Skip to main content
sharethis


สถานการณ์ในประเทศพม่า

 


1.1              พระสงฆ์พม่านับพันรวมตัวเดินขบวนประท้วง ไม่สนทางการอาจใช้ความรุนแรง


 


พระสงฆ์ในพม่าแสดงเจตนารมณ์ไม่สนใจว่าทางการอาจใช้มาตรการรุนแรงสลายการชุมนุมประท้วง รวมตัวพระสงฆ์นับพันเดินขบวนโดยสงบใน 2 พื้นที่ของพม่า


 


พระสงฆ์จำนวนมากกว่า 1,000 รูป จากวัดหลายแห่งของเมือง รวมตัวเดินขบวนมุ่งหน้าไปยังเจดีย์มหามยัตมุนี ที่มีชื่อเสียงของมัณฑะเลย์ ขณะที่ในเขตอาห์โลน ทางตะวันตกของกรุงย่างกุ้ง มีรายงานพระสงฆ์ประมาณ 100 รูป รวมตัวเดินขบวนโดยสงบในเวลาใกล้เคียงกัน โดยการเดินขบวนของพระสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง ยังไม่มีรายงานทางการพม่าเข้าแทรกแซง


 


การชุมนุมประท้วงของพระสงฆ์ต่อรัฐบาลทหารพม่าครั้งนี้ มีขึ้นเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากที่เพิ่งเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทางการพม่ายิงแก๊สน้ำตาและยิงปืนขู่ เพื่อสลายการชุมนุมของพระสงฆ์ในเมืองชิตตเวย์ เมื่อวันอังคารที่ 18 ที่ผ่านมา สื่อทางการพม่าอ้างว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐได้รับบาดเจ็บหลายนายโดยไม่มีผู้ถูกจับกุม ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลจากผู้เห็นเหตุการณ์ที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่ทุบตีพระสงฆ์หลายรูปก่อนจะควบคุมตัวไปขณะสลายการชุมนุม


 (สำนักข่าวไทย วันที่ 19/09/2550)


 


 



  1. การค้าชายแดน

 


2.1              "พ่อเมืองตาก" สั่งเดินหน้าแผนก่อสร้างเส้นทางรถไฟ "แม่สอด-ตาก" รองรับ "เศรษฐกิจ-คมนาคม"


 


นายชุมพร พลรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เปิดเผยว่าทางจังหวัดยังคงเดินหน้าที่จะดำเนินการสร้างเส้นทางรถไฟสาย อ.เมืองตาก ไปยัง อ.แม่สอด โดยขณะนี้การศึกษาความเป็นไปได้ใกล้จะแล้วเสร็จ ซึ่งจากการประเมินแล้วมีความเป็นไปได้สูงมาก หลังจากนั้นจะนำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) 5 อำเภอชายแดน จ.ตาก ประกอบไปด้วย ผู้บริหาร อปท. ในพื้นที่ อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด อ.พบพระ อ.ท่าสองยาง อ.อุ้มผาง รวมทั้งแกนนำภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรม และหอการค้าตาก ไปพบกับประธานบอร์ดการรถไฟและผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย(กฟท.) ส่วนผู้ที่ไปลงทุนนั้นคาดว่าน่าจะใช้บริษัทต่างประเทศ อาทิ ประเทศจีนเข้ามาลงทุน ซึ่งต้องมีการศึกษาหารือ และเจรจากันก่อน เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการดำเนินงานตามโครงการ


 


ประชาชนในพื้นที่ 5 อำเภอชายแดนไทย-พม่า ฝั่งตะวันตก ของ จ.ตาก ต่างมีความสนใจในโครงการการสร้างทางรถไฟสายตาก-แม่สอดดังกล่าว เพราะเชื่อว่าหลังจากสร้างทางรถไฟแล้วเสร็จ เส้นทางเส้นนี้จะเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ดี เพราะจะได้ชมทัศนียภาพ 2 ข้างทาง ที่เป็นพื้นที่เขาสูง และป่าไม้ นอกจากนี้พื้นที่ 5 อำเภอชายแดน มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาก เช่นน้ำตกทีลอซู ในพื้นที่ อ.อุ้มผาง ที่ดึงดูดนักเที่ยวได้มาก โดยเส้นทางรถไฟตาก-แม่สอด จะเป็นการขนส่งสินค้า การคมนาคม และการท่องเที่ยวอีกด้วย


 


