Skip to main content
sharethis


เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร


20 กันยายน 2550


 


  


หากจะนับการที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสแก่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลฎีกา และคณะผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคิรีขันธ์ ในวันที่ 25 เมษายน 2549  เพื่อให้ช่วยกันแก้ไขปัญหา "วิกฤตที่สุดในโลก" อันได้แก่ การเรียกร้องนายกพระราชทานของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยอ้างมาตรา 7  ของรัฐธรรมนูญ 2540 ว่า "ทำให้พระองค์เดือดร้อน... ไม่ใช่เป็นเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย"  และ การเลือกตั้งที่ "ไม่เป็นประชาธิปไตยและอาจเป็นโมฆะ" [1]


 


พระราชดำรัสครั้งนั้นมีผล 2 ประการคือ (1) ทำให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยุติเรียกร้องนายกพระราชทาน  (2) มีการเริ่มกระบวนการ "ตุลาการภิวัฒน์"  โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้


 


27 เมษายน 2549  ศาลปกครองรับฟ้องคดีที่ นพ.ประมวล วีรุตมเสน กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรวม 10 คน ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับพวกรวม 3 คนเมื่อวันที่ 3 เมษายน ในความผิดเรื่องเป็นหน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีจัดคูหาเลือกตั้งหันหน้าออก จึงขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอน กฎ ระเบียบ คำสั่ง รวมทั้งการกระทำใดๆ ซึ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 104 พร้อมทั้งให้เพิกถอนการจัดการเลือกตั้ง[2] ควรจะบันทึกไว้ด้วยว่าก่อนหน้านั้นศาลปกครองไม่รับคำฟ้องขอเพิกถอน พ.ร.ฎ. ยุบสภาผู้แทนราษฎรที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปฟ้องก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน [3]


 


8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายนเป็นโมฆะ[4]


 


25 กรกฎาคม 2549 ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 กกต. คนละ 4 ปี ไม่รอลงอาญา และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 5 ปี[5]   ต่อมาที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ร่วมกัน สรรหา กกต. 10 คน เพื่อให้วุฒิสภาคัดเลือกให้เหลือ 5 คนเพื่อทำหน้าที่ กกต.ชุดใหม่ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2549[6] ซึ่งเท่ากับว่าศาลฎีกาได้เข้ามามีส่วนรับผิดชอบอย่างเต็มที่กับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้


 


เมื่อภารกิจในการแก้ปัญหาเลือกตั้งที่ "ไม่เป็นประชาธิปไตยและอาจเป็นโมฆะ"  เสร็จสิ้นลง กระบวนการ "ตุลาการภิวัฒน์"  ก็ยิ่งรุกคืบทางการเมืองต่อไปอีก


 


ทันทีที่มั่นใจว่าสามารถยึดอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ ในคืนวันที่  19 กันยา 2549 คณะรัฐประหาร  ได้อาศัยอำนาจเผด็จการตั้งตนเป็นฝ่ายตุลาการเสียเองโดย ประกาศ คปค. ฉบับที่ 3 สั่งให้ " ศาลทั้งหลาย นอกจากศาลรัฐธรรมนูญคงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย และตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข"  พร้อมทั้งสั่งยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ทันทีในคืนวันนั้น  ต่อมา คณะรัฐประหารได้ออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ให้ลงโทษย้อนหลังกรรมการบริหารพรรคได้ซึ่งเป็นจุดอัปลักษณ์ที่สุดครั้งหนึ่งของงวงการวิชาการนิติศาสตร์ [7]


 


 1  ตุลาคม 2549 คณะรัฐประหารได้แต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีให้ดำรงตำแหน่งนายรัฐมนตรี พร้อมกับการประกาศใช้  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2549  ซึ่งในมาตรา 35 ได้แต่งตั้ง คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (ตลก.รัฐธรรมนูญ) ซึ่งมีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นรองประธาน และมีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือก 5 คน และตุลาการศาลปกครองสูงสุดเลือก 2 คน โดยมีอำนาจพิจารณาคดีเหมือนศาลรัฐธรรมนูญเดิม


 


แต่อย่างที่ทราบกันต่อมาว่าภารกิจของ คณะ ตลก.รัฐธรรมนูญคือการยุบพรรคไทยรักไทย ดังการประกาศจากหัวหน้าคณะรัฐประหาร ในเวลาต่อมาว่านี่เป็นบันไดขั้นแรกของคณะรัฐประหาร  คือ 1.ยุบพรรคไทยรักไทย  ---> 2.ดำเนินคดีอาญาทุจริตคอร์รัปชั่น ---> 3. ทำให้พรรคแตก ส.ส.วิ่งกระจัดกระจายและสิ้นสุด ---> 4.การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง[8]


