หนังสือเปิดผนึก ของ สนนท. ถึง นิสิตนักศึกษา ประชาชนชาวไทยและในต่างประเทศ

หนังสือเปิดผนึก สนนท.

 

จันทร์ที่ 3 กันยายน 2550

                       

เรียน นิสิตนักศึกษา ประชาชนชาวไทยและในต่างประเทศ                     

           

ตลอดระยะเวลาของรัฐบาลรักษาการที่มาจากการรัฐประหารในช่วงเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาล พล..สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยมี ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ยังคงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะออกกฎหมายในการแปรรูปมหาวิทยาลัยหรือ ร่าง พรบ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐโดยขาดความรอบคอบและจริงใจในการเผยแพร่ข้อมูลและข้อเท็จจริง ผลดีผลเสียของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบทำให้เมื่อวันพุธที่ 29 สิงหาคม 2550 ที่ผ่านมาสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เดินทางเข้ายื่นหนังสือเพื่อขอคัดค้านการแปรรูปมหาวิทยาลัยและเดินขบวนเรียกร้องไปยังรัฐสภา แต่กลับไม่ได้รับความสนใจและเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศจากทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่กำลังพิจารณาร่าง พรบ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมีผลให้ร่าง พรบ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันเดียวกัน และมหาวิทยาลัยมหิดลก่อนหน้านี้ จนนำไปสู่การใช้กำลังและความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาในครานั้นเป็นผลทำให้มีนักศึกษาได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำเกินกว่าเหตุ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) จึงขอยื่นหนังสือเปิดผนึกต่อเพื่อนนิสิตนักศึกษาและพี่น้องประชาชนไทยและสังคมโลกด้วยเห็นว่า

 

1. แนวคิดการแปรรูปมหาวิทยาลัยหรือการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นรัฐบาลพยายามที่จะผลักภาระความรับผิดชอบในด้านงบประมาณทางการศึกษาลงโดยให้ประชาชนเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 ที่กำหนดให้ผู้เรียนต้องรับภาระค่าธรรมเนียมการเรียนตามต้นทุนค่าใช้จ่ายดำเนินการ 100% (จากเดิมที่ผู้เรียนจ่าย 25% รัฐสนับสนุน 75%) และรัฐเลิกการกำหนดเพดานค่าเล่าเรียน (price regulation) โดยรัฐอ้างว่าจะจัดกองทุนให้กู้ยืมแบบใหม่ ที่เรียกว่า กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2549 เป็นต้นไป ในขณะที่รัฐบาลกลับสนับสนุนให้งบประมาณกองทัพเพิ่มขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2550 แต่กลับผลักความรับผิดชอบทางด้านงบประมาณทางการศึกษาให้ลดลงและเป็นหน้าที่ของประชาชน สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เห็นว่าไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่งแต่ตรงกันข้ามการจัดการศึกษาจะต้องเป็นสวัสดิการและหน้าที่แห่งรัฐที่จะจัดให้มีกับประชาชนโดยทั่วถึงและจะต้องเป็นสวัสดิการจากรัฐที่จะให้การศึกษาฟรีแก่ประชาชน และไม่ใช่การเปิดกองทุนให้กู้ยืมดังที่เป็นอยู่

 

2. รัฐบาลรักษาการที่มาจากการรัฐประหารภายใต้การนำของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาล พล..สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยมี ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติตลอดทั่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทั้ง 242 คน นั้นไม่มีความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้นในการพิจารณาและออกกฎหมายในช่วงรัฐบาลรักษาการนี้อีกทั้งรัฐสภาปัจจุบันที่มาจากการรัฐประหารนั้นมีแค่สภาเดียวคือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งต่างกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มี 2 สภาในการกลั่นกรองกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องและมีผลโดยตรงกับพี่น้องประชาชนและนิสิตนักศึกษาเห็นว่าในขณะนี้ไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่ง ในขณะที่ หน้าที่หลักตอนนี้ของรัฐบาลรักษาการคือการจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุดและควรเอาเวลาไปใช้ในการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและรีบเร่งจัดการเลือกตั้งมากกว่า

 

3. กระบวนการร่างกฎหมายว่าด้วยร่าง พรบ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ นั้นไม่มีความโปร่งใสและเป็นกลางเนื่องด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกกฎหมายกับเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ของการออกกฎหมายเอง ดังเช่นกรณีที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พบว่ามีตำแหน่งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยบูรพา นายเกษม สุวรรณกุล เป็นกฤษฎีกา คณะที่ 8 แต่ขณะเดียวกันพบว่าเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นอกจากนี้นายพรชัย มาตรังคสมบัติ ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬาของ สนช.ก็พบว่าไปร่วมยกร่างกฎหมายทั้งที่ควรจะทำหน้าที่ร่วมตรวจสอบในฐานะกรรมาธิการ และยังพบว่านายพรชัย เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ขณะที่นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตเลขานุการ กมธ.ยกร่าง รธน.ก็พบว่าเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยทักษิณ และยังพบนายชัยอนันต์ สมุทวานิช ซึ่งเป็น สนช.อีกคนหนึ่งที่ไปร่วมร่างกฎหมายเช่นกัน ขณะเดียวกันพบว่าสมาชิก สนช. บางคนมีตำแหน่งในเชิงทับซ้อน คือมาร่างกฎหมายใน สนช.แต่กลับไปร่วมนั่งพิจารณาในฐานะคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย

 

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ขอเชิญชวนให้ประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาทุกคนรวมทั้งนิสิตนักศึกษาทั่วโลกที่ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายการแปรรูปมหาวิทยาลัยหรือการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบของรัฐบาลไทยรวมทั้งการทัดทานอำนาจเผด็จการ ร่วมกันติดริบบิ้นดำ บริเวณแขนซ้ายทุกวันจนกว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งเพื่อแสดงออกถึงพลังเงียบที่ร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายแปรรูปมหาวิทยาลัยหรือการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบและปฏิเสธระบบเผด็จการ ทั้งนี้เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีการทำรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) หรือต่อมาเปลี่ยนเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) จัดงานรวมพลคนไม่เอา ม.นอกระบบและเผด็จการ โดยการรวมตัวกันทำกิจกรรมและพบปะแลกเปลี่ยนระหว่างนิสิตนักศึกษาและประชาชนตลอดทั้งผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ณ บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ในวันพุธที่ 19 กันยายน 2550 ตั้งแต่เวลา 13.00.เป็นต้นไป จึงขอเชิญเพื่อนนิสิตนักศึกษาประชาชนทุกภาคส่วนพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแปรรูปมหาวิทยาลัยและระบบเผด็จการออกมาร่วมทำกิจกรรมดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกันเพื่อเป็นการแสดงพลังครั้งสำคัญให้รัฐบาลเผด็จการได้รับรู้ สำหรับกระบวนการหลังการเลือกตั้งนั้นสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ขอให้ประชาชนจับตาการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นและไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่มีนโยบายแนวทางเสรีนิยมหรือสนับสนุนการแปรรูปมหาวิทยาลัยและรัฐวิสาหกิจ อื่นๆ เข้ามาบริหารประเทศนับจากนี้ไป

 

ด้วยจิตสมานฉันท์

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)

เปิดหนังสือ ณ ลานสวนปาล์ม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

10.00 .

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท