Skip to main content
sharethis

ที่มา : สาละวินโพสต์


 



 


 


 


ผู้หญิงจำนวนมากไม่ได้กลับบ้าน
ภายในอาณาบริเวณของถ้อยคำข้างต้นคงจะไม่มีความหมายใดที่น่าใส่ใจนัก  หรืออาจเป็นประโยคที่ชวนให้น่ากังขายิ่งขึ้นหากว่าเราจะทิ้งประโยคสั้นๆไว้เพียงนี้
 
ผู้หญิงหลายคนไม่ได้กลับบ้านและข้าพเจ้าก็เป็นหนึ่งในผู้หญิงเหล่านั้นถ้าหมายถึงการกลับไปลงหลักปักฐานยังบ้านเกิดเมืองนอนที่ห่างหายมาตั้งแต่อายุไม่ถึงสิบขวบซึ่งการไม่ได้กลับบ้านเกิดมิได้หมายถึงว่ามีความจำเป็นบังคับด้วยว่าข้าพเจ้าจะกลับไปเมื่อไรก็ได้



แต่ผู้หญิงที่ไม่ได้กลับบ้านซึ่งข้าพเจ้าใคร่เล่าถึง  พวกเธอจัดอยู่ในจำพวกแม้อยากจะกลับบ้านใจแทบขาดแต่ยากที่เธอจะได้หวนคืน ตราบเท่าที่.............



"พวกเขาแค่อยากกลับบ้าน แค่อยากได้ชีวิตปกติกลับคืนมา"



ข้าพเจ้าบันทึกประโยคคำพูดนี้ไว้ในสมุดบันทึก  เมื่อครั้งที่ได้สนทนากับหญิงสาวชาวฉาน(ชาวไทยใหญ่ หรือ ชาวไต) ผู้หนึ่ง เธอทำงานในองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือเด็กและสตรีชาวฉานซึ่งหนีภัยสงครามจากประเทศพม่าข้ามพรมแดนมาอาศัยอยู่ฝั่งประเทศไทย


 


เธอเกิดที่เมืองเชียงตอง ตอนใต้ของรัฐฉาน ลืมตาดูโลกขณะที่ชนชาติฉานของเธอตกอยู่ในภาวะสงครามต่อกรกับรัฐบาลทหารพม่าซึ่งเปิดฉากรุกรานเพื่อครอบครองรัฐฉานแบบเบ็ดเสร็จ จากความทรงจำในวัยเด็กที่ไม่มีวันลบเลือน เธอเล่าว่า พ่อแม่ต้องหอบลูก 7 คนย้ายที่อยู่หลายครั้งหลายหน กระทั่งการเรียนของเด็กๆ กระท่อนกระแท่น ย้ายไปอยู่ที่ไหนถ้ามีโรงเรียนก็ได้เรียน ถ้าไม่มีก็อดเรียน เธอบอกว่าตัวเองต้องเริ่มชั้นประถม 1 ใหม่อยู่เรื่อย


 


ด้วยความกังวลถึงความปลอดภัยของลูกๆ ในที่สุด พ่อกับแม่จึงส่งลูกๆข้ามพรมแดนมาอยู่ฝั่งไทยโดยพ่อแม่ไม่ได้ย้ายตามมาด้วย พี่น้อง 7 คนต้องพลัดพรากกระจัดกระจายไปอยู่คนละทิศคนละทาง เธอกับน้องอีกคนต้องไปอยู่ในเขตปกครองของกองกำลังไทยใหญ่บริเวณชายแดนไทยในบ้านเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เธอได้เรียนภาษาอังกฤษจากครูชาวไทยใหญ่ที่ลี้ภัยมาอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันจนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำงานอยู่ทุกวันนี้
 


"ยังไม่ได้สัมผัสกับความเป็นครอบครัวเลยไม่รู้ว่ากลิ่นอายของครอบครัวเป็นยังไง"



แม้คำพูดจะเจือด้วยเสียงหัวเราะและบุคลิกที่แลดู มาดมั่น แต่ระหว่างถ้อยคำของเธอก็แทรกด้วยความเศร้าอย่างยากที่จะซ่อนเร้น


 


