ในสุวรรณภูมิ"

เมื่อวันที่ 30-31 ส.ค.2550 ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อ วิกฤติการรับรู้และการธำรงชาติพันธุ์ในสุวรรณภูมิ ณ ห้อง 407 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร โดย อ.ศรีศักร วัลลิโภดม เป็นผู้กล่าวปาฐกถาเปิดงาน และกล่าวว่า การพูดเรื่องชาติพันธุ์มีความหมายมากในโลกปัจจุบัน เพราะสังคมไทยเปลี่ยนจากสังคมชาวนามาสู่สังคมอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว เป็นกระบวนการทำให้เป็นอุตสาหกรรม (Industrialization) และโลกาภิวัตน์ (Globalization) เป็นทั้งสังคมชนบทและเมืองภายใน 40 ปี

 

"ผลการเปลี่ยนแปลงทำให้คนในประเทศไทย เปลี่ยนที่โยกย้ายรวดเร็ว ไม่ใช่แค่พลัดถิ่น จนทำให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งบูรณาการไม่ได้ สร้างความเป็นกลุ่มก้อนไม่ได้ กลายเป็นปัจเจก ไม่มีหัวนอนปลายตีน ไม่รู้จักกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ทำอย่างไรเราจะรู้จักคน หัวใจของชาติพันธุ์คือการรู้จักคน แนวคิดทฤษฎีปัจจุบันเข้าไม่ถึงคน ปัญหาภาคใต้คือตัวอย่างการเข้าไม่ถึงคน ทำให้พัฒนาไม่ได้ ผลตอบแทนคือความรุนแรง"

 

"การมองสังคมไทยปัจจุบันเป็นการมองแบบชาติไทย one race one nation (หนึ่งเชื้อชาติ หนึ่งประเทศ)มาตั้งแต่จอมพล ป. ไม่ใช่ one ethnic one nation (หนึ่งชาติพันธุ์ หนึ่งประเทศ) ซึ่งต่างกัน การมองแบบ race (เชื้อชาติ) คือมองแบบพันธุ์แท้ กรีดเลือดออกมาเป็นชาติไทย มองคนอื่นเป็นความแปลกแยก แตกต่าง มีสิ่งรองรับคือประวัติศาสตร์ แต่ ethnic (ชาติพันธุ์) คือพันธุ์ผสม มีความหลากหลายทางสายเลือด แต่สืบเนื่องทางวัฒนธรรม ethnic จึงเป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากกว่าทางสายเลือด วันนี้เราจะมาพูดถึง ethnic มากกว่า ไม่ได้พูดถึง race การเข้าถึงข้อมูลของกลุ่มชาติพันธุ์ของผมคือการฟังคนคุย หรือการนินทา ไม่ใช่การทำแบบสอบถาม เพราะการนินทาสัมพันธ์กับโครงสร้างสังคม เป็น sanction อย่างหนึ่ง ไม่ใช่ข่าวลือ"

 

นอกจากนี้ อ.ศรีศักรได้กล่าวถึง "สำนึกทางชาติพันธุ์" ด้วยการอ้างถึงคำพูดของ อ.สุเทพ ว่า คนมีสำนึกอะไรบางอย่างตั้งแต่อดีต ที่ไม่ค่อยเปลี่ยน ลื่นไหล และดำรงอยู่ การสำนึกอันนี้จะสร้างกลุ่มขึ้นมา เป็นกลุ่มเขา กลุ่มเรา ต่อรองกันตลอดเวลา ไม่มีแก่นแท้ แต่เป็นสำนึกที่ผสมผสาน และไหลลื่น โดยสิ่งที่ทำให้เกิดได้คือเรื่องภาษา หรือ "สำเนียง" เหมือนที่คนไทยโบราณบอกว่า "สำเนียงส่อภาษา กริยาส่อสกุล" ซึ่งจะบอกเลยว่าคนนี้เป็นใคร

 