ทางด้านนายดิฐชัย ฉันติกุล รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ตาก กล่าวว่า อบจ.ตาก มีนโยบายพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยจะเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ล่องแพแม่ตื่น ชมวัดใต้น้ำ ก่อนลงสู่เขื่อนภูมิพล เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ การเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวล่องแพแม่ตื่น จะเริ่มต้นที่ลำห้วยแม่ตื่น ต.แม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก ออกเดินทางโดยแพ-เรือยาง-และเรือหางยาว ชมวิถีชีวิตชาวบ้านและชาวพื้นเมือง 2 ฝั่งลำห้วย ซึ่งตลอดระยะเวลาการล่องแพจะพบกับธรรมชาติอันสวยงามก่อนที่จะลงท้ายเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก โดยระหว่างทางนั้นจะได้ชมวัดใต้น้ำ ซึ่งก่อนหน้าที่จะดำเนินโครงการนี้นั้น อบจ.ตาก ได้จัดฝึกอบรมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน-การล่องแพ-กลุ่มพายเรือและกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการสร้างงาน-สร้างอาชีพและรายได้ให้ท้องถิ่นชุมชนและประชาชนต่อไป


 


ระหว่างวันที่ 24-25 ก.ย. ทาง อบจ.ตาก จะทำการเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวนำร่อง โครงการล่องแพแม่ตื่นเป็นครั้งแรก โดยเชิญสื่อมวลชน-หัวหน้าส่วนราชการ-ผู้บริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(ส.อบจ.) และภาคธุรกิจเอกชน เดินทางล่องแพน้ำแม่ตื่นเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการ ซึ่งตลอดระยะเวลาการล่องแพนั้นจะผ่านจุดสำคัญหลายแห่งที่เป็นธรรมชาติ และหมู่บ้านชาวเขา ชาวพื้นที่เมืองและยังมีสัตว์ป่า 2 ฝั่งแม่ตื่น ที่บ้านห้วยวัว ต.แม่ตื่น และบ้านหินลาดนาไฮ บ้านสะโมง บ้านสันป่าป๋วย ต.บ้านนา บ้านน้ำเอ่อ ต.สามเงา อ.สามเงา และไปลงที่เกาะวาเลนไทน์ ท้ายเขื่อนภูมิพล ก่อนเข้าสู่บ้านเขาหนาม ซึ่งเส้นทางท่องเที่ยวแห่งนี้ จะสร้างความประทับใจและเป็นมนต์เสน่ห์ทางธรรมชาติเส้นทางสายใหม่ของ จ.ตาก


 (สยามรัฐ วันที่ 18/09/2550)


 


 


3. ต่างประเทศ


 


3.1              องค์การอนามัยโลกห่วงไข้เลือดออกระบาดหนักในเอเชีย   


  


นพ.มิน ทเว ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการ องค์การอนามัยโลก สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกจัดประชุมผู้อำนวยการโครงการไข้เลือดออกระดับภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก มีผู้อำนวยการโครงการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจาก 16 ประเทศใน 2 ภูมิภาคดังกล่าวเข้าประชุมคือ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ พม่า เนปาล ศรีลังกา ไทย ติมอร์ตะวันออก กัมพูชา ลาว จีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม การประชุมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 - 21 กันยายนนี้ เพื่อระดมสมองจัดทำยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ปี 2550 - 2558 มีเป้าหมายลดอัตราการตายจากโรคไข้เลือดออก โดยระดมความร่วมมือจากชุมชนในการป้องกันและควบคุมโรค การค้นหาผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นเข้าสู่การรักษาในสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน


 


