Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติ 156 ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง เพื่อถอดถอน "จรัล ดิษฐาอภิชัย" ออกจากตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องจากไปมีบทบาทนำในแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ หรือ  นปก. เดิม ซึ่งมีคดีติดตัว มีภาพความรุนแรงติดตา ในกรณีที่มีเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหน้าบ้านสี่เสาเทเวศวร์ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อวันที่ 22 ก.ค.50 ซึ่งคณะกรรมการสิทธิฯ เองก็ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจมาตรวจสอบเหตุการณ์นี้ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน 


 


นี่กลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญเมื่อ สนช. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ทำการถอดถอนกรรมการองค์กรอิสระที่มาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 เนื่องเพราะเป็นกรรมการองค์กรอิสระที่บทบาททางการเมืองต่อต้านรัฐประหารอย่างเด่นชัด และกลุ่มก้อนการต่อต้านที่จรัลโดดเข้าร่วมนั้นก็ถูกแปะป้ายฝ่ายตรงข้ามผู้มีอำนาจปัจจุบันไว้แน่นหนา


 


อย่างไรก็ตาม ขณะที่การลงมติลับของ สนช.เกือบจะเป็นเอกฉันท์ในการเห็นสมควรถอดถอนจรัล กลับมี 1 เสียงที่ทวนกระแสไม่เห็นด้วย นั่นคือ รศ.สุริชัย หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "ประชาไท" มีโอกาสได้สัมภาษณ์ถึงกรอบความคิด และการพิจารณาเรื่องซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานเกี่ยวกับสิทธิในการแสดงออกทางการเมืองอย่างสำคัญของ เสียงหนึ่ง เสียงเดียว ที่กล้าทวนกระแสในวันนั้น


 


0000


 


ประชาไท - อยากทราบเหตุผลที่อาจารย์ไม่เห็นชอบในการถอดถอนอาจารย์จรัล ออกจากตำแหน่งกรรมการสิทธิฯ ในการลงมติเมื่อวันที่ 27 ก.ย.


สุริชัย - ความเห็นของอาจารย์จรัลเป็นเรื่องหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าผมเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ผมคิดในกรอบที่ว่า การที่อาจารย์จรัลแสดงบทบาทอย่างที่เป็นประเด็นขึ้นมาควรจะพิจารณาอย่างไรดี เรื่องนี้เป็นประเด็นถูกผิดอย่างไร ความถูกผิดอันนี้เกี่ยวโยงกันการถอดถอนหรือไม่ ที่สำคัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติควรจะมีบทบาทในเรื่องนี้อย่างไร


 


ผมคิดว่าการแสดงออกของอาจารย์จรัลในเรื่องนี้ นอกจากที่อาจารย์เป็นบุคคลสาธารณะแล้ว ยังเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมายซึ่งได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย ผมจึงเห็นว่าการที่ใครจะตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบนั้นทำได้


 


ในที่ประชุม สนช.อภิปรายในประเด็นนี้กันอย่างไร มติจึงออกมาเกือบเป็นเอกฉันท์ให้ถอดถอน


การตัดสินใจของ สนช. ในเรื่องนี้ถือเป็นมติลับ ฉะนั้นผมจึงไม่อาจจะพูดถึงส่วนอื่นได้มากนัก แต่ผมพร้อมจะอภิปรายความเห็นตัวเอง


 


ทำไมมันต้องเป็นมติลับ มีประเด็นอ่อนไหวอย่างไร


มันเป็นระเบียบตามกฎหมายอยู่แล้วว่าถ้าจะพิจารณาประเด็นเช่นนี้มันต้องเป็นประชุมลับ เหมือนกับจะแต่งตั้งใครไม่ตั้งใครก็ต้องประชุมลับ


 


ประเด็นในการถอดถอนครั้งนี้คือเหตุการณ์ปะทะกันวันที่ 22 ก.ค.หน้าบ้านสี่เสาฯ ใช่ไหม


ใช่


 


