Skip to main content
sharethis




ประชาไท - 8 ก.ย. 50 ที่งานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยได้จัดเวทีสัมมนาเกี่ยวกับปัญหาของกลุ่มชนเผ่า จากการแลกเปลี่ยนพูดคุยของตัวแทนจากเครือข่ายชนเผ่าต่างๆ



 


ซึ่งในช่วงเช้าได้มีการจัดเสวนาแลกเปลี่ยนในหัวข้อ "ปัญหาชนเผ่าพื้นเมืองผ่านประสบการณ์คนทำงานด้านต่างๆ" โดยมีตัวแทนคนทำงานด้านต่างๆ คือ อาจารย์บุญจันทร์ จันทร์หม้อ ผู้แทนด้านการศึกษา , นายสว่าง  แซ่ย้าง   ผู้แทนคนทำงานด้านวัฒนธรรม , นางสาวอาแพ่  มาโฟ๊ะ  ตัวแทนคนทำงานด้านสิทธิฯ , นางสาวซาชูมิ  มาเยอะ  ผู้แทนคนงานด้านแรงงานภาคบริการ , นายชัยประเสริฐ  โพคะ ผู้แทนทำงานด้านทรัพยากรธรรมชาติ, นายมนูญ  ไทยนุรักษ์  ตัวแทนจากสื่อ


 


 


ผลงานวิชาการเกี่ยวกับชนเผ่าของนักวิชาการพื้นราบที่นำไปขาย เชื่อถือได้จริงหรือ?


อาจารย์บุญจันทร์ จันหม้อ ผู้แทนด้านการศึกษา ได้กล่าวถึงประเด็นโครงการหรือนโยบายต่างๆ ของนักวิชาการ ข้าราชการ นักการเมือง ที่เกี่ยวกับการศึกษาและวัฒนธรรมนั้น มักจะขึ้นไปทำเพื่อสร้างผลงาน เช่นเรื่องภูมปัญญาท้องถิ่น หรือการศึกษา ผลงานวิชาการที่ทำเป็นตำราขาย ซึ่งสิ่งเหล่านั้นคนที่ทำเองรู้จริงบ้างไม่จริงบ้าง


 


โดยผู้ที่ได้รับการนำเสนอผลงานวิชาการหรือตำราต่างๆ นั้นไม่ได้เป็นคนชนเผ่า ผลกระทบคือ ข้อมูลไม่ถูกต้องบิดเบือนชนเผ่า เนื่องจากในชนเผ่าไม่ได้รับรู้ในกระบวนการจัดเก็บข้อมูล รวมถึงคนรุ่นใหม่ในชนเผ่าเองบางส่วนก็ไม่ได้รู้ถึงวัฒนธรรมของตนเองมากนัก ซึ่งนักวิชาการอาจจะไปสอบถามแค่จากคนกลุ่มนี้ ไม่ได้ลงไปคลุกคลีกับชนเผ่าจริงๆ


 


อาจารย์บุญจันทร์ ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่เจอเกี่ยวกับโครงการทำผลงานวิชาการต่างๆ ที่เป็นลักษณะที่ได้กล่าวขั้นต้น เช่น ล่าสุด มีการเข้าไปจัดทำระบบภาษาให้ชนเผ่า โดยความร่วมมือของหน่วยงานรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรหนึ่ง ทำเรื่องของภาษา โดยใช้ภาษาไทยเขียนเป็นภาษาโพล่ง


 


แต่ความจริงคือ ภาษาโพล่งมีตัวอักษรอยู่แล้ว แต่บางชุมชนไม่รู้ว่าตนเองมีภาษาอยู่ เนื่องจากไม่ได้มีการสืบทอดให้กับเด็กรุ่นหลัง ซึ่งจะเห็นได้ว่าโครงการเหล่านี้ไม่ได้ศึกษาชนเผ่าอย่างจริงจังทำให้การนำเสนอข้อมูลผิดพลาดไป


 


ซึ่งถ้าเป็นชนเผ่าอื่นที่ไม่มีตัวเขียนก็ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่กับพี่น้องที่มีตัวเขียนเป็นของตนเองอยู่แล้ว ก็จะกลายเป็นการบิดเบือนความรู้ทางภาษานั้นๆ ให้ผิดเพี้ยน