ศ.ดูน เจ.กุ๊ปเลอร์ (Porf.Daune J.Gubler) ผู้เชี่ยวชาญไข้เลือดออก มหาวิทยาลัยฮาวาย กล่าวว่า ปีนี้การแพร่ระบาดของไข้เลือดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แปซิฟิก รุนแรงมากขึ้น โดยกัมพูชามีอัตราการแพร่ระบาดมากที่สุด รองลงมาคือ พม่า และไทย ขณะที่ปีที่แล้วพบการระบาดหนักที่อินโดนีเซีย มีรายงานผู้ป่วย 150,000 - 160,000 ราย สาเหตุการแพร่ระบาดมาจากการขยายตัวของเมืองอย่างไร้ทิศทาง ทำให้เพิ่มแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายซึ่งร้อย 80 มาจากฝีมือมนุษย์ เป็นผลจากยุคโลกาภิวัตน์ทำให้การเดินทางรวดเร็วมีการเคลื่อนย้ายคนนับล้านในแต่ละวัน การเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์เชื้อไข้เลือดออก ภาวะโลกร้อนทำให้ขยายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงถือเป็นส่วนสำคัญให้โรคไข้เลือดออกระบาดไปทั่วโลก เช่น ภูฏาน พบผู้ป่วยรายแรกในปี 2547 และในปีที่ผ่านมามีรายงานพบผู้ป่วยที่เนปาล ยกเว้นเกาหลีเหนือเท่านั้น ที่ยังไม่มีผู้ป่วยไข้เลือดออก เนื่องจากอากาศหนาวและปิดประเทศ คาดว่าประชากรในภูมิภาคนี้กว่า 1,800 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 75 ของคนทั่วโลกที่จะเป็นกลุ่มเสี่ยงไข้เลือดออก ส่วนการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากเชื้อมี 4 สายพันธุ์ทำให้มีปัญหาในการสร้างภูมิคุ้มกันโรค โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ 3 ผลการทดสอบพบว่า ไม่สามารถสร้างภูมิต้านทานโรคได้ อย่างไรก็ตาม ยังศึกษาวิจัยต่อเนื่องโดยในปีหน้าจะทดสอบวัคซีนสำหรับเด็กในจังหวัดกำแพงเพชร และราชบุรี นอกจากนี้ โรคที่น่าเป็นห่วงจากภาวะโลกาภิวัตน์ คือ ไข้เหลือง ไข้ชิกุนกุนยา ที่มียุงเป็นพาหะเหมือนกับไข้เลือดออก พบการระบาดจากเขตป่ามาสู่เขตเมือง องค์การอนามัยโลกตระหนักถึงปัญหานี้จะประชุมรับมือโรคเหล่านี้ที่อินเดียในเดือนหน้า


 


ดร.ชูศักดิ์ ประสิทธิสุข ผู้ประสานงานไข้เลือดออกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้จัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์และควบคุมโรคไข้เลือดออกในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิกปี 2550 - 2551 สาระสำคัญคือ การค้นหาผู้ป่วยรายใหม่และควบคุมการระบาดโดยเร็ว การจัดทำมาตรฐานการตรวจและรักษาผู้ป่วยในสถานพยาบาล การดึงชุมชนเข้ามีส่วนร่วมเพื่อควบคุมโรค การสื่อสารเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย การประสานความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการในการวิจัยรับมือโรคไข้เลือดออกตลอดจนการพัฒนาวัคซีนและยารักษา มีเป้าหมายคือลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก


 


นพ.เสรี หงส์หยก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกครั้งแรกในปี 2493 ในกรุงเทพฯ จากนั้นอีก 5 ปี โรคไข้เลือดออกได้ระบาดไปทั่วประเทศโดยระบาดหนักปีเว้น 2 ปี เฉลี่ยพบผู้ป่วยปีละประมาณ 50,000 ราย สถานการณ์การแพร่ระบาด 9 เดือนแรกปีนี้ พบผู้ป่วย 41,975 ราย เสียชีวิต 47 ราย ภาคกลางมีผู้ป่วยมากที่สุด รองมาคือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคเหนือ แม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่มากกว่าในอดีต แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ถือว่าไทยมีการควบคุมที่ได้ผลและเร็วที่สุด


 (สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น วันที่ 19/09/2550)


 


 


3.2              เอ็นจีโอไทยผนึกกำลังออกแถลงการณ์เรียกร้องจีนเลิกหนุนรัฐบาลทหารพม่า


 


เมื่อวันจันทร์ที่ 17 ที่ผ่านมา องค์กรเอกชนในประเทศไทยร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้จีนยกเลิกการสนับสนุนรัฐบาลพม่าโดยทันที เนื่องจากรัฐบาลทหารได้ยึดอำนาจการ ปกครองจากพลเมืองชาวพม่าเป็นเวลานานถึง 19 ปี นับตั้งแต่มีการรัฐประหารในวันที่ 18ก.ย. ปี 2531 เป็นต้นมา โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าว รัฐบาลได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างบ่อยครั้ง จนเป็นเหตุให้ชาวพม่าจำนวนมหาศาลต้องถูกจับกุม ทำร้าย อพยพลี้ภัย ขณะที่หลายพันคนต้องจบชีวิตลง