ในบางสังคมคนหน้าตาเหมือนกันหมด พอพูดภาษาออกมาจะรู้ว่าเป็นไทย เป็นญวน ฯลฯ สำเนียงนำไปถึงถิ่นกำเนิดสำนึกอดีตหรือต้นกำเนิด ถูกส่งผ่านและใช้เป็นสิ่งที่สร้างกลุ่ม หรือการธำรงชาติพันธุ์ 

 

"ในอดีตสังคมไทยเต็มไปด้วย Diaspora (คนพลัดถิ่น) ม้ง เย้า แต่งกายต่างกัน อัตลักษณ์จะออก เห็นจะการแต่งตัว แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ลักษณะการแสดงออกของชาติพันธุ์ก็มีความลื่นไหล อย่ามองแบบภาพนิ่ง มันมีบริบทของเวลา และพื้นที่รองรับ แต่สังคมไทยเป็นสังคมชาวนา เช่น ที่ดงศรีมหาโพธิ์ ปราจีนบุรีที่ผมเข้าไปศึกษา มีความหลากหลายด้วยชาติพันธุ์ รู้ว่าในสมัยอยุธยา มีพวกหนีกฎหมายไปตั้งถิ่นฐาน พอถึง ร. 3 มีการกวาดต้อนคนลาวเข้ามา พอถึงสมัย ร.5 มีเขมรและจีนเข้ามาอีก จึงมีการผสมมาก"

 

"การศึกษารู้ว่า ตรงนี้เป็นคนพลัดถิ่น เช่น คนลาวจะมีกลุ่มหมู่บ้าน และแต่งกับลาว ไม่แต่งกับไทย เราจะเห็นว่าเขาเอาชื่อบ้านเมืองที่มาจากบ้านเมืองเดิมมาตั้งชื่อ แต่พอผ่านไปมีความสัมพันธุกันหมด ไทย ลาว จีน โดยสิ่งที่ทำให้สัมพันธ์คือศาสนา เพราะตรงนั้นมีต้นโพธิ์ ศรีมหาโพธิ์ ลาวเอาบั้งไฟมาใส่ เป็นประเพณีขอฝน ปัจจุบันกลายเป็นประเพณีท้องถิ่นศรีมหาโพธิ์ จีน ไทย ก็เล่นบั้งไฟกันหมด พื้นที่ตรงนี้จึงเกิดสำนึกของความเป็นคนศรีมหาโพธิ์ ทับความเป็นจีน ลาว ไทย"

 

ด้วยเหตุดังกล่าว ความเป็นท้องถิ่น ยังสามารถก่อให้เกิดการแบ่งปันทรัพยากร มีการเอาชื่อจากตำนานมาตั้งชื่อ สถานที่ เกิดความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมด้วย

 

"ส่วนที่บ้านหนองขาว ชุมชนลาวพวน ก็เป็นชุมชนศรีมหาโพธิ ผู้หญิงเรียนรู้พิธีกรรม เป็นคนจัดการ เพราะสังคมแบบนี้เป็น matrilocalitry (สังคมที่ปฏิบัติตามความคิดความเชื่อและประเพณีของฝ่ายมารดาหรือฝ่ายหญิง) ที่นี่มีคนไทย จีน มาแต่งงาน แต่วัฒนธรรมลาวพวนยังอยู่ ตรงศรีมหาโพธิ์ ร.5 เสด็จไป มีบันทึกว่า "คนแถวนี้นุ่งซิ่นแบบลาว แต่คนอายุ 60 ลงไป นุ่งผ้าแบบไทย" จึงมีทั้งความเป็นไทย ความเป็นลาว และมีความรู้สึกของอัตลักษณ์แต่ละกลุ่ม แต่อยู่ด้วยกันได้ ผสมผสานกันได้ ไม่ได้มาฆ่ากัน การสังสรรค์กันทำให้เป็นคนท้องถิ่นศรีมหาโพธิ์ด้วยกัน" อ.ศรีศักร กล่าว

 