เพราะอาจารย์จรัลไปเกี่ยวโยงกับ นปก. ซึ่ง สนช.เห็นว่าไม่เหมาะสม


ใช่ ผมก็เห็นปัญหาอยู่ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคนหนึ่งก็มีเสรีภาพในการคิด การแสดงออก ประเด็นคือ การที่อาจารย์จรัล ได้ชื่อว่าเป็นแกนนำของ นปก.ด้วย อย่างเปิดเผย และพอดีว่าปฏิบัติการของกลุ่ม นปก.ยังคาบเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของคนอื่นอยู่ด้วย เรื่องพวกนี้มันทำให้สถานภาพของการเป็นกรรมการสิทธิฯ คนหนึ่งกับการเป็นพลเมืองไทยคนหนึ่งมีความขัดแย้งกัน คล้ายๆ กับ ความรับผิดชอบในฐานะกรรมการสิทธิฯ คนหนึ่งมันเสียไป เพราะคุณสมบัติของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง ดังนั้น ประเด็นที่มีการชวนให้พิจารณาใน สนช. จึงเป็นประเด็นที่มีเหตุผล ไม่ใช่ประเด็นไร้สาระ


 


แต่สำหรับผม ผมไม่แน่ใจ และไม่คิดว่าควรจะถือเป็นการกระทำที่ร้ายแรง รุนแรงขนาดว่าต้องไปถอดถอน และยังไม่มั่นใจในประเด็นเชิงกฎหมายด้วย พูดอีกทีก็คือ สถานภาพของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มันมีความถูกต้องชอบธรรมเพียงพอแค่ไหนที่จะไปสวมบทบาทตรงนี้ แม้ผมเห็นปัญหาอยู่ แต่ไม่อยากจะมีส่วนร่วมในการเข้าไปตัดสิน เพราะไม่เห็นเป็นปัญหาร้ายแรงมากขนาดที่บางคนรู้สึกอย่างนั้น ขณะเดียวกันก็ไม่มั่นใจในฐานความชอบธรรมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเฉพาะการใช้ช่วงเวลานี้มาทำเรื่องแบบนี้


 


เราจะมีมาตรฐานในการพิจารณาอย่างไร ระหว่างบุคคลที่มีสิทธิในการแสดงออกทางการเมือง กับการมีตำแหน่งเป็นกรรมการองค์กรอิสระ


บรรทัดฐานก็คือ การที่เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติย่อมมีสิทธิเสรีภาพเช่นเดียวกับพลเมืองคนอื่นด้วย แต่เนื่องจากมีความรับผิดชอบต่อตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มันมีสถานะเป็นองค์กรอิสระที่มีส่วนชี้ความถูกความผิดในทางกฎหมายได้ด้วย มีสิทธิไปบอกว่าใครละเมิดใคร และต้องเข้าไปแก้ไขการละเมิดนั้นตามหน้าที่ในกฎหมาย ฉะนั้น การใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองส่วนบุคคลจนทำให้สถานภาพ และหน้าที่ตามกฎหมายคือ การทำหน้าที่กรรมการสิทธิต้องถูกกระทบกระเทือนมันจึงเป็นประเด็นปัญหา


 


หากว่า นปก.มีแนวทางที่ไม่เป็นการเมืองแบบแบ่งฝักฝ่าย แต่เน้นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ใช่การเมืองแบบมุ่งสนับสนุนเฉพาะบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องหลักการ อย่างนี้ก็จะว่ากันไป แต่บังเอิญว่า นปก.โดยเฉพาะบางกลุ่มในแนวร่วมนปก. เช่น พีทีวี ก็ไม่ยึดมั่นในหลักการเช่นนี้ประกอบกับวิธีการที่ใช้ บางครั้งก็หมิ่นเหม่ ไม่เป็นสันติวิธี


 


อย่างนี้จะต่างอย่างไร ระหว่างช่วงที่พันธมิตรกำลังบูม มีภาคส่วนต่างๆ ทั้งฝ่ายรัฐ ภาคประชาชน ขึ้นเวทีโจมตีรัฐบาล กับ ตอนนี้ที่จรัลไปขึ้นเวที นปก.


