Skip to main content
sharethis

สาเหตุการประท้วง


สถานการณ์การชุมนุมในประเทศพม่า เกิดขึ้นเนื่องจากเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าซึ่งผูกขาดการจำหน่ายเชื้อเพลิงแต่เพียงผู้เดียว และเคยให้เงินอุดหนุนเพื่อพยุงราคาน้ำมัน ได้ขึ้นราคาดีเซลจากเดิม 1,500 จ๊าต หรือราว 38 บาท เป็น 3,000 จ๊าตหรือ 76 บาท ต่อแกลลอน หรือประมาณ 3 ลิตรกว่า ๆ ส่วนก๊าซชนิดบรรจุถังขนาด 65 ลิตร ขึ้นราคาจาก 500 จ๊าต หรือประมาณ 13 บาท เป็น 2,500 จ๊าต หรือประมาณ 64 บาท แม้จะไม่มีการให้เหตุผลของการขึ้นราคาอย่างกระทันหันออกมาอย่างเป็นทางการ แต่หลายคนก็เชื่อว่าเป็นเพราะรัฐบาลขาดแคลนเงินตราต่างประเทศที่จะนำไปซื้อเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ พม่าประสบภาวะขาดแคลนเชื้อเพลิงเนื่องจากต้องจำกัดการผลิตน้ำมันภายในประเทศและมีปัญหาเรื่องเงินทุนสำรองต่างประเทศ โดยมีการขึ้นราคาเชื้อเพลิงในพม่ามีขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2548


จากการขึ้นราคาน้ำมันดังกล่าวทำให้มีประชาชนจำนวนมาก นำโดยนายมิน โก นาย ออกมาเดินขบวนประท้วงที่เมืองย่างกุ้งเป็นกลุ่มแรก เนื่องจากการขึ้นราคาน้ำมันสะท้อนให้เห็นความยากลำบากที่ประชาชนกำลังเผชิญหน้าอยู่ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถจ่ายค่าโดยสารรถเมล์และแท็กซี่ได้ ต่อมาก็มีประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเป็นระยะ สาเหตุของการออกมาประท้วงของประชาชนยังเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลทหารพม่าได้ปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยผู้บริสุทธิ์ การจับกุมคุมขังผู้นำนักศึกษา นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย รวมทั้งนางอองซานซูจี นับตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา ได้ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจที่ทับถมทบทวีความอดอยากยากจน ในขณะที่ชนชั้นนำในรัฐบาลกลับร่ำรวยแตกต่างราวฟ้ากับดิน


แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ ในระหว่างนั้นเองรัฐบาลทหารพม่าได้มีการจับกุมผู้ประท้วงจำนวนมาก จนทำให้ประชาชนหลายคนทนไม่ไหวออกมาประท้วงเพิ่มขึ้น ประกอบกับในระหว่างนั้นเองเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2550 มีพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งในอำเภอปะโคะกู่ ศูนย์กลางสำคัญของการเรียนรู้ของศาสนาพุทธ ที่ออกมาประท้วงได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารเข้าสลายการประท้วง และเกิดการปะทะกันขึ้น ทำให้พระจำนวน 3 รูปถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายจนได้รับความบาดเจ็บ โดยผู้ดูแลเจดีย์ Phaungdawoo ซึ่งเห็นเหตุการณ์เล่าว่า พระจำนวนสามรูปถูกทางเจ้าหน้าที่มัดตัวติดไว้กับเสาไฟฟ้าและตีด้วยด้ามปืนและดิ้ว โดยพระรูปหนึ่งชื่อพระอูส่านดิมะ (U Sandima) ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างหนัก ขณะที่มีข่าวลือว่าพระรูปหนึ่งได้รับบาดเจ็บจนเสียชีวิต โดยพบว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารส่วนใหญ่เป็นการรวมตัวของสมาคมเอกภาพและกลุ่ม paramilitary group Swan Arr Shin เพื่อเข้าขัดขวางกลุ่มผู้ประท้วง ทำให้พระสงฆ์ในกลุ่มเกิดความโกรธแค้นไม่พอใจเจ้าหน้าที่ จนในที่สุดพระสงฆ์บางรูปได้บุกเข้าไปทำลายร้านค้าของชาวบ้านที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าที่เมืองพะโค ทางตะวันออกเฉียงเหนือของย่างกุ้ง


นี้ยังไม่นับกรณีที่รัฐบาลทหารพม่ายังได้ใช้แก๊สน้ำตา ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อขู่พระสงฆ์ประมาณ 1,000 รูปที่เดินขบวนประท้วงในเมืองซิททเว(Sittwe)ให้ยุติการประท้วง หรือการที่ทางการพม่าในเมืองมิตจีนา เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่นได้สั่งห้ามพระสงฆ์ออกจากวัด เนื่องจากพระสงฆ์ในเมืองมิตจีนาได้ออกมาเดินขบวนประท้วงให้รัฐบาลขอขมาที่ใช้ความรุนแรงสลายการประท้วงของพระสงฆ์ในอำเภอปะโคะกู่ด้วย


จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้พระสงฆ์จำนวนมากในประเทศพม่าขู่ที่จะไม่รับบาตรจากทหาร จนกว่ารัฐบาลทหารจะยอมขอโทษที่ทำร้ายร่างกายพระสงฆ์ในวันที่ 17 กันยายน การไม่รับบาตรจากทหารถือเป็นการประท้วงที่รุนแรงมากต่อกองทัพ แต่พอถึงวันที่ 17 รัฐบาลก็ไม่ยอมขอขมาต่อพระสงฆ์ ทำให้กลุ่มพระสงฆ์กลุ่มดังกล่าวเรียกร้องให้พระสงฆ์ทั่วประเทศงดรับบิณฑบาตและของถวายจากคณะรัฐบาลทหารพม่าตั้งแต่วันที่ 17 กันยายนเป็นต้นไป พร้อมทั้งเรียกร้องให้พระสงฆ์เริ่มทำการประท้วงในวันอังคารที่ 18 กันยายนต่อเนื่อง


บทวิเคราะห์กรณีพระสงฆ์ออกมาเคลื่อนไหว


ในประวัติศาสตร์ของพม่าที่ผ่านมาพระสงฆ์มีบทบาทสำคัญในการร่วมประท้วงทางการเมือง ดังตัวอย่างในปี 2531(1988) ที่มีการประท้วงใหญ่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตราว 3,000 คนจากเหตุการณ์ประท้วงดังกล่าว ซึ่งคาดว่ามีพระสงฆ์และสามเณรรวมอยู่ในจำนวนผู้เสียชีวิตด้วย ทำให้พระสงฆ์ในตอนนั้นไม่ยอมรับการบิณฑบาต การทำบุญหรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จากผู้นำรัฐบาลพม่าและทหารพม่า รัฐบาลพม่าเองจึงได้ทำการปราบปรามตามวัดต่างๆอย่างหนัก ต่อมาพระจำนวน 100 รูปที่เข้าร่วมการประท้วงได้ถูกจำคุกเป็นเวลาหลายสิบปี


ปรากฎการณ์นี้เป็นปรากฎการณ์ที่ต่อเนื่องตั้งแต่หลังจากการปล่อยตัวผู้นำนักศึกษายุค 8888 และนำมาซึ่งกลุ่มชุดขาว คือ กลุ่มอดีตนักศึกษาและประชาชนที่เคยร่วมกันเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 1988 ได้นัดกันแต่งชุดขาวไปสวดมนต์ตามวัดหรือศาสนสถานตามเมืองต่างๆ ของพม่า โดยมีเป้าหมายที่จะเรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษการเมืองและเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนผ่านการเมืองพม่าในสู่ประชาธิปไตยอย่างสงบและสันติ รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อกรณีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม (ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลทหารพม่าค่อนข้างเพิกเฉยมาก) มีการล่ารายชื่อเพื่อเรียกร้องต่อที่ประชุมสมัชชาขององค์การสหประชาชาติ


ซึ่งเหตุการณ์นั้นได้สร้างความตื่นตัวให้แก่ประชาชนในพม่าค่อนข้างมาก เพราะในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาสังคมพม่าอยู่บนพื้นฐานของความหวาดกลัวอำนาจของรัฐบาลทหารมาตลอด กิจกรรมครั้งนี้ได้จุดประกายให้ผู้คนลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เริ่มจากสิ่งที่ง่ายๆ ไม่เสี่ยงมาก แต่พอมาเจอกับสถานการณ์ขึ้นราคาน้ำมันอย่างมโหฬารในครั้งนี้ ทำให้ผู้คนเริ่มรู้สึกว่าทนไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะส่งผลกระทบกับผู้คนเกือบทุกคน เช่น เครื่องอุปโภคบริโภคขึ้นราคาไม่สอดคล้องกับรายรับ


กลุ่มพระสงฆ์ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทไม่น้อยในสังคมพม่า ก็เห็นว่าควรจะต้องทำอะไรให้รัฐบาลรู้บ้าง ก็เลยออกมาประท้วง ตอนแรกก็เริ่มจากเล็กๆเพียงบางวัด พอพระเริ่มประท้วง ทหารและกองกำลังจัดตั้งของทหารก็เข้าไปปราบปรามมีการไล่ทุบตีพระ จนพระต้องปิดล้อมวัดไม่ให้ทหารออกจากวัดได้ จนต้องมีการเจรจากัน ในที่สุดทหารก็ใช้วิธีการบริจาคของให้วัดแทน ซึ่งพระก็ไม่ยอมและใช้วิธีการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่า (คือการไม่รับของใส่บาตร ไม่รับกิจนิมนต์ ไม่รับการทำบุญใดๆของทหารและครอบครัว) และเริ่มขยายวงกว้างไปเรื่อยๆจนนำมาซึ่งการเดินขบวนครั้งที่ผ่านมาของพระสงฆ์ เอาเข้าจริงๆ แล้วบทบาทของพระสงฆ์พม่ากับการเมืองเป็นสิ่งที่คู่กันมาตลอด


