Skip to main content
sharethis

ฝ่ายประชาสัมพันธ์สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)


 


สวรส.เผยผลสำรวจพบคนไทยบริโภคผักและผลไม้ตามเกณฑ์มาตรฐานเพียง 1 ใน 3 ของประเทศ นอกนั้นรับประทานผักและผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั้งสิ้น ส่วนใหญ่หันมาบริโภคอาหารฟาสต์ฟู๊ด น้ำหวาน ไอศกรีม มากขึ้นโดยเฉพาะสังคมเมือง เผยพฤติกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อมากขึ้น อาทิ โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง แนะประชาชนหันมารับประทานผักผลไม้ ในทุกมื้อของอาหาร ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง พร้อมรณรงค์รับเทศกาลกินเจ 10 -21 ตุลาคมนี้


 


ปัจจุบันคนไทยใช้ชีวิตด้วยความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นเขตกรุงเทพมหานครหรือตามภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะประชาชนวัยทำงานที่มักนิยมบริโภคอาหารฟาสต์ฟู๊ด โดยพบว่าในแต่ละปีร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู๊ตมีการขยายตัวมากขึ้น นำไปสู่วัฒนธรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อน รวมทั้งการขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้เกิดภาวะโรคไม่ติดต่อ อาทิ โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เร่งรัฐบาลรณรงค์ให้ประชาชนรับประทานผักและผลไม้ในช่วงเทศกาลกินเจ 10 -21 ตุลาคมนี้


 



รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร


 


รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร ผู้อำนวยการสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย (สสท.) ภายใต้การสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายและสัมภาษณ์ในจำนวนผู้ชายและผู้หญิงอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศพบว่าผู้ชายบริโภคผักและผลไม้โดยเฉลี่ย 268 กรัมต่อวัน และผู้หญิงบริโภคโดยเฉลี่ย 283 กรัม และเมื่อสำรวจต่อไปยังพบว่ายิ่งอายุมากขึ้นกลับมีระดับการบริโภคผักและผลไม้ยิ่งลดลง ทั้งนี้เกณฑ์มาตรฐานของการบริโภคผักและผลไม้ที่เพียงพอต่อร่างกายในแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 400 กรัมต่อวัน แต่ผลการสำรวจยังพบว่าผู้ชายร้อยละ 80 และผู้หญิงร้อยละ 76 ยังบริโภคผักและผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน


 


เป็นที่น่าสังเกตว่าปริมาณการบริโภคผักและผลไม้ของประชาชนในกรุงเทพมหานครพบว่ามีการบริโภคผักและผลไม้ที่เพียงพอมากกว่าประชาชนในภาคอื่นๆ โดยแยกตามภูมิภาค คือ กรุงเทพมหานคร 36 เปอร์เซ็นต์ เนื่องมาจากการเข้าถึงและสะดวกในการหาซื้อผักผลไม้มากกว่า รองลงมาคือภาคเหนือ 29 เปอร์เซ็นต์ ภาคใต้ 28 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ภาคอีสานมีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าน้อยที่สุด ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากการเข้าถึงผักผลไม้ของคนในภาคอีสานน้อยกว่าภาคอื่นๆ รวมทั้งการขาดความรู้เรื่องของประโยชน์จากผักผลไม้ประเภทต่างๆ


 


ผักผลไม้มีกากใย วิตามิน และแร่ธาตุ ซึ่งจำเป็นต่อร่างกาย และผลไม้ให้น้ำตามเพื่อเพิ่มเติมพลังงานซึ่งร่างกายควรจะได้รับทั้งสองอย่างในปริมาณที่เหมาะสม จากการวิจัยยังพบว่าการบริโภคผักผลไม้อย่างเพียงพอจะทำให้โอกาสเป็นโรคต่างๆ น้อยลงด้วย โดยเฉพาะโรคเรื้อรังเช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และหลอดเลือดสมองลดลงได้ สำหรับมาตรฐานที่เหมาะสมสำหรับการบริโภคผักคือ 3 หน่วยมาตรฐาน (1 หน่วยมาตรฐาน = 80 กรัม) ส่วนผลไม้ควรบริโภคอย่างน้อย 2 หน่วยมาตรฐาน ฉะนั้น ควรกินผักวันละประมาณ 240 กรัมและกินผลไม้อย่างน้อยวันละ 160 กรัม (รวม 4 ขีด)


 


ในส่วนมาตรฐานที่เหมาะสมของการบริโภคผักใน 1 วัน มีดังนี้ หากเป็นผักสดหรือประเภทสลัดเทียบเท่าปริมาณ 3 ถ้วยตวง ส่วนผักที่มีการปรุงแล้ว เช่น ผัดผัก ผักต้ม ต้องบริโภควันละ 1 ถ้วยครึ่ง โดยการบริโภคผักอาจจะมีอยู่ในทุกมื้อ


 


ส่วนการบริโภคผลไม้ของคนไทยอาจไม่ได้บริโภคทุกมื้อ โดยมากอาจจะบริโภคมื้อกลางวันหรือมื้อเย็น เนื่องจากมีเวลาและสะดวกในการหาซื้อผลไม้ได้ ซึ่งมาตรฐานของการบริโภคผลไม้ใน 1 มื้อ เทียบได้ดังนี้ กล้วยน้ำว้า 1 ลูก, ส้มเขียวหวาน 1 ลูกใหญ่, เงาะ 4 ลูก เป็นต้น


 


อย่างไรก็ตามจากการศึกษานี้ให้ข้อเสนอแนะว่าควรมีการส่งเสริมเรื่องการทำเกษตรที่เป็นพืชผักสวนครัวในพื้นที่เกษตรมากขึ้น จะทำให้การเข้าถึงและซื้อหานั้นทำได้ง่ายขึ้น รวมทั้งส่งเสริมเรื่องการปลูกพืชผักสวนครัวในบ้าน ด้านกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรรณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปบริโภคผักผลไม้มากขึ้น ที่สำคัญครอบครัวควรปลูกฝังเรื่องการบริโภคผักผลไม้ให้เด็กๆ รวมทั้งในโรงเรียน ครูควรสอนเรื่องประโยชน์ในการบริโภคผักและผลไม้ หรือส่งเสริมให้มีการทำสวนครัวในโรงเรียนและทำตัวให้เป็นแบบอย่างกับเด็ก จัดให้มีผักและผลไม้ในมื้อกลางวันที่โรงเรียน รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปด้วย


 


ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวรส. โทร. 02-2701350-4 ต่อ 105 Email: pr@hsri.or.th

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net