Skip to main content
sharethis


โดย ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่


กลุ่มสะพาน: กลุ่มสร้างสื่อเพื่อความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ
www.sapaan.org



 


 


 


จากการสัมมนาเรื่อง "คำนำหน้านามบุคคล"  เมื่อ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และความมั่นคงของมนุษย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างรีบๆ เร็วๆ ณ ห้องเทพประทาน โรงแรมเวียงใต้ กรุงเทพมหานครนั้น


 


ผู้เขียน ในฐานะผู้สังเกตการณ์ และติดตามเกี่ยวกับประเด็นนี้มาโดยตลอด เห็นว่าการทำงานด้วยความหวังดีของสนช. ที่มีต่อกลุ่มบุคคลข้ามเพศครั้งนี้ น่าจะสร้างให้เกิดปัญหามากยิ่งขึ้น มากกว่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่คนกลุ่มนี้ประสบอยู่


 


เพราะเท่าที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมนำเสนอปัญหาในเรื่องนี้ 2 ครั้ง ที่ทางสนช. จัดขึ้น (รวมครั้งนี้ด้วย) พบว่าทาง สนช.เองก็ยังไม่ได้มีความเข้าใจต่อเรื่องของบุคคลข้ามเพศ (Transgendered people) เท่าที่ควร นักกฎหมายผู้ที่จะเข้ามาทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้ ยังคงสับสนและไม่เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลข้ามเพศ (Transgendered people) กับบุคคลรักเพศเดียวกัน (Homosexuals) และ/หรือ บุคคลที่รักสองเพศ (Bisexuals)


 


โดยเข้าใจว่ากลุ่มบุคคลรักเพศเดียวกัน และ/หรือ บุคคลที่รักสองเพศ ก็มีความต้องการที่จะเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ ซึ่งความจริงไม่ใช่เช่นนั้น บุคคลที่รักเพศเดียวกัน และ/หรือ บุคคลที่รักสองเพศ ไม่มีความต้องการที่จะขอเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ เช่นที่บุคคลข้ามเพศต้องการ และไม่ได้ประสบปัญหาในการดำเนินชีวิตลักษณะเดียวกับที่คนข้ามเพศกำลังประสบอยู่ รูปแบบและสถานการณ์ของปัญหาของบุคคล 2 กลุ่มนี้จึงแตกต่างกัน


 


แต่ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ประสบ ก็มาจากความเชื่อ/ความคิดของสังคม ที่เข้าใจแต่เพียงว่าโลกนี้มีวิถีทางเพศแบบเดียว คือแบบรักต่างเพศ ระหว่างชาย-หญิง เท่านั้น


 


สำหรับปัญหาที่บุคคลข้ามเพศ (Transgendered people) ประสบอยู่ในปัจจุบัน และส่งผลกระทบในเรื่องหน้าที่การงาน,การทำหนังสือเดินทาง,การเดินทางไปต่างประเทศ ก็คือการมีรูปลักษณ์ไม่ตรงกับคำนำหน้าชื่อในบัตรประชาชน ไม่ว่าบุคคลข้ามเพศบุคคลนั้นๆ จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนเพศแล้ว หรือยังไม่ได้ทำก็ตาม เนื่องเพราะบุคลิกภาพ การแต่งกาย รูปลักษณ์ภายนอกที่ปรากฏต่อสาธารณชน คือรูปลักษณ์ที่ตรงกันข้ามกับเพศสรีระโดยกำเนิดนั่นเอง ไม่ใช่อวัยวะเพศที่ได้ผ่านการผ่าตัดเปลี่ยนแปลง หรือยังไม่ได้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด บุคคลข้ามเพศ ไม่ว่าจะแปลงเพศแล้ว หรือยังไม่แปลง จึงประสบปัญหาไม่แตกต่างกัน


 


