Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์โดย : องอาจ เดชา


 



 


"อัคนี มูลเมฆ" เป็นนักเขียน นักแปล และอดีตนักข่าวชายแดน ได้ให้สัมภาษณ์ "ประชาไท" กรณีการเคลื่อนไหวชุมนุมของพระสงฆ์และประชาชนชาวพม่า กระทั่งรัฐบาลทหารพม่าได้ประกาศภาวะฉุกเฉินและเข้าจับกุมทำร้ายพระสงฆ์และประชาชนอย่างต่อเนื่องในขณะนี้


 


000


 


มองเหตุการณ์ที่พระสงฆ์และประชาชนพม่าออกมาชุมนุมในครั้งนี้อย่างไร?


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนพม่ารอกันมานาน เพราะตั้งแต่ปี 1988  เป็นต้นมาไม่เคยเกิดขึ้นเลย ใช้เวลานานมาก กระทั่งเกิดเหตุการณ์เคลื่อนไหวครั้งนี้  อาจกล่าวได้ว่า เป็นการสั่งสมคุณภาพ เป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะว่า ตอนที่เกิดเหตุการณ์ 1988 ทางฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ได้หนีออกมานอกประเทศ คนเหล่านี้ไม่สามารถจะเข้าประเทศได้และไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศได้ เพราะว่าโดยธรรมชาติแล้ว การเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นจากเนื้อใน เมื่อคนเหล่านี้ออกมาข้างนอกและหวังว่าสักวันหนึ่ง คนในพม่าจะลุกขึ้นก่อการเปลี่ยนแปลง วันนี้ก็ได้มาถึง


 


สาเหตุจริงๆ แล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องการขึ้นราคาน้ำมัน?


สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เราอาจดูว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องเศรษฐกิจ เป็นการขึ้นราคาน้ำมันห้าเท่า แต่ว่าจริงๆ แล้ว เบื้องหลังมันเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเป็นเรื่องของการเมือง เป็นขบวนการของพระสงฆ์ ที่ลุกขึ้นมามีบทบาทนำ  มีการก่อตัวกันขึ้นที่หัวเมือง หลังจากนั้นก็ลุกลามไปที่มัณฑะเลย์และกระจายไปทั่วประเทศ การชุมนุมกันครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เกิดขึ้นในย่างกุ้ง แต่เกิดขึ้นกว่าสิบหัวเมืองในประเทศพม่า


 


เมื่อมองกลับไปอีกฝ่ายหนึ่งจะเห็นได้ว่า ฝ่ายรัฐบาลทหารเผด็จการพม่าที่ออกมาปราบปรามปรามในครั้งนี้นั้นแตกต่างกว่าครั้งก่อนๆ เพราะว่าการปราบปรามครั้งนี้ไม่ค่อยได้ใช้ปืน แต่จะใช้กระบอง ใช้แก๊สน้ำตา ปราบปรามแบบที่โลกภายนอกนั้นยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลังจากมีการประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินและเข้าปราบปรามแล้ว  ถ้าเหตุการณ์ยังยืดเยื้อ ถึงตอนนั้นเชื่อว่าจะต้องใช้ความรุนแรง เพราะว่าจะมีรายละเอียดปลีกย่อยอยู่ในหลืบมุมที่พ้นไปจากกล้องของนักข่าว จึงเป็นไปได้ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้จะมีการยืดเยื้อต่อไป อาจจะมีการจับกุมในสถานที่ต่างๆ หรือพยายามที่จะไม่ให้มีการขาดตอน ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นเชื่อว่าจะมีการใช้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น


 


โดยสรุปก็คือ ฝ่ายรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้เรียนรู้บทเรียนของตัวเองและก็ฉลาดขึ้นในเรื่องการปราบปราม


 


 


นานาชาติจะมีส่วนทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีไหม?


ในระดับนานาชาติ ทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอียู อเมริกา อาเซียน จีน และอินเดีย ที่มีบทบาทสำคัญ ต่างก็กำลังจับตามองเหตุการณ์ครั้งนี้อยู่ว่า รัฐบาลทหารพม่าจะจัดการกันอย่างไร ซึ่งขึ้นอยู่กับจุดยืนของตัวเอง แน่นอนว่า จีนนั้นกำลังจับตามองพม่าและไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพม่า เนื่องจากว่าพม่าเป็นประตูหลังของจีนและมีการทำธุรกิจเป็นผลประโยชน์ของจีน อินเดียในตอนหลังก็มาเป็นพันธมิตรกับพม่า แต่อินเดียก็ไม่ได้เสียกับเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่ว่าอเมริกากำลังจับตามองเหตุการณ์ครั้งนี้ และถ้าเหตุการณ์ครั้งนี้พม่าแก้ไม่ถูกใจหรือว่ามีประเด็นอะไรที่จะเข้าไปสอดแทรกได้ เชื่อว่าอเมริกาไม่มีวันรีรอในเรื่องนี้ ดูได้จากการให้การสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศของอเมริกา เพราะต่างรอจังหวะอยู่แล้ว