 


ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่อาจารย์บุญจันทร์ได้ชี้ให้เห็นก็คือ บางโครงการ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐ เอกชน นักวิชาการ ที่ขึ้นไปในชุมชนของชนเผ่านั้น ผู้ปฏิบัติงานไม่ได้รู้ลึก รู้จริง ไม่ได้ศึกษาข้อมูลของชนเผ่ามาก่อนอย่างจริงจัง


 


 


การสูญเสียวัฒนธรรม


นายสว่าง  แซ่ย้าง ผู้แทนคนทำงานด้านวัฒนธรรม ได้ตั้งข้อสังเกตได้ว่าในแต่ละวันนี้มีการสูญเสียวัฒนธรรมไปมากมาย 


 


โดยได้ยกตัวอย่างกรณีของพี่น้องชนเผ่าม้งที่เห็นได้ชัด  คือคนรุ่นใหม่มักจะใช้ภาษาที่ผสมผสานกับภาษาอื่น เช่น พูดภาษาม้งปนกับภาษาไทย  ซึ่งคิดว่าประเด็นปัญหานี้คงเป็นประเด็นปัญหาหลักที่คนรุ่นใหม่เผชิญอยู่  และคิดว่าแนวทางแก้ไขที่ดีที่สุดในขั้นต้นนั้นคือ เจ้าของวัฒนธรรมเองจะต้องเป็นผู้เริ่มต้น 


 


และข้อสังเกตอีกประเด็นหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ในรุ่นใหม่ที่อยู่ในชุมชนนั้นไม่สามารถที่ประกอบพิธีกรรมของชนเผ่าตนเองได้แล้ว  กรณีแบบนี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก 


 


นายสว่างได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาการสูญเสียทางวัฒนธรรมไว้ว่า การที่คนชนเผ่าจะอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชนเผ่าตนเองได้นั้น คือเราในฐานะเป็นเจ้าของวัฒนธรรมจะต้องเป็นผู้เริ่มต้นเอง ไม่ใช่รอให้คนอื่นหรือคนภายนอกเข้ามากระตุ้นเตือน  แนวทางแก้ไขที่ดีที่สุดตามความคิดของตนเองนั้นคือ


 


-           ทางเจ้าของวัฒนธรรมจะต้องเป็นคนเริ่มต้น  โดยเฉพาะคนในชุมชนเอง  และโดยมีผู้รู้ผู้อาวุโสจะต้องเป็นผู้ดำเนินการหรือเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนในการรื้อฟื้นองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อจะได้ถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังต่อไป


 


-           หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันขับเคลื่อนนั่นคือจะต้องมีแผนในการพัฒนาด้านการศึกษาโดยเฉพาะเน้นการรื้อฟื้นองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและสิ่งที่สำคัญที่สุดคือผู้ที่เป็นเจ้าของทางวัฒนธรรมจะต้องเป็นผู้เริ่มต้นเอง


 


ส่วนการหนุนเสริมจากภาครัฐ และองค์กรต่างๆ นั้นนายสว่างได้กล่าวว่า จะต้องมีการหนุนเสริมให้เกิดการแก้ปัญหาการสูญเสียทางวัฒนธรรมได้อย่างแท้จริง แต่ปัจจุบันนี้ภาครัฐ และองค์กรต่างๆ กลับมองเรื่องวัฒนธรรมของชนเผ่าไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ


 


ดังนั้นกลุ่มชนเผ่าจะต้องขับเคลื่อนเรื่องวัฒนธรรมในสังคมของเราให้คงอยู่อย่างสอดคล้องกับวิถีชีวิต ไม่ใช่การนำวัฒนธรรมไปขาย


 


 


"สิทธิทางด้านสถานะบุคคลตามกฎหมาย" สิ่งเร่งด่วนที่ต้องกระทำ


นางสาวอาแพ่  มาโฟ๊ะ  ตัวแทนคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน นำเสนอถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาทางด้านสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มชนเผ่า โดยกล่าวว่าต้นเหตุปัญหานั้นคิดว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างปัญหาขึ้นมา  ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐเอกชนหรือตัวชาวบ้านเอง  


 