 


โดยกลุ่มองค์กรเอกชนได้ระบุว่า การส่งสาส์นประท้วงของไทยในครั้งนี้ เป็นมติร่วมของประชาคมโลก เพราะที่ผ่านมา จีนมักจะใช้นโยบาย "ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น" มาเป็นข้ออ้างในวางเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่ามาโดยตลอด อีกทั้งจีนยังใช้สิทธิวีโต หักล้างมติคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ ที่เสนอให้มีการทบทวนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าเมื่อช่วงต้นปีนี้ ขณะที่รัฐบาลพม่าก็พึ่งพิงจีนอย่างสูง ทั้งด้านการเงิน อาวุธ และจากเสียงสนันสนุนของจีนในเวทีโลก จนอาจกล่าวได้ว่าจีนเป็นปัจจัยหลัก ที่ทำให้รัฐบาลพม่ารักษาอำนาจในการปกครองประเทศมาได้ถึง 15 ปี


 


ทั้งนี้กลุ่มองค์กรเอกชนได้ทิ้งท้ายไว้ว่า หากจีนต้องการให้ประชาคมโลกเห็นว่าตนมีความรับผิดชอบต่อโลก และประชาชนชาวพม่า จีนต้องยุติการสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ และหันมาสนันสนุนให้พม่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มิฉะนั้นจีนคงหลีกเลี่ยงการถูกตราหน้าว่ามีส่วนสำคัญในการค้ำจุนระบอบเผด็จการทหาร จากนานาชาติที่จะเดินทางมาร่วมมหกรรมโอโลปิกปี 2008 ที่จีนจะเป็นเจ้าภาพไม่ได้อย่างแน่นอน


(สยามรัฐ วันที่ 18/09/2550)


 


 


4. ชนชาติพันธุ์


 


4.1              โรงเรียนภูมิภาคไม่ทำตามระเบียบ "ศธ." ทำเด็กไร้สัญชาติหมดโอกาสเรียนหนังสือ


 


ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ โดยสาระสำคัญของร่างดังกล่าวคือเปิดโอกาสให้เด็กไร้สัญชาติได้รับสัญชาติและสามารถเข้าเรียน เพื่อให้มีสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับเด็กไทยทุกคน ตามที่    "เดลินิวส์" นำเสนอมาอย่างต่อเนื่องนั้น เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่อาคารรัฐสภา 2 มีรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติจากเวทีรับฟังข้อเสนอแนะ ของภาคประชาชน และภาควิชาการในการจัดการปัญหาไร้สถานะ และสิทธิบุคคลในประเทศไทย : กรณีคนมอแกน ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการ    วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะและสิทธิบุคคลในประเทศไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมี รศ.
สุริชัย หวันแก้ว เป็นรองประธานคณะกรรมธิการและสนช. โดยเวทีฯ ประกอบด้วยผู้แทนหลายฝ่าย อาทิ สนช.
, สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, องค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มคนมอแกน มอแกน อุรักลาโว้ย เข้าร่วมเสนอปัญหา และความคิดเห็นด้วย


 


นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ กรรมาธิการฯ และ สนช. เปิดเผยภายหลังเวทีรับฟังข้อเสนอฯ ว่า จะพยายามเร่งผลักดันให้เด็กและเยาวชนไร้สัญชาติในสถานศึกษาให้ได้เลข 13 หลัก โดยมีเลข 0 นำหน้า ให้เร็วที่สุดและครอบคลุมในทุกๆกลุ่ม เพราะเป็นปัญหาที่ไม่ยุ่งยากและชัดเจนที่สุด อย่างไรก็ดีการทำงานของภาครัฐภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2548 นั้น ได้ทำไปแล้วบางส่วน แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มเท่านั้น ต้องเข้าใจในข้อเท็จจริงด้วยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชายแดน ทุกครั้งที่มีข่าวการให้สัญชาติออกไปนั้น จะมีคนภายนอกทะลักเข้ามาทันทีในทุกรูปแบบ ทำให้หน่วยงานที่จะอนุมัติการให้สัญชาติชะงักทันที เพราะคำนึงถึงเรื่องความมั่นคง อย่างไรก็ตามเมื่อมีเรื่องใดภาครัฐนิ่งเฉยก็ต้องจี้ให้มีการเดินหน้าต่อไป ส่วนกรณีการเปิดเวทีรับฟังปัญหาให้ครบทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกรณีคนไร้รัฐไร้สัญชาติในสถาบันการศึกษาไทยในวันที่ 8 ต.ค. 2550 ที่จะถึงนี้ ผมจะเป็นคนดำเนินการเอง