"การเข้ามาของหลายชาติพันธุ์ มีบูรณาการระดับท้องถิ่นก่อน จึงจะมาบูรณาการระดับชาติ คือระบบศักดินา เพราะสามารถดึงเอาแต่ละชาติพันธุ์มารับใช้ คนที่ใหญ่โตปัจจุบันมาจากชาติพันธุ์ทั้งสิ้น เช่น บุนนาคก็มีสำนึกของความเป็นอาหรับอยู่ เป็นศักดิ์ศรีของคน"

 

"ในสังคมไทย กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มยังกบดานอยู่ เช่น ชอง เพราะคนชองไม่แสดงตัว เราอาจจะได้เรียนแต่ภาษาของเขา แต่ไม่รู้จักเขาจริงๆ พอเขาเริ่มปรากฏตัว มีพระเคลื่อนไหว บอกว่าวัฒนธรรมชองเป็นแบบนี้ คนจึงเริ่มรู้จักชองมากขึ้น เมื่อมีการตื่นตัว คนชองก็เริ่มออกมาบอกว่า "นางกาไว" เป็น hero ออกมาไหว้ศาล คนจึงเริ่มรับรู้ สังคมอาจจะบดขยี้เขามาก จนกระทั่งเขาต้องออกมาประกาศความเป็นชอง เราจึงได้เรียนรู้วัฒนธรรมชอง เขาไม่ได้รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ เพราะเขาเก็บของป่าขาย ชุมชนเป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่กันเป็นกระจุก กระจายไป ไม่ได้อยู่เป็น cluster (กลุ่ม) แบบคนไทย"

 

"เวลาเราจะพัฒนาเราไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ เรามักจะเอาสิ่งที่เราคิดว่าถูก และดีไปให้เขา โดยไม่คิดว่าข้างในเขาเป็นอย่างไร เพราะบางอันไปขัดกับ "ขึด" ขัดกับข้อห้ามของเขา การรู้จักชาติพันธุ์ ไม่ใช่รู้แค่ภาษา ต้องรู้ระบบความสัมพันธ์ของเขา ความสัมพันธุของคนกับคน คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่ละกลุ่มเขามีผีบรรพบุรุษของเขา เช่น ลาวมีผีปู่ตา ขณะที่คนจีนมีผีพื้นที่ ส่วนคนไทยมีพระภูมิ อำนาจเหนือธรรมชาติทำให้คนอยู่ในกติกา จารีต การไปพัฒนาโดยเข้าไม่ถึงตรงนี้ หรือมองสิ่งที่เขาเชื่อนี้ว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ปัจจุบันผีคือสิ่งสำคัญที่รักษาจริยธรรมของคนชนบท"

 

"อีสานเดิมมีความแรงเรื่องท้องถิ่น การเลือกตั้งเลือกคนดี แต่ต้องผ่านปากผี จ้ำหรือนางเทียมจะบอก แต่ที่บอกว่าอีสานซื้อได้ด้วยเงิน คืออีสานหลังยุคสฤษฎิ์ ปัจจุบันท้องถิ่นมันแหลกเพราะการพัฒนาแบบ unit (หน่วยย่อย) คนสมัยก่อนมีโครงสร้างสังคม สัมพันธ์กันมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์คอยจัดการให้คนทำตามกติกา พอการพัฒนาสมัยใหม่ เอาแบบหมู่บ้าน ตั้งผู้ใหญ่บ้านดูแล ไม่เห็นความสัมพันธ์"

 