 


และในคณะรัฐมนตรีคณะรัฐประหารก็มีนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกาที่เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2549 เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแทบจะทันทีโดยมี นายจรัญ ภักดีธนากุล เลขานุการประธานศาลฎีกาเข้ารับตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมหลังรัฐประหารเช่นกัน


 


ตลอดระยะเวลา 1 ปี ภายใต้ระบอบรัฐประหารเราได้เห็น กระบวนการ "ตุลาการภิวัฒน์" ทั้งในฐานะที่เป็น  (1) เครื่องมือทางการเมืองของคณะรัฐประหาร (2) เครื่องมือในการเรียกร้องผลประโยชน์และอำนาจให้ตนเอง


 


(1) "ตุลาการภิวัฒน์" ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองของคณะรัฐประหาร  คำตัดสินของคณะตลก.รัฐธรรมนูญ ในการ ยุบพรรคไทยรักไทย "ฐานเป็นภัยต่อความมั่นคงและปรปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย พร้อมถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหาร 111 คน"  นั้น  รศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์  หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้ชี้ว่า "การใช้และการตีความกฎหมายในลักษณะนี้มีผลเป็นการทำลายหลักการในทางนิติศาสตร์ลง เพราะเป็นการตีความโดยเอาอำนาจเป็นที่ตั้ง หรือเอาอำนาจเป็นธรรม ไม่ใช่เอาธรรมเป็นอำนาจ ผลร้ายคือต่อไปวันข้างหน้า ถ้าจะมีใครสักคนที่มีอำนาจ แล้วออกกฎหมายอย่างนี้ เขาก็ย่อมจะต้องทำได้เหมือนกัน และถ้าออกกฎหมายอย่างนี้มาใช้บังคับกับคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการก็จะเอาเหตุผลมาโต้แย้งไม่ได้ มันทำให้กฎหมายกลายเป็นเรื่องที่ใครมีอำนาจเขียนอะไรออกมาก็เป็นกฎหมายไปหมด ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถเรียนและสอนวิชานิติศาสตร์ได้"  รศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์   ได้สรุปอย่างตรงไปตรงมาว่า  "นี่เป็นประกาศคณะรัฐประหารในรูปของคำวินิจฉัย"[9]


 


2. "ตุลาการภิวัฒน์" ในฐานะเครื่องมือในการเรียกร้องผลประโยชน์และอำนาจให้ตนเอง รูปธรรมที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือรัฐธรรมนูญ 2550 ที่นายจรัญ  ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม เข้าไปดำรงตำแหน่ง รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)  สิ่งเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ส่งเสริมให้ตุลาการเข้ามา "เล่นการเมือง" โดยตรง  เช่นการเป็นองค์กรสรรหาสมาชิกวุฒิสภา  ที่มีอำนาจและหน้าที่เท่ากับวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน (มาตรา 113 ),  การเสนอกฎมายได้เอง (มาตรา 142 (3) ), การขอแปรญัตติหากเห็นว่างบประมาณที่ได้รับนั้นไม่เพียงพอ (มาตรา 168 วรรคท้าย), การต่ออายุตุลาการออกไปอีก 10 ปี (มาตรา 306) สิ่งที่จะต้องบันทึกไว้ก็คือในร่างรัฐธรรมนูญฉบับรับฟังความคิดเห็นไม่มีมาตราที่ว่าด้วยการต่ออายุตุลาการแต่อย่างใด


 


ถึงแม้ว่าตุลาการจะได้รับ "ความเชื่อถือ" จากสังคมเมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่นส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากวัตรปฏิบัติของบรรดาตุลาการ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ มาจากปัจจัยอื่น ๆ ด้วยเช่น


 


1. ตุลาการไทย ไม่สามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้ เมื่อเทียบกับการวิพากษ์วิจารณ์วิชาชีพอื่น ๆ โดยเฉพาะข้อหาหมิ่นอำนาจศาล โดยที่ศาลนั่นเองเป็นผู้พิจารณาความผิด ซึ่งในประเทศที่จะเกิด "ตุลาการภิวัฒน์" ได้ เช่น สหรัฐอเมริกา นั้นต้องเปิดโอกาสให้สังคมได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างเสรี[10]


 


2. ตุลาการไทยมักจะอ้างว่าตนเองทำหน้าที่ในพระปรมาภิไทย เพื่อทำให้ผู้วิจารณ์นั้นหมิ่นเหม่ต่อข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[11]


 