 


ด้านนางรัชนี ธงไชย ผู้แทนจากมูลนิธิเด็ก เปิดเผยว่า จากการทำงานในพื้นที่ จ.ระนอง และ จ.พังงา หลังเหตุการณ์สึนามิ ซึ่งได้เข้าไปช่วยเหลือเด็กกลุ่มมอแกนด้วยนั้นพบว่าเด็ก หลายคนมีปัญหาขาดโอกาสทางการศึกษา โดยมีสาเหตุมาจากความไม่รู้กฎหมายและครูในสถานศึกษา ทั้ง ๆ ที่มีระเบียบของกระทรวงศึกษาธิ การ พ.ศ. 2535 และนโยบายการอนุญาตให้เด็กไร้สัญชาติได้เรียนในสถานศึกษาของรัฐ พ.ศ. 2548 ในสมัยที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็น รมว. ศึกษาธิการ เมื่อมีระเบียบจากภาครัฐในส่วนกลางที่ชัดเจนแล้ว อยากจะเรียกร้องให้บุคคลในสถานศึกษาให้ความสำคัญด้วย เช่น การดำเนินงานตามนโยบายจากส่วนกลางไปสู่ส่วนภูมิภาค จะมีปัญหาในการปฏิบัติคือ ผู้บริหารในส่วนภูมิภาคนั้น ๆ มักจะไม่ได้ลงไปรับฟังปัญหาด้วยตนเอง ทั้งนี้อาจจะไม่มีเวลา หรือมีเวลาแต่ไม่อยากทำ ผลที่ตามมาคือ การดำเนินงานไม่เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงศึกษาฯและหรือตามที่คณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ระบุ ซึ่งเป็นสิทธิทางการศึกษาของเด็ก ๆ ดังนั้นผู้บริหารส่วนภูมิภาคต้องนึกถึงตรงนี้ด้วย เนื่องจากมีจำนวนเด็กเพิ่มขึ้นทุกวัน


 


อีกด้านหนึ่ง นายจรูญ คำนวนตา ประธานสภาวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน (วชช.) กล่าวว่า หากร่างดังกล่าวประกาศใช้เป็นกฎหมายจริง เป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้เด็กที่ไร้สัญชาติได้เข้าเรียนอย่างถูกกฎหมายเหมือนเด็กคนไทยทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมา วชช.แม่ฮองสอน ได้เปิดรับนักเรียนที่ไร้สัญชาติเข้ามาเรียนในสถาบัน โดยจะเรียนในหลักสูตรระยะสั้นที่จบแล้วได้ใบประกาศนียบัตรเท่านั้น ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าคนที่มาเรียนใน วชช. ส่วนใหญ่ยังต้องการวุฒิการศึกษา เพื่อนำไปใช้ศึกษาต่อหรือหางานที่ดี ๆ แต่ก็ยังมีคนที่ต้องการเรียนเพื่อเพิ่มความรู้ให้กับตัวเอง ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างมีประสิทธิภาพ 


 


การทำงานในภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็กนั้นยังมีความต้องการแรงงานขั้นต่ำอีกมาก เช่น งานที่ใช้แรงงาน คนสวน งานรับบริการ โรงแรม การท่องเที่ยวต่าง ๆ เป็นต้น แต่แรงงานเหล่านี้หายากมาก เพราะคนไทยหรือลูกหลานคนไทยส่วนใหญ่จะไม่ทำงานหนัก ดังนั้นเราจึงต้องอาศัยแรงงานจากต่างชาติซึ่งจะมีความอดทนสูง แต่เมื่อมีการจ้างคนกลุ่มนี้แล้ว สถานประกอบการก็ต้องการที่จะให้การทำงานนั้นมีประสิทธิภาพสูงและมีความจำเป็นที่จะต้องให้ลูกจ้างได้ความรู้ที่เรียนในขั้นสูงด้วย เช่น การฝึกภาษาอังกฤษเพื่อต้อนรับชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่แม่ฮ่องสอนซึ่งจะมีชาวต่างชาติมาเที่ยวกันตลอดเวลา ดังนั้นมีความจำเป็นต้องให้ความรู้กับกลุ่มคนไร้สัญชาตินี้   


 


