Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านสมัชชาคนจนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา  ประกาศชุมนุมใหญ่วันที่ 2 ต.ค. นี้-ไม่มีกำหนดเลิก ที่สันเขื่อนราษีไศล หลังเจรจาแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ไม่คืบหน้า ถูกกรมชลประทานสร้างเงื่อนไขและปัดความรับผิดชอบ


 


นายพุฒ บุญเต็ม อายุ 37 ปี ชาวบ้านดอนจิก อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด แกนนำชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศล กล่าวเมื่อวานนี้ (1 ต.ค.) ว่า กระบวนการแก้ไขปัญหาของกรณีเขื่อนราศีไศลในปัจจุบัน ซึ่งดำเนินการโดยกรมชลประทานนั้น คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2550 ได้มีการจ่ายค่าชดเชยมาแล้วจำนวน 226,135,712.80 บาท ด้วยกระบวนการของกรมชลประทาน โดยยึดหลักการแปรภาพถ่ายพื้นที่ทำกินทางอากาศของชาวบ้านในพื้นที่เป็นหลัก แต่ชาวบ้านจำนวนกว่า 1,000 คนในนามสมัชชาคนจน ไม่ยินยอมรับกระบวนการดังกล่าว  เพราะไม่สามารถตรวจสอบการทำประโยชน์ในพื้นที่ "ทาม"ได้ ชาวบ้านบางคนมีพื้นที่ทำกิน 10-20 ไร่ แต่เมื่อใช้กระบวนการดังกล่าวแล้วเหลือพื้นที่ทำกินเพียง 1 ไร่หรือบางรายก็ไม่เหลือพื้นที่เลย


 


นายพุฒ กล่าวต่อว่า ชาวบ้านจึงได้ยื่นเงื่อนไขเพื่อปรับกระบวนการและขั้นตอน ให้มีการสอบสวนสิทธิและยึดหลักการตีความ การครอบครองและทำประโยชน์เพิ่มเติม ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2543  กระบวนการแก้ไขปัญหาในส่วนของสมัชชาคนจนปัจจุบัน อยู่ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการระดับอำเภอ ใน 6 อำเภอ 3 จังหวัด แต่เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ในพื้นที่บ่ายเบี่ยงและไม่ยอมเรียกประชุม แม้ว่าชาวบ้านจะเข้าไปประสานงานและเสนอให้มีการนัดหมายหลายครั้งก็ตาม จึงทำให้ชาวบ้านสุดทนเพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติงาน


 


"ดังนั้นชาวบ้านในส่วนราษีไศลจึงเห็นร่วมกันว่า การนั่งรอให้เจ้าหน้าที่รัฐจัดการคงไม่มีความคืบหน้าใดๆ ชาวบ้านจึงตัดสินใจชุมนุมใหญ่ในวันที่ 2 ต.ค. เพื่อเปิดให้มีการเจรจาแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ โดยจะเชิญทางคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาร่วมเป็นพยานด้วย" นายพุฒกล่าว


 


ด้านนายสมบัติ โนนสัง ชาวบ้านโนนสัง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ แกนนำสมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา กล่าวว่า  กระบวนการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านผู้คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนาอยู่ในช่วงของการตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนหัวนา ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโครงการโขง ชี มูล


 


นายสมบัติ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ข้อเรียกร้องของชาวบ้านคือ  ในส่วนของอำเภอไหน ที่มีการตรวจสอบแล้วเสร็จ ให้มีการรับรองผลการตรวจสอบรังวัดเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ได้รับผลกระทบ แต่หลังการประชุมเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2550 ที่ผ่านมา  เจ้าหน้าที่กรมชลประทานกลับรับรองไม่ได้ ต้องรอให้มีการรังวัดพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทั้งหมด รวมทั้งชาวบ้านที่ไม่ได้เรียกร้องด้วย และรอผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสียก่อน ซึ่งไม่อยู่ในข้อตกลงและขั้นตอนการแก้ไขปัญหา


 


นายสมบัติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กรมชลประทานยังต้องตัดงบประมาณการทำงานในส่วนของชาวบ้านจำนวน 117,000 บาท ออกไป ซึ่งเป็นค่าตอบแทนของชาวบ้านที่ใช้จ่ายในกระบวนการตรวจสอบทรัพย์สินที่ผ่านมา  ชาวบ้านได้ออกค่าใช้จ่ายเองไปก่อนหน้านี้แล้ว กลับถูกเจ้าหน้าที่กรมชลประทานอ้างว่า งบประมาณในส่วนนี้ถูกใช้ไปหมดแล้ว ไม่สามารถให้งบกับชาวบ้านได้ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่า  กรมชลประทานกำลังดึงกระบวนการแก้ไขปัญหาให้ล่าช้าออกไป ชาวบ้านจึงประกาศร่วมชุมนุมใหญ่กับชาวบ้านเขื่อนราษีไศลในครั้งนี้ด้วย


 


นายสมบัติคาดว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 1,500 คน และจะชุมนุมยืดเยื้ออยู่ที่สันเขื่อนราษีไศลจนกว่าจะมั่นใจในการแก้ไขปัญหาในระยะต่อไป.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net