นอกจากนั้น ความปรารถนาดีที่ สนช.มีให้ต่อบุคคลข้ามเพศ อย่างรีบๆ เร็วๆ โดยมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงคำนำหน้านามให้เฉพาะกับบุคคลข้ามเพศที่ทำการตัดต่อแปลงเพศสำเร็จเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วนั้น


 


ก็ถือเป็นเรื่องที่อันตรายยิ่ง เพราะจะยิ่งนำไปสู่ปัญหาการเลือกปฏิบัติยิ่งขึ้น


 


อย่าลืมว่า กว่าที่บุคคลหนึ่งจะสามารถตัดสินใจผ่าตัดแปลงเพศได้นั้น จะต้องมีเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ เพราะการผ่าตัดแปลงเพศที่มีคุณภาพนั้น ต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่สูงตามไปด้วย อีกทั้งค่าใช้จ่ายการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงเพศของบุคคลข้ามเพศหญิง (Female to Male) มาเป็นชายก็สูงมาก เมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงบุคคลข้ามเพศชาย (Male to Female) มาเป็นหญิง เนื่องจากระบบสรีระร่างการที่มีความซับซ้อนมากกว่า ทำให้บุคคลข้ามเพศหญิง มักไม่ทำการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงเพศเช่นบุคคลข้ามเพศชาย


 


ปัญหาอีกประการที่ไม่ควรมองข้ามไปก็คือเรื่องสุขภาพ บุคคลข้ามเพศจำนวนมาก ไม่สามารถผ่าตัดแปลงเพศได้ โดยมีเหตุมาจากเรื่องสุขภาพ พอๆ กับเรื่องรายได้ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ยังไม่มีการยืนยันทางการแพทย์ว่าสามารถทำการผ่าตัดเปลี่ยนเพศได้สมบูรณ์แบบ 100 %


 


ความปรารถนาดีของสนช. จึงควรจะต้องตระหนักในเรื่องพื้นฐานดังกล่าวเหล่านี้ด้วย เพราะมิเช่นนั้นแล้ว กลุ่มบุคคลข้ามเพศที่ยังไม่ได้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนเพศ ก็จะถูกเลือกปฏิบัติมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม


 


และยังจะนำพากลุ่มบุคคลเหล่านี้เดินไปสู่ทางเลือกที่คับแคบ ตีบตันยิ่งกว่าเดิมมากขึ้น เพราะความปรารถนาดีที่อยากจะช่วยแก้ปัญหาของ สนช. จะยิ่งไปสนับสนุนให้เกิดการผ่าตัดเปลี่ยนเพศเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น เช่นหากบุคคลข้ามเพศเหล่านี้ต้องการจะเปลี่ยนคำนำหน้านาม (ไม่ว่าจะเป็นนางสาว หรือนาย(ในกรณีบุคคลข้ามเพศหญิง) ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ สนช.พึงตระหนัก) พวกเขาหรือเธอก็จะต้องไปทำการผ่าตัดแปลงเพศเท่านั้น  ไม่เช่นนั้นแล้ว ก็ไม่สามารถมีคำนำหน้านามได้


 


ซึ่งควรหรือที่จะเป็นเฉพาะเช่นนี้!!


 


และอีกประเด็นที่ควรจะตระหนักไม่แพ้กัน ก็คือกรอบความคิดเรื่องความเป็นหญิง ความเป็นชาย ที่เอาเข้าจริงๆ แล้วก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ขยับขยายไปจากเดิมสักเท่าไร อย่าลืมว่าการเลือกใช้คำนำหน้านามของมนุษย์เพศหญิง ระหว่างคำว่านาง, นางสาว ก็ยังคงมีปัญหา แม้เครือข่ายองค์กรทำงานด้านผู้หญิงจะทำการรณรงค์แก้ไขเปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลานับ 20 ปี แต่เรื่องนี้ ก็ยังไม่ก้าวหน้าไปถึงไหน


 


ความปรารถนาดีอย่างรีบๆ เร็วๆ ของ สนช. จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะอาจจะยิ่งสร้างให้เกิดปัญหามากยิ่งกว่าเดิม!


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net