ด้านนายศิริชัย เทียนทอง ผอ.วิทยาลัยชุมชนตาก กล่าวว่า ที่ววช.ตากรับเด็กไร้สัญชาติเข้ามาเรียนเช่นกันแต่มีจำนวนไม่มากนัก เพราะคนมาเรียนจะไม่ได้วุฒิทางการศึกษา จะได้เพียงประกาศนียบัตรเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อยากให้ร่างดังกล่าวผ่านการพิจารณาของ สนช. เร็วที่สุด เพื่อจะได้เป็นการเปิดโอกาสให้กับคนที่ไร้สัญชาติได้เรียนและยังได้วุฒิการศึกษาด้วย และยังมีสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับคนไทยทุกคนทั้งที่คนเหล่านี้ก็เป็นเหมือนคนไทยอยู่แล้ว เนื่องจากเด็กอยู่ประเทศไทยมาตั้งแต่เกิดแล้ว ดังนั้น เป็นคนไทยเหมือนกัน


 (เดลินิวส์ วันที่ 19/09/2550)


 


 


4.2              จี้ "ศธ." แจงเด็กไร้สัญชาติเรียนจบได้วุฒิเท่าเทียมกัน


 


ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 18 ก.ย. นายฉัตรชัย บางชวด ตัวแทนจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือ สมช. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ในแต่ละกลุ่มก็กังวลกับเรื่องของตนเองมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงที่ภาครัฐและทางสมช.กังวลอยู่บ้าง ขณะที่เรื่องสิทธิเด็ก ทางด้านสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสนช.กังวลเพราะไปจำกัดสิทธิในหลายๆด้านของเด็ก แต่ทั้งหมดนี้ควรต้องให้มีการดำเนินงานโดยเร็ว ในทุกๆส่วนต้องเข้าใจด้วยว่าประเทศไทยมีประเทศเพื่อนบ้านล้อมรอบ และจากสถานการณ์ภายนอกของเราหรือภายในของเขา ทำให้มีกลุ่มคนอพยพและคนหลบหนีเข้ามาในประเทศเราจำนวนมาก  ดังนั้นการดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหานั้นต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำไปทีละเรื่อง หากทำเร็วเกินไปจะส่งผลร้ายมากกว่า


 


อีกด้านกรณีที่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ กรรมาธิการฯ และ สนช. พยายามเร่งผลักดันให้เด็กและเยาวชนไร้สัญชาติในสถานศึกษาให้ได้เลข 13 หลัก โดยมีเลข 0 นำหน้า ให้เร็วที่สุดและครอบคลุมในทุก ๆ กลุ่ม โดยระบุทำได้ไม่ยุ่งยากนั้น แหล่งข่าวจากกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า ตามหลักยุทธศาสตร์ฯนั้น ในเบื้องต้นจะทำการสำรวจบุคคลที่ไร้สถานะซึ่งไม่มีทะเบียนหรือประวัติใดๆทั้งสิ้น เพื่อที่จะทำความรู้จักว่า เขาคือใคร อยู่ที่ไหน โดยทางการจะให้เลขประจำตัว 13 หลัก โดยมีเลข 0 นำหน้าไปก่อน ซึ่งหมายเลข 0 หมายความว่า บุคคลที่ไม่มีเอกสาร ไม่มีทะเบียนประวัติ ส่วนที่จะกำหนดสถานะหรือให้สถานะหรือไม่นั้น คงต้องรอนโยบายอีกครั้งหนึ่ง สำหรับเยาวชนในสถานศึกษานั้นทางกรมการปกครองได้ขอความร่วมมือจากผู้บริหารในสถานศึกษาของรัฐให้ช่วยสำรวจด้วย ซึ่งตัวเลข ณ ปัจจุบันมีประมาณ 46,000 คน จากเป้าหมาย 200,000 คน สาเหตุที่ยังไม่ได้ตามเป้าหมายเพราะเด็กบางคนมีเลข ประจำตัว 13 หลักไปบ้างแล้ว โดยมีเลข 6 นำหน้าซึ่งหมายความว่าเป็นบุคคลที่อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เช่น เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ไม่มีสัญชาติไทย โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ตามศูนย์อพยพต่าง ๆ ตามแนวชายแดนซึ่งมีจำนวนมาก


 