0 0 0



ณ ชายแดนไทย-พม่า ในเขตอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี สถานที่ซึ่งมีวัดและชุมชนมอญกับสะพานไม้ทอดยาวเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว ที่นี่มีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆอาศัยอยู่ร่วมกับชุมชนมอญเช่นเดียวกัน  ข้าพเจ้าได้พบกับสตรีชาวกะเหรี่ยงวัยปลายห้าสิบ นอกจาก ภาษากะเหรี่ยงเธอใช้ภาษาอังกฤษได้สะดวกปากกว่าภาษาไทย ในขณะที่ข้าพเจ้าไม่กระดิกหูภาษาอื่นนอกจากภาษาไทยแต่เราก็สื่อสารกันได้ผ่านทางลูกสาววัยต้น 20 ของเธอซึ่งเติบโตอยู่ในเขตประเทศไทย



ที่กล่าวว่าลูกสาวของเธอเติบโตในเขตแดนไทยนั่นเพราะสตรีผู้นี้อพยพโยกย้ายมาจากเขตประเทศ
พม่าข้ามเส้นแบ่งเขตแดนมาพึ่งพิงฝั่งไทย เมื่อไม่สามารถทานทนเหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้นในประเทศพม่าหรือสหภาพเมียนม่าร์ปัจจุบัน



เธอเกิดที่เมืองตองอู ร่ำเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 4ก็ไม่มีโอกาสเรียนต่อเพราะฐานะยากจน ประจวบกับเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในประเทศพม่า แต่ด้วยความใฝ่ฝันอยากจะเป็นพยาบาล เธอก็ตั้งอกตั้งใจเรียนรู้การทำคลอดและการรักษาผู้ป่วยจากการทำงานกับเพื่อนที่เป็นพยาบาลเธอข้ามมาฝั่งไทยก่อนเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1988 และรัฐบาลทหารใช้อาวุธปราบปรามนักศึกษาประชาชน



แรกๆ เธออาศัยอยู่ที่แม่สอดโดยทำงานดูแลผู้ป่วยในศูนย์ช่วยเหลือผู้อพยพ หลังจากนั้นจึงโยกย้ายมาอยู่ที่สังขละบุรีเปิดร้านขายยาและกลายเป็นที่ปรึกษาของคนไร้สัญชาติที่เจ็บป่วย ต่อมามีองค์กรสตรีของไทยเข้ามาตั้งบ้านปลอดภัยเพื่อให้เป็นที่พักพิงของคนป่วย เธอจึงได้เข้ามาทำงานประจำที่บ้านแห่งนี้ และกลายมาเป็นผู้รับผิดชอบหลักอยู่จนถึงปัจจุบัน



บ้านปลอดภัยแห่งนี้รองรับผู้ป่วยไร้สัญชาติ ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ทั้งชาวกระเหรี่ยง มอญ พม่า กระทั่งชาวจีน บางคนมีเชื้อเอดส์ระยะสุดท้าย บางคนพิการ บางคนเสียสติ ทุกคนที่เข้ามายังบ้านปลอดภัยเพราะขาดที่พักพิงและไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมภายนอก พวกเขาล้วนตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันคือเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามที่พวกเขาไม่ได้ก่อ



สิ่งที่ได้ประสบกับตัวเอง ความยากลำบากระหว่างการเดินทางข้ามป่าเขาเพื่อหนีตายจากสงคราม และสิ่งที่ได้พานพบ ในช่วงการทำงานดูแลผู้ป่วยส่งผลให้เธอภาวนาอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ขอให้สงครามในโลกนี้สงบ ผู้คนอยู่ด้วยกันอย่างสันติ


 


"ฉันอยากให้สงครามยุติในทุกๆที่ อยากให้คนมีความสามัคคีให้เกียรติซึ่งกันและกัน สงครามทำให้เกิดปัญหามากมายทำให้คนมีนิสัยและศีลธรรมเสื่อมทราม สงครามทำให้คนยากจน อยากให้สงครามยุติและคนมีศักดิ์ศรีของตนเอง"


 


0 0 0



นอกจากสตรีชาวกะเหรี่ยงที่ข้าพเจ้าพบตรงขอบแดนไทย พม่าด้านอำเภอสังขละบุรี ข้าพเจ้ายังมีโอกาสรู้จักกับสตรีชาวกะเหรี่ยงวัยต้นห้าสิบอีกผู้หนึ่ง เธอทำงานในองค์กรผู้หญิง กะเหรี่ยงเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงในค่ายผู้อพยพตลอดแนวชายแดนไทย-พม่า เขตอำเภอแม่สอด จังหวัดตากอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี



เธอถือกำเนิดที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัฐกะเหรี่ยงซึ่งอยู่ในอาณาเขตการปกครองของพม่า ร่ำเรียนหนังสือจนจบฝึกหัดครู แต่ยังไม่ทันได้ใช้วิชาความรู้ก็ต้องระหกระเหินไปตามเส้นทางการต่อสู้ หลังจากอังกฤษมอบเอกราชให้พม่าแต่ชนชาติพม่าไม่ยอมมอบอิสรภาพให้ชนชาติอื่นๆชนชาติกะเหรี่ยงจึงเริ่มก่อตั้ง ขบวนการปฏิวัติเพื่อกู้คืนสิทธิเสรีภาพของตน ครอบครัวของเธอเข้าร่วมในขบวนการปฏิวัติเพื่อชนชาติกะเหรี่ยง ส่งผลให้ต้องอพยพโยกย้ายที่อยู่ไปตามป่าเขาตลอดเวลา



หลังจากถูกรุกรานอย่างหนักจากกองกำลังทหารพม่า กองกำลังชาวกะเหรี่ยงต่อสู้อย่างทรหด แต่ในที่สุดผู้หญิงและกองกำลังส่วนหนึ่งก็ต้องหนีตายข้ามแดนมาฝั่งไทย เธอเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้เข้าไปอยู่ในค่ายผู้อพยพ ที่นี่เอง เธอได้ใช้วิชาความรู้ด้านฝึกหัดครูที่ร่ำเรียนมา โดยการจัดระบบการศึกษาใน



ค่ายผู้อพยพ ฝึกอบรมและเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มอาสาสมัครที่ทำงานกับครูกะเหรี่ยง คู่รักของเธอเป็นทหารในกองกำลังกะเหรี่ยง เขาตายในการสู้รบ หลังการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของเขาเธอก็ไม่คิดจะมีคู่อีกเลย เธอเก็บความทรงจำเกี่ยวกับเขาไว้ในส่วนลึกของดวงใจ และตั้งปฏิภาณว่าจะทำงานเพื่อกอบกู้อิสรภาพชนชาติกะเหรี่ยง ไม่ว่าจะใช้เวลายาวนานเพียงใด



เธอบอกว่าผู้หญิงและเด็กได้รับผลกระทบจากสงครามมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของสงครามทางเพศโดยการใช้กำลังข่มขืนและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่เธอก็เชื่อในพลังของเพศหญิง หากได้รับการพัฒนาศักยภาพและเสริมความเชื่อมั่นในการแสดงออก พลังของผู้หญิงจะสามารถยุติสงครามและความรุนแรงทุกรูปแบบ



"เสียงของผู้หญิงจำนวนมากที่บอกกล่าวถึงสันติสุขเสรีภาพสิทธิเสมอภาคของเพื่อนมนุษย์จะดังขึ้นเรื่อยๆ และมันจะกลายเป็นเสียงที่ทรงพลังที่สุดในสังคมโลก"



ผู้หญิง คนที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสพบปะพูดคุยเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ยังมีผู้หญิงอีกมากที่สงครามผลักเธอออกมา จากบ้านเกิดเมืองนอน



คงไม่มีใครอยากทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดของตนไปอาศัยอยู่ภายใต้ร่มเงาบ้านคนอื่น ยิ่งเป็นการอาศัยอย่างผู้ไร้สิทธิหรือพลเมืองชั้นสองยิ่งอึดอัดกดดัน ทว่า ในภาวะที่ต้องเผชิญกับความเป็นความตาย การหนีเพื่อเอาชีวิตรอด ยังพอมีความหวังว่าวันหนึ่งอาจจะได้กลับไปกอบกู้แผ่นดินและอิสรภาพของตนคืนมา


แม้อยากจะกลับบ้านใจแทบขาด แต่ผู้หญิงจำนวนมากก็ไม่สามารถกลับบ้านของเธอตามใจปรารถนา ตราบที่สงครามความรุนแรงเพื่อแสวงอำนาจบนโลกนี้ยังดำเนินต่อไป....


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net