การแสดงความเห็น การขึ้นพูดบนเวทีก็ถือว่าพิเศษ แต่พิเศษยิ่งขึ้นไปกว่านั้นคือการประกาศตัวเป็นแกนนำ อันนี้มันออกจะพิเศษเกินไป เอาวัตถุประสงค์ทางการเมืองของฝั่งหนึ่งมาเป็นวัตถุประสงค์หลัก ทั้งที่หน้าที่หลักของท่านควรเป็นอีกอย่างหนึ่ง มันทำให้การทำหน้าที่ต่อไปมีปัญหาได้ เลยทำให้ต้องคิดมากเหมือนกัน แต่ผมก็ยังไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาร้ายแรงเท่าคนอื่น ผมไม่ต้องการให้ประเด็นถอดถอนเป็นประเด็นที่รัฐสภาในสถานการณ์เช่นนี้มีบทบาทโดยที่ไม่มีความเห็นที่แตกต่างเสียเลย


 


การที่ สนช.ลงมติแบบนี้มันจะสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการต่อสู้ทางการเมืองต่อไปไหมในอนาคต รวมทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย


ผมคิดว่า มติของ สนช.มีมิติของการสร้างบรรทัดฐานแน่นอน ทำนองเดียวกันกับที่กรรมการสิทธิฯ ตัดสินใจทำอะไรหรือไม่ทำอะไรมันก็เป็นบรรทัดฐาน การที่สื่อมวลชนเอาใจใส่กับประเด็นของ สนช.มาวิพากษ์วิจารณ์แล้วตั้งข้อสังเกตต่อสาธารณะ เหล่านี้ก็เป็นการร่วมสร้างบรรทัดฐานด้วยกันทั้งนั้นยุคนี้ และไม่มีใครที่จะสามารถสร้างบรรทัดฐานได้โดยที่ไม่มีใครตั้งคำถาม ฉะนั้น เราก็มีสิทธิตั้งคำถามได้ว่า เขาทำอย่างนี้ถูกหรือเปล่า ไม่ได้มีใครจะอยู่เหนือจากการตรวจสอบของประชาชนหรือสาธารณะ เรื่องนี้ถ้าไม่มองข้างใดข้างหนึ่ง ที่ว่าต้องแพ้ต้องชนะ มันน่าจะเป็นผลดีที่เรากำลังสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยร่วมกัน มีความเห็นที่แตกต่างได้ ถ้าอาจารย์จรัลไม่ทำแบบนี้เราอาจไม่มีการถกเถียงกันในเรื่องนี้เท่าไร


 


บรรทัดฐานใหม่ที่ สนช.สร้างมันจะมีผลกระทบอะไรกับสังคมไทยข้างหน้าหรือไม่


ต้องพูดก่อนว่า สนช. มีที่มาจากการรัฐประหาร เพราะฉะนั้น สภาพความชอบธรรมของ สนช. ก็มีลักษณะที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตยแบบที่ผู้คนทั่วไปจะยอมรับ ข้อจำกัดด้านความชอบธรรมของ สนช.มันมี ฉะนั้น การที่ สนช.จะตัดสินใจอะไร ผมเชื่อว่า แต่ละคนมีความคิดความอ่านของตน เราต้องเคารพกัน ผมก็พูดได้เฉพาะในส่วนของตัวเองว่าผมตระหนักในเรื่องที่มา ความชอบธรรมที่จำกัด ขณะเดียวกันผมก็ตระหนักอยู่ด้วยว่า บ้านเมืองจะเป็นสุญญากาศโดยไม่มีกลไกที่จะช่วยกันดูแลด้านนิติบัญญัติยาวนานเป็นปีไม่ได้ เพราะกฎหมายอะไรออกมามันก็กระทบกระเทือนชีวิตประชาชนได้มากมาย เหล่านี้มันทำให้ผมต้องระมัดระวังในการตัดสินใจแต่ละเรื่อง ไม่ใช่เอาอำนาจ สนช.มาใช้ทำโน่นทำนี่เหมือนสภาปกติ แต่เมื่อมติมันออกมาเช่นนั้น มันก็เป็นประเด็นให้สังคมพิจารณาว่า องค์กรอิสระกับบทบาทของรัฐสภาต้องเกี่ยวข้องกัน ตรวจสอบกันอย่างไร ผมก็อยากให้สังคมเอาใจใส่วิพากษ์วิจารณ์เป็นการตรวจสอบถ่วงดุลอีกทางหนึ่ง ถ้าดีก็ชื่นชมถ้ามีปัญหาก็ตั้งคำถามต่อองค์กรทั้งหลาย จริงๆ สังคมที่เข้มแข็งก็จะช่วยให้สถาบันการเมือง อย่าง สนช.หรืออะไรพวกนี้ต้องตระหนักในความรับผิดชอบด้วย


 


 


........................................ 


หมายเหตุ บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ไม่เปิดให้แสดงความคิดเห็นท้ายเรื่อง ตามหลักความสมัครใจของผู้ถูกสัมภาษณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net