ที่ผ่านมาการทำงานตามยุทธศาสตร์ฯ นี้ยอมรับว่าไม่คลาดเคลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงมากนัก และต้องบอกว่างบประมาณเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้การดำเนินงานติดขัดจริงๆ อย่างไรก็ดีการจะเดินหน้าในปีต่อไปซึ่งจะมีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใดนั้น คงจะต้องดูรายละเอียดของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551 ที่ผ่านการพิจารณาทั้ง 3 วาระไปเรียบร้อยแล้วเช่นกัน


 


ตามหลักยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรี 10 ม.ค.2548 มีจำนวนบุคคลในสถานศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา ได้รับการสำรวจหมดแล้ว และได้รับเลขประจำตัว 13 หลัก โดยมีเลข 0 นำหน้า นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติของคณะรัฐมนตรี 10 ม.ค.2548 ตามการเสนอของกระทรวงมหาดไทยนั้น ได้เพิ่มประเภทกลุ่มคนไร้สัญชาติใหม่เข้ามาอีก 6 กลุ่ม นอกเหนือของเดิมคือ 13 กลุ่ม ซึ่งประเภทกลุ่มคนไร้สัญชาติใหม่ ได้แก่ 1.คนที่อพยพเข้ามานานทั้งมีและไม่มีสัญชาติไทย เช่น คนไทยพลัดถิ่น 2.คนไร้รากเหง้า 3.คนทำคุณประโยชน์ 4.บุคคลในสถานศึกษา 5.แรงงานต่างด้าวที่ประเทศต้นทางไม่รับกลับ และ 6.แรงงานต่างด้าวอื่น ๆ ซึ่งได้รับการสำรวจไปบ้างแล้วบางกลุ่ม คือ คนที่อพยพเข้ามานานทั้งมีและไม่มีสัญชาติไทย และบุคคลในสถานศึกษาดังกล่าว


 


ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก กรรมาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะและสิทธิบุคคลในประเทศไทย สนช. กล่าวด้วยว่า จากข่าวที่ ผอ.วิทยาลัยชุมชนตากได้ให้สัมภาษณ์กับทาง   ว่า ทางวิทยาลัยชุมชนตากได้ให้ประกาศนียบัตรแก่เด็กไร้สัญชาติ และให้วุฒิบัตรแก่เด็กสัญชาติไทยนั้น ถือว่าผิดระเบียบว่าด้วยการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. 2548 เพราะระเบียบดังกล่าวได้ระบุชัดเจนว่าหลักฐานทางการศึกษาภายหลังจบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเด็กสัญชาติไทยหรือเด็กไร้สัญชาตินั้น จะต้องได้รับเหมือนกันและจะเลือกปฏิบัติไม่ได้ การเลือกปฏิบัติเช่นนี้ถือว่าทำผิดระเบียบ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดังนั้น ส่วนกลางซึ่งหมายถึงกระทรวงศึกษาฯ จะต้องทำความเข้าใจกับท้องถิ่นอย่างละเอียดและทั่วถึง เพราะเรื่องการศึกษาเป็นเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่รัฐยอมผ่อนผันให้กับเด็กไร้สัญชาติ 


 


วันเดียวกันที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.ว่า ที่ประชุมครม.ให้ความเห็นชอบแนวทางและหลักเกณฑ์การกำหนดสถานะให้แก่ชาวมอแกน ตามที่ สมช. เสนอ ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล (นอส.) ที่ได้มีมติเห็นชอบแนวทางและหลักเกณฑ์การกำหนดสถานะให้แก่ชาวมอแกน ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลเป้าหมายหนึ่ง ภายใต้ยุทธศาสตร์ตามข้อเสนอของกระทรวง มหาดไทย เพื่อแก้ไขปัญหานี้เป็นการเฉพาะ โดยยกเว้นการใช้หลักเกณฑ์ในส่วนของการไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทาง หรือไม่มีจุดเกาะเกี่ยวใดกับประเทศต้นทางดังกล่าว ทั้งนี้มีหลักเกณฑ์กำหนดสถานะ 2 กรณีคือ 1.กรณีชาวมอแกนที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย และ 2.กรณีบุตรชาวมอแกนที่เกิดในประเทศไทย


 (เดลินิวส์ วันที่ 19/09/2550)


 


 


------------------------------------------


Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัยไทย (Thai Research) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation) เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทยที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศพม่า และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรณรงค์ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในประเทศพม่าต่อไป


 


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัยไทย และโครงการอื่นๆติดตามได้ที่ www.burmaissues.org/En/Index.html


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net