การเคลื่อนไหวในครั้งนี้เริ่มต้นได้น่าสนใจและสามารถดึงดูดให้ประชาคมโลกมาสนใจประเด็นนี้อย่างรวดเร็ว (ซึ่งตรงจุดนี้ต้องบอกว่าการสื่อสารที่ก้าวหน้าก็อาจจะมีส่วนในเรื่องนี้) ภาวะความเปิดกว้างเช่นนี้เองก็เป็นอุปสรรคที่กั้นขวางไม่ให้ทหารพม่าจะใช้กำลังปราบได้โดยง่าย ขณะเดียวกันการเตรียมความพร้อมของการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ก็มีมาอย่างต่อเนื่อง และมีการตระหนักถึงภาวะความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นดังเหตุการณ์ 8888


ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ผ่านความกล้าของประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม ผ่านการเคี่ยวกรำกับปัญหาที่รุมเร้ามานานนับเกือบยี่สิบปี ผ่านภาวะสังคมแห่งความกลัวที่ทหารได้สร้างขึ้นในประเทศนี้ ภาวะความไม่ไว้วางใจกันของประชาชนที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียง ภาวะการโฆษณาชวนเชื่อ การสร้างกลุ่มมวลชนจัดตั้งที่คอยเป็นหูเป็นตาให้รัฐ สภาพของการที่จะถูกทหารเข้ามาตรวจเยี่ยมบ้าน การถูกตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนเมื่อจะตั้งแต่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย สมัครงานว่าเขาหรือเธอเหล่านั้นจะไม่เกี่ยวพันกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง นี้คือภาวะที่ประชาชนในพม่าต้องเผชิญมาโดยตลอดหลายสิบปี ทำให้การประท้วงครั้งนี้ดำเนินบนความกล้าหาญครั้งใหญ่ เป็นความกล้าหาญที่เปี่ยมด้วยพลังใจอันแรงกล้าในการจะสร้างวิถีทางใหม่ให้ตัวเอง


นอกจากนั้นแล้วการย้ายเมืองหลวงเองก็อาจจะมีผลระดับหนึ่งต่อการเคลื่อนไหวของทหารพม่า การสั่งการ การประเมินสถานการณ์ต่างๆ ก็อาจจะไม่คล่องแคล่วชัดเจนมากนักเหมือนตอนที่การสั่งการที่เคยอยู่ที่ย่างกุ้ง ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวในช่วงที่มีการประชุม UN เองก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทหารพม่าต้องคิดไตร่ตรองให้หนักหากจะใช้ความรุนแรงกับประชาชน


ฉะนั้น บทบาทที่สำคัญของไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนที่จะต้องดำเนินการอย่างจริงจังคือ การกระตุ้นเตือน และคัดค้านต่อการจะใช้ความรุนแรงต่อประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในครั้งนี้ และมีมาตรการขั้นเด็ดขาดหากทหารพม่าใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามจนก่อให้เกิดการนองเลือดเหมือนเช่น 19 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งจะต้องเร่งให้เกิดแนวทางการเจรจาหาทางออกร่วมกันของกลุ่มต่าง ๆ ในพม่า ในฐานะมิตรที่ไม่อาจเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของเพื่อนบ้านได้


 


 


Burma Peace Group : เพื่อสันติภาพของประชาชนในพม่า


 


burmapeacegroup@gmail.com


 


Burma Peace Group เป็น คณะทำงานเฉพาะกิจที่เกิดจากการรวมตัวของนักวิชาการ สื่อมวลชน นักพัฒนา ที่คลุกคลีกับประเด็นพม่ามาโดยตลอด พวกเรามีความคิดเห็นว่าท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมในประเทศพม่าที่เริ่มมา ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2550 เป็นต้นมา สามารถรุนแรงจนถึงขั้นวิกฤติได้ในอนาคต ทำให้มีความจำเป็นที่สังคมไทยจะต้องรับรู้ข้อมูลประเด็นพม่าในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน เพื่อช่วยให้เกิดการตัดสินใจที่จะรับมือกับสถานการณ์อย่างเท่าทัน


 


คณะทำงาน : พรพิมล ตรีโชติ งามศุกร์ รัตนเสถียร วสุ ศรียาภัย วันดี สันติวุฒิเมธี


                  อดิศร เกิดมงคล ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ สุชาดา สายหยุด


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net