เพราะถ้ากล่าวถึงเรื่องสิทธิมนุษย์ขั้นพื้นฐานนั้น ในกลุ่มพี่น้องชนเผ่าเองไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองมีสิทธิขั้นพื้นฐาน  เช่น  ถ้าเกิดมามีชีวิตรอดแล้วจะมีสิทธิอะไรบ้าง  ซึ่งในอนุสัญญาสิทธิเด็กฯ นั้นได้กล่าวว่าคนๆหนึ่งถ้าเกิดมาแล้วต้องมีที่อยู่อาศัย  มีสิทธิในการอยู่รอด เป็นต้น 


 


สำหรับสิทธิต่างๆที่ชนเผ่ามักเข้าไม่ถึงคือ


 


1) สิทธิทางด้านสุขภาพ  ซึ่งหลายๆ ครั้งที่พี่น้องชนเผ่าไปโรงพยาบาลก็ได้รับการปฏิบัติในอีกระดับหนึ่ง ถูกเลือกปฏิบัติ


2)  สิทธิด้านการเดินทาง  ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะอยู่แค่ในหมู่บ้าน  โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีสถานะมารองรับ 


3) สิทธิด้านวัฒนธรรม  ชนเผ่าเองไม่ได้มีสิทธิในการเรียนรู้สิทธิทางวัฒนธรรมของตนเอง  เช่น  เด็กๆ ชนเผ่าอาข่าที่เรียนหนังสือจะถูกห้ามไม่ให้พูดภาษาตนเองในห้องเรียน  ดังนั้นถ้าปราศจากภาษาแล้วจะใช้อะไรในการพิสูจน์ว่ายังเป็นอาข่าอยู่ 


4)  สิทธิทางด้านสถานะบุคคลตามกฎหมาย  คนๆหนึ่งอยู่ในโลกใบนี้แต่ไม่ได้รับการยอมรับสถานะบุคคลว่าตัวเองอยู่ที่ไหน 


 


โดยนางสาวอาแพ่ได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นทางกฎหมาย คือเมื่อลองย้อนดูกฎหมายเกี่ยวกับการทำสัญชาตินั้นจะเห็นว่ายังมีอีกมากมายที่รัฐไม่ได้เข้าไปทำสัญชาติให้  ในปี 2548  ที่ตนเองได้ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการฯ จึงได้เข้าพื้นที่ไปทำงานด้านสัญชาติ  ซึ่งมีกรณีหนึ่งที่เด็กเกิดในชุมชน  และไม่มีเอกสารอะไรที่สามารถเพิ่มชื่อเข้าได้  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหามาจากหลายด้าน  เช่น  ชาวบ้านเอง  หรือรัฐ  เป็นต้น


 


"ดิฉันเองได้ทำงานด้านการค้ามนุษย์  ซึ่งจะเห็นว่ากลุ่มที่ถูกค้านี้ก็เป็นกลุ่มที่ไม่มีสัญชาติทั้งนั้น  และเนื่องจากไม่มีสัญชาติก็จะทำให้กลุ่มนายทุนถูกล่อลวง  ดังนั้นต้องมองว่าความเสี่ยงของคนที่ไม่มีสัญชาตินั้นเป็นบันไดที่ทำให้คนละเมิดได้อย่างชอบธรรม  ซึ่งไม่สามารถจะเรียกร้องได้ที่ใคร  แม้แต่ตำรวจเองก็จะบอกว่าเดี๋ยวจะโดนอีกข้อหาคือ  หนีเข้าเมือง" นางสาวอาแพ่ กล่าว


 


ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เกิดการมีส่วนร่วม  ซึ่งที่ผ่านมานั้นทางรัฐและเอกชนก็ได้พยายามสร้างพื้นที่การเรียนรู้แต่ในด้านการปฏิบัติแล้วยังไม่มีจริง


 