 


ดังนั้น เมื่อมองไปยังรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า เชื่อว่า ฉลาดขึ้นและมีการใช้ยุทธวิธีตัดไฟแต่หัวลม ลุยเลย เพราะถ้าไม่เข้าไปจัดการตอนนี้ ปล่อยไปสักสามวันสี่วันข้างหน้า คิดว่าเอาไม่อยู่ เพราะว่าฝ่ายพระสงฆ์ ประชาชนจะทะลักไหลเข้ามาร่วมชุมนุมประท้วงทั่วทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่เพียงย่างกุ้ง


 


เมื่อมองกลับมาอีกมุมหนึ่ง หลังเหตุการณ์นี้จะเป็นเช่นไร เห็นว่าจะต้องมีผู้ลี้ภัยหนีออกนอกชายแดน และมีอีกเป็นจำนวนมากที่จะต้องถูกจับขังคุก ถูกทรมาน ถูกฆ่าปิดปาก ถูกฆ่าทิ้ง อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เชื่อว่า ในประเทศพม่าจะหาความสงบสุขหรือผู้คนจะสงบราบคาบเหมือนแต่ก่อนนั้นไม่มีอีกต่อไป


 


กรณีที่อาจจะมีผู้ลี้ภัยหนีออกนอกชายแดน ซึ่งคงกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง รัฐไทยควรจะมีการตั้งรับอย่างไร?


เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เป็นธรรมชาติอยู่แล้วว่าประเทศไทยจะต้องรับ ประเทศไทยไม่เคยปฏิเสธผู้อพยพ แต่ปัญหามันมีอยู่ว่า พม่าจะปิดกั้นไม่ให้เข้ามาหรือไม่ และเมื่อพวกเขาเข้ามาแล้ว รัฐไทยจะทำอย่างไรกับคนกลุ่มนี้


 


แต่โดยธาตุแท้ของรัฐบาลไทยทุกครั้งที่ผ่านมา เราชอบวางตัวเฉยๆ ท่าทีของรัฐบาลไทยไม่ได้หวังเล่นบวกหรือเล่นลบ คือพยายามรักษาการเอาตัวรอดของตัวเองเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นท่าทีปกติของรัฐบาลไทย คือไม่ได้ไม่เสีย ซึ่งเล่นเกมเดียวกับอาเซียนในขณะนี้ คือ หนึ่ง กันมหาอำนาจ ไม่ให้เข้ามายุ่งกับพม่า สอง ถ้าพม่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ อาเซียนก็จะใช้วิธีที่นุ่มนวล นั่นคือท่าทีที่เบสิกมากๆ และก็เป็นอย่างนี้มาโดยตลอด


 


มองเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าจะจบลงอย่างไร


คือถ้าตนเป็นรัฐบาลทหารพม่า ตนรู้สึกวิตกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้านหนึ่งจะปราบปราม อีกด้านหนึ่งในทางการเมืองก็พยายามทำให้มันนุ่มนวลลง คืออาจพยายามมีการเอาใจประชาชน  มีการโฆษณาชวนเชื่อให้กับตัวเอง ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็มีการปราบปรามอย่างเงียบๆ  อันนี้คือท่าทีของรัฐบาลทหารพม่า


 


แต่ว่ากรณีที่พระสงฆ์ ประชาชนที่ลุกขึ้นชุมนุมกันเป็นเรือนแสนในขณะนี้ ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศภาวะฉุกเฉินก็ตาม แต่ในอนาคตอันยาว เชื่อว่า นับแต่นี้ รัฐบาลทหารพม่าจะไม่มีวันจะกดเสียงประชาชนพม่าได้อีกต่อไปแล้ว คุณจะไม่มีวันจะกดเสียงเป็นแสนๆ คนได้อีกต่อไปแล้ว ซึ่งที่จริงแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่แสนเดียว แต่เชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นทั่วทุกหัวเมืองทั้งประเทศ และสิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นอยู่ในหัวใจของคนพม่า


 


และเหตุการณ์ครั้งนี้ น่าจะเป็นปรอทวัดว่า นับแต่นี้ต่อไป ประเทศพม่าจะสงบเหมือนครั้งก่อนคงจะไม่มีอีกแล้ว ในหลายๆ พื้นที่จะมีแรงดันเกิดขึ้นมากมาย และนานาชาติก็จะเป็นฝ่ายกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net