เพราะฉะนั้น หลักการทั่วไปที่ตุลาการได้ยึดมั่นมามากกว่า 100 ปี คือการจำกัดบทบาทเป็น "คนกลาง" ไม่เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้ง ทำให้ตุลาการรอดพ้นจากผลประโยชน์และการวิจารณ์จนเป็นที่ยอมรับของสังคม แม้ว่าจะมีคดีที่ค้านสายตาสาธารณชนอยู่เนือง ๆ นั้นก็สามารถโยนความผิดไปให้ตัวบุคคล แต่ไม่ใช่ระบบตุลาการ  แต่การที่ตุลาการทั้งระบบมาเล่นการเมืองนั้นจะเป็นทางเดินไปสู่ความเสื่อมของวงการตุลาการเอง    


 


เราขอยืนยันว่าอำนาจตุลาการนั้นมีหน้าที่เพียงการตัดสินคดีที่ยุติธรรม เท่านั้นไม่มีหน้าที่มีเล่นการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ แนวทางการปฏิรูปกระบวนการตุลาการคือการเปิดโอกาสให้วิพากษ์วิจารณ์เพื่อเปิดให้ตุลาการได้ข้อเท็จจริงและทัศนะที่แตกต่างจากที่ตนเองมีเท่านั้น


 


การที่ดึงตุลาการมาเล่นการเมือง โดยนิยามว่ามันเป็นกระบวนการตุลาการภิวัฒน์นั้นไม่ต่างอะไรจากการนำกองทัพเข้ามาแก้ปัญหาทางการเมือง เช่นที่เกิดขึ้นเมื่อทหารเข้ามารัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งผลก็ชี้ชัดเจนแล้วว่า นอกจากทหารจะไม่มีความสามารถในการแก้ปัญหาทางการเมืองแล้ว ยังสร้างปัญหาหนักขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย


 


ขณะที่ข้าราชการอื่น ๆ เรียกรับผลประโยชน์เราเรียกว่าเป็นการรับสินบน แต่เมื่อกระบวนการตุลาการได้เข้ารับใช้เผด็จการทหารที่เข้ามาโดยมิชอบ แล้วได้รับผลตอบแทนดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เราจะเรียกว่าอะไร?


 

 





[1] พระราชดำรัส พระราชทานแก่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่
ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์วันอังคารที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙  http://kanchanapisek.or.th/speeches/2006/0425-01.th.html



[2] มติชนรายวัน 28 เมษายน พ.ศ. 2549



[3] ปิยบุตร แสงกนกกุล  คดีเลือกตั้ง ๒ เมษา ศาลใดจะรับเรื่อง? โมฆะจริงหรือ?  http://www.onopen.com/2006/01/552



[4] สรุปคำวินิจฉัยตุลาการศาลรธน.ให้เลือกตั้งเป็น'โมฆะ' http://www.bangkokbiznews.com/2006/05/08/w001_101597.php?news_id=101597



[5] ด่วน!!! ศาลอาญาพิพากษาจำคุก กกต.3 คน ไม่รอลงอาญา http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=4371&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai



[6] ผลสรรหากกต.รอบแรก5คน"อภิชาต-สมชัย"แหกโผเข้า http://news.sanook.com/politic/politic_12621.php



[7] ดูบทวิเคราะห์ถึงความฉ้อฉลของประกาศคปค.ฉบบนี้ได้ที่  ธีระ สุธีวรางกูร " บทวิเคราะห์ประกาศของ คปค. ฉบับที่ 27 "


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=5280&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai



[8] อ้างจาก  เกษียร เตชะพีระ  "รัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันคนอย่างทักษิณ" มติชนรายวัน  24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q3/2007august24p4.htm



[9] วรเจตน์ ภาคีรัตน์  "ประกาศคณะรัฐประหาร ในรูปคำวินิจฉัย"  ไทยโพสต์ 3 มิถุนายน 2550 http://www.thaipost.net/index.asp?bk=tabloid&post_date=3/Jun/2550&news_id=143142&cat_id=220100



[10]  ดูกรณีศึกษาของสหรัฐอเมริกาและบทวิพากษ์ ตุลาการภิวัฒน์แบบไทย ๆ ได้ที่  พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์  วิพากษ์ "ตุลาการภิวัฒน์" http://www.bangkokbiznews.com/2006/08/03/w017_125585.php?news_id=125585



[11] "วิชา มหาคุณ" ยกดำรัสพระมหากษัตริย์ไว้ใจศาล ท่านจะประณามหรือ  http://www.midnightuniv.org/forum/index.php?PHPSESSID=7efabaf7c884a8971dd5561ffa9265fb&topic=1728.0

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net