นางสาวอาแพ่ยังได้ทิ้งประเด็นที่สำคัญไว้คือคือ  การให้ความจริงใจต่อกัน  ซึ่งถึงแม้ภาครัฐรับปากว่าจะมีการผลักดันนโยบายก็จริง  แต่ทางปฏิบัตินั้นกลับถูกเลือกปฏิบัติ  โดยเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้นนางสาวอาแพ่ได้กล่าวว่าตนได้เข้าพื้นที่ไปดูกรณีเรื่องสัญชาติ  ปรากฏว่ากรณีเหล่านี้ผ่านกฎเกณฑ์ที่วางไว้ทั้งหมดแล้ว  แต่อยู่ในขั้นตอนของรัฐในท้องถิ่น  ซึ่งอ้างว่าต้องเสนอให้กรมการปกครองก่อน 


 


ซึ่งปรากฏว่าได้อ้างว่าถ้ามีการเพิ่มชื่อเข้าจริงๆแล้วจะถูกขีดเป็นพื้นที่สีแดง  นั้นหมายความว่าความจริงใจในทุกภาคส่วนนั้นยังไม่มี  ทางภาครัฐเองก็บอกว่าปัญหาด้านสัญชาตินั้นแก้ไขได้  แต่มีหลายฝ่ายที่ไม่ยอมทำให้    ดังนั้นถ้าต้องการให้เกิดการแก้ไขปัญหาก็ต้องมีความจริงใจให้แก่กัน


 


 


แรงงานภาคบริการชาติพันธุ์ เข้าถึงสวัสดิการยาก


นางสาวซาชูมิ  มาเยอะ  ผู้แทนคนงานด้านแรงงานภาคบริการและตัวแทนเอ็มเพาเวอร์ ได้กล่าวว่าการเข้ามาร่วมเสวนาในครั้งนี้ เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนถึงปัญหาในการการเข้าถึงสิทธิการบริการหลักประกันสุขภาพ 


 


ทั้งนี้เนื่องจากแรงงานการบริการมักที่จะไม่ได้รองรับการคุ้มครองสิทธิด้านหลักประกันสุขภาพ  การทำงานบริการมีปัญหาเรื่องการไม่คุ้มครองมาก การเจ็บไข้ได้ป่วยไม่มีคุ้มครอง  เวลาเข้ารักษาในโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลมองว่าเป็นตัวแพร่เชื้อ ทั้งนี้เพราะสังคมมีอคติกับแรงงานภาคบริการเป็นอย่างมาก


 


และปัญหาที่ผ่านมาอีกอย่าง  คือ การประกาศกฎหมายเคอร์ฟิวส์  ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงาน  เนื่องจากเวลาทำงานนั้นจะเป็นช่วงกลางคืน  จึงไม่สามารถออกไปทำงานได้  ทำให้ต้องพักในที่ทำงาน  และไม่มีอิสระในการเปลี่ยนนายจ้าง   ทำให้ไม่สามารถต่อรองได้  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วเป็นปัญหาที่กลุ่มที่ทำงานด้านบริการต้องเผชิญ


 


 


ถ้าชาวเขาดูแลจัดการป่าเองผิดกฎหมาย แต่ทำการเกษตรแบบทุนนิยมที่ทำลายป่ากลับถูกกฎหมาย


นายชัยประเสริฐ  โพคะ ผู้แทนทำงานด้านทรัพยากรธรรมชาติ ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ว่าในขณะนี้ในพื้นที่ราบแทบที่จะไม่มีแล้ว คงเหลือแต่บนภูเขาซึ่งรัฐได้ออกกฎหมายมาแย่งชิงทรัพยากรเหล่านี้ไป เช่น เขตป่าสงวน หรือเขตอุทยาน


 


ซึ่งทั้ง 2 สิ่งนั้นไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ทั้งนี้มันต้องเข้ากับชุมชนได้ เพราะว่าขอบเขตทางกฎหมายต่างๆ เหล่านี้มันออกมาหลังจากที่กลุ่มชนเผ่าได้ไปอาศัยมาก่อนเป็นเวลานานแล้ว


 


รัฐเองไม่เคยยอมรับการจัดการทรัพยากรโดยกลุ่มชนเผ่าเอง แต่กลับดึงลงไปจัดการ ซึ่งมักจะมีเรื่องผลประโยชน์กับเรื่องทุนเสมอๆ ที่เห็นได้ชัดก็คือการสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยว หรือการออกสัมปทานต่างๆ


 


ทั้งนี้ได้มีผู้รับฟังการเสวนาได้ถามถึงประเด็นข้อสังเกตเรื่องชาวเขาทำการเกษตรบนภูเขา ใช้สารเคมี และมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกออกไปตามภูเขา


 


นายชัยประเสริฐได้ตอบข้อสังเกตของผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาในประเด็นนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะรัฐและทุนสนับสนุนการเพาะปลูกแบบนั้น เพื่อการส่งออก เพื่อขายปุ๋ย ขายยาฆ่าแมลงให้กับชนเผ่าในการทำการเกษตร


 


การทำการเกษตรแบบนี้รัฐกลับมองว่าเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่ในทางกลับกันเมื่อพี่น้องชนเผ่าขอที่จะเข้าไปจัดการดูแลป่ากลับไปมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติ รัฐกลับมองเป็นเรื่องผิดกฎหมาย  


 


 


ชนเผ่าจะต้องใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้


นายมนูญ  ไทยนุรักษ์  ตัวแทนจากสื่อ ได้เล่าถึงพัฒนาการของสื่อรวมถึงการสร้างสื่อทางเลือกให้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ของพี่น้องชนเผ่า


 


ในช่วงพฤกษาภาทมิฬได้เกิดวิกฤติด้านสื่อคือ  มีการควบคุมสื่อทำให้สื่อไม่เป็นอิสระในการเผยแพร่ข้อมูล  จึงเกิดคนกลุ่มหนึ่งที่มีความคิดที่จะให้ชาวบ้านได้รับรู้ข่าวสารที่แท้จริง  และได้ผลักดันให้มีสื่อเสรี  เกิดวิทยุชุมชน 


 


"พี่น้องลองคิดว่าดูว่าสิ่งที่เราได้ฟัง  ได้อ่านนั้นมีอะไรบ้างที่เป็นของเรา  ไม่ว่าจะเป็นสื่อด้านวิทยุ  หนังสือพิมพ์  ทีวี  ก็เป็นเจ้าของโดยนายทุน ซึ่งมุ่งแสวงหาผลประโยชน์โดยผ่านการโฆษณา  และส่งผลกระทบต่อพี่น้องชนเผ่าในฐานะผู้บริโภค"


 


วิทยุชุมชนของชนเผ่าปกาเกอะญอ เป็นกระบวนการก่อเกิดสื่อที่มาจากชุมชน แม้คลื่นเป็นของสาธารณะ แต่เมื่อก่อนนี้ชาวบ้านธรรมดาไม่มีสิทธิได้ใช้สื่อย่างเต็มที่  ขณะนี้เงื่อนไขของหน่วยงานและกฎหมายการเปิดโอกาสให้ประชาชน เป็นผู้จัดการเรื่องสื่อ ได้ใช้สื่อเหมือนกับนายทุนและผู้มีอำนาจ เราได้เสนอให้หักร้อยละ 2 ของค่าสัมปทานมาหนุนเสริมการนำเสนอของชาวบ้าน หาชาวบ้านไม่มีสื่อของตนเอง  ก็ไม่มีโอกาสในการสื่อสารให้ภายนอกได้รับรู้  สำหรับวิทยุชุมชนก็มี 30 วัตต์เท่านั้น แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไร  สำหรับคลื่นทั้งหมดกฎหมายกำหนดไว้ว่าจะแบ่งให้รัฐ 40% เอกชน 30% และชาวบ้าน 20%


 


การแก้ไขปัญหาทุกอย่างนั้นปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับสื่อด้วย  เพราะมีหลายที่ที่เจ้าของปัญหาไม่สามารถเข้าไปอธิบายได้ก็จะใช้สื่อเป็นเครื่องมือ  ในส่วนสื่อที่ชนเผ่ามีอยู่ในขณะนี้ส่วนมากจะเป็นของรัฐจึงยังมีการควบคุมอยู่  หากต้องการมีสื่อของตนเองก็น่าจะพึ่งพาทางสหประชาชาติหรือหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง  เพราะสื่อเป็นสิ่งที่ไร้พรมแดน  เราต้องช่วงชิงสื่อมาเป็นกระบอกเสียงที่มาพูดแทนเรา  ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ  หนังสือพิมพ์  หรือทีวี  ไม่ใช่เอาแต่ทำธุรกิจอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net