"งานทางมานุษยวิทยา น่าจะเข้าถึงคนก่อน เข้าใจคนก่อน ดูบริบทของความสัมพันธ์ก่อนที่จะไปพัฒนาอะไร ปัจจุบันมีงานของ สกว.ที่ทำที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งมีหลากหลายชาติพันธุ์  แต่มีบูรณาการในท้องถิ่น สิ่งสำคัญคือพื้นที่นี้ถูกครอบงำด้วยศาสนาผี ความเชื่อเรื่องผีแรงมาก แต่ละอันมีความสำคัญ โดยเฉพาะผีใหญ่ (พ่อใหญ่ศรีนครเตา) ทุกหมู่บ้านต้องเคารพ (พ่อศรีนครเตาเป็นคนส่วยที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน เดินทางจากบ้านเมืองเตา ผ่านทุ่งกุลา) การปลูกข้าวของคนแถวนี้ ทำเสร็จต้องยกให้พ่อศรีนครเตาก่อน ความเชื่อนี้ทำให้คนไม่ละเมิดขะลำ คนก็รักษาสภาพแวดล้อมด้วย มีคำกล่าวว่า "ถ้าทำไม่ดีพ่อใหญ่จะเอาไปเลี้ยงช้าง" ซึ่งคนกลัวมาก ซึ่งความรู้เหล่านี้เข้าไม่ถึง การศึกษาชาติพันธุ์ต้องคิดว่าเขาเหมือนกับเรา เราต้องเรียนรู้จากเขา ไม่ใช่คิดว่าชาวบ้านโง่กว่าเรา การไปเรียนรู้จากชาวบ้าน อัตตาตัวเองจะเสื่อมไป เพราะเราจะเห็นเลยว่าชาวบ้านรู้มากกว่าเรา"

 

"ปัจจุบันเราจะเห็นการสร้างบ้านจัดสรร คือการทำลายมิติความสัมพันธ์หมดเลย กลายเป็นคอกสัตว์ คนไม่รู้จักกัน ไม่มีความเชื่อร่วมกันเลย ซึ่งการเข้าไม่ถึงคน ไม่รู้จักคนที่รุนแรงตอนนี้คือภาคใต้ ถ้าเข้าไปท้องถิ่นจะเห็นการเกิดกลุ่มต่างๆ เช่น เด็กรักถิ่น เด็กรักปลา เขาเริ่มปลูกฝังกับเด็ก แต่รัฐไม่รู้เรื่องเหล่านี้เลย หรือที่บ้านบุ ปัจจุบันมีการหัดเด็กเล่นกระบี่กระบอง เป็นการออกกำลังและก็เป็นการสร้างอัตลักษณ์เหมือนกัน"

 

"เราจำเป็นต้องเรียนรู้จากคน เขาอยู่ด้วยอะไร เขาเข้มแข็งจากอะไร คำว่าชุมชนเข้มแข็งต้องดูว่าอะไรทำให้เขาเข้มแข็งแล้วฟื้นอันนั้น ไม่ใช้เอาอะไรใหม่ ๆ ไปบอกให้เขาเข้มแข็ง การพัฒนาไม่ควร Top down (จัดการจากบนลงล่าง) ต้องมองคนแบบเสมอภาค อย่ามองเหลื่อมล้ำว่าข้างบนดีกว่าข้างล่างตลอด ความรู้ทางชาติพันธุ์มันลื่นไหล การเปลี่ยนจากสังคมเกษตร สังคมชาวนาเป็นสังคมอุตสาหกรรม ทำให้เราต้องทบทวน เพื่อการปรับเปลี่ยน มองแบบ localization (ทำให้เป็นท้องถิ่น) เพื่อต่อรองกับกระแสโลกาภิวัตน์ เพราะ localization ทำให้รู้จักตัวเอง รู้ที่จะต่อรองทำให้ปรับตัว ไม่ใช่ต่อต้าน วิธีสู้คือการปรับคนนอกให้เป็นคนใน ต้องสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ยอมรับความหลากหลาย เหนือใต้อาจมาพบกันมีพิธีกรรมเชื่อม แต่ต้องไม่ใช่พิธีทางศาสนา เพราะศาสนาเป็นของใครของมัน เช่น ที่รือเสาะ มีการนับถือหมอช้าง (ผู้หญิง) ในอดีต มีคาราวานช้างเดินข้ามฝั่ง มีกระบวนการข้ามถิ่น ซึ่งก็แสดงถึงความผสมผสาน ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญในสังคมไทย"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท